แรงงานอาสาสมัคร: การขูดรีดบนคำว่าเสียสละ
หลังผ่านพ้นบรรยากาศวันแรงงานไป ชวนพูดถึง "คนทำงาน" บนหน้างานจิตอาสาซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของสังคม ที่มักถูกมองข้ามและไม่ถูกพูดถึงในฐานะ "แรงงาน"
น่าจะเป็นหนึ่งในปีที่ “วันแรงงาน” มีการเคลื่อนไหวของผู้คนอย่างคับคั่งในประเด็นเรื่องแรงงานและการทำงาน อาจเพราะด้วยกระแสสังคมนิยมที่หวนกลับมาถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคมไทย รวมถึงระบบโครงสร้างเศรษฐกิจและอำนาจ ที่ทำให้คนจำนวนมากกลับมาตระหนักถึงการเป็น “แรงงาน” ในระบบมากขึ้น
ทำให้เมื่อวาน (1 พ.ค. 2023) เราได้มีโอกาสเห็นกิจกรรมวันแรงงานในหลายภาคส่วน รวมถึงเราได้มีโอกาสเห็นองค์กรภาคประชาชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันเรื่องสิทธิแรงงานกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนวันแรงงานที่หอศิลป์กรุงเทพฯ และการเดินขบวนที่เชียงใหม่ ที่รวบรวมคนทำงานเอาไว้อย่างหลากหลายและครอบคลุม พนักงานประจำ อาชีพอิสระ ตลอดจนครูและหมอก็มาร่วมเดินขบวนเช่นกัน มีการประชุมประจำปีของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์เพื่อหารือเรื่องสิทธิของคนทำงานสร้างสรรค์ในแง่มุมต่าง ๆ และก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมนักลำดับภาพแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นกระบอกเสียงและเพิ่มอำนาจต่อรองให้คนทำงานด้านการลำดับภาพในประเทศไทย
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของกิจกรรมทั่วประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนชัดในปัจจุบันคือเมื่อพูดคำว่า “แรงงาน” เราเริ่มเห็นภาพในฐานะของ “นิยามกว้าง” มากกว่าแนวคิดอคติดั้งเดิมที่มักเห็นเป็นเพียงกรรมกร คนใช้แรงงาน หรือแรงงานค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น
เลยชวนให้นึกถึง “คนทำงาน” กลุ่มหนึ่ง ที่ทำงานกันอย่างต่อเนื่องและยาวนาน แต่มักจะถูกละเลยอยู่บ่อยครั้งเมื่อพูดถึงคนทำงานกลุ่มนี้ในฐานะ “แรงงาน”
นั่นคือ “แรงงานจิตอาสา”
เพียงแค่เริ่มต้นมาแบบนี้ ก็อาจจะทำให้ใครหลาย ๆ คนเริ่มรู้สึก “ไม่เห็นด้วย” อยู่เล็กน้อย เพราะความเข้าใจโดยทั่วไป เรามักมองภาพ “จิตอาสา” ว่าเป็นคนทำงานที่ไม่ต้องการผลตอบแทน เต็มใจและสมัครใจในการทำงานไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากเพียงใด ซึ่งต่างกับภาพของคำว่าแรงงานที่ถูกฉายให้เห็นในฐานะของคนทำงานเพื่อเงินทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ทำให้แม้ภาพหนึ่งเราจะมอง “จิตอาสาเป็นคนทำงาน” แต่เรามักจะรู้สึกขัดแย้งหากบอกว่า “จิตอาสาเป็นแรงงาน”
แต่หากเรามอง “นิยามกว้าง” และปฏิเสธไม่ได้ว่างานเพื่อสังคม งานบริการสังคมนั้นถูกผลักดันโดยการทำงานของ “จิตอาสา” มาอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเริ่มเห็นภาพว่าคนทำงานอาสาสมัครเองก็เป็น “แรงงาน” อยู่เหมือนกัน
หมายความว่า ในทางเทคนิคแล้ว คนทำงานเพื่อสังคม เป็น “แรง” หลักที่ผลักให้เกิด “งาน” จิตอาสาต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไปในงาน เสียหยาดเหงื่อและเวลาเพื่อผลักดันให้งานประสบผลสำเร็จ ทำให้ในยุคที่เราเริ่มพูดถึงเรื่อง “สิทธิแรงงาน” กันอย่างแพร่หลายขึ้น อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องมาพูดถึงกันว่า “แล้วจิตอาสา” ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิในฐานะ “คนทำงาน” หรือไม่
อาสาสมัคร คนทำงานจิตอาสา ทำงานเพื่อสังคม ควรได้รับ “สิทธิ” ในการไม่ต้องทำงานเกินเวลาที่จำเป็นหรือไม่ ควรได้รับสิทธิที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือเปล่า ควรมีประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติการ หรือมี “ความปลอดภัย” ในการทำงานมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นเพียงคำถามเบื้องต้นที่เมื่อเราลองบิดประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานมาประกบไว้กับจิตอาสา เพื่อให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้ว “สิทธิของคนทำงาน” มันเป็นอะไรที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย
แล้วทำไมเราถึงยกสิทธิ์เหล่านี้ให้คนทำงานเพื่อสังคมบ้างไม่ได้
คำตอบที่น่าจะพออธิบายได้ในแง่ของจิตอาสา คือเรามักมองจิตอาสาว่าเป็นคนที่ “เลือกเอง” คือถ้างานที่ทำมันจะลำบาก มันจะอันตราย มันจะอย่างไรก็ตาม เหล่าจิตอาสาเป็นคน “เลือก” ที่จะเจอปัญหาเหล่านี้เอง ดังนั้น เราจึงมักผลักภาระต่าง ๆ ให้กลายเป็นเรื่องเชิงปัจเจกที่จะต้องจัดการตัวเอง ต้องทำประกันเอง ต้องหาเงินเลี้ยงชีพตัวเองระหว่างทำจิตอาสาไปด้วย แล้ววันหนึ่งสิ่งที่คนเหล่านี้ทำมันจะกลับมาสร้างผลดีต่อสังคมและทุกคนได้รับผลกันอย่างถ้วนหน้า สิ่งที่เราจะ “ตอบแทน” คนเหล่านี้กลับไปก็จะมีเพียงการเชิดชูว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นทำคือ “การเสียสละ” เท่านั้น
ทำให้หาก “ทุน” เป็นนิยามของสิ่งขูดรีดและกดขี่ “แรงงาน” บนความหมายดั้งเดิมของแนวคิด คำว่า “เสียสละ” นี่เองที่ทำหน้าที่ขูดรีดและกดขี่ “คนทำงานอาสา” มาตลอด
และสิ่งนี้เองที่ “ผลัก” คนทำงานจิตอาสาจำนวนมากให้หลุดหายไปจากระบบ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีการพูดถึง “สิ่งตอบแทน” อื่น ๆ ก็มักจะมีคนยกประเด็นเรื่อง “เสียสละไม่พอ” มาเป็นข้อวิจารณ์อยู่เสมอ เมื่อมีหน่วยงานหรือองค์กรที่พูดถึงการสนับสนุนจิตอาสาในด้านต่าง ๆ เรากลับมองว่าเป็น “เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน” ตลอดจนข้อกล่าวหาร้ายแรงว่า “ไม่ได้มีจิตอาสาจริง ๆ” หรือ “ไม่ได้ทำงานเพื่อสังคมจริง ๆ”
คำถามที่น่าสนใจจึงเป็นว่า จริง ๆ แล้วคนทำงานต้อง “เสียสละขนาดไหน”
สามารถมีเงินเดือนได้ไหม มีประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันสังคมได้หรือเปล่า สามารถรับการสนับสนุนเป็นสิ่งของอื่น ๆ ได้หรือไม่ หรือรับได้แค่อาหารกับน้ำ แล้วหากแปลงค่าอาหารและน้ำเป็นเงินแล้วให้เงินแทนจะสามารถทำได้หรือเปล่า ฯลฯ
ปัญหาที่ตามมาอย่างเป็นปกติเมื่อสังคมคาดหวังให้คนทำงานเพื่อสังคม “เสียสละ” จนเกินไป นั่นคือเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วคนทำงานจะ “เหนื่อยเพราะต้องเสียสละ” นี่แหละ
เพราะเมื่อไม่สามารถรับเงินเดือน หรืออย่างน้อยเงินสนับสนุนตามเวลาทำงานได้ คนทำงานก็ต้องแบ่งเวลาไปหางานที่ทำแล้วได้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในชีวิต นั่นทำให้ต้องทำงานมากกว่าปกติ และแม้ว่างานที่ทำแล้วได้เงินจะไม่ใช่งานที่ชอบ แต่สุดท้ายเมื่อเราอยู่บนโลกที่เราหมุนทุกอย่างด้วยเงิน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อคนที่ “เสียสละไม่พอ” ก็จะถูกบีบให้ต้องคิดเรื่องการเอาตัวรอดก่อนเสมอ
“การเสียสละ” จึง “มีต้นทุน” ทำให้คนที่มีทุนมากสามารถเสียสละได้มากกว่า หากเรามองว่าคนทำงานจิตอาสาทำงานเพื่อสังคมต้อง “เสียสละ” ให้มากพอ เท่ากับเรากำลังผลักคนที่ต้นทุนไม่มากพอให้ออกจากการทำงานไปเรื่อย ๆ
หรือพูดง่าย ๆ ว่า คนที่จะทำงานจิตอาสาแบบ “เสียสละ” ได้ ก็จะมีแค่คนที่ “รวยพอ” เท่านั้น
“รวยพอ” ที่จะไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน มีรายได้สนับสนุนแบบที่ไม่สร้างความลำบาก มีเวลามากพอที่จะสามารถแบ่งมาทำงานจิตอาสาได้ รวมถึงการไม่ต้องแบ่งเวลาไปทำงานหาเงินตั้งแต่แรก สมมติว่าหากนี่คือ “อุดมคติ” ของคนทำงานจิตอาสาในสังคมเราจริง ๆ เราลองนึกภาพว่าคนที่ผ่านเงื่อนไขแบบนี้มีอยู่กี่คน และในประเทศเราจะเหลือคนที่ทำงานจิตอาสาอยู่สักเท่าไร
แล้วหากเราลองตั้งคำถามว่า อันที่จริงแล้วคนทำงานจิตอาสาในปัจจุบันไม่ได้ “เสียสละ” มากพอจริงหรือไม่
เราจะพบว่าการทำงานเพื่อสังคมมันบังคับให้คนทำงานต้อง “เสียสละ” ตั้งแต่ต้น หมายถึง หากเราไม่ต้องคิดเพื่อสังคม เราคิดแค่ให้เราคนเดียวรอด เราก็แค่เข้าไปทำงานในระบบ ต่อให้ค่าตอบแทนอาจจะไม่ได้สูงตามที่หวัง แต่อย่างน้อยการทำงานก็ยังทำให้สามารถใช้ชีวิตได้ แล้วเอาเวลานอกเวลางานไปใช้ชีวิตแบบที่ชอบแบบที่ต้องการ แบบที่ทำให้เกิดความสุขภายในได้
การที่คนต้องแบ่งเวลาสำหรับ “ใช้ชีวิต” มา “ทำงานเพื่อสังคม” นั่นคือการเสียสละ “เวลาชีวิต” ตามปกติที่เขามีสิทธิจะสามารถใช้มันไปอย่างไรก็ได้ เขาสามารถนำเวลาตรงนี้ไปทำ “งานอื่น” ที่ได้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองชีวิตแบบทุนนิยมก็ได้ แต่เขา “เลือก” ที่จะเสียสละเวลาตรงนี้มาทำงานจิตอาสาแทน
คนทำงานจิตอาสาอาจจะไม่ได้อยากทำงานเพื่อหาเงินก็ได้ แต่ต้องทำเพื่อให้มีเงินเลี้ยงชีพตัวเองไปด้วยระหว่างทำงานเพื่อสังคม ทั้งที่เขาอาจจะสามารถทำงานที่ได้เงินเยอะกว่านี้ได้ แต่เขาเลือกจะทำงานที่มันสนับสนุนการทำงานอาสามากกว่าเรื่องเงิน ความสามารถที่ใช้ไปกับการทำงานอาสา เขาอาจจะสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและได้เงินมากกว่านี้ แต่เขาเลือกจะ “เสียสละ” ความสามารถเหล่านั้นให้งานบริการสังคม ทำไมเราถึงไม่มองเรื่องเหล่านี้เป็นการเสียสละบ้าง
และสิ่งที่น่าสนใจคืองานเพื่อสังคมเป็นงานที่ต้องมีวันสิ้นสุด หมายความว่าการทำงานเพื่อสังคมนั้น ไม่ว่าจะมากน้อยหรือใช้ระยะเวลานานเท่าไร เราจำเป็นที่จะต้องเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้มันจะสิ้นสุด แก้ปัญหาได้สำเร็จ จนเราไม่ต้องทำมันอีกต่อไปในอนาคต นั่นหมายความว่าคนทำงานจำนวนมากได้เสียสละ “อนาคต” เพื่อให้ความฝันเหล่านั้นเป็นจริงได้ หากมองว่าสิบปีที่ต้องทำงานในระบบแรงงานปกติ อายุงานเหล่านี้สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องต่อรองในการขึ้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่งได้ แต่จิตอาสาเลือกที่จะเสียสละเวลาในส่วนนี้เพื่อผลักดันประเด็นสังคมที่เขาเชื่อ
คนทำงานเพื่อสังคมจึงเป็นคนที่เสียสละตั้งแต่ต้น ส่วนเรื่องพอหรือไม่เป็นเรื่องที่ถูกขูดรีดแรงงานผ่านบริบทต่าง ๆ เท่านั้น
และหากเราคำนึงถึง “จำนวน” คนทำงานเพื่อสังคม เราอาจจะยอมรับร่วมกันว่ายิ่งมีคนทำงานบริการสังคมหรือทำงานประเด็นสังคมเป็นจำนวนมาก ยิ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้สำเร็จได้มากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ “ยิ่งเยอะ” น่าจะ “ยิ่งดี” สิ่งที่เราต้องผลักดันกันต่อคือเราจะ “สนับสนุน” คนทำงานเพื่อสังคมอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้คนเหล่านั้นต้อง “เสียสละ” มากจนเกินไป
ยกตัวอย่างจากเล็กน้อยที่สุดเช่นการลงพื้นที่ทำงาน หากเราสามารถสนับสนุนอาหารและน้ำให้คนทำงานได้ คนเหล่านี้ก็อาจจะสามารถ “ประหยัด” เงินในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น หรือสนับสนุนการเดินทาง ก็จะทำให้อาสาสมัครที่ไม่สะดวกเรื่องการเดินทางสามารถเข้าร่วมได้มากขึ้น
ต่อเนื่องจนถึงเรื่องเงินเดือน หากเราเปลี่ยนมุมมองว่าเป็นการ “สนับสนุน” ให้คนทำงานมีทางเลือกมากขึ้น เช่น อาจจะไม่ต้องทำงานเต็มเวลาเพื่อให้มีเงินในการดำเนินชีวิต หรือมองกลับกันคือให้สามารถมีเวลาในการทำงานเพื่อสังคมได้มากขึ้น เราก็จะสามารถเพิ่มจำนวนคนทำงานได้มากขึ้น บางคนอาจจะสามารถเคลื่อนย้ายมาทำงานเพื่อสังคมได้อย่างเต็มเวลาจากการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในชีวิตบางส่วนได้เลยด้วยซ้ำ
การเปลี่ยน “วิธีมอง” คนทำงานจิตอาสา จึงจำเป็นอย่างมากในการผลักดันงานเพื่อสังคม การสนับสนุนการทำงานเพื่อสังคมจึงเป็นหนทางที่จะผลักดันงานบริการสังคมให้คืบหน้ามากขึ้น จากเดิมเราอาจมองว่าการซื้อรถให้จิตอาสาใช้ดูเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากมองว่าเป็นการสนับสนุนการเดินทางให้อาสาสมัครสามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่การทำงานได้สะดวกขึ้น หรือสามารถเข้าถึงพื้นที่เชิงประเด็นได้กว้างขวางขึ้น การซื้อรถก็จะไม่ได้เป็นประเด็นเรื่อง “ไม่เสียสละ” อีกต่อไป หากจะมีคนสร้างห้องนันทนาการ ติดเครื่องปรับอากาศ มีอุปกรณ์เพื่อการผ่อนคลาย แต่ถ้าเพื่อเป็นการสนับสนุนการพักผ่อนของอาสาสมัครเพื่อให้มีพื้นที่พักผ่อนจากการทำงาน สังคมควรมองเห็นประโยชน์ของมันในฐานะ “การสนับสนุน” งานเพื่อสังคมมากกว่า (ส่วนการตรวจสอบความคุ้มค่าเป็นกระบวนการที่ต้องทำอยู่ดังเดิม)
และเมื่อเราเข้าใจเรื่องการ “สนับสนุน” การทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น เราก็จะสามารถขยายขอบเขตของการ “สนับสนุน” ออกไปได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเมื่อเราเปิดพื้นที่ให้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานบริการสังคมมากขึ้น นอกจากจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการทำงานในส่วนต่าง ๆ แล้ว ยังจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนสามารถเข้าถึงเพื่อศึกษาเรียนรู้ประเด็นต่าง ๆ ในสังคมได้มากขึ้นอีกด้วย
หากเราเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งการทำงานของเรามันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาและเราจะไม่ต้องทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต การที่เรามีคนที่สนใจและสนับสนุนงานเพื่อสังคมมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านั้นถูกพูดถึงและนำไปสู่การแก้ไขมากขึ้น
อย่างน้อยก็น่าจะมากกว่าการผลักคนที่ “เสียสละไม่พอ” ให้กลับไปอยู่ในกรอบการคิดถึงเรื่องเอาตัวรอด คิดถึงเรื่องของตัวเองโดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับงานเพื่อสังคม