ทำเพื่อสังคมมันฮีลใจ จริงหรือ?
ทบทวนความคิดจากประเด็นน่าสนใจที่ได้ฟังจาก Soul Talk
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 สิงหาคม) ได้มีโอกาสไปร่วม session หนึ่งของงาน Soul Connect Fest ชื่อ Soul Talk จัดโดย Creative Citizen ได้มีการชวนคุณแก็ป จาก YoungHappy และคุณพลอย อาสาสมัครอิสระมาร่วมพูดคุยในประเด็นของการทำงาน “เพื่อสังคม”
ในวันนั้นมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกติดใจเป็นพิเศษ อาจเพราะเวลาไม่พอให้ได้มีการแลกเปลี่ยนมันเลยเหมือนยังติดค้างอยู่ในใจ จากตอนแรกจะเขียนสรุปบรรยากาศงานคร่าว ๆ ก็เลยอยากเปลี่ยนมาเขียนเป็นบททบทวนความคิดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวแทน
อยากชวนทุกคนมาทำเพื่อสังคม เพราะมันฮีลใจ?
ประโยคที่สะดุดจิตสะดุดใจ คือช่วงท้ายของท็อล์กที่มีการเชิญชวนให้คนลองมีโอกาสทำงานเพื่อสังคม เพื่อมันช่วยทำให้รู้สึกดี ทำให้ใจฟู ในมุมหนึ่งมันก็ฮีลใจเราไปพร้อม ๆ กัน ต้องยอมรับว่าถ้าพูดแค่ประมาณนี้เราน่าจะมีประสบการณ์ร่วมที่เห็นตรงกันอยู่ระดับหนึ่ง
แต่คำถามคือในโครงสร้างวัฒนธรรมที่มองงานเพื่อสังคมเป็น “สังคมสงเคราะห์” เป็น “การทำดี” เวลาเรารู้สึกแบบนี้ มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับคนที่ปล่อยนกปล่อยปลาหรือเปล่า มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับการที่เราทำบุญทำทานหรือเปล่า มันเหมือนเวลาเราไปเลี้ยงข้าวบ้านเด็กกำพร้า แจกผ้าห่มคนบนดอย หรือทำบุญเลี้ยงอาหารหมาแมวในขณะที่ปัญหาหมาแมวจรจัดก็ยังคงเยอะขึ้นจนหลาย ๆ พื้นที่รับดูแลต้องเป็นหนี้ท่วมจนล้มไปตาม ๆ กันหรือเปล่า
มันเลยมาเกิดว่าถ้ามันฮีลใจ แต่ไม่ได้ฮีลสังคมไปพร้อม ๆ กันเนี่ย อันที่จริงแล้วเราควรพิจารณาต่อการมีอยู่ รวมถึงการเชิญชวนให้เกิดสิ่งนี้อย่างต่อเนื่องหรือเปล่า
นอกจากนี้ ในช่วงที่คุณพลอยเล่าถึงตอนที่ทำงานจิตอาสาแบบ volunteer หลาย ๆ ครั้งก็มีการแชร์เรื่อง ถูกขอให้ช่วยแต่งบน้อย แชร์เรื่องพอถึงเวลางานแล้วคนไปช่วยกันน้อย ตามมาด้วยความเหนื่อยล้าที่แฝงออกมาในเรื่องเล่าแม้สุดท้ายจะจบประโยคว่าพอมันสำเร็จมัน “ฮีลใจ” แต่เรารับรู้ได้เลยว่าเส้นทางมันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น
หมายความว่า กว่าจะฮีลใจ เราเสียใจ เสียสุขภาพจิตไปแค่ไหนเพื่อแลกมา
พอคิดมาถึงตรงนี้ ประเด็นที่มองถึง ก็คงเป็นเรื่องของการกำหนดคุณค่าของคำ หมายความว่า เมื่อพูดคำว่า “จิตอาสา” ในมุมทั่วไปความหมายมันเป็นไปในเชิงบวก เท่ากับเราให้ค่ามันในทางที่ส่งเสริม ชื่นชม พอคำมัน “สูงส่ง” สิ่งที่ตามมาคือการ “ชี้วัด” ด้วยคำถามคลาสสิคว่า “แบบไหนคือจิตอาสา” “แค่ไหนคือจิตอาสา” ดังที่เราจะได้เห็นว่ามีงานเพื่อสังคมจำนวนมากที่ไม่นับเป็น “จิตอาสา” เพียงเพราะมีการได้รับผลตอบแทนในทางหนึ่งทางใด
อีกส่วนหนึ่งที่รู้สึกคือเมื่ออยู่ในวัฒนธรรมแบบบริโภคนิยม “จิตอาสา” เลยเป็นเหมือนสินค้าที่คนอยากบริโภค มันเลยนำมาสู่โครงข่ายการบริโภค คือทุกคนอยากทำงานจิตอาสาในฐานะของ “สินค้า” ที่เอาไว้ประกอบสร้างเรื่องราวของตัวตน แล้วเสพ “คุณค่า” ที่บริโภคนิยมพยายาม “หลอกขาย” เรา แล้วอย่างที่เคยเขียนไปว่า พอ “จิตอาสา” หมายถึงการเสียสละตัวเอง คนรวยก็จะเสียสละได้เยอะกว่าคนจน ทำให้ในจุดหนึ่งสินค้าที่ชื่อว่า “จิตอาสา” ก็จะกลายเป็นสินค้าที่ Luxury และขายให้แค่คนที่มี Privilege เท่านั้น และนี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องชี้วัดว่า “จิตอาสา" จริงหรือไม่จริง เพราะต้องทำให้สินค้าตัวนี้มัน Rare เพื่อเพิ่มมูลค่า
สองสิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่คือมันทำให้คนมอง “จิตอาสา” เป็นเรื่องที่ถูกแยกออกจากมิติชีวิต
หมายความว่าเมื่อความรับรู้เรื่องจิตอาสาโดยทั่วไปอยู่ในระดับนี้ คนก็จะรู้สึกถึงมันในฐานะสินค้าที่อาจจะไม่จำเป็นต้องบริโภคก็ได้ อาจจะไม่ต้องทำก็ได้ หรืออาจจะแค่ทำเพียงไม่กี่ครั้งเพื่อเสริมคุณค่าตัวเองเท่านั้น นึกย้อนกลับไปสมัยทำกิจกรรมที่เป็นจิตอาสาในระดับนี้ สิ่งที่เจอประจำคือการหาคนมาสานต่องานไม่ได้ หลายคนไปร่วมหนึ่งครั้งแล้วหายไปเลย บางคนอาจจะมาร่วมบ่อย ๆ แต่หากให้ทำงานในฐานะสต๊าฟที่มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นก็จะรู้สึกไม่อยากทำ ความรู้สึก “ไม่อยากรับผิดชอบ” ต่อกระบวนการนี้เป็นภาพสะท้อนชัดเจนในงานจิตอาสาหลาย ๆ กลุ่ม ทำให้ไม่สามารถผลักดันให้มีคนสานต่องานได้ จนสุดท้ายก็ล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา
แถมในกลุ่มคนที่อาจจะรู้สึกใกล้ชิด อยากรับผิดชอบ อยากทำงานจิตอาสาอย่างจริงจัง โครงสร้างแบบนี้ก็ยังเข้าไปกดทับคนเหล่านี้อีกชั้นหนึ่งนั่นคือการ “ขูดรีดแรงงาน” ในฐานะ “อาสาสมัคร” กลายเป็นว่ามีองค์กร หรือหน่วยงานจำนวนมากอาศัยช่องว่างแบบนี้ในการ “ขอให้ทำงานฟรี” โดยอาศัยความสูงส่งของคำว่า “จิตอาสา” มาล่อลวง มีการเจียดงบมาทำโดยอาศัยว่าสินค้าชื่อ “จิตอาสา” มันขายได้ สุดท้ายก็จะได้งานในราคาที่ถูกลงหรือไม่เสียเงินเลย แล้วคนที่ทำงาน “จิตอาสา” ก็ขูดเลือดขูดเนื้อตัวเองไปเรื่อย ทั้งเวลา ทั้งเงินทุน จนวันหนึ่งเมื่อขาดสภาพคล่อง ก็ส่งผลกับจิตใจ burned out แล้วก็เลิกทำงานจิตอาสาไป หรืออาจจะนาน ๆ กลับมาทำทีแบบ “ไม่ต้องรู้สึกรับผิดชอบ” นั่นยิ่งเป็นการผลักให้จิตอาสาเป็นเรื่องที่ห่างจากชีวิตผู้คนขึ้นไปอีก
เมื่อจิตอาสา “ไม่เกี่ยวพัน” กับชีวิตและถูกมองเป็นแค่สินค้า ปัญหาที่เกิดตามมาก็เป็นลักษณะเดียวกับการทำบุญ คือมีการ “หลอกขาย” ว่าดี แต่ไม่ได้ดีจริงอยู่เต็มไปหมด เหมือนการปล่อยนกที่จะถูกจับมาปล่อยอีกที เหมือนการปล่อยปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เหมือนการทำทานที่อาจไปส่งเสริมกระบวนการค้ามนุษย์ส่งเสริมการละเมิดสิทธิผู้อื่น หรือการช่วยบริษัทหนึ่ง ๆ ทำ CSR ที่ไม่ได้เป็น “Social Responsibility” ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเอง
เพราะเราไม่ต้องรู้สึก “รับผิดชอบ” กับสิ่งที่ทำ เราทำมันให้สำเร็จเพื่อบริโภคคุณค่าของมันในฐานะของการทำดี ไม่ต้องมองกลับหลังว่าสิ่งที่ทำจะ “แก้ปัญหา” หรือ “เกิดปัญหา” อย่างไร
ซึ่งถ้าเรารู้สึกว่าทำสิ่งเหล่านี้แล้วมันรู้สึก “ฮีลใจ” เราอาจจะต้องเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า “แล้วต้องทำยังไง”
ตอบอย่างชัดเจนคือ “ไม่รู้” แต่ถ้าจะมีบาง solution ที่พุ่งขึ้นมาในหัวเลยคือ เราต้อง “เปลี่ยนคำ”
หมายความว่าถ้าการเปลี่ยนการรับรู้ด้านความหมายของผู้คนส่วนใหญ่ต่อ “คำเก่า” มันเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลา สิ่งที่เราสามารถทำได้รวดเร็วคือการหาคำใหม่มาใช้แทนที่
ซึ่งผู้เข้าประกวดในรอบนี้คือคำว่า Contributor
ในปัจจุบัน เวลาแปลคำว่า Contributor เป็นภาษาไทย เราก็อาจจะได้ยินการแปลว่า “จิตอาสา” อยู่เหมือนกัน แต่ในความจริงความหมายของคำนี้กลับทำหน้าที่ต่างกับคำว่าจิตอาสาบนความเข้าใจทั่วไปอยู่ระดับหนึ่ง กล่าวคือคำว่า Contribute มีความหมายในทำนองของการ “ช่วยทำบางอย่างให้สำเร็จ” คือมอง “เป้าหมาย” เป็นหลัก ส่วนจิตอาสาจะให้ความรู้สึกของความ “เสียสละ” บางอย่าง ถ้าจะมีอะไรร่วมกันคือการที่ทั้งสองคำมีเซนส์ของ self intention ที่อยากจะทำมันด้วยตัวเอง ไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ
แล้วไม่ใช่ว่าเพราะมันเป็นภาษาอังกฤษเลยดูเก๋กว่า แต่การที่คำมุ่งเน้นใจความหลักไปที่ “เป้าหมาย” ดูเป็นทิศทางที่น่าสนใจต่อการทำงานเพื่อสังคม เพราะในความจริงแล้วการที่เราจะผลักดันประเด็นสังคมใด ๆ ได้ สิ่งที่เราต้องตอบให้ได้คือเรา “ทำไปทำไม” ซึ่งส่วนนี้ “จิตอาสา” ประสบปัญหาเพราะพอถูกมองเป็นสินค้ามันจะให้ความรู้สึกว่า “ของมันต้องมี” กว่าเราจะเริ่มคิดว่าเราทำอะไรอยู่ก็อาจจะเลยตามเลยไปถึงไหนต่อไหน หรือไปเริ่มถามอีกทีตอนที่เริ่มหมดไฟในการทำงานแล้ว
งานเพื่อสังคมที่มอง “เป้าหมาย” เป็นสำคัญน่าสนใจตรงที่ว่า เราสามารถคิดถึงเป้าหมายตั้งแต่ขนาด “เล็กมาก ๆ” อย่าง อยากบริจาคเงินช่วยมูลนิธิหมาแมวเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิที่ทำหน้าที่ช่วยจัดการสัตว์จรจัด อยากเล่นดนตรีบ้านพักคนชราเพื่อช่วยผ่อนคลายคุณลุงคุณป้าที่อาจจะไม่มีกิจกรรมให้ทำเยอะ
เมื่อเราคิดโดยอิงต่อ “เป้าหมาย” แล้วมันดียังไง สิ่งที่จะส่งเสริมต่อเนื่องมาก็คือ เราจะมี “ตัวชี้วัด” อยู่ในใจเราได้เลย เช่น เราสนับสนุนมูลนิธิหมาแมวหนึ่ง แต่พอไปถึงเค้าดูแลน้อง ๆ ไม่ดีเอาเสียเลย เราก็อาจจะพิจารณาถึงความเหมาะสมต่อการสนับสนุน เราอยากไปเล่นดนตรีผ่อนคลายให้คุณลุงคุณป้าแต่พอเล่นแล้วคุณลุงคุณป้าไม่มีความสุขเอาเสียเลย ก็อาจจะนำมาสู่การพิจารณาปรับปรุงแก้ไข
หมายความว่า “งานเพื่อสังคม” จะเข้ามาอยู่ในเนื้อในตัวเราโดยอัตโนมัต เพราะเป้าหมายที่เรามองก็มักจะสอดคล้องต่ออุดมคติของเรา สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเชื่ออยู่เสมอ เราก็จะไม่มองมันเป็นเพียง “ของไกลตัว” หรือ “สินค้า” เพราะรับรู้แล้วว่ามันทำหน้าที่มากกว่านั้น รวมถึงยังแก้ปัญหาเรื่องการถูก “หลอกขาย” เพราะประเมิน “ผลสัมฤทธิ์” ไปพร้อม ๆ กันได้อีกด้วย
เปลี่ยนคำมันจะอิมแพคขนาดนั้นเลยเหรอ?
ก็ยังตอบไม่ได้อย่างชัดเจน แต่ในชีวิตเราทุกคนน่าจะเคยสัมผัสกับการ “เลือกใช้คำ” แล้วความหมายเปลี่ยน ความรู้สึกเปลี่ยนมาไม่มากก็น้อย ส่วนตัวคิดว่ากรณีนี้ก็ไม่น่าจะต่างกัน ยกตัวอย่าง เช่นในคลิปหนึ่งที่ ส.ส.เท้งจากพรรคก้าวไกลเคยไปแสดงวิสัยทัศน์เรื่องการนำดิจิทัลมาใช้ในการบริหารรัฐบาล โดยมีท่อนหนึ่งที่ส.ส.เท้งพูดว่า “ในช่วงแรกอาจจะต้องใช้จิตอาสาช่วยกันก่อน” ตอนนั้นแชทก็เด้งรัวเลยว่า “ใช้จิตอาสามันจะยั่งยืนยังไง” “ทำงานให้รัฐจะไม่ให้เงินเลยเหรอ” “แล้วคนจะเอาเวลาที่ไหนมาดูแลงานระบบรัฐขนาดใหญ่” ฯลฯ
ซึ่งเชื่อว่าทั้งหมดนี้ หากเปลี่ยนเป็นคำว่า Contributor จะเกิดภาพสะท้อนสองอย่างคือ บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร กับ ยิ่งรู้ความหมายยิ่งเข้าใจได้ เพราะถ้าพูดคำนี้กับคนที่ทำงานสายเทคโนโลยี สาย Start up ทุกคนจะเข้าใจว่าความหมายมันแตกต่างจาก “จิตอาสา” และการที่มีคนจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าใจว่า Contributor คืออะไร นั่นหมายความว่ายังมีช่องว่างในการ “ช่วงชิงความหมาย” ในขณะที่พอพูดคำว่า “จิตอาสา” คนก็มีความหมายในใจซึ่งรวมถึง “อคติต่อคำ” ไปแล้วอย่างชัดเจน
จริง ๆ ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะเริ่มสงสัย เพราะก็รู้สึกว่าตัวเองทำงาน “จิตอาสา” แบบเอาเป้าหมายเป็นที่ตั้ง หรือไม่ได้มองมันเป็นแค่สินค้าหลอกขายและหวังเปลี่ยนแปลงสังคมเหมือนกัน
พูดกันตามจริงส่วนตัวก็เชื่อว่ามีคนที่ทำงานจิตอาสาในลักษณะดังกล่าวอยู่เยอะ แม้แต่คุณพลอยที่เล่าเองเราก็ชื่นชม เพราะการที่ยังคงทำอย่างต่อเนื่องนั่นก็มีความหมายบางอย่าง และดูจากงานที่คุณพลอยทำเราเองก็เห็นเป้าหมายในตัวงานอยู่ตลอด
หรือแม้แต่เรื่องการฮีลใจ ส่วนตัวก็มีความรู้สึกทำนองนั้นเหมือนกัน เพียงแต่พอเราเริ่มเชื่อว่าเราทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อจัดการกับปมที่ถูกสังคมกระทำในอดีต การ “ฮีลใจ” ของเรามันเลยเป็น “เป้าหมาย” มากกว่า “ผลพลอยได้”
เรื่องที่น่าเสียดายเลยเป็นเรื่องที่ไม่มีเวลาให้เราได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าความรู้สึก “ฮีลใจ” นี้มันเกิดจากอะไร เป็นความรู้สึกแบบไหน ตอบสนองความต้องการเรายังไง มันอาจจะทำให้คำเชิญชวนเรื่อง “ลองทำงานเพื่อสังคม” มันเห็นภาพและน่าสนใจมากกว่านี้
เลยนึกถึงคำคุณแก็ปที่ว่า ไม่อยากให้จับจดอยู่กับ “ชื่อเรียก” ว่าจะต้องเป็น Social Enterprise ไหม ต้องเป็นมูลนิธิ เป็นจิตอาสาหรือเปล่า แต่ควรมอง “เป้าหมาย” ที่เราอยากทำเป็นสำคัญ
ซึ่งถ้าความรู้สึกฮีลใจเป็นผลมาจากการรู้สึกว่าเรากำลังเข้าใกล้เป้าหมายเรามากขึ้น ส่วนตัวเราพร้อมสนับสนุนทันทีว่างานเพื่อสังคมมันฮีลใจจริง ๆ