ขนาดฝรั่งเศสยังกลับมาเกณฑ์ทหาร?
ในขณะที่บ้านเรากำลังพูดถึงนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเท่าเทียมพึ่งกลับมาส่งเสริมนโยบายเกณฑ์กำลังพล (Civil Conscription) อะไรคือความแตกต่าง และความน่าสนใจของเรื่องนี้
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง แต่ละพรรคก็ต่างยกนโยบายเด่น ๆ มาสู้กันอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณะสุข ด้านการเกษตร การศึกษา และสวัสดิการ
หนึ่งในนโยบายที่น่าจับตามองและถูกพูดถึงเยอะพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนเมษายนของทุกปีนั่นคือนโยบาย “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” ที่ในปีนี้เริ่มมีหลายพรรคเห็นพ้องในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
และเหมือนเช่นทุกปี ว่าจะมีผู้ที่ไม่สนับสนุนการยกเลิกการเกณฑ์ทหารออกมาสร้างวิวาทะต่าง ๆ เพื่อตอบโต้ ตั้งแต่การพูดเรื่องไม่รักชาติ ไม่รู้จักหน้าที่ จะทำให้ประเทศอ่อนแอ และอื่น ๆ ทั้งที่จริง ๆ แล้วมีรายงานว่ากองทัพบกเองก็มีการทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการยกเลิกการเกณฑ์ทหารมาแล้วไม่ต่ำกว่าสิบปี
ย้อนกลับไปช่วงก่อนเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 เคยมีการตอบโต้นโยบาย “ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” โดยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่อ้างว่า ถ้าการเกณฑ์ทหารมันไม่ดี ประเทศอย่างฝรั่งเศสคงไม่รื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้หรอก สร้างความสนใจให้ผู้คนจำนวนหนึ่งไปสืบค้นต่อจนพบว่า ประเทศฝรั่งเศสมีการรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารกลับมาจริง ๆ
จนเกิดคำถามว่า หากการเกณฑ์ทหารนั้นไม่ดี ทำไมประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความเท่าเทียมอย่างฝรั่งเศสถึงได้มีการรื้อฟื้นการเกณฑ์ทหารกลับขึ้นมา แล้วการเกณฑ์ทหารครั้งใหม่ของฝรั่งเศสเหมือนหรือแตกต่างจากบ้านเราอย่างไร
ฝรั่งเศสน่าจะเป็นประเทศสมัยใหม่ประเทศแรก ๆ ที่มีการเกณฑ์กำลังพล (Civil Conscription) เพื่อใช้ในทางการทหารในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 - 1799 ก่อนจะมีการประกาศสิ้นสุดกฎหมายสำหรับการเกณฑ์กำลังพลเพื่อใช้ในทางการทหารไปในช่วงปี ค.ศ. 2001
แต่ปรากฎว่าในปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ได้มีการนำเสนอนโยบายที่เรียกว่า Service national universel (SNU) ซึ่งถูกตั้งเป้าให้กลายเป็นการเกณฑ์กำลังพลแบบใหม่ภายในประเทศ
SNU เป็นโครงการเพื่อให้บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 15-17 ปี เข้าสู่กระบวนการฝึกฝนเพื่อ “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” โดยลักษณะของโครงการจะเป็นการสมัครเข้าไปในพื้นที่ฝึกฝนตามแต่ที่สถาบัน SNU เปิดให้ลงทะเบียน หลังจากนั้นจะต้อง “เข้าค่าย” ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์
การเข้าค่ายดังกล่าว อ้างว่าเป็นการเข้าค่ายที่มีลักษณะคล้าย “ค่ายลูกเสือ” มากกว่าค่ายทหาร คือจะมีการแต่งเครื่องแบบของ SNU มีการจัดเก็บอุปกรณ์สื่อสาร แล้วทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ห่างไกลในลักษณะแบบ “การผจญภัย” เพื่อค้นพบตัวเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือ การออกแบบพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมนั้น ถูกออกแบบให้ผู้เข้าร่วมต้องทำกิจกรรมในพื้นที่ที่ห่างไกลจากที่อยู่อาศัยของตน โดยมองว่าจะทำให้ได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ มากขึ้น และสร้างความเป็น “หนึ่งเดียว” ของผู้คนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่กายภาพที่ห่างไกลกันเป็นทุนเดิม นอกจากนั้นกิจกรรมที่จะได้เข้าร่วมในช่วงเวลาสองสัปดาห์ดังกล่าว ก็มีการอ้างว่าเป็นกิจกรรมเพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติการด้าน “บริการสังคม” (social service) พื้นฐานได้ โดยมีการกล่าวถึงกิจกรรมเรียนรู้กระบวนการการตามหาคนหาย การระวังภัยการก่อการร้าย การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การเรียนรู้ขั้นตอนการสอบใบขับขี่ เป็นต้น
โดยเมื่อจบกระบวนการสองสัปดาห์ จะถือว่าเป็นการสิ้นสุดกระบวนการของ SNU ในเฟสแรก หลังจากนั้นในเฟส 2 ผู้เข้าร่วมจะมีสิทธิ์เลือกสมัครเข้า “บำเพ็ญประโยชน์” ในหน่วยงานที่ตัวเองสนใจได้ โดยต้องมีชั่วโมงบำเพ็ญประโยชน์อยู่ที่ 84 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ และต้องเป็นจำนวนชั่วโมงที่ไม่ซ้อนทับกับเวลาเรียน หรือต้องเป็นการบำเพ็ญประโยชน์นอกเวลาเรียนเท่านั้น ซึ่งทางเลือกในการบำเพ็ญประโยชน์ก็มีหลากหลายตั้งแต่สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานีดับเพลิง รวมถึงสถานีตำรวจ หรือใครที่อยากฝึกทหารก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน
หลังจากสิ้นสุดเฟส 2 แล้ว หากเรายังยินดีที่จะ “บำเพ็ญประโยชน์” ต่อสังคมอยู่ ในรอบนี้เราสามารถ “สมัคร” เป็นอาสาสมัครในหน่วยงานต่าง ๆ ต่อได้เป็นเวลาขั้นต่ำสามเดือนก่อนอายุครบ 25 ปี เมื่อเสร็จสิ้นทั้งกระบวนการก็จะถือว่าเราได้ผ่านการ “รับใช้ชาติ” แบบฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว
โดยกระบวนการดังกล่าวในเฟส 1 และ 2 ถูกตั้งเป้าให้สามารถพัฒนาจนกลายเป็นกฎหมาย “เกณฑ์กำลังพล” แบบใหม่ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2026 ปัจจุบันจึงใช้ระบบ “อาสาสมัคร” เพื่อนำร่องกระบวนการ (ส่วนเฟส 3 เป็นระบบสมัครใจตั้งแต่ต้น)
ความน่าสนใจของการเกณฑ์กำลังพลแบบ SNU นี้ นอกจากมองเป้าใหม่คือการผลักดันคนให้เข้าสู่ระบบ social service มากกว่าการเข้าสู่การเป็นกำลังพลทางการทหารแล้ว อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือตลอดระยะเวลาดำเนินการนั้น ไม่ได้เบียดบังเวลาชีวิตของผู้เข้าร่วม คือไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน หรือต้องดร็อปเรียนเพื่อไปเข้าร่วม มีการออกแบบตารางและระยะเวลาให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คน
นอกจากนี้ แม้ในอนาคตเฟส 1 และ 2 จะกลายเป็นกฎหมายบังคับสำหรับทุกคนในช่วงอายุ 15-17 ปี แต่ยังถือว่าเราสามารถเลือก “บำเพ็ญประโยชน์” ในด้านที่เราสนใจได้โดยไม่ถูกจำกัดว่าต้องเป็นการฝึกทหารเพียงเท่านั้น
ดังนั้น เราคงพอเห็นภาพแล้วว่าการจะนำ SNU มาเปรียบเทียบกับการเกณฑ์ทหารในบ้านเรานั้น มีรายละเอียดที่แตกต่างกันมหาศาลจนเทียบไม่ได้
หมายความว่า ต่อให้การเกณฑ์ทหารแบบใหม่ของฝรั่งเศสนี้ประสบความสำเร็จ เราก็ไม่สามารถนำมาอ้างให้ยังมีการเกณฑ์ทหารในประเทศไทยต่อไปได้
เพราะเมื่อมองกลับมาที่บ้านเรา การเกณฑ์กำลังพลเพื่อใช้ในทางการทหารเป็น “ทางเลือกเดียว” ที่เราจะสามารถทำได้ในฐานะของการ “รับใช้ชาติ” ตามกฎหมาย ทั้งที่ในปัจจุบันเราต่างรู้ว่ามีวิธีอีกมากมายที่เราจะสามารถสนับสนุนบริการสังคมได้ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครกู้ภัย แพทย์อาสา ครูอาสา ฯลฯ
อีกทั้ง แม้เราจะพูดว่า “รับใช้ชาติ” แต่เราก็มักจะได้เห็นอยู่ตลอดว่าเหล่าทหารเกณฑ์ทั้งหลายนั้นถูกนำไปรับใช้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ คอยตัดหญ้า ล้างรถ ขับรถไปรับไปส่งลูกเมียนายพลเสียมากกว่า
ในขณะที่คนจำนวนมากถูกเกณฑ์เข้าไป “รับใช้ชาติ” คำถามที่ตามมาอยู่ตลอดคือเรื่องความปลอดภัยต่อชีวิตของกำลังพล ที่มักตามมาด้วยข่าวการซ้อม และการ “ซ่อม” จนมีพลทหารเสียชีวิตแทบทุกปี บางปีกว่าจะรู้ก็คือจนมีญาติผู้เสียหายออกมาร้องต่อสื่อ แทบไม่มีการแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากจะไม่มีทางเลือกแล้ว ช่วงเวลาในการ “รับใช้ชาติ” ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ตลอด ด้วยตัวกฎหมายที่ถูกประกาศใช้มาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีผลต่อ “บริบทด้านเวลา” ที่ในสมัยนั้นเวลาสองปีผลกระทบต่อชีวิตอาจจะไม่ได้สูงมาก แต่ในปีที่เวลาเพียงไม่กี่เดือนที่สามารถสร้างรายได้ได้จำนวนมหาศาล (และเกิดรายจ่ายมหาศาลไม่แพ้กัน) ระยะเวลา 2 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่ “นานเกินไป” แล้วสำหรับยุคปัจจุบัน
หากผู้สนับสนุนการเกณฑ์ทหารจะอ้างฝรั่งเศส ก็ควรพิจารณาว่าทำไมฝรั่งเศสถึงมีกรอบระยะเวลาในหลักสัปดาห์หรือเดือน รวมกระบวนการทั้ง 3 เฟส ยังไม่ถึงครึ่งปีด้วยซ้ำ ในขณะที่การเข้าเป็นกำลังพลในประเทศเรา “ขั้นต่ำ” ของกระบวนการคือ 6 เดือน (มีวุฒิปริญญาตรี และสมัครใจเข้าเป็นพลทหาร)
และแม้ว่าเราได้อ่านแบบผ่าน ๆ ในลักษณะนี้แล้วจะรู้สึกว่า การเกณฑ์กำลังพลแบบฝรั่งเศสก็ “ไม่ได้เลวร้าย” เท่าไร แต่ก็ต้องบอกเลยว่าในฝรั่งเศสเองก็มีการต่อต้านนโยบายนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน
ทำให้แม้สุดท้ายแล้วนโยบายเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหารของประเทศเรายังต้องพูดคุยกันต่อเนื่องในส่วนของรายละเอียด แต่สิ่งหนึ่งที่ชี้ชัดแล้วคือแม้แต่ฝรั่งเศสที่พยายามรื้อฟื้นการเกณฑ์กำลังพลกลับมา ก็ยังมีการคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้ากับบริบทปัจจุบัน มีการประเมินเรื่องการสร้างประโยชน์ต่อสังคม เรื่องกรอบเวลา และความสมัครใจของผู้เข้าร่วม
ซึ่งทั้งสามอย่างนั้น เป็นสิ่งที่สังคมตั้งคำถามต่อการเกณฑ์ทหารของประเทศไทยตลอดมา