ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ไม่ได้แปลว่ารักษ์โลกเสมอไป
เพราะผ้าคอตตอน 100% ไม่ได้แปลว่าเป็นมิตรกับโลก 100% ทำความเข้าใจเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมกับสินค้าจากวัสดุธรรมชาติที่มักถูกทำให้สับสนและเข้าใจผิดอยู่บ่อย ๆ
เนิ่นนานมากแล้วที่เทร็นเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมถูกจุดขึ้นในสังคม จนทำให้เกิดแคมเปญและการขับเคลื่อนทางสังคมมากมายเพื่อตอบสนองแนวคิดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะ การงดใช้พลาสติก การแบนสินค้าที่ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนสินค้าและบริการที่มีภาพลักษณ์ในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
แม้หลายต่อหลายครั้ง การเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้สร้างคุณูปการให้กับโลกมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายความเคลื่อนไหวที่ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการสร้างความเข้าใจผิด จนทำให้สิ่งบางอย่างถูก “ฟอกเขียว” (Green wash) ว่าเป็นการ “รักษ์โลก” ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน
หนึ่งในนั้นคือเรื่องการใช้ “วัสดุธรรมชาติ” ในการผลิต มักถูกมองหรือ “โฆษณา” ว่าเป็นการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งวันนี้ตัวอย่างที่จะพูดถึงคือเสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้าย (Cotton) 100% ที่จริง ๆ แล้วไม่ได้หมายความว่าความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมจะ 100% ตามไปด้วย
ผลกระทบจากการผลิตผ้าฝ้าย
หากอ้างอิงจากงานศึกษาหลาย ๆ ฉบับ เราอาจจะรู้ว่าเส้นใยจากธรรมชาติมีอัตราการปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกระบวนการผลิตน้อยกว่าเส้นใยสังเคราะห์เกือบสองเท่า จุดนี้เองที่ทำให้หลาย ๆ คนมองอย่างง่าย ๆ ว่านั่นเท่ากับ “รักษ์สิ่งแวดล้อม” แล้ว อย่างน้อยก็มากกว่าใยสังเคราะห์
แต่สิ่งที่เรามักลืมไปคือ ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตที่เราพูดถึงนั้นเป็นปริมาณที่ไม่ได้นับรวมกระบวนการเพาะปลูกเข้าไปด้วย
ทำให้หากจะมองการผลิตฝ้ายในฐานะของผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องย้อนกลับไปมองทั้งกระบวนการว่ากระบวนการนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ มากแค่ไหน
เครื่องจักรการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
ถ้าเราโฟกัสอยู่ที่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบคือเครื่องจักรที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการเพาะปลูกฝ้าย ไม่ว่าจะเป็นรถไถ รถปลูก รถพ่นยา และอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่การปลูกขนาดใหญ่การใช้เครื่องจักรทางการเกษตรนั้นเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องปกติมาก แม้แต่งานวิจัยที่อ้างว่าเส้นใยสังเคราะห์ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าผ้าฝ้ายถึงสองเท่านั้น ก็ยังประมาณการการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์จากกระบวนการเพาะปลูกเอาไว้มากถึง 90% เลยทีเดียว
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีแค่ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์
สิ่งที่เรามักลืมนึกถึง คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแค่คาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น หากเราพูดถึงแก๊สเรือนกระจก ยังมีสารอีกหลายตัวมากที่ถูกนับรวมเข้าไป และจำนวนมากก็เกิดจากกระบวนการเพาะปลูกในอุตสาหกรรมนี่เอง
อีกทั้งการเพาะปลูกที่แอบอิงอยู่กับการใช้สารเคมีเพื่อเร่งให้ผลิตภัณฑ์สามารถขายได้ราคาดี ยังส่งผลต่อการปนเปื้อนสารเคมีในอากาศ การเสื่อมสภาพของดินจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการเพิ่มสารเคมีชนิดเดิมลงไปซ้ำ ๆ รวมทั้งการชะล้างหน้าดินที่อาจจะนำไปสู่การพัดพาสารเคมีเหล่านี้ไปปนเปื้อนนอกพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ จนส่งผลกระทบไปถึงป่าไม้และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วย
ยิ่งเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมเพาะปลูกปัจจุบัน การที่มีการปลูกพืช GMOs ยังสร้างความกังวลต่อกระบวนการเพาะปลูกในเรื่องความต้านทานต่อแมลงและสภาพอากาศ ทำให้เกษตรกรที่อยู่ในโครงสร้างการผลิตแบบ “เกษตรพันธะสัญญา” จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงรวมถึงสารเคมีต่าง ๆ เพื่อรับประกันคุณภาพผลผลิตให้ถูกรับซื้อในราคาที่สูงจากบริษัทคู่สัญญา ซึ่งส่งผลต่อความปนเปื้อนและอันตรายจากกระบวนการผลิตมากขึ้นไปอีก
ปริมาณการใช้น้ำจืด
ด้วยการเป็นผลผลิตทางการเกษตร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือผ้าฝ้ายนั้นต้องการน้ำในกระบวนการเพาะปลูก มีการอ้างว่าฝ้ายเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำในการเพาะปลูกมากกว่าพืชชนิดอื่น บ้างอ้างว่าการปลูกฝ้ายใช้น้ำในการเพาะปลูกมากถึง 20,000 ลิตรต่อการผลิตเส้นใยคอตตอนหนึ่งกิโลกรัม และใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตรต่อการผลิตเสื้อยืดหนึ่งตัว ซึ่งอาจจะหมายถึงว่าในแต่ละปีทั่วโลกใช้น้ำในกระบวนการผลิตผ้าฝ้ายมากถึง 5 ล้านล้านลิตรเลยทีเดียว
ซึ่งนี่ส่งผลกระทบแน่นอนต่อภาวะการขาดแคลนน้ำจืดทั่วโลก เพราะในขณะที่เรากำลังทำแคมเปญเรื่องการประหยัดน้ำ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายกลับกลายเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการใช้น้ำปริมาณมหาศาลต่อปี สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องภาวะขาดแคลนน้ำจืดแล้วนี่ถือเป็น “ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม” ที่อาจจะส่งผลต่อดิน ต่อพืช และชั้นบรรยากาศอย่างไม่ต้องสงสัย นี่ยังไม่นับรวมว่าการชะล้างสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเองก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณแหล่งน้ำจืดตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นไปอีก
จึงอาจพูดได้ว่า ในโลกที่การผลิตเสื้อผ้าจากคอตตอนกินส่วนแบ่งการตลาดไปมากถึง 1 ใน 3
การใช้ผลิตภัณฑ์คอตตอน 100% จึงไม่ได้หมายความว่ารักษ์โลก 100% อย่างแน่นอน
Organic Cotton
แต่แม้จะมีข้อเสียที่เราไม่เคยมองเห็น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเส้นใยธรรมชาตินั้นมีจุดเด่นอยู่ที่การสามารถ “ลดขั้นตอน” การผลิตที่เกิดผลเสียได้ ซึ่งจะต่างกับเส้นใยสังเคราะห์ที่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะผูกเนื่องอยู่กับการผลิตโดยตรง แม้จะไม่ 100% แต่ก็คงไม่สามารถเรียกว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบ 100% ได้เช่นกัน
นั่นจึงทำให้มีกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการรักษาไว้ซึ่งจุดเด่นนั้น ได้ออกแบบการผลิตผ้าฝ้ายด้วยระบบที่เรียกว่า Organic Cotton
Organic Cotton คือหลักการการผลิตผ้าฝ้ายโดยการไม่ใช้สารเคมี ใช้การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนเพื่อลดผลกระทบจากการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรและลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเพาะปลูก รวมถึงขั้นตอนการผลิตที่ใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ซึ่งพอพูดว่า Organic มันก็จะมีความคลุมเครืออยู่มาก ทำให้ Organic Cotton เองมักถูกนำไปใช้อย่างผิดความหมาย และโฆษณาเกินจริงอยู่บ่อยครั้ง สำหรับใครที่สนใจสนับสนุนเสื้อผ้าที่ผ่านการผลิตด้วยระบบ Organic Cotton จึงต้องสังเกตตรารับรอง Global Organic Textile Standard (GOTS) หรือตรารับรองอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการผลิตนั้นใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริง ๆ
Say No to Fast Fashion!
สุดท้ายแล้วหากเราเป็นคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันเราน่าจะเริ่มเข้าใจว่าปัญหาใหญ่ของประเด็นสิ่งแวดล้อมคืออุตสาหกรรมการผลิตเพื่อสนองต่อแนวคิดบริโภคนิยม หมายความว่าในอนาคตถ้า Organic Cotton เองได้รับความนิยมมาก ๆ ก็อาจจะต้องเพิ่มกำลังผลิต เพิ่มกำลังคน เพิ่มพื้นที่การผลิต จนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อยู่ดี
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เพราะอุตสาหกรรมการผลิตนั้นมุ่งเน้นผลกำไรเป็นสำคัญ ทำให้แนวคิดเรื่องแฟชันเป็นสิ่งที่ต้องป้อนเข้ามาในสังคมอยู่ตลอดและ “เร่งขาย” ให้ได้ในปริมาณมาก ๆ เพื่อให้เกิดผลตอบแทนมากที่สุด นั่นทำให้ในหนึ่งปีมีการผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยคอตตอนเป็นจำนวนมากทั้งที่เราตอบแทบไม่ได้ว่าทั้งหมดที่ผลิตนั้นได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงหรือเปล่า
นั่นทำให้เกิดเทร็น “Say No to Fast Fashion” ของกลุ่มคนที่มองว่าแบรนด์สินค้าแฟชันนั้นก่อการผลิตมากเกินความจำเป็นจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
เมื่ออุตสาหกรรมด้านแฟชันนั้นสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับสองของโลก แฟชันจึงไม่ใช่แค่เรื่อง “ส่วนตัว” อีกต่อไป โดยข้อเสนอหลักที่ว่าหากเราสามารถทำให้แฟชันหนึ่ง ๆ มีอายุยืนขึ้นได้มากเท่าไร ปริมาณคาร์บอนจากการผลิตก็จะลดลงเท่านั้น
“Say No to Fast Fashion” จึงหมายถึงการหาแนวทางในการทำให้ “ผู้บริโภค” ช่วยกันเป็นพลังในการหยุดยั้งการผลิตเกินจำเป็นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรณรงค์ยุติการสนับสนุนแบรนด์ที่ใช้การตลาดแบบ Fast fashion สนับสนุนแบรนด์ที่ sustained และใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนแบรนด์ท้องถิ่นที่มีการผลิตในปริมาณไม่มากเกินจำเป็น และการสนับสนุนให้ส่งต่อ แลกเปลี่ยน หรือใช้งานเสื้อผ้ามือสองเพื่อลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้าผลิตใหม่ ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราความต้องการบริโภคจนเกิดการลดกำลังการผลิตลงได้
จะพบว่า หากเราเป็นคนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เราจำเป็นที่จะต้องมองให้ลึกขึ้น คิดให้เยอะขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงแค่ “โฆษณา” ของหลาย ๆ แบรนด์เท่านั้น เรายิ่งต้องระวังไม่ให้มีใครฉกฉวย “เจตนาดี” ต่อโลกของเราให้กลายเป็นการ “ส่งเสริม” การทำร้ายโลกในทางอ้อม
ผ้าคอตตอน 100% ที่พยายามจะหลอกเราว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบ 100% เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในอีกหลาย ๆ ตัวอย่างในสังคมที่กำลังอาศัยความรักษ์โลกของเราในการเพิ่มยอดขายทั้งที่ตัวแบรนด์เหล่านั้นอาจจะไม่ได้ใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ
อย่าให้การรักษ์โลกเป็นแค่เทร็นการบริโภค เพราะสิ่งที่ทำร้ายโลกมากที่สุดคืออุตสาหกรรมบริโภคแบบทุนนิยมนี่เอง