ชัยชนะอีกครั้งของประชาชน: 50,000+ รายชื่อในสามวัน
Recap การต่อสู้อีกครั้งของประชาชน ด้วยการล่ารายชื่อเสนอคำถามประชามติให้ได้ 50,000 ชื่อใน 3 วัน
หลังจากประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลของแกนนำฝ่ายค้านเก่าและพรรคร่วมรัฐบาลเก่าจนเกิดเป็นคำถามมากมายต่อทิศทางต่อไปของประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ที่แกนนำรัฐบาลชุดใหม่ได้ใช้เป็นเทคนิคในการหาเสียงเอาไว้
นำมาสู่การเปิดแคมเปญ “ลงชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ” ให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ริเริ่มโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw
โดยหลังจากเปิดตัวก็มีประชาชนให้ความสนใจในการลงชื่อเป็นจำนวนมากทั้งแบบกระดาษและแบบออนไลน์ โดยสามารถบรรลุเป้าหมาย 50,000+ รายชื่อตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ก่อนเวลาที่ตั้งไว้ถึง 4 วัน
แต่แล้วในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ก็มีข่าวไม่ดีนัก เมื่อทาง iLaw ได้ลงประกาศว่า ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แจ้งว่าการเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามตินั้น ไม่สามารถใช้การเข้าชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ ต้องเข้าชื่อผ่านกระดาษเท่านั้น ซึ่ง ณ วันที่ประกาศได้มีการแจ้งเพิ่มเติมว่ารายชื่อที่เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์มีมากถึง 40,000 ชื่อ ในขณะที่แบบกระดาษมีเพียง 10,000+ รายชื่อเท่านั้น
เกิดเป็นภารกิจใหญ่ในการรวบรวมรายชื่อลงแบบฟอร์มกระดาษให้ได้ 40,000+ รายชื่อภายในเวลาที่เหลืออยู่แค่ 3 วัน
นี่เป็นภารกิจที่ทุกคนต่างรู้ว่าไม่ง่าย ด้วยเวลาที่เหลืออยู่อันน้อยนิดกับยอดที่เที่ยบเท่าการใช้เวลา 5-6 วันก่อนหน้าที่รวบรวมมา แถมยังมีช่องทางแบบออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวก เราหลาย ๆ คนคงเห็นภาพว่าประชาชนที่ลงชื่อไปแล้วก่อนหน้าคงจะเซ็งแล้วปล่อยผ่านแบบไม่ใส่ใจและหมดหวังเพราะคิดว่ายังไงก็คงเป็นไปไม่ได้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นแบบนั้น
เพราะทันทีที่มีการรับรู้ภารกิจร่วมกัน ก็มีอัตราเพิ่มขึ้นของอาสาสมัครในการตั้งจุดลงทะเบียนแบบกระดาษเป็นจำนวนมาก โดยงานนี้รุกหนักถึงขนาดให้ทุกคนสามารถลงชื่อเองเพียงคนเดียวแล้วส่งไปรษณีย์มายัง iLaw ได้เลย จากสถิติที่มีการเปิดเผยอย่างไม่เป็นทางการพบว่า มีอาสาสมัครที่กระตือรือร้นในการตั้งจุดลงทะเบียนในหลากลายลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา ระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ บริษัทห้างร้านเอกชน ลุกลามไปถึงการเปิดจุดลงทะเบียนแบบเร่งด่วน เช่น มีอาสาสมัครรายบุคคลที่พิมพ์ใบลงรายชื่อนั่งประจำจุดที่ร้านกาแฟแล้วประกาศถึงผู้สนใจลงรายชื่อจนมีคนมาร่วมลงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เป็นพนักงานห้างร้านที่ไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการ แต่อาสาตั้งจุดโดยคอยวิ่งรับคนลงชื่อและวิ่งกลับไปทำงานจนถูกเจ้านายตำหนิแต่ก็ยังสู้ไม่ถอย นี่ยังไม่ได้พูดถึงคนที่นำใบลงชื่อไปนั่งพื้นตามจุดรถไฟฟ้า เรียกได้ว่าประชาชนใช้ทุกวิธีเพื่อช่วยกันให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ
และนอกจากการลงชื่อ อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือการรวบรวมรายชื่อจากเอกสารจำนวนมากที่ถูกส่งมาจากทั่วประเทศ ทั้งนี้ วิธีการนำรายชื่อทั้งหมดไปยื่นตามที่ กกต. อธิบาย หลังประชาชนกรอกแบบฟอร์มในกระดาษพร้อมลงลายมือชื่อแล้ว ผู้เสนอจะต้องนำรายชื่อดังกล่าวมาสแกนให้เป็นไฟล์ PDF และกรอกข้อมูลของผู้ลงชื่อทั้งหมดเป็นไฟล์ Excel นำส่ง กกต. ในรูปแบบ CD และ กกต. จะใช้เวลาตรวจสอบรายชื่ออีกไม่เกิน 30 วัน
หมายความว่านอกจากการรวบรวมให้ได้ 50,000 รายชื่อแล้ว ยังต้องมีการรวบรวมและจัดส่งตามระเบียบ และเพื่อให้กรอบเวลาเป็นไปโดยไม่ถูกตุกติก การจะจัดการรายชื่อจากการเขียนมือกว่า 50,000 รายชื่อจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
iLaw จึงประกาศขออาสาสมัครในการช่วยกันรวบรวมรายชื่อ โดยจะรวมตัวกันทำงานที่ออฟฟิศของ iLaw เพื่อจัดการรายชื่อที่ได้รับให้พร้อมสำหรับการส่งมอบให้กกต.ต่อไป ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนจำนวนไม่น้อยในการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไป contribute และมีการรายงานผลรายชื่อทั้งหมดที่จัดการเรียบร้อยเป็นระยะ ๆ ถ้าเป็นหนังโจรกรรมนี่คือมุกเวลานับถอยหลังที่ชวนบีบหัวใจ ติดแค่ว่านี่คือเหตุการณ์จริงในชีวิตจริง และคนที่ร่วมแสดงพลังก็เป็นประชาชนที่มีตัวตนจริง ๆ
วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้แพร่ภาพจำนวนรายชื่อที่ถูกจัดเรียงแล้วเสร็จ ณ เวลา 22.00 น. อยู่ที่ประมาณ 38,000 รายชื่อ
25 สิงหาคม พ.ศ. 2566 วันสุดท้ายของการรวบรวมรายชื่อ ยังคงมีคนสนใจเป็นอาสาสมัครในการตั้งจุดลงชื่ออย่างต่อเนื่อง ทีมจัดเรียงรายชื่อก็ยังคงทำงานกันอย่างเข้มข้น ด้วยต้องแข่งกับเวลากับอีกหมื่นกว่ารายชื่อ ไม่มีใครตอบได้ว่าภารกิจครั้งนี้จะสำเร็จได้จริงหรือไม่
จนกระทั่งเวลา ประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 25 สิงหาคม 2566 iLaw ได้เผยแพร่คลิปการอัพเดตจำนวนรายชื่อที่มีการจัดเรียงเรียบร้อยแล้วที่จำนวนประมาณ 52,000+ รายชื่อ และยังไม่หยุดนับ
ทั้งนี้ iLaw ได้อธิบายว่า ก่อนหน้านี้ เครือข่ายภาคประชาชนเคยทำหนังสือสอบถามเรื่องการลงชื่อออนไลน์ไปยัง กกต. ตั้งแต่ปี 2565 และได้รับหนังสือชี้แจงหมายเลข ลต 0012/2565 เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า “การเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติ ไม่ได้กำหนดวิธีการลงชื่อเอาไว้” เพียงต้องมีรายละเอียดเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ-สกุล และลายเซ็น ในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และบันทึกลงบนแผ่น CD หรือแฟลชไดร์ฟมาส่งด้วยเท่านั้น
ต่อมาก็มีผู้พยายามนัดหมาย กกต. เพื่อสอบถามตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 แต่ได้รับการตอบกลับมาอย่างกำกวม ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าลงรายชื่อออนไลน์ได้หรือไม่
ก่อนการเริ่มแคมเปญ “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญได้ติดต่อไปหา กกต. ทางโทรศัพท์เพื่อสอบถามว่าการลงชื่อออนไลน์สามารถทำได้หรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบ กกต. ขอให้เป็นการนัดพูดคุยแทน แต่ก็มีการเลื่อนนัดมา โดยทุกครั้งที่สื่อสารกันทางโทรศัพท์ได้สอบถามย้ำตลอดแต่ไม่เคยได้รับคำตอบ จนกระทั่งได้พบกันในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ซึ่ง กกต. แจ้งว่าไม่สามารถลงชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้
กกต. ให้เหตุผลว่า การลงชื่อผ่านเว็บไซต์และพิมพ์ออกมาเป็นแบบฟอร์มนำส่ง กกต. ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก กกต. ไม่อยู่ภายใต้การกำกับ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มาตรา 4 เพราะเป็นองค์กรอิสระ แตกต่างจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้
วีระยังกล่าวว่า กกต. เคยส่งหนังสือตอบข้อสอบถามจากหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงวันที่ 21 มีนาคม 2566 ในหัวข้อเช่นเดียวกันนี้ รวมถึงอัปโหลดเอกสารดังกล่าวลงเว็บไซต์ของ กกต. เรียบร้อยแล้ว ทว่าจากการสืบค้นแล้วยังไม่พบเอกสารดังกล่าว ตามที่ กกต. แจ้ง ประชาชนจึงยังไม่อาจทราบข้อเท็จจริงประเด็นนี้ได้
ทีมงาน iLaw ยังได้ยืนยันว่าหากเคยมีการแจ้งรายละเอียดดังกล่าวต่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลไปแล้ว นั่นหมายความว่ากกต.ย่อมรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถลงชื่อแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ได้มีการตอบอย่างชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่มีการทวงถามไป
และแม้จะไม่อาจตอบได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการทำให้ กกต. พึ่งมาแจ้งในช่วงเวลากระชั้นชิด แต่สิ่งที่ชัดเจนแล้วคือประชาชนไม่เคยยอมแพ้ต่อความหวังและอนาคตที่ดีกว่า
นี่จึงถือเป็นการประกาศชัยชนะของประชาชนอีกหนึ่งครั้ง เพื่อส่งสัญญาณไปถึงอำนาจใด ๆ ที่กำลังดูถูกประชาชน ให้คนเหล่านั้นได้รู้ฤทธิ์และได้เกรงกลัวประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งนี่ยังเป็นสัญญาณไปถึงประชาชนอีกจำนวนมากที่อาจจะกำลังอยู่ในห้วงยามของความสิ้นหวังจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน
ให้รู้เถิดว่าความหวังและความฝันของเราจะไม่หายไปตราบใดที่ประชาชนยังต่อสู้
แต่ใจที่ยิ่งใหญ่ของผู้มีส่วนร่วมทุกคน
ประชาชนจงเจริญ