A taste of their own medicine: Facebook ก็ไม่รอดจากภัย Algorithm ตัวเอง
ปรากฏการณ์โพสต์สั้นอ่านต่อในคอมเมนต์กลายเป็นปัญหาใหม่ของการทำคอนเทนต์ในแพล็ตฟอร์ม Facebook ไปเสียแล้ว เพราะล่าสุดแม้แต่ Meta เองก็ยังต้องใช้วิธีนี้ในการทำคอนเทนต์ลง Facebook
ใครทำคอนเทนต์ลง Facebook จะเข้าใจดีว่า Algorithm ของแพล็ตฟอร์มสร้างปัญหาต่อวิธีสื่อสารมาตลอด ตั้งแต่ยุคของการต้องห้ามโพสต์ยาว โพสต์พร้อมรูปภาพและพาดหัว จนมาปัจจุบันกลายเป็นว่าถ้าใครแปะลิงก์ออกไปนอก Facebook ก็จะโดนปิดกั้น ทำให้แพล็ตฟอร์มเนื้อหาจำนวนมากต้องใช้วิธีโพสต์สั้น ๆ แล้ววงเล็บว่า “ลิงก์ใต้คอมเมนต์” “อ่านเพิ่มในคอมเมนต์” ให้อารมณ์เหมือนเว็บ Click bait ไปซะอย่างงั้น
และเหมือนปัญหานี้จะตามหลอกหลอนไปทั่วทั้งแพล็ตฟอร์ม เพราะล่าสุดแม้แต่เพจ Meta บริษัทแม่ของ Facebook ยังต้องใช้วิธีเดียวกันนี้ในการโปรโมตคอนเทนต์ตัวเอง
ในฐานะคนที่ไม่ประทับใจกับแนวทางของ Facebook มาพักใหญ่ เหตุการณ์นี้ทำให้สนใจว่าทางด้าน Facebook จะรู้สึกยังไงบ้างที่ต้อง “กลืนพิษ” ตัวเอง จะเข้าใจปัญหาของคนทำงานที่โดนแพล็ตฟอร์มทำร้ายมากขึ้นไหม และจะนำไปสู่แนวทางแก้ไขยังไงบ้าง เพราะต้องยอมรับว่าภาวะนี้ทำให้การสื่อสารหลาย ๆ แบบไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรเว้นแต่จะจ่ายค่าโฆษณา ในขณะที่ Facebook ก็พึ่งประกาศขึ้นค่าโฆษณาต่อเนื่องอย่างไม่ทุกข์ร้อน
และในความเป็นจริงก็แทบไม่มีใครตอบได้ว่าวิธีดังกล่าวได้ผลจริงหรือไม่ เพราะนอกจากตัวเลข Engage ที่อาจเพิ่มขึ้นจากการอดใจไม่ไหวต้องกดเข้าไปดูใต้คอมเมนต์แล้ว ก็ไม่รู้ว่ามันเข้าหลัก Algorithm จนคนเห็นเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะหากดูจากยอดของเพจ Meta ที่มีคนติดตามระดับ 77 ล้านคนกลับมีคนแชร์และรีแอคอยู่ในหลักร้อยเท่านั้น
อีกทั้งข้อมูลจาก Statcounter เว็บไซต์วิเคราะห์ข้อมูลการเข้าใช้งานหน้าเว็บ (Web traffic analysis) แสดงสถานการณ์อัตราการเข้าใช้งานของ Facebook จากทั่วโลก ลดลงจากเมื่อหลายปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ จากที่เคยกินมีการเข้าถึงมากกว่า 70 % เมื่อเทียบกับแพล็ตฟอร์มอื่น แต่ข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้การลดลงด้วยตัวเลขที่ 66% แม้ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการและอัตราการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น (เล็กน้อย) แต่ก็น่าสนใจว่าตัวเลขนี้จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ในปีถัด ๆ ไป
ส่วนในประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลว่า Facebook ได้เสียคะแนนนิยมให้กับ X (Twitter) ไปเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 โดยในปัจจุบัน Facebook มีอัตราเข้าใช้ในไทยอยู่ที่ประมาณ 16 % เท่านั้น
ทำให้นอกจากตัว Algorithm ของแพล็ตฟอร์มจะไม่ healthy กับคนทำคอนเทนต์แล้ว ยังมีแนวโน้มว่า Facebook กำลังจะกลายเป็นแพล็ตฟอร์มที่ได้รับความนิยมลดลง เวลามีคนพยายามจะโน้มน้าวเราว่าหากจะทำการสื่อสารยังไงก็ต้องทำใน Facebook เพราะจะมีคนเห็นมากกว่า กลายเป็นคำพูดที่ชี้วัดได้ยากขึ้นแล้วในปัจจุบัน
และแม้นี่จะเป็นเพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Facebook แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตสัญาณนี้อาจจะเกิดขึ้นกับ centralized social media ทั้งหลายตราบใดที่แพล็ตฟอร์มเหล่านี้ยังเป็นแพล็ตฟอร์มโฆษณาการตลาดและไม่ได้ใส่ใจ Community มากเท่าที่ควร
นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเราอาจจะกำลังต้องการทางเลือกอื่นในการสื่อสารก็เป็นได้