ชาวเชียงใหม่ต้องการดูหนังเรื่องนี้ : โมเดลการสร้างข้อต่อรองระหว่างคนดูกับโรงหนัง ที่ถูกส่งต่อไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ
พูดคุยถอดบทเรียนเกี่ยวกับความคิดเบื้องหลังของโมเดล และการส่งต่อองค์ความรู้โดยไม่ยึดถือเป็นเอกสิทธิ์
หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกับคนทำงานด้าน social impact หลาย ๆ คน สิ่งหนึ่งที่มีความเห็นค่อนข้างตรงกันคือการทำงานในฐานะการสร้าง “โมเดลต้นแบบ” ของการทำงาน โดยหวังว่าหากมีคนสนใจจะสามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ในพื้นที่ของตนได้
สิ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดเหล่านี้เป็นจริงได้แค่ไหน มีกรณีศึกษา หรือกรณีตัวอย่างที่เคยมีแนวโน้มประสบความสำเร็จหรือไม่
ซึ่งพอนึกเร็ว ๆ เราก็มานึกถึงเพจเฟซบุ๊ค ชาวเชียงใหม่ต้องการดูหนังเรื่องนี้ ที่ออกมาเรียกร้องโรงหนังในเชียงใหม่ให้นำหนังที่น่าสนใจมาฉายบ้าง แถมยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรักหนังนอกกระแสในหลายพื้นที่ขอนำโมเดลของเพจ ไปปรับใช้กับพื้นที่ของตัวเองด้วย
อยากดู ต้องได้ดู
แม้ในปัจจุบันเมื่อพูดถึง “เชียงใหม่” เราอาจจะมีภาพของเมืองที่พัฒนาแล้ว และในมุมหนึ่งเหมือนเป็นเมืองหลวงของความอินดี้ ความอิสระ ความนอกกระแส แต่หากฉายภาพย้อนไปเมื่อประมาณ 8 ปีก่อน ต้องถือว่าความหลากหลายของเชียงใหม่ยังไม่ได้เบ่งบานเต็มที่อย่างเช่นทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตารางฉายภาพยนตร์ของโรงหนังในจังหวัด
พลอยไพลิน เล่าว่าจุดเริ่มต้นมาจากความรู้สึกว่า “อยากดูหนังเรื่องนี้ ทำไมมันไม่เข้าเชียงใหม่ (วะ)” ทำไมหนังหลาย ๆ เรื่องถึงเข้าฉายแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น แล้วคนที่อยากดูหนังเหล่านั้นในพื้นที่ต่างจังหวัดจะทำยังไง พอเล่าแบบนี้ก็จำได้เลยว่าในยุคหนึ่งหากเราอยากดูหนังเรื่องไหนมาก ๆ ถึงกับต้องเดินทางจากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯเพื่อมาดูหนังกันเลยทีเดียว พลอยเลยได้นำเรื่องนี้ไป “บ่น” ให้พี่บดินทร์ นักฉายหนังอิสระในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ฟัง พี่บดินทร์จึงได้เสนอว่า “เราลองลงชื่อคนที่อยากดูหนังแล้วไปเสนอกับโรงหนังดูไหม จนเกิดเป็นเพจ ชาวเชียงใหม่ต้องการดูหนังเรื่องนี้ เพจสำหรับเข้าชื่อคนที่ต้องการดูหนังเรื่องใด ๆ เพื่อให้โรงหนังได้เห็นว่าในเชียงใหม่มีคนต้องการให้นำหนังเรื่องนี้มาฉายเยอะแค่ไหน
พี่บดินทร์เล่าแนวคิดว่า หากเรามองแบบคนทำธุรกิจ เราจะเข้าใจได้ง่ายมากว่าการที่หนังหลาย ๆ เรื่องไม่ได้เข้าฉายในโรงต่างจังหวัดนั้นเป็นเรื่องของต้นทุน ซึ่งสิ่งที่เรามีอำนาจต่อรองคือการทำให้เขาเห็นภาพว่าหากเขานำหนังเรื่องนั้น ๆ เข้ามาฉาย อย่างน้อย ๆ จะมีคนดูมากน้อยเท่าไร ทำให้สิ่งนี้แปรเปลี่ยนมาเป็นพลังในการขับเคลื่อนการฉายหนังในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
หากให้ฉายภาพความสำเร็จของเพจชาวเชียงฯ (ชื่ออย่างย่อ) ในฐานะคนดูหนังที่อยู่เชียงใหม่ในช่วงเวลานั้น คือการที่มีหนังนอกกระแสหลายเรื่องถูกนำเข้ามาฉายจากแคมเปญของทางเพจ และหลังจากรอบทดลองสัปดาห์ละรอบ ยังมีการขยายรอบของหนังบางเรื่องที่ได้รับผลตอบรับอย่างดีออกไปอีกหลายสัปดาห์ ทำให้โรงภาพยนตร์เริ่มเห็นศักยภาพของตลาดหนังประเภทนี้ และเริ่มนำหนังนอกกระแสเข้ามาแทรกฉายในโปรแกรมมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้โมเดลนี้ได้รับความสนใจจากคนรักหนังนอกกระแสทั่วประเทศที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน จนนำมาสู่กระแส “อยากดูต้องได้ดู” ขึ้นในหลายจังหวัด เช่น เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู, เข้าขอนแก่นเถอะนะ อยากดู รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้วงการหนังนอกกระแสจนกลายเป็นเครือข่ายพื้นที่ฉายหนังอิสระเกิดขึ้นทั่วประเทศ
โดย movement นี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นอย่างมากในกลุ่มคนรักหนัง จนถูกกล่าวถึงในแวดวงคนรักหนังเป็นวงกว้าง
อยากทำ ต้องให้ทำ
ความสำเร็จของเพจชาวเชียงฯ ทำให้มีคนในหลายพื้นที่สนใจขอใช้โมเดลดังกล่าว ซึ่งทั้งพลอยและพี่บดินทร์เห็นตรงกันว่า “ยินดี” ที่จะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ออกไปโดยไม่ยึดถือว่าตัวเองเป็นเจ้าของไอเดีย
ส่วนหนึ่งทั้งพลอยและพี่บดินทร์มองว่าไอเดียนี้แต่เดิมก็ไม่ใช่แนวคิดที่พึ่งสร้างขึ้นใหม่ เช่น พลอยเล่าว่าอย่างชื่อเพจเอง ก็นำมาจากเทร็นการตั้งชื่อเพจในช่วงนั้นประมาณว่า “เชื่อว่าคนไทยหนึ่งล้านคน …” ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาอีกต่อหนึ่ง พี่บดินทร์เองก็เล่าว่าแนวคิดเรื่องการเข้าชื่อเพื่อเรียกร้องโรงหนังนั้นเข้าใจว่าเคยเห็นมาก่อนแล้ว (พี่บดินทร์เข้าใจว่าที่ขอนแก่นน่าจะเริ่มก่อนเล็กน้อย) อีกทั้งเมื่อมองกันความสำเร็จของเพจชาวเชียงฯ นั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง เราจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ไม่ใช่เจ้าของความสำเร็จทั้งหมด
อีกส่วนหนึ่งพลอยเล่าว่ามันอาจจะเริ่มจากความรู้สึกที่มีความ Activist หน่อย ๆ ตั้งแต่ต้น ทำให้มองอิมแพคที่เกิดขึ้นในแง่ของความรู้สึกที่ดี และยินดีกับการเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง โดยเมื่อสิ่งที่ทำเกิดผลกระทบในวงกว้างพลอยจึงมองว่าหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในวงกว้างน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้คนมากกว่าการยึดถือไว้เพียงลำพัง
นอกจากนี้พอถามถึงความรู้สึกต่อการ “ลอก” เอาโมเดลไปใช้โดยไม่บอกกล่าว พี่บดินทร์เล่าว่าโดยส่วนตัวไม่ได้รู้สึกแย่กับมันไม่ว่าจะแบบที่รู้หรือไม่รู้ เพราะพี่บดินทร์ไม่ได้มอง position ตัวเองว่าเป็นคนต้นคิดหรือถือลิขสิทธิ์ของสิ่งนี้ตั้งแต่แรก โดยพลอยเสริมว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากว่าแม้จะมีการลอกกันไปโดยไม่บอกจริง ก็ไม่ได้นำไปสู่การแข่งขัน หรือการแย่งลูกค้ากันในเชิงพาณิชย์ แต่เป็นการนำไปพัฒนาเชิงพื้นที่ของตน ซึ่งพลอยมองว่าการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการฉายหนังไม่ได้เป็นเรื่องที่จะมีกำไรอู้ฟู่ กลับกัน มองว่าการทำงานในลักษณะดังกล่าวนั้นต้องใช้พลังเยอะมาก ซึ่งหากโมเดลนี้จะช่วยเข้าไปเสริมตรงนี้ ก็ถือว่าน่าดีใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า
ความรู้สึกส่วนใหญ่ของทั้งพลอยและพี่บดินทร์ จึงค่อนข้างชัดเจนว่ายินดีที่อยากจะส่งต่อองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้ทำมาตลอด 8 ปีให้แก่คนที่สนใจ โดยหมายฝากฝังให้คนเหล่านั้นช่วยกันพัฒนา ecosystem ของแวดวงการฉายหนังอิสระให้ดำรงอยู่และทำงานต่อสังคมต่อไป
อยากหยุด ต้องได้หยุด
เมื่อถามถึงภารกิจต่อไปของชาวเชียงฯ ทั้งพี่บดินทร์และพลอยมองว่าภารกิจหลักคงเป็นเรื่องการ support community แล้ว เนื่องด้วยสภาแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การมีหนังนอกกระแสเข้าฉายในเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีพื้นที่ฉายหนังอิสระเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บทบาทของเพจในแบบเดิมก็อาจจะสิ้นสุดลง
พี่บดินทร์เล่าว่าหลังจากทำงานมา 8 ปี สิ่งที่ค้นพบคือการดูหนังในฐานะผู้จัดนั้นไม่ได้มีความสุขเหมือนในฐานะคนดู เพราะเต็มไปด้วยความกังวลในหลาย ๆ แบบ ทำให้ในปัจจุบันพี่บดินทร์อยากเลือกฝากความหวังไว้กับทีมงานคลื่นลูกใหม่ที่เกิดขึ้น และอยากสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และหวังว่าประสบการณ์ของตนจะช่วยจัดการกับอุปสรรคในหลาย ๆ แง่ได้
ซึ่งพี่บดินทร์และพลอยเห็นว่าบทบาทในปัจจุบันถือเป็น “จุดลงตัว” ที่เหมาะสมกับทั้งสองคน เพราะด้วยภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงอายุที่เคลื่อนไปข้างหน้า มุมมองต่อความรู้สึกอยากดูหนังสักเรื่องมันก็อาจจะไม่ได้ร้อนแรงเหมือนการทำเพจแรก ๆ
สิ่งที่น่าสนใจจึงเป็นว่า เมื่อมาถึงจุดที่เพจชาวเชียงฯ “ผ่อน” คันเร่งลงกว่าเมื่อก่อน สิ่งนี้กลับแทบไม่ได้กระทบวงการคนดูหนังนอกกระแสของเชียงใหม่เลยแม้แต่น้อย นั่นสะท้อนถึง ecosystem ของการดูหนังอิสระที่ “จุดติด” ไปเรียบร้อยแล้ว จนแม้ในวันที่เพจชาวเชียงฯ เลือกจะ “หยุด” ก็จะสามารถทำได้อย่างสบายใจโดยที่เป้าหมายในการเริ่มต้นยังคงดำเนินต่อไป
และเมื่อเรามองภาพให้กว้างออกไปมากกว่าแค่เชียงใหม่ จะพบว่าวงการหนังนอกกระแสและการฉายหนังอิสระในประเทศ ก็ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมีพื้นที่สำหรับฉายหนังอิสระเกิดขึ้นอย่างมากมาย รวมถึงกิจกรรมฉายหนังนอกกระแสในหลายระดับที่เพิ่มขึ้นจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลผลิตจากการเคลื่อนไหวของเครือข่าย “อยากดูต้องได้ดู” ทั่วประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่เป็นแรกบันดาลใจให้คนเหล่านี้อยู่ก่อนด้วย
และหนึ่งในความสำเร็จที่เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้จากการส่งต่อโมเดลและองค์ความรู้ให้กันในหมู่เครือข่ายและผู้ที่สนใจ โดยไม่ยึดถือไว้เป็นเพียงเอกสิทธิ์ของผู้ที่ทำคนแรกเพียงเท่านั้น นี่จึงเป็นเหมือนเครื่องพิสูจน์ว่า แนวคิดเรื่องการส่งต่อ “โมเดลต้นแบบ” ไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ในงานขับเคลื่อนสังคม มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในลักษณะเดียวกับที่เพจชาวเชียงใหม่ต้องการดูหนังเรื่องนี้และเครือข่ายสามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน