"น้ำตาล 0%" ไม่เท่ากับ "ดีต่อสุขภาพ 100%"
เมื่อเทร็นเพื่อสุขภาพอาจเป็นแค่ "โฆษณา" เพื่อส่งเสริมการขาย และการกินผลิตภัณฑ์น้ำตาล 0% อาจมีผลเสียกว่าที่คิด
“น้ำตาล” ถือเป็นตัวร้ายสำคัญสำหรับเทร็นรักสุขภาพปัจจุบัน ทั้งเหตุผลอย่างง่ายที่สุดคือการเป็นพลังงานส่วนเกินที่จะถูกนำไปสะสมเป็นไขมัน และเรื่องเล่าเกี่ยวกับการก่อมะเร็งต่าง ๆ
ด้วยปริมาณการผลิตน้ำตาลมากถึงประมาณ 181 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ประกอบในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องปริมาณการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็น โดยองค์การอนามัยโลก (WHO; World Health Organization) ได้รายงานจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานว่าพุ่งสูงขึ้นจาก 108 ล้านคนในปี 1980 เป็น 422 ล้านคนในปี 2014 และมีอัตราเพิ่มขึ้นสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ทำให้หลายประเทศเริ่มออกกฎหมายเพื่อเพิ่มภาษีจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ และตามมาด้วยเทร็นและผลิตภัณฑ์กลุ่ม “น้ำตาล 0%” ตามมา
เลยเข้าสู่ยุครุ่งเรื่องของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “น้ำตาลเทียม” เพราะให้พลังงานน้อยจนถึงไม่ให้พลังงานเลย แต่ยังให้รสชาติความหวานแบบน้ำตาลได้ ทำให้กลุ่มคนรักสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่รักษาหุ่นหันมาดื่มเครื่องดื่มที่มีคำโฆษณาว่า “น้ำตาล 0%” กันมากขึ้น
ด้วยความเข้าใจว่ามัน “ดีต่อสุขภาพ”
“น้ำตาล 0%” ไม่ใช่ “ผลเสีย 0%”
หากพูดถึงการดื่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล 0% ในบริบทที่เป็นเพียงเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง มันก็อาจจะไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น แต่จะพบว่ามีคนจำนวนมากบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในฐานะของการ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” หรือ “ดื่มแทน” เครื่องดื่มชนิดเดิมแบบมีน้ำตาล โดยเข้าใจว่ามัน “ดีต่อสุขภาพ” มากกว่า แถมพอไม่มีน้ำตาลก็สามารถบริโภคได้มากขึ้น ซึ่งในลักษณะนี้เองยังถือว่ามีความกังวลกันอยู่มาก เพราะกลายเป็นว่ามีงานศึกษาหลายชิ้นค้นพบ “ผลเสีย” ของการดื่มผลิตภัณฑ์ “น้ำตาล 0%” แบบที่เราอาจจะไม่เคยได้รับรู้จากคำโฆษณา
ผลเสียต่อระบบจัดการน้ำตาล
มีงานวิจัยพบว่า ร่างกายมีลักษณะของการ “จดจำ” การเผาผลาญอาหารของเราผ่าน “รสชาติ” อยู่ นั่นทำให้ร่างกายรู้ว่าเมื่อไรที่เราควรอิ่มหรือควรหยุดบริโภคสิ่งใด ซึ่งการบริโภคผลิตภัณฑ์แบบน้ำตาล 0% สร้างปัญหาอย่างมากให้กับส่วนนี้
เพราะหากเราดื่มน้ำหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาลอย่างเป็นปกติ ร่างกายจะประเมินว่า “ความรู้สึกหวาน” ประมาณนี้จะได้พลังงานเท่าไร และเราต้องกินเท่าไรถึงจะพอในส่วนนั้น แต่พอร่างกายสัมผัสได้ถึงความหวาน แต่กลับไม่มีพลังงานเข้าไปเท่าที่เคยประเมินไว้ นั่นจะทำให้ร่างกายต้องการ “การบริโภคมากขึ้น” คือรู้สึกว่าต้องดื่มมากขึ้นเพราะพลังงานไม่พอ แม้ว่าพลังงานจากส่วนอื่นจะเพียงพออยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้นในกรณีร้ายแรงอาจจะเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญ เช่น เมื่อรู้สึกหวานกระบวนการและเอนไซม์สำหรับส่วนนี้ก็จะเริ่มทำงาน แต่พอเริ่มแล้วกลับไม่ได้มีอาหารมาให้ย่อยในกระบวนการ จนอาจจะทำให้ระบบประเมินการจัดการน้ำตาลผิดปกติได้ เช่น ในวันที่กลับมากินน้ำตาล หรือจำเป็นต้องกินน้ำตาล ร่างกายอาจจะมีความสามารถในการจัดการน้ำตาลน้อยลงหรือผิดปกติไปแล้ว
ปริมาณอินซูลิน และการเผาผลาญพลังงาน
อินซูลินถือเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการจัดการพลังงานเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งในแต่ละคนจะหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ออกมาไม่เท่ากันตามแต่ลักษณะการใช้ชีวิตและความสามารถของตับอ่อน
ทำให้หากเราบริโภคน้ำตาลอย่างเป็นปกติ แล้วอยู่ดี ๆ งดบริโภคไป อาจส่งผลโดยตรงต่อปริมาณการหลั่งอินซูลินจนกระทบต่อการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ซึ่งอย่างร้ายแรงที่สุดก็อาจจะนำไปสู่การผิดปกติของการหลั่งอินซูลินจนเกิดเป็นโรคเบาหวานได้
โอกาสน้ำหนักขึ้น
เมื่อรับน้ำตาลน้อยลงจนร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น จึงอาจเป็นสาเหตุให้เรา “บริโภคเกินจำเป็น” ได้โดยไม่รู้ตัว กล่าวคือเมื่อร่างกายกินเท่าเดิม กินเหมือนเดิม แต่ได้พลังงานลดลง ความต้องการพลังงานอาจทำให้เราต้องการบริโภคมากขึ้นหรือกินได้มากกว่าปกติ อิ่มยากกว่าปกติ
อีกทั้งหากระบบการเผาผลาญทำงานผิดปกติไปพร้อมกัน ก็อาจส่งผลต่อการสะสมไขมัน ต่อปริมาณการเผาผลาญต่อวันจนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวได้อีกเช่นกัน
ปริมาณการบริโภค
ต้องไม่ลืมว่าในผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลมนั้น สิ่งที่ส่งผลต่อร่างกายไม่ได้มีเพียงน้ำตาล
จากการอธิบายเรื่อง “ความต้องการบริโภคมากขึ้น” เพราะร่างกายรู้สึกว่าได้รับพลังงานลดลง เท่ากับว่าเราอาจจะมีปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ำตาล 0% มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหมายถึงว่าเพิ่มปริมาณการรับสารที่ส่งผลต่อร่างกายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำตาล “มากขึ้น” เช่น คาร์บอเนตในน้ำอัดลม ที่ส่งผลต่อเคลือบฟันและกระเพาะอาหาร เป็นต้น
แถมยังอาจหมายถึง “รายจ่าย” ที่จะเพิ่มขึ้นต่อวันจากการเปลี่ยนแปลงการบริโภคดังกล่าวด้วย
ทำให้เมื่อพูดถึง “น้ำตาล” งานศึกษาจำนวนมากก็ยังแนะนำให้เน้นที่การ “ลดปริมาณการบริโภค” มากกว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์น้ำตาล 0% เพื่อทดแทน เพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่า
ทำให้หากเราเป็นคน “รักสุขภาพ” การละเลยรายละเอียดทำนองนี้อาจส่งผลกระทบต่อการรักสุขภาพของเราเสียเอง เพราะสุดท้ายแล้วแม้แต่บริษัทผู้ผลิตยังอธิบายว่า “สมดุลในวิถีชีวิตกับการกินส่งผลต่อร่างกายมากกว่าสิ่งที่กิน” เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง
และนี่เป็นเพียงหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้จุดขาย “รักสุขภาพ” ทำให้เรา “เผลอ” ลืมนึกถึง “ผลกระทบ” ที่อาจตามมา