ป่าปลุกไฟเขียน: เวิร์กช็อป งานเขียน มิตรภาพ และป่า
เล่ากิจกรรม "ป่าป่าเวิร์กช็อป" ที่ Forest Forest แห่งอำเภอปัว จังหวัดน่าน เมื่อมันเกินความคาดหวังจนรู้สึกคุ้มค่าไม่หาย
อาจจะเคยมาจังหวัดน่านแล้วครั้งหรือสองครั้ง แต่กับอำเภอปัว นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสมาอยู่มากินมาใช้ชีวิตกับมัน ความประทับใจแรกของปัวคือการที่ “ลูน” แห่ง Forest Forest เล่าว่านี่จะเป็นร้านสะดวกซื้อแห่งสุดท้ายก่อนเข้าที่พักทั้งที่ยังต้องเดินทางกันอีกเกือบ 40 กิโลฯ
ตอนที่ตัดสินใจมางานนี้ เพราะเป็นขวบปีที่เราอยากจะกลับมา “ลงทุน” กับการพัฒนาการเขียนของตัวเองหลังจากชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นแล้วว่าอยากจะทำงานเขียนอย่างจริงจัง และในส่วนของงานก็ยังจะได้มีโอกาสเปิดพื้นที่เครือข่ายในน่านเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มทำเรื่องนี้มา
ความคาดหวังตั้งต้นจึงเป็นการเรียนเขียนและรู้จักผู้คน เพื่อหวังว่าจะกลับมาขยายผลเครือข่ายอีกทีในครั้งถัดไป
ปลุกไฟกับอาจารย์ต้น
ก่อนหน้านี้ ในตอนที่อยากเป็นนักเขียนมาก ๆ ก็เคยได้มีโอกาสไปเรียนรู้การเขียนหลาย ๆ แบบจากอาจารย์หลาย ๆ ท่าน แต่กับอาจารย์ต้น อนุสรณ์ ติปะยานนท์ กลับให้บรรยากาศที่ต่างออกไป อาจเพราะจำนวนคนก็เลยทำให้ตัวอาจารย์เข้าถึงผู้เรียนได้ใกล้ขึ้น เราพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเยอะมาก ๆ ต่อหนึ่งคน นั่นอาจทำให้เราได้ความต่อเนื่องของการพัฒนาอย่างสม่ำเสมอ
แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกต่างออกไปอย่างชัดเจน คือทุกครั้งที่เราเกิดติดขัด ไปต่อไม่ได้ เขียนต่อไม่ไหว คำแนะนำของอาจารย์ต้นจะยิงเข้ามาได้ตรงจุดจนน่าประหลาด ก่อนหน้านี้เวลาเราไปเวิร์กช็อปงานเขียนแล้วเกิดคำถาม มักจะประสบปัญหาที่ว่าผู้สอนมักมองไม่เห็น “หลุม” ที่กั้นขวางเราเอาไว้ แล้วคำแนะนำที่ได้รับก็มักจะเป็นทำนองราวกับว่าไม่ได้มีหลุมนั้นอยู่จริง ๆ
แต่กับอาจารย์ต้นให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังมองไปที่หลุมเดียวกัน แล้วแกก็พาเราไปเรียนรู้วิธีที่จะ “ข้ามหลุม” เหล่านั้นอย่างคนที่เคยผ่านหลุมนี้มาก่อน หลายครั้งที่พอฟังวิธีข้ามหลุมของอาจารย์ต้นแล้วก็เหมือนพึ่งได้เจอกับต้นเหตุว่าทำไมก่อนหน้านี้เราถึงทำแบบนี้ไม่ได้ เคยประสบปัญหาเขียนเรื่องไปจนแล้วจนรอด ตอนเขียนก็สนุกมาก แต่พอพักไปกลับเขียนต่อจากที่ค้างไม่ได้ พอได้ฟังเคล็ดลับแล้วก็คิดขึ้นมาว่า “เฮ้ย หรือเพราะอย่างนี้หรือเปล่า” ซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายครั้ง ยิ่งพอได้ฟังมากขึ้นยิ่งเข้าใจปัญหาของตัวเองเพิ่มขึ้น และพอฟังเยอะขึ้นก็พบว่าที่ผ่านมาเรายังอ่อนหัดและ “เหลอะแหละ” กับความฝันในการอยากเป็นนักเขียนมาก ๆ คนเป็นนักเขียนอาชีพนี่เค้าเป็นคนละเรื่องกับเราเลยจริง ๆ
ทำให้จากตอนแรกจะเอาบทเรียนไปปรับใช้กับงานที่ทำ พอผ่านไปสามวันดันถูกปลุกไฟให้อยากกลับมาเขียนจริงจังอีกสักครั้ง กลายเป็นแค่ได้คิดถึงเรื่องที่อยากจะเขียนก็สนุก ได้คิดว่าจะได้เขียนก็รู้สึกสนุก พูดมาตลอดว่าตัวเองเป็นคนที่ “รักการเขียน” แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ารักมันมากขนาดนี้
พออยากเขียน ก็อยากอ่าน
บทคุยสัพเพเหระระหว่างเดินทางไปที่พักมีคำถามว่า “หนังสือที่อ่านจบเล่มสุดท้ายคือเล่มไหน” ใช้เวลาจนปลดกระเป๋าเข้าห้องนอน อาบน้ำ กินข้าว จนนอนหลับแล้วตื่นขึ้นมาอีกหนึ่งวันก็ยังนึกไม่ออก
พึ่งมาได้สังเกตว่าแม้จะเป็นช่วงชีวิตที่ซื้อหนังสือเยอะมาก ๆ แต่การอ่านกลับแทบไม่เกิดขึ้นจริง มีหนังสือหลายเล่มที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ในซีลพลาสติกเพื่อกันฝุ่นมานานหลายปี มีหลายเล่มที่ถูกเปิดอยู่ไม่กี่ครั้งแล้วก็ถูกวางทิ้งให้ฝุ่นจับเหมือนเล่มข้าง ๆ คิดยังไงก็คิดไม่ออกว่าที่อ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน และย้อนกลับไปนานเท่าไร
ซึ่งพออยู่กับนักเขียน แน่นอนว่าอาจารย์ต้นก็จะแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ยิ่งพออาจารย์ต้นพูดชื่อเล่มไหนไปแล้วเพื่อน ๆ ดูรู้จักและเคยอ่านเรายิ่งรู้สึกตัวเล็กลงเรื่อย ๆ คำถามที่ยังตอบไม่ได้ก็คอยหลอกหลอนให้เหมือนว่าเรามันไม่มีคุณสมบัติของการเป็นนักเขียนเอาเสียเลย จนอยู่ดี ๆ วันนึงอาจารย์ต้นก็หยิบหนังสือเล่มหนึ่งลงมาจากห้องสมุดชั้นบน แล้วแนะนำเราว่า “คุณน่าจะอ่านเรื่องนี้นะ เหมาะกับงานเขียนของคุณมาก” เราเลยลองได้หยิบมาเปิดอ่านแบบเร็ว ๆ
แล้วความรู้สึกที่เหมือนลืมไปแล้วก็ค่อย ๆ คืนกลับมา แทบจำไม่ได้แล้วว่าการอ่านหนังสือแล้ว “สนุก” เป็นยังไง เผลอแป๊บเดียวอ่านรวดไปถึง 60 กว่าหน้า การอ่านต่อเนื่องอย่างสนุกสนานครั้งล่าสุดที่จำได้คือครั้งที่อ่าน Harry Potter ภาค 5 ตอน ม. 2 แบบที่เป็นความรู้สึกเดียวกันจริง ๆ ไหมก็ไม่รู้แต่รับรู้ได้เลยว่ากลับมาชอบการอ่านเข้าเสียแล้ว ในวินาทีนั้นตั้งเป้าไว้เลยว่า Revenge ของ Yoko Ogawa ในมือต้องเป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านจบในปีนี้อย่างแน่นอน
ก็เลยพึ่งมาพบว่าที่ผ่านมาเราอาจจะเลิกอ่านหนังสือเพราะ “ลืมไปแล้วว่าต้องอ่านทำไม” อาจจะเป็นผลเสียจากช่วงที่ทำงานเขียนกึ่งวิชาการที่ต้องอ้างอิงความถูกต้องจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถืออยู่ตลอด เราเลยลืมสุนทรีย์ของการ “อ่านเอาสนุก” ไป แม้จะไม่ต่างกันมาก แต่พอวันนี้มองว่าการอ่านสิ่งเหล่านี้จะช่วยในส่วนงานเขียนของเราก็เหมือนกลับมามีเป้าหมายกับการอ่านขึ้นทันที
สำหรับนักล่าฝันรุ่น mid-life crisis แบบเรา ๆ การได้พบคนที่มา “ปลุกไฟ” ในตัวเองได้นั้นถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่น่าจดจำ และคนคนนั้นก็เป็นอาจารย์ต้น อนุสรณ์ คนที่เรานั่งเล่นกีตาร์ให้แกร้องเพลงรอบกองไฟนี่เอง
ถึงเมืองไทยกับอาหารนักเขียน
“ถึงเมืองไทยสักที” คือคำติดปากของภัทร เพื่อนร่วมชั้นเขียนที่พึ่งกลับมาจากต่างประเทศ นัยว่าตั้งแต่กลับมายังไม่ได้กินอาหารไทยอร่อย ๆ เลยสักมื้อ จนมาเจอกับอาหารฝีมือพี่โน๊ตก็ต้องร้องว่า “ถึงเมืองไทยสักที” กลายเป็นคำพูดติดปากของคนในวงข้าวไป
พี่โน๊ตเป็นคนที่มีรสมือมหัศจรรย์อย่างหาคำบรรยายได้ยาก ได้กินข้าวฝีมือพี่โน๊ตครั้งแรกที่ Friends & forest. ก็ถึงกับร้องว่ารสชาติมันถึงใจดีจริง ๆ ระดับความเข้มข้นของรสชาตินี่แทบจะใกล้เคียงกับข้าว “รสมือแม่” เป็นการบรรยายความอร่อยแบบที่ว่า รสมันพุ่งเข้ามากระแทกปากทันที ไม่ต้องค่อย ๆ ชิม ค่อย ๆ หาว่ามันอร่อยยังไง พูดแบบวัยรุ่นหน่อยต้องเรียกว่ามันอร่อยแบบ “อร่อย!”
และสิ่งที่สนุกเวลาได้กินกับข้าวพี่โน๊ตคือแนวคิดเรื่องการไม่ food waste แล้วพลิกแพลงจากเมนูนี้เป็นเมนูนั้น เมนูนั้นเป็นเมนูนี้ ซึ่งมันให้ความรู้สึกเหมือนกับข้าวทำเอง คิดถึงสมัยต้องทำกับข้าวกินเองเวลาไม่มีใครอยู่บ้าน เราก็จะจับนั่นมาทำนี่ให้เหมือนกับว่าเป็นเมนูสร้างสรรค์ใหม่ ต่างกันแค่อาหารที่พี่โน๊ตทำมัน “ของจริง” กว่าการทำกับข้าวกินเองอยู่มาก ไม่งั้นคงไม่เกิดอาการที่ทุกคนชิมนั่นก็ร้อง “อร่อย” ชิมนู่นก็ร้อง “อร่อย” กินไป ๆ ก็ต้องร้องว่า “ถึงเมืองไทย” อยู่เรื่อย ๆ
อาหารของพี่โน๊ตจึงเป็นทั้ง “ความอร่อย” และ “ความสนุก” เป็นประสบการณ์แบบที่ไม่ได้พบเจอบ่อยนัก
เรื่องที่ตลกคือพึ่งบ่นว่าอยากกินข้าวฝีมือพี่โน๊ตก่อนไปร่วมงานไม่กี่วัน แล้วก็ไม่รู้มาก่อนว่ามีพี่โน๊ตมาทำกับข้าวในงานด้วย ตอนเจอหน้ากันยังทักกันแบบงง ๆ ว่า “แกมาด้วยเหรอ” เป็นการพบเจอแบบไม่คาดหวังแล้วคุ้มค่าสุด ๆ
มิตรภาพจากวง “เขียน” ชีวิต
เทคนิคหนึ่งที่อาจารย์ต้นชวนใช้ในการเขียนเรื่องเล่า คือการเขียนเรื่องที่จริงสำหรับเรามากที่สุด นั่นทำให้เวลาจำนวนนึงเราใช้ไปกับการ Free writing หรือเขียนสิ่งที่อยู่ในความคิดของเราออกมาโดยไม่ปิดกั้น ด้วยความที่ความรู้สึกมันเป็นเรื่องส่วนตัว เราก็จะเตรียมใจไว้แล้วว่ามันคงไม่ได้จะสามารถแบ่งปันให้คนอื่น ๆ ฟังได้
แต่สักพักก็กลายเป็นว่าทุกคนยินดีที่จะได้เล่า ได้แบ่งปันเรื่องนั้น ๆ กับคนอื่น ๆ ตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ที่อยู่ ๆ เราก็นั่งล้อมวงพูดคุยกัน แบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกัน จนเหมือนว่าเรายินยอมให้คนที่พึ่งรู้จักกันไม่กี่ว่าได้สัมผัสในด้านที่เราไม่อยากให้คนอื่นสัมผัสมากนัก
แม้ส่วนตัวจะเป็นคนพูดมากและชอบเล่าเรื่องราวของตัวเองอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องบางเรื่อง หรือต่อให้ไม่เล่าก็คงไม่ได้รู้สึกผ่อนคลายเวลาที่จะพูดคุยกันเท่าไรนัก แต่สิ่งที่สัมผัสได้จากทุกคน ในระยะที่ต่างฝ่ายต่างปลอดภัย เราไม่ได้รังเกียจที่จะเชื่อมต่อชีวิตเข้าหากันอย่างที่สังคมส่วนใหญ่มักจะเป็น
เราคงไม่ทึกทักไปเองว่าทุกคนเปลื้องใจให้กันได้เห็นจนปรุโปร่ง แต่สิ่งที่รับรู้ได้อย่างชัดเจนคือเราไม่ได้ประสงค์ร้ายใส่กัน เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเข้าหาหรือเว้นระยะห่างให้กันเพื่อไม่ให้การอยู่ร่วมกันเกิดปัญหา มันมหัศจรรย์ตรงที่เรารู้สึกถึงเรื่องเหล่านี้แทบจะพร้อม ๆ กันได้โดยที่ไม่ต้องสร้างกฎระเบียบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
กอดลาของทุกคนมันจึงช่วยตอกย้ำเราว่า บางทีมิตรภาพมันก็ไม่ได้หมายถึงการที่เราต้องเชื่อมติดกันอย่างแนบแน่น แต่หมายถึงผู้คนที่พร้อมจะสร้างการใช้ชีวิตร่วมกันให้มันดีกับทุกฝ่าย
ซึ่งเชื่อเอาเองว่าน่าจะเป็นเพราะเราได้มีโอกาส “แบ่งปัน” ชีวิตของเราให้คนอื่นได้สัมผัสผ่านการเขียนเรื่องราวชีวิตของแต่ละคน และคิดว่าจริง ๆ เราเชื่อมกันแค่ประมาณนี้มันก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
ป่าป่า น้ำน้ำ นั่งนั่ง นอนนอน
ใครสักคนพูดขึ้นมาว่า มาอยู่ที่นี่แล้วทำให้คิดถึงใครบางคน อยากมีโอกาสพาเค้ามาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน แล้วทุกคนก็รับเป็นเสียงเดียวกันว่าเห็นด้วย
ถ้ามองว่าเพราะพื้นที่เป็น Farmstay มีป่า มีน้ำ ที่ไหน ๆ ก็คงเหมือน ๆ กัน เราก็ยังจะยืนยันว่าสำหรับ Forest Forest แล้ว ยังมีความพิเศษบางอย่างที่ที่อื่นอาจจะให้ไม่ได้
เสน่ห์ของ Forest Forest ไม่ใช่แค่เรื่องของพื้นที่ที่ได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์การท่องเที่ยว แต่เป็นพื้นที่สำหรับ “หายใจ” ที่ปลอดโปร่ง เวลาที่คนพูดว่า “ที่พักซ่อนตัวในหุบเขา” เมื่อถึงเวลาจริง ๆ เราจะพบว่ามันก็คือที่พักนี่แหละ แค่มีภูเขามีป่ารายล้อม ราวกับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในแง่การตลาดเท่านั้น
กลับกัน Forest Forest ให้ความรู้สึกที่ใกล้ชิดกับป่ามากขึ้น น้ำที่ไหลผ่านนั้นมีพื้นที่ให้เราสามารถเข้าถึงราวกับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ หรืออาจจะที่พักนี้เป็นส่วนหนึ่งของป่า แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างระยะห่างที่พอดีเอาไว้ให้ยังรู้สึกถึงการใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้รู้สึกเหมือนกำลังถูกกผลักให้ต้องเข้าหาป่าหรืออะไรทำนองนั้น ด้วยความเป็นคนไม่คลั่งรักป่าเราจึงรู้สึกปลอดภัยกับระยะห่างตรงนี้มาก ๆ นั่นทำให้ช่วงเวลาหลายวันหลายคืนที่อยู่ที่นี่เราค่อนข้างสะดวกใจเวลาจะเดินเหินไปส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ไม่รู้สึกแปลกแยกเหมือนว่าบางจุดที่เราจะเข้าไปต้องมีคุณสมบัติบางอย่างถึงจะเข้าไปได้ เป็นบรรยากาศที่ปลอดโปร่ง ร่มรื่น และไม่บีบคั้นจนเกินไป
นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลให้เราคิดถึงใครหลาย ๆ คนในชีวิต ที่อาจจะต้องการเวลาพักผ่อนที่ไม่ได้หมายถึงการจะต้องเข้าป่าตั้งแคมป์หรือทำกิจกรรมลุย ๆ เราอาจจะต้องการแค่ที่ให้เอนตัวเงียบ ๆ แล้วผล็อยหลับไป เพื่อเติมพลังจากความเหนื่อยล้าที่สะสมมา Forest Forest เป็นที่แบบที่เรารู้สึกว่าเราสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ต้องทำอะไรสักอย่าง ไม่ต้องคิดหากิจกรรมทำเพื่อผ่านเวลาจนกว่าจะได้เวลานอน
ยิ่งเมื่อได้ใช้ชีวิตท่ามกลางผู้คนที่เป็นมิตร เราก็แทบนึกภาพไม่ออกแล้วว่าเราจะไม่อยากใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ได้ยังไง
ปัวเองก็ไม่ธรรมดา
ไม่เคยเห็นภาพว่าปัวหน้าตาเป็นยังไงมาก่อน อันที่จริงแม้แต่น่านเราก็ยังเห็นเป็นภาพของ Community เล็ก ๆ ที่น่าจะมีความห่างเหินทั้งในแง่ระยะทางกายภาพและวิธีคิด แต่พอได้มาปัวครั้งนี้กลับเปลี่ยนภาพในหัวไปตลอดกาล
ในวันหนึ่งหลังจากที่เราเริ่มเขียนกันมาสักพัก เริ่มมักคุ้นกันพอสมควร อาจารย์ต้นก็ชวนทุกคนว่าจะไปกินข้าวบ้านลูกศิษย์แถว ๆ นี้ พอดีกับที่พี่โน๊ตต้องเดินทางกลับก่อนทำให้วันนั้นเราตกลงกันว่าจะออกไป “ถึงเมืองไทย” กันที่อื่น
ระหว่างทาง ลูกศิษย์อาจารย์ต้นก็ได้แนะนำสถานที่ให้เข้าไปท่องเที่ยว บอกเป็นคล้าย ๆ พิพิธภัณฑ์บ้านล้านนา เราก็เข้าใจกันว่าเป็นเหมือนพื้นที่อนุรักษ์บ้านเก่า พอให้ได้ฆ่าเวลาระหว่างรอมื้อเย็น อาศัยว่าเป็นทางผ่านพอดี
แต่ใครจะคิดว่าบนพื้นที่หลายสิบไร่ที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือหลายสิบหลัง ทั้งหมดเป็นการสร้างขึ้นใหม่โดยอาศัยเทคนิคงานช่างท้องถิ่นจริง ๆ การได้พบเจอและพูดคุยกับพี่โต๊ด แห่ง ศรีอินปัญญ์ เป็นอะไรที่เปิดโลกมาก ๆ คนที่ไม่ได้จบสถาปัตย์แต่มีแรงขับด้านสถาปัตยกรรมท้องถิ่น บุกเบิกพื้นที่จากไร่ร้างดินแดงปลูกพืชผลไม่ขึ้นให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์บ้าน ในสวนป่าที่ปลูกเองด้วยมือทุกต้น ฟังไปก็ว้าวไป จบประโยคหนึ่งสองคนกับลูนก็ร้อง “โหว” ตบท้ายแทบทุกครั้ง เราไม่นึกว่าจะได้เจอคนแบบนี้ในพื้นที่แบบนี้ ในจังหวะแบบนี้ ตอนที่จ่ายค่าเข้า 100 บาท พูดตามตรงเรายังคิดว่ามันแอบ “แพงไป” แต่พอผ่านสองชั่วโมงไปแบบเต็มอิ่มจนล้นออกหูออกตาก็ต้องบอกว่า “โคตรคุ้ม”
ยังตื่นตาตื่นใจไม่ทันหายก็เดินทางมาถึง ได้ดิบ ได้ดี มองเผิน ๆ ก็คงเป็น Farmstay ขายบรรยากาศทั่ว ๆ ไป แต่พอได้พูดคุยกับพี่เบิร์ดก็สัมผัสได้ถึงแพสชันของคนทำงานที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ความสนใจด้าน permaculture ความรู้สึกในการ Contribute ให้ Community พอเผลอหลุดปากไปว่า “ปัวก็ไม่ธรรมดานะครับ” พี่เบิร์ดก็เปิดก็อกเล่าถึงผู้คนอีกจำนวนมากที่หลบซ่อนตัวอยู่ในปัว เป็นเหล่าจอมยุทธ์ที่ยุทธจักรต่างต้องการตัว
“บ้าไปแล้ว” นั่นคือความรู้สึกตอนที่เราพบว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าการมาครั้งนี้จะได้เจออะไรขนาดนี้ ปัวมันไม่ธรรมดาจริง ๆ ความรู้สึกมันเหมือนเวลาที่เราตั้งใจทำอะไรสักอย่างแล้วมันได้ผลลัพท์ที่เกินคาด ในหัวมีแต่ความคิดว่า “ดีจริง ๆ ที่ได้มา”
กิจกรรมจัด 3 วัน 2 คืน แต่กลายเป็นว่าเราชวนกันอยู่ต่ออีกหนึ่งวันเหมือนเด็กที่กำลังสนุก หลังจากโบกมือลากันก็มีข้อความส่งมาบอกว่ามีใครลืมอะไรบ้างราวกับว่าจะทิ้งร่องรอยหลักฐานการมีอยู่ของตนเอาไว้พื้นที่นั้น
และทุกครั้งที่ได้มีโอกาสพบเจอสถานที่ที่ทำให้เบาใจได้ขนาดนี้ เราก็จะคิดอยู่เสมอว่าจะดีแค่ไหนถ้าสังคมเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น และผู้คนสามารถเข้าถึงสถานที่แบบนี้ได้เยอะขึ้น
ในวันหนึ่งอาจารย์ต้นก็เปรยขึ้นมาว่าเราน่าจะจัด reunion กันสักปีละครั้ง จะได้กลับมาเจอกันมาพูดคุยกันเรื่องงานเขียนและการเขียนของแต่ละคน เราทุกคนตกปากรับคำโดยที่ไม่รู้ว่าแต่ละคนจริงจังกับมันมากแค่ไหน
มีเพียงความรู้สึกหนึ่งในใจที่ตกค้างมาจนถึงทุกวันนี้ว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปอีก