สวัสดีสาย ๆ ของวันสงกรานต์
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่อากาศน่าจะร้อนที่สุดของปี ก็ยังโชคดีที่เราได้รับอนุญาตให้สามารถดับร้อนด้วยประเพณีเล่นน้ำประจำปี แม้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาลักษณะเชิงประเพณีจะเปลี่ยนไปเป็น “เทศกาล” มากขึ้นแล้วก็ตาม
อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะเลือนหายไปพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของ “เทศกาลสงกรานต์” คือความเข้าใจเรื่อง “วัน” ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ ที่ในความจริงมีรายละเอียด และสงกรานต์ในลักษณะเชิงประเพณีนั้นอาจเล่นน้ำกันอย่างยาวนานจนถึงวันที่ 21 หรือ 22 ไม่ใช่เพียง 13-15 เมษายนตามวันหยุดราชการเท่านั้น
นี่น่าจะเป็นช่วงหยุดยาวที่มากที่สุดเท่าที่ปฏิทินราชการไทยมีให้กับคนทำงานทั่วประเทศหากเรามองเปรียบเทียบกันกับ “ช่วงหยุดยาว” ของต่างชาติหลาย ๆ วัฒนธรรม เช่น สัปดาห์คริสต์มาส เป็นต้น ทำให้เมื่อมองกันตามจริงแล้วนี่เรียกว่าเป็น “ช่วงพัก” ของคนไทยหรือคนที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยอย่างแท้จริง
หลายคนอาจจะเชื่อในแนวคิดเรื่อง “วันธรรมดาวันหนึ่ง” ที่ไม่ได้พิเศษอะไร แต่อย่างน้อยพอเป็น “วันหยุด” ในระบบการทำงานแบบทุนนิยมนี่ก็ถือว่าพิเศษด้วยตัวมันเองในระดับหนึ่งแล้ว เพราะกลายเป็นว่าหากไม่มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมแบบนี้ประกบอยู่ เป็นไปได้ยากมาก ๆ ที่ระบบนี้จะ “เอื้อ” ให้เรามีวันหยุดติดต่อกันมากถึงสามสี่วัน
เมื่อเป็นวันหยุด โดยเฉพาะหยุดยาว ก็ถือเป็นช่วงเวลาดีที่เราจะมีโอกาสได้พักผ่อน
การพักผ่อนนี้เองก็ไม่ได้พูดถึงการ “นอนพัก” “นั่งพัก”ตามนิยามแบบทุนนิยมอีกเช่นกัน คือไม่ใช่เรื่องของการ “พัก” เพราะไม่ได้ทำงาน แต่เป็นการ “พัก” ในช่วงที่ไม่จำเป็นต้องทำงาน กล่าวคือการได้มีโอกาส “พักความรู้สึก” จากเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเรื่องการทำงานด้วย
บนความหมายนี้เอง ทำให้การพักจึงไม่ได้ผูกติดอยู่กับการที่เราต้องนอน ต้องอยู่ห้อง ต้องไม่ทำอะไร แต่รวมถึงการได้มีโอกาส “ทำในสิ่งที่ช่วงทำงานไม่เอื้อให้ทำ” ได้ออกไปเล่น ไปเที่ยว ไปพบปะผู้คนที่อาจจะเวลาไม่ตรงกัน (ซึ่งก็อาจจะไม่ตรงกันช่วงนี้ด้วย) พูดแบบกว้าง ๆ คือการออกไปทำอะไรที่มัน “เสริมแรง” เหมือนการชาร์จแบตเตอรี่ชีวิต หากเราจะใช้ชีวิตอยู่ห้อง ก็อยากเสริมแรงให้มันมีมากกว่าการพักความเมื่อยล้าที่สะสมจากการทำงาน ไม่งั้นการพักก็จะกลายเป็นการทำงานรูปแบบหนึ่งไป
การพักผ่อนจำเป็นยังไง? ก็ต้องบอกว่าไม่มีความจำเป็นเลยหากชีวิตเราไม่ได้รู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ไม่ได้ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ทำ หรือได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้วพบเจอแต่ความราบรื่น
หากชีวิตมันไม่เหนื่อยล้า เราไม่จำเป็นต้องพักผ่อนก็ได้
แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มจับสัญญาณของความเหนื่อยอ่อนได้ เริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำ เริ่มอยากวางมือจากสิ่งที่ตัวเองถือไว้ เริ่มคิดถึงวันที่จะไม่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ หรือเริ่มคิดถึงการที่จะเลิกทำสิ่งใด ๆ ขึ้นมา เมื่อนั้นจะทำให้เราเริ่มเห็นว่าเราอาจจะจำเป็นต้องการเวลาสำหรับการ “พักผ่อน” เสียบ้าง
มากกว่าการกลับมาอยู่กับตัวเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายครั้งทักษะในการคุยกับตัวเองให้แจ่มชัดก็ไม่ได้เป็นเรื่องพื้นฐานสำหรับทุกคน แต่น้อยที่สุดการที่เราได้มีโอกาสหยุดมือจากบางอย่างไประยะหนึ่ง มันจะผลักเราให้มองเห็นสิ่งนั้นชัดขึ้น ความเหนื่อบล้าที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากจุดไหน อะไรที่สร้างภาระทางความรู้สึกของเรา แล้วเราอยากทำสิ่งนั้นในจุดไหน ต่อรองกับมันยังไง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยที่เราแทบจะไม่เคยมีโอกาสได้คิดตราบใดที่เรายัง “ฝืนทำ” มันต่อ
การ “พัก” จึงสำคัญอย่างมากในวันที่เรารู้สึกว่ามันไม่ได้สำคัญ จนทำให้เราละเลยการหยุดพักไป
นอกจากนี้ แม้เพียงเล็กน้อย แต่การยึดโยงกับวันสำคัญกับปฏิทินแบบโลกสมัยใหม่เองก็ยังพอมีข้อดีอยู่บ้าง นั่นคือมันเปิดโอกาสให้เราใช้เป็นหมุดหมายหรือจุดอ้างอิงในการจะเริ่มต้นอะไรสักอย่างโดยมองว่าเมื่อวันเหล่านั้นวนกลับมาอีกรอบจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง วันสงกรานต์เองจึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสดี ๆ ที่เราจะลองคิด New Year’s Resolutions โดยยึดตามปีใหม่ไทย เพราะเอาจริง ๆ นี่อาจจะเป็นช่วงพักที่ยาวนานพอให้เราได้ปรึกษากับตัวเองว่าในอนาคตข้างหน้าเราต้องการอะไรบ้าง
ขอให้เป็นช่วงสัปดาห์ที่แม้จะไม่ “สนุกสนาน” ตามความหมายทั่ว ๆ ไป แต่ก็ยังได้ “พัก” อย่างมากพอที่จะกลับมาลุยกับช่วงเวลาที่หมุนตามนาฬิกาของทุนนิยมอีกครั้ง และแม้ภาวะแบบเทศกาลจะบ้าคลั่งและดูไม่ปลอดภัย แต่ก็ยังเชื่อว่าการได้มีโอกาสสัมผัสน้ำเย็น ๆ การเล่นน้ำในหมู่คนรู้จักคนสนิท ได้มีโอกาสสังสรรค์เล็ก ๆ ตามสะดวก ต่างก็เป็นสิ่งที่ชุบชูใจผู้คนได้มากพอ
ถ้าเราเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ตีความ “สงกรานต์” มากกว่าที่สังคมบอกให้เป็น การ “เล่นสงกรานต์” ก็อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายขนาดนั้น