เพราะเราเชื่อว่าสังคมเป็นที่ที่ดีขึ้นได้
ชวนทุกคนมาทำความรู้จัก muse แบบคร่าว ๆ ถึงที่มาที่ไป แนวคิดและแรงบันดาลใจ เพื่อให้เราได้มีโอกาสรู้จักกันมากขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นบทสนทนาแนะนำตัวระหว่างการเดินไปสู่เป้าหมายที่เชื่อร่วมกัน
muse ก่อตั้งขึ้นบนแนวคิดที่เชื่อว่าสังคมมันเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแค่เราอาจจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ muse เริ่มมองหาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่จะผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มองหาโอกาสในการช่วยส่งเสริมสังคมให้เจอกับ “ทางออก” ของปัญหาต่าง ๆ
หากเรามองกลับไปในสังคมปัจจุบัน เราจะพบว่ามีปัญหาอีกมากมายที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ บางปัญหาไม่มีแม้แต่ “คน” ที่จะลงมาทำงานในส่วนนั้น แล้วปัญหาต่าง ๆ ก็ทับถม ส่งผลถึงกัน เสริมแรงให้กัน จนแต่ละปัญหากลายเป็นปัญหาใหญ่ และจะใหญ่ขึ้นอีกเรื่อย ๆ หากยังไม่ถูกแก้ไขเสียที
คนทำงานเพื่อสังคมจึงเปรียบเสมือนปราการด่านสุดท้าย ที่คอยค้ำยันและผลักดันสังคมที่กำลังจะล่มสลายนี้ให้ยังมีความหวัง คอยต่อสู้กับอุปสรรคเพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีกว่าไปสู่อนาคต และเชื่อมั่นว่าโลกเป็นที่ที่ดีกว่านี้ได้
นั่นคือ muse ที่ส่งต่อถึงกันในผู้คน ให้ยังเชื่อ และต่อสู้ในสิ่งที่ตัวเองเชื่อมั่นอยู่
จุดเริ่มต้นของ muse
muse ถูกจุดประกายขึ้นครั้งแรกในฐานะของ Muse foundation ในปี 2014 ซึ่งเป็นครั้งที่กลุ่มผู้ก่อตั้ง Muse มองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาที่ไม่ถูกผูกขาดอยู่แค่ในระบบหลักสูตรการศึกษาของรัฐเพียงอย่างเดียว ในขณะที่การศึกษาสามารถช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นได้ แต่การได้รับการศึกษากลับเต็มไปด้วยอุปสรรคในหลากหลายมิติ ตั้งแต่มิติเศรษฐกิจอย่างค่าเล่าเรียน จนถึงมิติเชิงพื้นที่ที่มักจะอยู่ในตัวเมืองซึ่งทำให้คนต้องโยกย้ายออกจากภูมิลำเนา เป็นต้น จึงมองว่าการศึกษาควร “เปิดโอกาส” ให้ผู้คนได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมทั่วถึง ได้เลือกเรียนอย่างอิสระและเหมาะสมกับวิถีชีวิต โดยดึงเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้เข้าถึงผู้คนได้อย่างแพร่หลายและกว้างขวาง
Muse foundation มองภาพไกลไปที่การเป็น “มหาวิทยาลัย” ที่วางอยู่บนรากฐานการเข้าถึงความรู้แบบใหม่ คำว่า foundation จึงหมายถึงการเป็น “รากฐาน” ให้กับผู้คนในการดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าอีกด้วย
ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาน่าจะเป็นปัญหาร่วมกันของสังคมจริง ๆ
เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็มีกลุ่มนวัตกรรมที่ผลักดันไอเดียด้านการศึกษาเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีในการเข้ามาสนับสนุนการศึกษา (EdTech) มีเว็บไซต์สำหรับเรียนรู้ออนไลน์ทั้งแบบเสียเงินและเรียนฟรีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากภายในเวลาไม่กี่ปีให้หลัง
นั่นเลยทำให้ Muse foundation มองว่าประเด็นดังกล่าวนั้น “ถูกเคลื่อนออกไปแล้ว” มีคนจำนวนมากช่วยกันผลักดัน แถมหลาย ๆ solution ก็เป็นสิ่งเดียวกับที่ Muse foundation เคยตั้งใจจะทำ เมื่อมองว่า pain point ของสังคมถูกแก้ไขแล้ว กลุ่มผู้ก่อตั้ง Muse foundation จึงกลับมาทบทวนถึงความจำเป็นในการผลักดัน Muse foundation อีกครั้ง ก่อนจะตัดสินใจหยุดโครงการเอาไว้ชั่วคราวในที่สุด
ทำไมต้อง muse
“muse” เป็นชื่อที่เกิดจากคำแนะนำของนักภาษาศาสตร์ที่รู้จักกัน โดยมองวัตถุประสงค์ขององค์กรที่อยากเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผ่านการศึกษา ซึ่ง muse มีความหมายในลักษณะนั้น
แม้ในปัจจุบัน muse จะถูกใช้ในความหมายเชิงแรงบันดาลใจด้านศิลปะเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อได้สำรวจที่มาที่ไปของคำว่า muse ยิ่งรู้สึกว่าน่าสนใจมากขึ้น เพราะเป็นคำที่มีรากมาจากตำนานเทพกรีกโบราณก่อนยุคโอลิมปัส ที่เชื่อว่ามีเทพธิดาแห่งความคิดสร้างสรรค์คอยประทานพลังให้กับผู้คนที่สร้างงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งคำนี้ยังเป็นรากฐานของอีกหลายคำเช่น music หรือ amuse อีกด้วย
โดยเฉพาะคำว่า museum (ที่เชื่อว่าแผลงมาจากคำว่า mouseion ซึ่งเป็นชื่อเรียกวิหารของเทพ muses ทั้งเก้า) ที่ดันมีความหมายใกล้เคียงกับเป้าหมายตั้งต้นหนึ่งของ Muse foundation คือการอยากจะ “เก็บรักษา” (preserve) องค์ความรู้ต่าง ๆ ในปัจจุบันเพื่อส่งต่อไปยังอนาคต นั่นทำให้ Muse foundation มีความใกล้เคียงกับคำว่า “พิพิธภัณฑ์ทางความรู้” ไปพร้อม ๆ กัน
นั่นเลยทำให้ “muse” กลายเป็นคำที่เรา “รู้สึก” กับมันมากขึ้น และมองว่าเราเองก็อยากจะเป็น “muse” ให้ผู้คนและสังคมเช่นกัน
ปัจจุบัน muse ทำอะไรบ้าง
ปัจจุบันเราได้กลับมาเริ่มผลักดันงานในนาม muse อีกครั้ง โดยเรายังยึดมั่นในความเชื่อเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการส่งเสริมและช่วยเหลือการแก้ปัญหาในสังคม มองหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการผลักดันสังคมให้เป็นที่ที่ดีขึ้น และมองว่าหากเราหากเราต้องการให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงเราจำเป็นต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อเป้าหมายนั้น
for-social profit company
เมื่อพูดว่า “งานเพื่อสังคม” เรามักมองไปถึงการเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (non-profit organization; NGO) ซึ่งในครั้งแรก ๆ เราเองก็มองถึงในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีภาพลักษณ์ของความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และยังเปิดพื้นที่ให้คนสามารถเข้ามาร่วมทำงานในเป้าหมายเดียวกันได้อย่างกว้างขวาง
หากแต่การเป็น NGO ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย กลับมีข้อจำกัดจำนวนมากที่มองว่าในอนาคตจะกลายเป็น “ปัญหา” ในการดำเนินโครงการของ muse ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้วเรามองว่าความคล่องตัวในการดำเนินงานถือเป็นเรื่องสำคัญของการผลักดันนวัตกรรมสังคมต่าง ๆ เราจึงมองถึงความไปได้ในธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise; SE) ที่ยังมีอิสระ ความคล่องตัว และยังสามารถทำงานเพื่อสังคมไปพร้อม ๆ กันได้
แต่ social enterprise เองก็ยังมีรายละเอียดและข้อจำกัดที่ต้องขบคิด โดยเฉพาะเรื่องผลตอบแทนสู่สังคมที่ยังถูกมองเป็น “ผลตอบแทนทางธุรกิจ” ที่แบ่งกลับไปยังสังคม ซึ่งเรามองว่าเราไม่อยากให้การทำเพื่อสังคมของเราหยุดอยู่แค่ประเด็นดังกล่าว เราอยากให้สิ่งที่เราทำมันสร้างประโยชน์และผลกระทบต่อสังคมได้ทันทีและทั้งหมด และให้สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่หรือเคลื่อนต่อแม้วันที่เราวางมือหรือสิ้นสุดภาระหน้าที่ลงแล้ว
นั่นทำให้เราได้พบกับคำว่า “กำไรทางสังคม” (social profit) ที่หมายถึงการที่สังคมได้รับผลตอบแทนจากการดำเนินการตามเป้าหมายที่วางไว้ขององค์กร ทำให้เราพบว่าในความเป็นจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องเป็น NGO หรือ SE ก็ได้หากเรามอง “วัตถุประสงค์” เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับที่ The North Face เลือกจัดการดูแลพื้นที่ป่าด้วยตัวเองแทนที่จะส่งต่อให้หน่วยงานรัฐเพราะเชื่อว่าสามารถจัดการได้ดีกว่า หรือ Patagonia เลือกขายหุ้นให้องค์กรการกุศลเพื่อส่งเสริมการต่อสู้เรื่องโลกรวนอย่างเต็มกำลังแทนที่การแบ่งเงินบริจาคเพื่อการกุศล สิ่งที่ต้องพิสูจน์ต่อมาจึงเป็นแค่การทำให้วัตถุประสงค์ของเราโปร่งใสและตรวจสอบได้
เมื่อรวบรวมความคิดและความคาดหวัง เราจึงนิยามแนวทางการดำเนินองค์กรเพื่อสังคมที่มีความคล่องตัว โปร่งใส และส่งผลกระทบต่อสังคมให้ได้มากที่สุดว่า “บริษัทแสวงผลกำไรทางสังคม” (for-social profit company) โดยนำความคล่องตัวอย่างบริษัทจำกัดมาจัดการการดำเนินงานเพื่อสังคมแบบ NGO และ SE และมุ่งหวังว่าการเป็นบริษัทจำกัดจะทำให้เราสามารถขยายขอบเขตการทำงานเพื่อสังคมให้เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตของบริษัท
อีกทั้งเชื่อมั่นว่าแม้วันหนึ่งองค์กรจะต้องยุติบทบาทลงแต่สิ่งที่ดำเนินการแล้วจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมต่อไปเพราะสิ่งเหล่านั้นกลายเป็น “กำไรทางสังคม” ไปเรียบร้อยแล้ว
Open source for change
แนวคิดแบบ Opensource ได้พิสูจน์ตัวเองในฐานะการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มผู้ก่อตั้งเองคลุกคลีอยู่ในแวดวง opensource มานานหลายสิบปี
สิ่งที่เราพบว่าน่าสนใจในวัฒนธรรมแบบ Opensource คือการที่เราเชื่อมั่นในพลังของการร่วมมือกันพัฒนาให้ดีขึ้น การผลักดันนวัตกรรมใด ๆ ในรูปแบบ Opensource สิ่งที่ทุกคนเข้าใจตรงกันคือการเข้าไป “ร่วมพัฒนา” ปรับปรุงและแก้ไขให้นวัตกรรมเหล่านั้นสมบูรณ์และมีประโยชน์สูงสุด โดยไม่ถือกรรมสิทธิใครเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว
นั่นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เรามองเชื่อมโยงวัฒนธรรมแบบ Opensource กลับมาที่การทำงานผลักดันสังคม ที่เมื่อมีนวัตกรรมทางสังคมเกิดขึ้นแล้วผู้คนต่าง “ร่วมใจกัน” พัฒนานวัตกรรมเหล่านั้นให้สมบูรณ์และมีประโยชน์มากขึ้น และสามารถถูกนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้นวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจถูกนำไปประยุกต์ใช้กับประเด็นคนไร้บ้าน หรือปัญหาความมั่นคงทางอาหารได้ เป็นต้น
เราจึงมีเป้าหมายในการยึดถือวัฒนธรรมแบบ Opensource เพื่อให้งานของเราถูก “ร่วม” ผลักดันและพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมมากกว่าการยึดถือกรรมสิทธิทางนวัตกรรมเอาไว้ที่ผู้ผลิตแต่เพียงผู้เดียว
และยังมีเป้าหมายในการส่งเสริมวัฒนธรรมแบบ Opensource ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานผลักดันและสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมให้มากขึ้น เพื่อให้งานผลักดันสังคมเป็นงานที่ทุกคน “ร่วมกัน” พัฒนาได้โดยไม่ต้องยึดถือว่าผู้คนเหล่านั้นจะต้องสังกัดหรือเข้าร่วมองค์กรหน่วยงานใดเท่านั้น
“เพราะเราเชื่อว่าทางออกที่ดีที่สุด คือทางออกที่เราร่วมกันสร้างขึ้น”
Current Project
ปัจจุบันงานที่เรามองหาความเป็นไปได้คือการนำ Opensource มาประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมงานเพื่อสังคมโดยพยายามขยายขอบเขตให้ Opensource ไม่ถูกจำกัดอยู่แค่การเป็น software แต่พิสูจน์ว่าแนวคิดแบบ Opensource สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่านั้น
แรงบันดาลใจจาก WikiHouse
WikiHouse เป็นระบบการสร้างบ้านแบบต่อหน่วย (modular) ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อหวังลดช่องว่างทางต้นทุนการสร้างทั้งในแง่เวลา ราคา และกำลังคน โดยมุ่งเป้าในการพัฒนาระบบการสร้างให้เกิดความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ไปสู่ผู้คนได้ง่าย โดยใช้แนวคิดแบบ Open source เปิดเผยรายละเอียดการผลิต เพื่อให้คนเข้าถึงแล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างอิสระ
WikiHouse จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการนำแนวคิดแบบ Opensource ที่ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ มาใช้ในการแก้ปัญหาและผลักดันสังคม
พิสูจน์ความเป็นไปได้ด้วย M house
จากการพิสูจน์ความเป็นไปได้ของ WikiHouse ทั้งในแง่การสร้างบ้านแบบ Opensource และการใช้ Opensource ในการผลักดันสังคม เราได้พบว่าแม้ WikiHouse จะมีศักยภาพและเป็นแรงบันดาลใจที่ดี แต่การใช้ระบบสร้างแบบ WikiHouse ทั้งระบบยังถือว่าห่างไกลความเป็นจริงอยู่ระดับหนึ่งโดยเฉพาะประเทศไทย
เราจึงลองท้าทายตัวเองด้วยการผลักดันการสร้างบ้านในรูปแบบระบบสร้างที่จะสามารถเข้าถึงผู้คน และสอดคล้องกับบริบทการสร้างของไทยให้เกิดขึ้นโดยใช้แรงบันดาลใจและการเรียนรู้จาก WikiHouse ได้อย่างไรบ้าง
กลายเป็น Plywood CNC project
เมื่อผ่านการพัฒนาแนวคิดการผลิตแบบต่อหน่วย (Modular) เราจึงเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นของระบบการผลิตด้วยไม้อัดและเครื่องตัดอัตโนมัติ CNC (Computer Numerical Control) ที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมการสร้างบ้านใช้ต้นทุนที่น้อยลงและสร้างทางเลือกได้มากขึ้น โดยเราได้พัฒนาระบบการผลิตจากการสร้างบ้านให้สามารถผลิตเฟอร์นิเจอร์ และนวัตกรรมการกั้นห้องด้วยโครงสร้างไม้อัดที่สะดวกต่อการถอดประกอบ ให้คุณสามารถปรับแต่งบ้านของคุณได้อย่างอิสระ
โดยทั้งหมดนี้เราได้ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานแบบ Opensource ที่จะมีการเปิดเผยรายละเอียดให้ผู้คนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างอิสระโดยไม่ถือครองกรรมสิทธิ์ใด ๆ และคาดหวังให้ทุกคนร่วมกันผลักดันผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้สมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม จนระบบการผลิตนี้สามารถเป็นทางเลือกให้กับผู้คนในสังคมได้จริงในอนาคต
สิ่งที่ muse เชื่อมั่น
การดำเนินงานของ muse วางอยู่บนความเชื่อมั่นที่ว่า หากเลือกได้เราทุกคนล้วนอยากอยู่ในสังคมที่ดีขึ้น ผู้คนไม่ทุกข์ยาก ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ใช้ชีวิตอย่างไม่ต้องเร่งรีบและสงบสุข หรืออย่างน้อยก็สามารถเลือกเส้นทางของชีวิตได้เองอย่างอิสระ เพียงแต่ในปัจจุบันความฝันนั้นยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล ด้วยข้อจำกัดและโครงสร้างต่าง ๆ ทำให้ผู้คนมากมายยังดำเนินชีวิตอยู่บนเส้นทางที่ยากลำบาก
เราเชื่อว่าหากเรามีโอกาสให้กับผู้คนมากกว่าที่เป็นอยู่ จะมีผู้คนอีกจำนวนมากที่อยากออกมาร่วมกันเป็นพลังผลักดันและขับเคลื่อนปัญหาสังคม และจะมีอีกจำนวนมากที่พร้อมเป็นพลังในการส่งเสริมให้สังคมกลายเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น
เราเชื่อมั่นว่าสังคมนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
เราจึงขอเป็นอีกหนึ่งพลังเล็ก ๆ ที่จะยังต่อสู้เพื่อให้สังคมเป็นที่ที่ดีขึ้น เพื่อรักษาและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในอนาคตที่เฝ้ารอโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง
และอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมฝัน และมองหาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ไปด้วยกัน