สวัสดีค่ำคืนวันศุกร์ที่อากาศร้อนอบอ้าวและค่าฝุ่นทางตอนเหนือก็ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง
สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่การหาเสียงเลือกตั้งเป็นไปอย่างคึกคัก เลยอยากชวนทุกคนจับจ้องไปที่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะในประเด็นที่กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งนั่นคือการที่กกต.ยืนยันว่าจะไม่มีการรายงานผลคะแนนแบบ real-time ในครั้งนี้เพราะขาดเทคโนโลยีในการรายงานผล
กกต.ยืนยันไม่รายงานผลการเลือกตั้งแบบ real-time ยอมรับขาดเทคโนโลยีในการรายงาน
กลายเป็นประเด็นกลับมาอีกครั้งเมื่อล่าสุดมีคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมในครั้งนี้ถึงไม่มีการรายงานผลคะแนนแบบ real-time ทั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีงบจัดการเลือกตั้งถึง 5 พันล้านบาท นั่นทำให้มีคนย้อนบทสัมภาษณ์กกต.ต้องที่ออกมาแถลงถึงการตัดสินใจไม่มีการประกาศผลคะแนนแบบ real-time เพราะขาดเทคโนโลยีในการประกาศผล
โดยกกต.เคยแจ้งว่าในการเลือกตั้งปี 2562 และการทำประชามติ 2559 นั้นได้ใช้แอพลิเคชันรายงานผลชื่อ Rapid Report เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยใส่ผลคะแนนที่นับเสร็จสิ้นแล้วเข้ามาในระบบ แต่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดความสับสน รวมถึงข้อครหาเรื่องของของผลคะแนนที่ไม่เป็นไปตามความจริง และนั่นอาจเป็นเหตุผลให้กกต.ตัดสินใจเลือกไม่ใช้ในครั้งนี้ด้วย
โดยในครั้งนี้แม้จะไม่มีการนับคะแนนแบบ real-time แต่กกต.ยืนยันจะมีการประกาศผลคะแนนรายจังหวัดให้ได้เร็วที่สุดภายในคืนที่มีการนับคะแนน และจะมีการประกาศผลรายเขตภายในห้าวันหลังการเลือกตั้ง
เมื่อรัฐไม่ทำประชาชนก็ต้องทำ
ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเรื่องราว “ปกติ” ของบ้านเราไปแล้วกับการที่เมื่อรัฐ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ทำ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมและองค์กรภาคีต่าง ๆ ก็ต้องลงมือทำกันเอง และครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเรามี contributors ที่พร้อมร่วมมือกันสนับสนุน community จำนวนมากขนาดไหน
ผนึกกำลัง 50 องค์กร รายงานผลเลือกตั้งแบบ real-time
โครงการนี้เป็นโครงการที่จะเปิด Crowdfunding เพื่อสนับสนุนอาสาสมัครรายงานผลการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งทั้ง 95,000 หน่วยทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถสนับสนุนอาสาสมัครได้ถึง 100,000 คน ในการช่วยรายงานผลและตรวจสอบความถูกต้องของการนับคะแนนในแต่ละหน่วย รวมถึงการร่วมกันจัดทำพื้นที่เพื่อการรายงานผลที่สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำอีกด้วย
Vote66 Hackathon
เมื่อกกต.ขาดเทคโนโลยี ประชาชนจึงจะสร้างเทคโนโลยีให้ ล่าสุดจากงาน Bangkok Open Source Hackathon 2023 ได้มีการเปิดเผยถึงโปรเจ็กต์ต่อไปที่ต้องการพลังของเหล่า contributors ในการมาร่วมกันสร้าง ร่วมกัน hack เพื่อสร้างระบบรายงานผลคะแนนแบบ real-time เพื่อให้กลายเป็น “พิมพ์เขียว” สำหรับการเลือกตั้งและรายงานผลคะแนนครั้งต่อ ๆ ไป
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566
หากใครยังจำการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้ เราจะพบว่าในครั้งนั้นเต็มไปด้วยข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใส่ ไม่ว่าจะเป็นการรายงานผลที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เรื่อง “บัตรเขย่ง” และการนับคะแนนรายหน่วยที่มีความผิดพลาดแบบก้ำกึ่งว่าจงใจหรือไม่ ทำให้นอกจากเรื่องการรายงานผลแล้ว การช่วยกัน “ตรวจสอบ” การนับคะแนนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอีกหนึ่งเรื่อง
จึงเกิดเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 2566 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ออกมาใช้สิทธิร่วมกัน “จับตา” การเลือกตั้งและการนับคะแนน เพื่อป้องกันการทุจริตและความไม่โปร่งใสที่จะเกิดขึ้นในระดับหน่วยเลือกตั้ง ตลอดจนการตามหาอาสาสมัครในการช่วยรายงานการนับคะแนนในแต่ละหน่วยว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของพวกเราทุกคนจะ “ไม่ตกน้ำ” ตั้งแต่การนับคะแนน
คู่มือเลือกตั้ง 66
การเลือกตั้งในครั้งนี้มีรายละเอียดหลายอย่างมีเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 รวมถึงคนที่พึ่งได้มีโอกาสเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ๆ ก็อาจจะจำเป็นต้องเข้าใจรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
ในครั้งนี้ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw จึงได้มีการจัดทำคู่มือเลือกตั้ง 66 เรียนรู้จากอดีต กาเพื่ออนาคต เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ในหนังสือจะมีรายละเอียดเกี่ยวการเลือกตั้งครั้งที่จะมาถึงนี้อย่างครบถ้วนในทุกประเด็น ทำให้ iLaw ตั้งเป้าอยากแจกจ่ายเอกสารออกไปสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด ในปัจจุบันทาง iLaw จึงได้ขอกำลังจากทุกคนในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวออกไปให้ไกลที่สุด
และต้องบอกว่านี่เป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” จากอีกหลาย ๆ โครงการที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมออกมาขับเคลื่อนงานเหล่านี้ให้ดำเนินไป แม้ว่ากกต.เองจะมีงบเกือบ 20 ล้านบาทในหน้างานเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ นอกจากความคึกคักของการหาเสียงแล้ว บริบทแวดล้อมที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเองก็คึกคักไม่แพ้กัน ทำให้เราพอเห็นภาพความหวังว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับประเทศได้ จึงทำให้ทุกคนพร้อมที่จะ contribute งานเพื่อส่งเสริมการเลือกตั้งครั้งนี้ให้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นและปลอดภัย
และสำหรับใครที่มีโอกาสที่จะไม่สามารถไปใช้สิทธิในวันที่ 14 พฤษภาคม โดยเฉพาะคนที่เรียนหรือทำงานอยู่ต่างจังหวัดจนไม่สามารถไปใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งตามภูมิลำเนาได้ ยังเหลือเวลาอีกเกือบสามวันภายในวันที่ 9 เมษายน สำหรับการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักร โดยควรหลีกเลี่ยงการไปลงทะเบียนพร้อมกันในวันสุดท้ายจนระบบล่มจนอาจจะนำมาสู่การเสียสิทธิต่าง ๆ ไป
ขอให้คะแนนเสียงของท่านเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็ในลักษณะที่ไม่ต้องผลักภาระต่าง ๆ ให้ประชาชนต้องเป็นคนรับผิดชอบแทนหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากภาษีประชาชน
ขอให้เป็นสัปดาห์ที่ดี
(ขอบคุณภาพจาก iLaw)