ช่องจ่ายเงินแบบช้า: นโยบายที่สะท้อนความใส่ใจต่อความรู้สึกเพื่อนมนุษย์
เพราะชีวิตอาจจะไม่ต้องรีบร้อนเสมอไป พาไปดูนโยบายของห้างสรรพสินค้าในเนเธอร์แลนด์ที่ออกแบบช่องจ่ายเงินเพื่อให้คนสามารถพูดคุยกันได้มากขึ้น
ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติโรคระบาด COVID-19 จนตามมาด้วยมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ทั่วโลกทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถพบปะพูดคุยสังสรรค์หรือออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้ จนมีการคาดการณ์เรื่องภาวะเครียดของผู้คนเอาไว้สูงมากจากการถูกบังคับให้อยู่ในพื้นที่จำกัด
ปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมกันทั้งโลก แต่จะมีสักกี่ประเทศที่มองว่าเป็นปัญหาสำคัญและออกนโยบายในการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาด้วย “วิธีการ” ที่เรียบง่ายและเข้าถึงผู้คนได้อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์
วิธีที่ "เข้าใจง่าย” ที่สุดของการแก้ปัญหาความเหงา คงหนีไม่พ้นการมีพื้นที่ให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กัน แล้วจะมีสถานที่แบบไหนที่ทำแบบนั้นได้ จะมีใครที่พร้อมจะพูดคุยกับคนแปลกหน้าโดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือไม่ปลอดภัย
คำตอบของเนเธอร์แลนด์คือ “แคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ต” ยังไงล่ะ
Keltskassa: ช่องจ่ายเงินแบบช้าเพื่อให้คนมีเวลาคุยกัน
เพราะในปัจจุบันตั้งแต่ก่อนวิกฤติโรคระบาด การใช้ชีวิตของผู้คนล้วนเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ความล่าช้าในการจ่ายเงินใน supermarket เคยเป็น pain point สำคัญจนทำให้มีการออกแบบช่องจ่ายเงินสำหรับสินค้าน้อยชิ้นเพื่อความรวดเร็ว หรือช่องจ่ายเงินด้วยตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการ “ลดเวลา” ในการชำระเงิน
แต่ไม่ใช่กับที่นี่ ที่ที่มองเห็นปัญหาเรื่อง “ความเหงา” ของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหงาที่เกิดจากการ lockdown ในช่วงวิกฤติ COVID-19 จนทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมลดน้อยลงอย่างมากจนอาจเกิดภาวะเครียดสะสมได้
จึงนำมาสู่การเปิด “ช่องชำระเงินแบบช้า” เพื่อให้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยสามารถ “ใช้เวลา” ในการพูดคุยกับแคชเชียร์เพื่อบรรเทาความเหงาได้
นโยบายนี้มีชื่อว่า Keltskassa หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Chat Checkout คือช่องจ่ายเงินสำหรับพูดคุยกัน โดยมองถึง “ความสำคัญ” ของการปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการเปิดช่องที่ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าเป็น “ช่องชำระเงินแบบช้า” ที่จะต้องเคารพการใช้เวลาพูดคุยกับแคชเชียร์ของผู้เข้าใช้บริการ
แค่ได้ฟังก็รู้สึกทึ่ง เพราะแทบนึกไม่ออกเลยว่าคนที่คิดนโยบายแบบนี้ได้จะต้องมีความ “ลึกซึ้ง” ในแง่ “ความเห็นใจเพื่อนมนุษย์” มากขนาดไหน หากเรามองกันโดยทั่วไปเราคงรู้สึกว่าถ้าจำเป็นก็ควรไปคุยกับเพื่อน คุยกับคนรู้จัก การชำระเงินควรเป็นที่ที่ผ่านไปได้อย่างเร็ว ๆ เพื่อไม่ให้เสียเวลาการใช้ชีวิต ใครจะคิดว่าพื้นที่แบบนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้จริง
และยังทำได้ดีมากเสียด้วย เพราะหลังจากมีการทดลองเปิดช่องชำระเงินสำหรับพูดคุยกันนี้ในห้างสรรพสินค้า Jumbovo สาขาเมือง Brabant ในปี 2019 พบว่ามีผู้คนที่เข้าร่วมและเกิดผลลัพท์ในทางบวกอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้มีการขยายโครงการนี้ออกไปทั่วประเทศ โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ร่วมมือกับบริษัทภายในประเทศกว่า 20 บริษัทในการผลักดัน Keltskassa ขึ้นอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันนอกจากช่องชำระเงินแล้ว ยังมีพื้นที่สำหรับให้ผู้คนมาพบปะสังสรรค์กัน มีพื้นที่สำหรับดื่มชาและกาแฟเพื่อพูดคุยกับเพื่อนบ้านและคนรู้จัก โดยมีเป้าหมายว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นมากถึง 200 จุดทั่วประเทศ โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากให้ความร่วมมือ เช่น ห้างสรรพสินค้าในเครือ Jumbo ที่ดูแลให้มี Keltskassa ในทุกสาขาของตัวเอง เป็นต้น
All against Loneliness
หากถามว่าทำไมรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ถึงให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ก็คงต้องเล่าว่าปัญหาเรื่อง “ความเปลี่ยวเหงา” (loneliness) กำลังจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ โดยได้มีการทำแบบสำรวจมาตั้งแต่ปี 2017 พบว่ากลุ่มตัวอย่างในเมือง Amsterdam ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีมากถึง 47% รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองนั้น “เปลี่ยวเหงา” ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับวิกฤติโรคระบาด COVID-19 จึงมีความกังวลว่าปัญหานี้จะสร้างช่องว่างทางสังคมที่ส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ไปสู่ปัญหาอื่น ๆ
นั่นทำให้กระทรวงสุขภาพ สวัสดิการ และกีฬา (Ministry of Health, Welfare and Sport.) ออกแคมเปญรณรงค์ “All against Loneliness” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันสร้างทางออกให้สังคมหลุดพ้นจากภาวะความเปลี่ยวเหงานี้ไปให้ได้
ปัญหาความเปลี่ยวเหงาของเนเธอร์แลนด์ดูเหมือนจะฝังรากลึกอยู่กับโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการที่ครอบครัวฝั่งยุโรปมักเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ใช่ครอบครัวขยาย จนทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งผู้สูงอายุมักต้องอยู่อาศัยอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง และโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีกในหมู่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้แต่งงาน โดยดูเหมือนว่าอัตราของคนที่ไม่แต่งงานหรือมีคู่ครองเองก็กำลังเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
แล้วทำไมเราต้องต่อสู้กับความเหงา
โดยทั่วไปเราคงรู้สึกว่า “ความเหงา” ก็น่าจะเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่คนจะต้องมีโอกาสพบเจอ ไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่หากสิ่งนี้มีแนวโน้มมากขึ้น นั่นเป็นคำถามว่า “สังคมแบบไหนที่ทำให้คนรู้สึกเหงาขนาดนั้น”
และความเหงาก็ไม่ใช่ “เรื่องปกติ” อย่างที่เราคิด เพราะมันส่งผลต่อระบบการทำงานของสมอง ความเปลี่ยวเหงาในระดับที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดภาวะเครียด ทำให้นอนไม่หลับ ส่งผลต่อความมั่นใจในการเข้าสังคม รวมถึงการทำงาน จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและอาการทางจิตเวชอื่น ๆ ได้อีกด้วย
แถมหากในสังคมมีคนที่เปลี่ยวเหงาเป็นจำนวนมาก ก็อาจสร้าง “บรรยากาศในสังคม” ให้เต็มไปด้วยความเปลี่ยวเหงา ซึ่งส่งผลเสียต่อภาวะการเจริญเติบโตของเด็กที่โตมาในสังคมนั้น ๆ ที่อาจสูญเสียบุคลิกร่าเริงและใช้ชีวิตอย่างมืดหม่นจากสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการสร้าง “นโยบายทางสังคม” ที่อาจเกิดช่องว่างและความสั่นคลอนของความเชื่อมโยงตัวเองต่อรัฐและสาธารณะ และสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงจากการที่ผู้คนมีศักยภาพในการทำงานลดลง หรืออยากทำงานน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ประเด็นอื่นในสังคมอย่างแน่นอน
การแก้ปัญหาเรื่องความเปลี่ยวเหงา จึงเป็นเรื่องของความมั่นคงของรัฐในความหมายหนึ่ง แต่การจะเข้าใจเรื่องนั้นได้ จำเป็นต้องมีมุมมองที่ “เห็นใจเพื่อนมนุษย์” อย่างมาก
ตัดภาพมาที่สังคมไทย เราน่าจะมีโอกาสได้พบเห็นผู้สูงอายุที่เข้าใช้ช่องชำระเงินตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อแล้วเกิดความล่าช้า เงอะ ๆ เงิ่น ๆ หรือมีการสอบถามพูดคุยกับพนักงานชำระเงินในเรื่องต่าง ๆ
แล้วสิ่งนี้จะถูกผลิตซ้ำในโลกออนไลน์ว่าเป็นการ “ทำให้คนอื่นเสียเวลา”
ทั้งที่ถ้ามองกันในความเป็นจริงแล้ว การใช้เวลาในช่องชำระเงินนั้นเป็น “สิทธิ์” อย่างเต็มที่ของผู้ใช้บริการ เรามีสิทธิ์ที่จะพูดคุยสอบถามเรื่องบริการ รวมถึงความสงสัยหลาย ๆ อย่างโดยไม่ต้องกังวลว่าการ “รักษาสิทธิ์” นั้นจะทำให้ใครต้องเสียเวลาหรือเปล่า (และต้องยืนยันว่าเมื่อเรียกมันว่าสิทธิ์ นั่นหมายถึงว่าสามารถทำได้โดยไม่กระทบสิทธิ์คนอื่นอยู่แล้ว การที่คนอื่นต้องรอนานไม่ได้แปลว่ากำลังโดน “ละเมิดสิทธิ์”) รวมถึงหากพูดกันตรง ๆ ในกรณีที่เกิดความล่าช้าในการชำระเงิน เราควรมองไปที่ปัญหาของ “ผู้ให้บริการ” ในเรื่องการจัดการมากกว่าการ “โทษผู้ใช้บริการ” คนอื่น ๆ หรือเปล่า
เข้าใจว่าปัญหาหลัก ๆ คงเป็นประเด็นด้าน “ความต่างของอายุ” คือคนในแต่ละช่วงอายุมี “อคติ” กับคนในช่วงอายุอื่น ๆ เพราะยึดถือ “ศีลธรรมในการใช้ชีวิต” คนละชุดกัน ทำให้เมื่อเกิดพื้นที่ขัดแย้งกับคนที่มีอายุห่างกัน เรามักมองว่าเป็นปัญหาที่อีกฝ่ายมากกว่าปัญหาที่จุดอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถสังเกตเห็นได้ทั่วไปในหลายประเด็น
ความน่าสนใจคือ มันไม่ใช่ว่าประเทศเราไม่มีปัญหาเรื่องความเปลี่ยวเหงาแบบเนเธอร์แลนด์ โครงสร้างครอบครัวที่เป็นแบบเดี่ยวมากขึ้น ผู้สูงอายุต้องใช้ชีวิตลำพัง หรือการมีคู่ครงแต่งงานน้อยลงจนรู้สึกเปลี่ยวเหงา ประเทศไทยเองก็น่าจะมีไม่น้อยกว่าคนอื่นสักเท่าไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนสังคมจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ เรากลับพบว่านโยบายที่เข้ามารองรับ “ชีวิต” ของผู้สูงอายุนั้นเป็นสิ่งที่ทำท่าเหมือนจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยเลยด้วยซ้ำ ทั้งที่ถ้าเราพูดเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่หลายพื้นที่เขา “ตื่นตัว” กันแล้ว ญี่ปุ่นเองมีปัญหาเรื่องการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจนต้องออกมาตรการกระตุ้นการสมรสและมีบุตรเพื่อเพิ่มอัตราเกิดของเด็ก
แต่ของไทยเรื่องพวกนี้ยังถูกผลักให้เป็นปัญหาแบบปัจเจกอยู่ค่อนข้างสูง และแน่นอนว่าในปัจจุบันมีองค์กรจำนวนไม่น้อยที่กำลังผลักดันเรื่องต้องกล่าว แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายเหล่านี้มันจะเกิดผลกระทบในวงกว้างก็ต่อเมื่อรัฐบาลเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าวด้วย
หากเรามีนโยบายช่องจ่ายเงินแบบช้าเกิดขึ้น ก็อาจจะนำไปสู่ข้อสงสัยและถกเถียงที่ว่าแล้วทำไมไม่ให้ลูกหลานออกมาซื้อของ แก่แล้วก็ควรอยู่บ้าน โดยไม่ได้ระวังว่าอัตราการเกิดของเด็กไทย รวมถึงความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของผู้สูงอายุในประเทศเราก็ไม่ได้น้อยหน้าคนอื่นเขา
ทำให้เห็นว่าหากนโยบายแบบ Keltskassa จะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ยังต้องฝ่ากำแพงอีกหลายด่านมาก เพราะในความเป็นจริงแล้วเราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ “เห็นใจเพื่อนมนุษย์” มากขนาดนั้น