เหตุผลที่เราควรมองงานขับเคลื่อนสังคมเป็น "เรื่องส่วนตัว"
หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับหลาย ๆ คนที่ทำงานเรื่อง social impact เกิดเป็นข้อสรุปส่วนตัวเกี่ยวกับแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้หลุดจากงานเพื่อสังคมได้ยาก
คำถามคลาสสิคของคนทำงานเพื่อสังคม คือจริง ๆ แล้วเราทุกคนทำงานเพื่อสังคมไปทำไม
นี่เป็นคำถามที่พบเจอมาตลอดตั้งแต่สมัยทำงานเพื่อสังคมแรก ๆ ทั้งในพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนและบทสนทนาส่วนตัว และยังเป็นคำถามที่ไม่ว่าจะตอบเมื่อไรก็รู้สึกว่าตอบได้ยากลำบากจนกระทั่งห่างหายจากงานเพื่อสังคมไป
เมื่อมีโอกาสได้กลับมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานเพื่อสังคมอีกครั้ง เลยเหมือนเปิดรื้อคำถามค้างคานี้กลับคืนมา และเป็นคำถามหลักที่เราพยายามจะผลักให้ทุกคนที่เราได้มีโอกาสเข้าไปเชื่อมต่อด้วยได้ตอบมัน ในแง่หนึ่งคือการเสริมแรงในการสร้างความชัดเจนของแรงขับในเป้าหมาย และเป็นการเชิญชวนให้เราสามารถเอาชนะคำถามที่คาราคาซังนี้ได้เสียที
ความน่าสนใจในช่วงที่ผ่านมา หลังจากได้มีโอกาสคุยกับหลาย ๆ คน คำตอบที่ได้รับก็สร้างความแตกต่างในความรู้สึกอย่างมาก
เริ่มตั้งแต่ตอนที่ได้คุยกับพี่ฮันท์ในช่วงที่เริ่มทำงานที่ muse แรก ๆ พี่ฮันท์ตอบได้ค่อนข้างชัดเจนว่าพี่ฮันท์มอง “ผลประโยชน์” ของงานที่ทำ เป็น “ผลประโยชน์ส่วนตัว”
พี่ฮันท์เล่าว่าตั้งแต่ครั้งที่อยากให้ muse ทำงานด้าน Ed-Tech ก็มองว่าภาพอนาคตของพี่ฮันท์ เป็นภาพที่พี่ฮันท์จะได้ประโยชน์สูงสุดคือการสร้างทางเลือกให้กับลูกที่กำลังจะเกิดได้มีโอกาสเรียนรู้โดยไม่ถูกปิดกั้น การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตได้
ครั้งที่คุยกับพี่โป้งเกี่ยวกับเรื่องประมาณนี้ พี่โป้งก็ให้คำตอบที่น่าสนใจว่า พี่โป้งเชื่อว่าเราทุกคนล้วนแต่ “ทำเพื่อตัวเอง” เพียงแต่เวลาเราพูดว่า “ตัวเอง” มันไม่ได้มีแค่มิติที่เป็น “ตัวเราคนเดียว” แต่มันหมายถึงคนที่อยู่รอบตัวเรา ครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก คนที่เรารัก ทำให้เมื่อพูดว่า “ทำเพื่อตัวเอง” ความหมายมันหมายถึงการทำเพื่อคนเหล่าไปพร้อม ๆ กันด้วย
ตอนที่ได้คุยกับพี่กุล ก็ได้คำตอบคล้าย ๆ กัน นอกจากเรื่องอนาคตของลูกแล้ว พี่กุลมองว่ามันเกี่ยวเนื่องกับ “ความอยู่รอด” ของพี่กุลเองด้วย หมายถึงการทำธุรกิจนั้น เราอาจจะมีช่องทางให้เราสามารถรอดไปคนเดียวได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งหากคนที่เป็นลูกค้าเรา “ไม่รอด” ธุรกิจของเราก็มีโอกาสสูงที่จะไม่รอดตามไปด้วย พี่กุลจึงมองว่างานยกระดับชุมชนที่พี่กุลทำในแต่ละด้านนั้น เป็นการสร้างฐานทางธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างชัดเจน
คำถามนี้ยังคงถูกถามย้ำในช่วงเวลาที่ผ่านมา และคำตอบที่เราได้รับก็มีทิศทางในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง จนเราเริ่มรู้สึกว่าคำตอบเรื่อง “งานเพื่อสังคม” เพื่อ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ดูจะเป็นอะไรที่เริ่มจะ “จริง” มาก ๆ ในความรู้สึก
ก็เลยถึงคราวที่เราต้องกลับมาตอบคำถามตัวเองว่า แล้วเราได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานเพื่อสังคมบ้าง
ไอเดียเรื่องการทำเพื่อตัวเองแต่มีประโยชน์กับคนอื่นดูไม่ได้จะห่างไกลจากความคิดมากนัก แต่ที่ผ่านมาเมื่อมาถึงจุดนี้เราก็ไม่เคยเห็นภาพที่ชัดเจนมาก่อน เราไม่ได้มีลูกที่เรามีภาพฝันอนาคตให้ เราไม่ได้มีธุรกิจที่จะกลายเป็นรากฐานของครอบครัว หรือเรื่องอื่น ๆ ที่ดูจะเป็นรูปธรรมให้พอเปรียบเทียบได้
จนเมื่อได้ค้นลึก ๆ เข้าเราเลยได้พบคำตอบที่ดูจะเข้าเค้าเล็กน้อย คือเราทำเพื่อเยียวยา “ปม” ในตัวเอง
เมื่อมาคิดดี ๆ แล้วพบว่า การทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมา เป็นวิธีการเยียวยาความรู้สึกของตัวเองที่เคย suffer เมื่อครั้งอดีต
การเติบโตในโครงสร้างสังคมที่ไม่ยุติธรรม ความไม่แข็งแรงของสถาบันครอบครัว การคุกคามกดขี่ในสถาบันการศึกษา สิ่งเหล่านี้สร้างแผลในความรู้สึกให้เรามาตลอด เราจึงไขว่คว้าหาวิธีการที่จะเยียวยาแผลจากอดีตเหล่านั้นผ่านการกระทำในปัจจุบัน
เคสเทียบเคียงที่ชัดมาก คือกรณีเรื่องการอยากมีลูก เพื่อคลี่คลายปมครอบครัวของตัวเอง ความรู้สึกที่ “หากมีลูกเราจะ…” ในลักษณะของการพยายามจะแก้ไขสิ่งที่ทำร้ายเราในสมัยที่เรายังเป็นลูกอยู่
ลักษณะทำนองเดียวกันนี้เมื่อเราสามารถระลึกได้ว่าบาดแผลต่าง ๆ ในอดีตนั้นไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจเจกต่อปัจเจก แต่มีโครงสร้างสังคมหนุนหลัง เราจึงตระหนักว่าวิธีที่จะเยียวยาความรู้สึกในใจของเราคือการจะต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านั้นให้จงได้
นี่เลยเหมือนเป็นคำตอบว่าทำไมไม่ว่ายังไงเราก็ยังคงอยากจะทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่เพราะมันเป็นการทำดี มันได้บุญ หรือได้ทำเพื่อผู้อื่น แต่ใกล้ที่สุดคือมันคอยปลอบโยนเราจากความปวดร้าวในอดีต เป็นการทำโดยมอง “ผลประโยชน์ส่วนตัว” เป็นสำคัญ
และไม่ว่าคำตอบนี้จะจริงแท้แค่ไหน สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือหากเราอนุญาตให้การทำงาน Social impact สามารถซ้อนทับกับ “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ได้ เราจะมีคนที่ทำงาน social impact เพิ่มขึ้นอีกเยอะมาก
เพราะเราไม่จำเป็นตั้งมาขีดเส้นคั่นด้วยคำว่า “งานเพื่อสังคม” ที่ต้องชี้วัดว่ามีการทำเพื่อสังคมจริงหรือไม่ แค่ไหนถึงจะเรียกว่าเพื่อสังคม ต้องมีการเสียสละ ต้อง Sacrifice ตัวเอง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกำแพงสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเข้ามาสู่พื้นที่งานเพื่อสังคมได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีจิตใจใฝ่งานเพื่อสังคมแค่ไหน
อีกทั้งการมองภาพงานเพื่อสังคมโดยมีจุดตั้งต้นมาจากผลประโยชน์ส่วนตัว จะทำให้เราและเป้าหมายใกล้ชิดกันมากขึ้น เห็นภาพความต่อเนื่องชัดขึ้นจนสามารถลดแรงเสียดทานของภาวะ “หมดไฟ” ในหมู่คนทำงานเพื่อสังคมได้
เราลองนึกภาพว่าการที่มีทุกคนสร้าง social impact โดยยึดผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง สังคมเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปได้มากมายขนาดไหน