สายเปลี่ยน ป้ายไม่เปลี่ยน: ภาพสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชนบนโครงสร้างรัฐที่ไม่เอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่าที่ควร
จากไวรัลป้ายรถเมล์แก้มือโดยประชาชน ชวนมองภาพที่สะท้อนกว้างออกไปมากกว่าแค่เรื่องความไม่พัฒนาของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศ
ถ้าเราดูแบบเร็ว ๆ เราจะเห็นความล้มเหลวของการจัดการ ความไม่พัฒนาและล่าช้าของตัวรัฐ เห็นภาพที่ประชาชนต้องลงมือทำกันเองโดยหวังพึ่งผู้มีอำนาจไม่ได้ ก่อเป็นความรู้สึกสิ้นหวังต่อประเทศนี้มากขึ้น
แต่หากเรามองให้ช้าลง ภาพนี้สามารถเล่าถึงประเทศนี้ได้อย่างละเอียดหลากหลายมุมผ่านเรื่องราวของรถเมล์ เป็นภาพที่ทรงพลังที่ชวนให้รู้สึกว่านี่ควรจะกลายเป็นภาพข่าวแห่งปีหรืออะไรสักอย่างได้จริง ๆ
หากเรามองดูที่ตัวป้าย เราจะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจคือชุดเลขของตัวสายรถเมล์มีอยู่ด้วยกันถึง 3 ระบบ คือระบบที่เป็นตัวเลขเรียงกัน (21,25,29,…) แบบมีเส้นขีดคั่น (4-68) และแบบที่มีตัวอักษรต่อหลัง (34E) ในป้ายเดียว แม้แต่ระบบเลขเรียงก็ยังมีทั้งแบบสองตัวและสามตัว ไม่แน่ใจว่ามีระบบที่เป็นเส้นขีดคั่นแล้วต่อท้ายด้วยตัวอักษรด้วยอีกหรือเปล่า
นี่น่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของความหลากหลายที่ไม่ส่งผลดีในมุมหนึ่ง เพราะระบบเลขรถเมล์ดูจะเป็นปัญหาคาใจผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง มีการพยายามเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เริ่มมาตั้งแต่การพยายามจะใส่ตัวอักษรเข้าไปในชุดเลข จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงระบบเลขตามโซนเมืองครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2565 เป็นที่มาของระบบตัวเลขแบบมีขีดคั่น แต่ก็ยังไม่ปัจจุบันที่สุดเพราะเมื่อช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็พึ่งมีการ “เปลี่ยน” ระบบอีกหนึ่งครั้งด้วยการเอาเส้นคั่นออก แล้วใช้ระบบเลขเรียงแต่ยังยึดตัวเลขสายจากการแบ่งโซนดังเดิม เช่น 1-24 เปลี่ยนเป็น 124 เป็นต้น
ทำให้เมื่อมองจากป้ายนี้ เราแทบตอบไม่ได้เลยว่ากำลังใช้ระบบแบบไหนอยู่กันแน่ เป็นระบบเลขชุดตามเลขสายเดิมก่อนปี พ.ศ. 2565 เป็นเลขชุดใหม่แบบถอดขีดคั่นออก หรือมีทุกระบบรวมกัน สุดท้ายเมื่อเราต้องใช้ก็ทำได้แค่ดู “เลขให้ตรง” แล้วขึ้นให้ทัน ซึ่งก็จะไม่ต่างอะไรกับเลขชุดแบบเดิมที่ไม่ได้สื่อถึงตัวพื้นที่หรือเส้นทาง ก็จะยิ่งเกิดคำถามเข้าไปอีกว่า แล้วอย่างนี้เราจะเปลี่ยนระบบเลขรถไปเพื่ออะไร
ระบบเลขรถจำเป็นจริงหรือไม่
ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนระบบเลขรถ ข่าวที่ตามมาแทบจะทันทีคือเรื่องความสับสนของผู้ใช้งาน ซึ่งคนจำนวนมากก็จะมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยน แถมยังส่งผลตรงกับผู้ใช้บริการปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องเริ่มจำระบบเลขใหม่ จนเกิดเป็นคำถามว่าการมีระบบเลขรถจำเป็นจริงหรือไม่
การใช้ระบบเลขรถ เป็นขั้นตอนในการสร้างความเข้าใจเบื้องต้นต่อผู้ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้งานที่ไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ หรือจำเป็นต้องเดินทางข้ามไปมาหลายพื้นที่ เราลองนึกภาพว่าสมมติเรานั่งรถเมล์สายหนึ่งไปกลับจากบ้านและที่ทำงานเป็นปกติ เราคงไม่รู้สึกว่าการเปลี่ยนเลขสายจะสำคัญ แต่เมื่อเราต้องเดินทางไปที่อื่นที่ไม่คุ้นเคย การมีเลขสายที่เป็นระบบจะช่วยเราได้มาก
ยกตัวอย่าง ในหลายประเทศมีการใช้ระบบเลขถนนเป็นระบบเลขรถ ทำให้เมื่อคุณเห็นเลขรถแล้วคุณสามารถรู้ได้ว่ารถคันนี้วิ่งไปบนถนนเส้นไหน หรือการแบ่งโซนแบบระบบเลขคั่นของกรุงเทพฯ ก็มีการใช้เลขหน้าเพื่อระบุว่ารถคันนี้จะวิ่งที่ส่วนไหนของกรุงเทพฯ ทำให้อย่างน้อยที่สุดเราก็จะสามารถเกาะไปกับรถที่ใช้เลขเหล่านี้โดยไม่หลงออกไปไกล
ระบบตัวอักษรต่อท้ายก็เป็นระบบที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างในฮ่องกง จะมีการใช้ตัวอักษรท้ายที่สื่อถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น A คือสายที่จะวิ่งเข้าสนามบิน (Airport) H คือสายที่จะวิ่งผ่านโรงพยาบาล (Hospital) และตัวอักษรอื่น ๆ เพื่อแจ้งว่ารถคันนี้จะวิ่งผ่านระบบขนส่งรถไฟฟ้า สถานที่ราชการ ฯลฯ
อย่างในกรุงเทพฯ มีการใช้ตัวอักษร E เพื่อระบุว่ารถคันดังกล่าวจะวิ่งขึ้นทางด่วนซึ่งอาจทำให้ไม่มีการจอดรายทางในระยะดังกล่าว เป็นต้น
เปลี่ยนเพื่อใคร
อีกหนึ่งเหตุผลที่เรามักพูดถึงกันคือการสนับสนุนการท่องเที่ยว หมายความว่าการมีเลขรถที่เป็นระบบก็จะช่วยสื่อสารกับนักท่องเที่ยวในการใช้งานได้ดีขึ้น ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้งานได้มากขึ้นโดยไม่ต้องจำเลขสายทั้งหมด
ซึ่งให้ข้อเสนอประมาณนี้ ก็จะมีคนออกมาต่อต้านว่าเราจำเป็นต้องทำให้คนที่ใช้ประจำวุ่นวายเพื่อนักท่องเที่ยวจริงหรือไม่
แต่หากเรามองให้ใกล้เข้ามาอีก ว่าอันที่จริงแล้วมันไม่ได้มีแค่ “นักท่องเที่ยว” ที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ แต่นั่นหมายถึงคนนอกพื้นที่อื่น ๆ เช่น คนต่างเขตที่จำเป็นต้องมาทำธุระในพื้นที่นี้โดยที่ปกติไม่ได้มา คนรอบกรุงเทพฯ รวมถึงคนต่างจังหวัดที่จะต้องพึ่งพาขนส่งสาธารณะในการเดินทาง หรือแม้แต่วันหนึ่งเราอาจจะมีเหตุฉุกเฉินให้ต้องย้ายบ้านย้ายที่ทำงาน การมีระบบเลขรถก็จะช่วยให้การใช้งานรถเมล์ของเราง่ายยิ่งขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น สมมติว่าเลขสักตัวของชุดใช้สำหรับบอกจุดจอดซึ่งเป็นจุดสำคัญได้ ในบางจังหวะเราอาจจะอาศัยขึ้นรถคันนั้นแล้วไปต่อรถจากจุดจอดอีกทีแทนการรอรถที่ตรงสายเป๊ะ ๆ หรือหากมีตัวอักษรต่อท้ายที่สื่อถึงสถานที่สำคัญ เราก็จะสามารถใช้อ้างอิงในการเดินทางได้สะดวกขึ้นอีดเช่นกัน
การมีขนส่งสาธารณะ จึงไม่ได้หมายถึงแค่การมีรถจากจุดหนึ่งไปถึงจุดหนึ่ง แต่คือการมีระบบที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการรู้สึกถึงความสะดวก ทำให้ผู้ใช้นึกภาพออกว่าเราจะใช้ขนส่งเหล่านี้เดินทางไปไหนได้อย่างไร และวางใจที่จะพึ่งพาการขนส่งเหล่านั้นในการเดินทางแต่ละครั้งโดยไม่ติดอยู่แค่ว่าจะเป็นการเดินทางบนเส้นทางเดิมเป็นประจำหรือไม่
ซึ่งการมีเลขรถที่เป็นระบบก็จะช่วยทำให้ขนส่งสาธารณะเป็นขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น เมื่อมองในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสำหรับโครงสร้างที่ไม่เป็นระบบมันจึงเลี่ยงไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเลี่ยงการเกิดความสับสนไม่ได้ นั่นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดการปัญหาในส่วนนี้ให้เคลื่อนไปอย่างราบรื่นที่สุด เช่นเดียวกับที่ต้องยอมให้มีการวงเล็บเลขสายแบบเดิมต่อท้าย หลายคนอาจจะบอกว่าดูยุ่งยากยืดยาว แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องพยายามผ่านไปให้ได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จนกว่าผู้คนจะคุ้นชินกับเลขสายที่เป็นระบบในสักวัน
การสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากเรื่องการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อระบบเลขรถแล้ว หากเราย้อนกลับมาที่ป้าย จะพบความน่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือมีการกากบาททับเลขสายที่มีการยกเลิกการเดินรถ แล้วมีเลขชุดใหม่ที่มีการเขียนเส้นทางการเดินรถใหม่ทั้งหมด หมายความว่านี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยน “เลข” หรือ “ระบบเลข” ของตัวรถ แต่เป็นการ “เปลี่ยนสาย” เดินรถ ทำให้ในจุดขึ้นดังกล่าวอาจจะไม่มีรถที่เดินทางไปจุดเดิมอีกแล้ว
คำถามจึงเป็นว่าในกรณีที่มีการหยุดเดินรถของบางสาย เรามีพื้นที่ในการสื่อสารอย่างไร แจ้งหรือตามข่าวได้ที่ไหนบ้าง
เราลองนึกภาพว่ามีคุณพี่คุณป้าที่เคยใช้รถอยู่ประจำแต่ต้องหยุดใช้ไป แล้ววันหนึ่งจำเป็นต้องใช้ขึ้นมา เดินมาถึงป้ายพบว่า เอ้า สายนี้เค้าหยุดวิ่งไปแล้ว แล้วจะทำยังไงกันต่อ มีสายไหนที่วิ่งคล้าย ๆ กันหรือผ่านจุดคล้าย ๆ กัน ใกล้ ๆ กันบ้าง
การมี “ป้ายรายละเอียด” จึงเป็นจุดสำคัญอย่างมากต่อผู้ใช้บริการ แต่เมื่อเรามองย้อนกลับมาที่ป้ายในภาพ สิ่งที่สงสัยตามมาคือแล้วป้ายนี้มันอัพเดตขนาดไหน การแก้ไขโดยการเขียนเพิ่ม แก้กันตั้งแต่เมื่อไร มีการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นไหม บางสายอาจจะกลับมาวิ่งแล้ว บางสายกลับมาวิ่งแต่เปลี่ยนตัวเลข หรือบางสายเลขเดิม วิ่งเหมือนเดิมแต่ไม่ผ่านหรือไม่จอดบางจุดแล้ว (ดังที่เห็นในป้าย) เราอัพเดตข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร และผู้คนรู้ช่องทางการเข้าถึงข่าวอัพเดตมากน้อยแค่ไหน
ส่วนนี้เองจึงเป็นปัญหาด้านการสื่อสารที่สำคัญมาก ๆ คือการสร้างความน่าเชื่อถือของข้อมูล ทำให้เมื่อเรามองป้ายแล้วใช้อ้างอิงได้ เชื่อได้ว่าข้อมูลมีการปรับปรุงอยู่ตลอด และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะมีการปรับปรุงทันที การแก้ไขป้ายในภาพจึงสะท้อนถึงความไม่น่าเชื่อถือของระบบการให้ข้อมูลของรัฐ ที่มีความล่าช้า ไม่อัพเดต และอาจเกิดความสับสนได้
ซึ่งสิ่งนี้ก็จะสะท้อนกลับมาที่เรื่องการเปลี่ยนเลขสายอีกทีว่า หากรัฐสามารถสื่อสารสร้างความเชื่อมั่นในลักษณะนี้ได้ แรงต่อต้านเรื่องการเปลี่ยนเลขสายก็จะลดทอนลงได้อีก เพียงแต่เมื่อเราอยู่ในรัฐที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในทำนองนั้น ทำให้แม้แต่การสื่อสารหลาย ๆ ครั้งของรัฐเองยังทำให้เกิดสงสัยขึ้นมาว่ามันจะจริงแน่ และหนักแน่นแค่ไหนกัน
ส่งเสริมการมีส่วนร่วม
ครั้งแรกที่เห็นป้ายนี้ สิ่งที่สะท้อนใจอยู่ตลอดคือประเทศเรามันมี contributor ที่พร้อมสนับสนุนสังคมอยู่เยอะมาก ๆ สังเกตได้จากว่าในช่วงที่รัฐล่าช้ามีคนพร้อมลุกขึ้นมาทำงานแก้ปัญหาให้ก่อนโดยที่เอาจริง ๆ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของพวกเขาเสียด้วยซ้ำ
หากรัฐมองเห็นศักยภาพในส่วนนี้ สิ่งที่รัฐควรทำและจะเป็นประโยชน์กับตัวรัฐเองคือการส่งเสริมให้คนเหล่านี้มีพื้นที่ในการเข้ามาช่วยการทำงานได้ เช่นเดียวกับที่กรุงเทพฯ หยิบ Traffy fondue มาใช้แล้วมีผู้เข้ามารายงานเป็นจำนวนมหาศาลอย่างต่อเนื่อง
ยิ่งเมื่อมองไปยังคนทำงานขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ทั่วประเทศ เรายิ่งเห็นโอกาสของสังคมที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า มีทั้งกำลังคน กำลังงานที่พร้อมผลักดัน แต่กำแพงชิ้นเดียวที่ขวางคนเหล่านี้เอาไว้คือโครงสร้างรัฐที่ไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีพอ
เมื่อมองกลับไปที่ป้าย เราจะพบว่าประชาชนต้องเริ่มตั้งแต่ออกแบบการ contribute ในเงื่อนไขจำกัด วางแผนและจัดการเท่าที่ทรัพยากรมีให้ ก็ยังสร้าง Impact ได้ระดับนี้ นี่ขนาดเราไม่แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้อัพเดตขนาดไหน ยังรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือมากกว่าตัวป้ายเดิมที่ทำโดยหน่วยงานรัฐ ลองนึกภาพว่าถ้าเรามีโครงสร้างที่สนับสนุนคนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น งานมันจะออกมาหน้าตาแบบไหน ตัวป้ายจะมีการคำนึงถึงผู้ใช้มากน้อยเพียงใด
เรื่องตลกร้ายคือป้ายรุ่นนี้เป็นป้ายที่เปิดรับไอเดียจากประชาชนเพื่อมาใช้ผลิตจริง ก็ยิ่งเป็นภาพสะท้อนว่า สำหรับประชาชนแล้วการทำงาน contribute มันไม่เคยเป็นงานแบบครั้งเดียวจบ และควรคำนึงถึงโครงสร้างในการสนับสนุนให้ประชาชนกลับมา contribute ได้อย่างต่อเนื่อง การประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ Opensource จึงไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมแบบเป็นครั้ง ๆ แล้วจบ แต่หมายถึงการทำงานในระดับวัฒนธรรมของตัวรัฐเป็นสำคัญด้วย
และแม้ว่าในปัจจุบันป้ายรถเมล์สมัยใหม่จะมีการแจ้งผ่านหน้าจอแบบเรียลไทม์ รวมถึงมีแอพลิเคชันช่วยติดตามรถเมล์แล้ว หรือตัวป้ายรถเมล์อัจฉริยะก็น่าจะเข้ามาเป็นแรงกระเพื่อมในการสร้างมาตรฐานของป้ายรถเมล์ในอนาคต
แต่ถ้าเราไม่มองว่าเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องของรถเมล์ ภาพนี้ถือเป็นภาพที่สะท้อนโครงสร้างการทำงานรัฐกับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ
เพราะนอกจากรถเมล์ ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่กำลังรอการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่รัฐกลับเป็นเงื่อนไขในการขัดขวางเสียเป็นส่วนใหญ่ หลายครั้งที่คนท้องถิ่นพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองแต่ก็ต้องติดปัญหาความไม่เอื้ออำนวยจากโครงสร้างแบบปัจจุบัน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น และครอบคลุมถึงการทำงานรัฐในทุกระดับ
เพื่อให้การพัฒนาเมือง เป็นการพัฒนาเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ขอขอบคุณโพสต์ต้นทางที่ muse เราครับ