จะเอาเวลาที่ไหนไปเอาไหน
ชวนดูแอนิเมชันซีรีส์ "เรื่องน่ากลุ้มของเจ้าเหมียวผู้สามารถ" แอนิเมชันเบาสมองสะท้อนวัฒนธรรมการทำงานแบบบ้าคลั่งในญี่ปุ่น
กำลังจะเดินทางเข้าสู่ตอนที่ 5 แล้ว สำหรับ “เรื่องน่ากลุ้มของเจ้าเหมียวผู้สามารถ” (Dekiru Neko wa Kyō mo Yūutsu) แอนิเมชันซีรีส์ดัดแปลงจากมังงะออนไลน์และมังงะรายสัปดาห์ชื่อเดียวกัน
ตัวแอนิเมชันเป็นซีรีส์เบาสมองว่าด้วยพนักงานสาว “ทาสบริษัท” ที่ชีวิตเกิดพลิกผันหลังจากเก็บแมวตัวหนึ่งมาเลี้ยงไว้ จนสุดท้ายเลือกไม่ถูกว่าใครกำลังเลี้ยงใครกันแน่ เพราะแมวที่เก็บมาดันโตขึ้นจนตัวใหญ่เท่าคน แถมสามารถทำกับข้าวทำงานบ้านได้สารพัด
แม้จะเปรยว่าเป็นซีรีส์เบาสมอง แต่ตัวแอนิเมชันกลับไม่ได้วางอยู่บนโครงสร้างที่สวยงามเรียบง่าย ตรงกันข้าม ตัวซีรีส์เลือกที่จะเล่าถึงวิถีชีวิตของพนักงานออฟฟิศที่อยู่ในโครงสร้างการทำงานบริษัทแบบญี่ปุ่นที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำจนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง ผ่านตัวละคร ฟุคุซะวะ ซากุ
มนุษย์ไม่เอาไหนกับแมวผู้สามารถ
แต่เดิมวิถีชีวิตของซากุเรียกว่าผ่านไปแต่ละวันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่น ตามด้วยการดื่มสังสรรค์จนเกือบเช้า ตื่นเช้าด้วยความรู้สึกไม่อยากทำงาน กินอาหารไม่มีประโยชน์ เมื่อรู้ตัวอีกทีห้องทั้งห้องของเธอก็กลายเป็น “ห้องขยะ” ที่เต็มไปด้วยกองถุงพลาสติกใส่ขยะกองอยู่ห้องโดยไม่มีเวลาจัดการ
แล้วชีวิตของเธอก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อในคืนหนึ่งซึ่งหิมะตกหนัก เธอได้พบกับลูกแมวสีดำที่นอนหลบหิมะอยู่ข้างทาง อยู่ ๆ เธอก็ตัดสินใจพาแมวตัวนั้นกลับมาเลี้ยงที่ห้องแล้วตั้งชื่อให้ว่า ยูคิจิ
ดูเหมือนว่าซากุจะไม่รู้เลยว่าแมวที่ตัวเองเก็บมานั้นมีลักษณะกว่าแมวทั่วไป กล่าวคือ ยูคิจิมีความรู้สึกนึกคิดที่สอดคล้องกับวิธีคิดของคน สามารถเข้าใจภาษา เรียนรู้ แถมยังเจริญเติบโตจนกลายเป็นแมวยักษ์ตัวเท่าคนที่มีความสามารถด้านงานบ้านและการทำอาหารเป็นเลิศ
กิจวัตรประจำวันของยูคิจิจึงเป็นการคอยช่วยดูแลทำงานบ้าน ทำข้าวกล่องให้ซากุนำไปกินที่บริษัท คอยปลุกซากุไปทำงาน จ่ายตลาด เตรียมอาหารเย็น รวมถึงลากซากุไปเข้านอนเวลาเธอกินเบียร์จนเมาแอ๋ไม่รู้เรื่อง เรียกว่าเป็น one stop service แม่บ้านในฝันที่ใครก็คงอยากมี
แต่แม้จะดูเหมือนดูแลเทคแคร์กันอย่างดี แต่จากมุมมองของยูคิจิแล้วกลับไม่ได้เทิดทูนซากุในลักษณะของเจ้านายแบบนั้น กลับกันยูคิจิกลับมองว่าคนที่เก็บตนมาเลี้ยงนั้น “ไม่เอาไหน” เอาเสียมาก ๆ ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ ที่ได้เห็นสภาพห้องขยะของซากุ ในแต่ละวันยูคิจิก็จะเล่าถึงความไม่เอาไหนของซากุ รวมถึงตั้งข้อสงสัยว่าสังคมมนุษย์ก็ยังสามารถจ้างคนไม่เอาไหนแบบนี้ทำงานอยู่ได้ยังไง แต่สุดท้ายเหมือนยูคิจิจะไม่ได้สนใจมากเพราะอย่างน้อยการทำงานของซากุก็หาเงินมาซื้ออาหารแมวกระป๋องให้ตน
ชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อทั้งสองได้เจอกัน
สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคงเป็นเรื่องการจัดการงานบ้าน เพราะหลังจากมียูคิจิมาอยู่ด้วย สภาพห้องขยะของซากุก็ถูกปรับเปลี่ยนและดูแลทำความสะอาดจนกลายเป็นห้องปกติที่เรียบร้อยสะอาดสะอ้าน เรียกว่าเปลี่ยนบรรยากาศการอยู่อาศัยจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว นอกจากนี้ เรื่องอาหารการกินซากุก็ได้ยูคิจิคอยช่วยดูแลให้ได้กินอาหารที่อร่อยและมีประโยชน์ แถมยังมีข้าวกล่องแสนอร่อยห่อไปกินที่ทำงานจนเป็นที่ฮือฮาในบริษัทอย่างมาก
ก็อาจจะเรียกได้ว่าตั้งแต่มียูคิจิ ชีวิตของซากุก็เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากพนักงานทาสบริษัทที่แทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง กลายเป็นนั่งกินนอนกินใช้ชีวิตสุขสบายจนยูคิจิต้องเปลี่ยนเมนูอาหารเป็นอาหารคลีนเพื่อให้ซากุได้ดูแลรักษาสุขภาพแม้ไม่เต็มใจ
มียูคิจิเลยมีเวลามากขึ้น
อย่างที่บอกว่าแม้มองผ่าน ๆ จะดูแอนิเมชันซีรีส์เบาสมอง แต่ประเด็นหนึ่งที่เรื่องนี้บอกเราคือ หลังจากซากุได้พบเจอกับยูคิจิ สิ่งที่ซากุมีมากขึ้นอย่างชัดเจนคือ “เวลา” ในชีวิต พอไม่ต้องทำงานบ้าน ไม่ต้องซักผ้า หรือไม่ต้องทำอาหารกินเอง ซากุก็มีเวลาในการนั่งกินเบียร์อย่างมีความสุขหลังมื้ออาหารโดยไม่ต้องทุกข์ร้อน แถมการตื่นนอนของซากุก็เริ่มจะดีขึ้นเรื่อย ๆ การทำงานเองก็มีประสิทธิภาพอย่างเห็นได้ชัด การมีเวลาในชีวิตเพิ่มขึ้น เรียบง่ายที่สุดเลยจึงหมายถึงการมี “เวลาพักมากขึ้น” โดยไม่ต้องคอย suffer หรือพึ่งพาการดื่มย้อมใจหลังเลิกงานเพื่อให้นอนได้ในแต่ละวัน และตื่นมา suffer กับการต้องไปทำงานเพราะนอนไม่พอ
มีเวลามากขึ้น ก็มีชีวิตมากขึ้น
ในตอนหนึ่งซากุได้รับคำไหว้วานจากหัวหน้าแผนกให้ไปเที่ยวอะควอเรียมเป็นเพื่อน จนยูคิจิออกอาการสนับสนุนอย่างเต็มที่กับการเดทครั้งนี้ของซากุ แทบนึกภาพไม่ออกเลยว่าหากในวันหยุดสุดสัปดาห์ตอนที่ยังไม่มียูคิจิ ซากุจะสามารถใช้ช่วงเวลาวันหยุดในลักษณะดังกล่าวได้หรือไม่ ดูได้จากตอนที่ต้องหาชุดสำหรับใส่ไปเดทแล้วพบว่าตัวเองไม่มีแม้แต่เวลาออกไปชอปปิ้งเสื้อผ้ามาหลายปีจนเหลือเพียงชุดลำลองสำหรับอยู่บ้าน กับชุดสำหรับออกงานเมื่อนานมาแล้วที่คับจนแทบใส่ไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเรามองไปที่คุณภาพชีวิตของซากุที่มีชีวิตชีวาขึ้น นั่นก็เพราะซากุได้ “ใช้ชีวิต” ในรูปแบบที่ไม่เคยได้ใช้ในสมัยก่อน ทำให้เห็นว่าการมีเวลาเพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็สามารถเปลี่ยนการมีชีวิตของผู้คนได้ เพียงแต่เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ทำอย่างนั้น
ชีวิตที่ดีขึ้น แม้ไม่ต้องมีแมวผู้สามารถ
แม้เรื่องราวแฟนตาซีของยูคิจิจะทำให้ใครหลาย ๆ คนอิจฉา แต่ไม่ได้หมายความชาตินี้เราจะไม่ได้มีโอกาสมีความสุขขึ้นแบบซากุเสียทีเดียว กลับกัน ในแอนิเมชันกลับแฝงมุมมองเล็ก ๆ เกี่ยวกับการมี “สัตว์เลี้ยงรออยู่ที่ห้อง” ไว้อย่างน่าสนใจ
หากเราสังเกตคความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก ๆ ของซากุ เรื่องที่ค่อนข้างเด่นชัดคือการที่ซากุมักมุ่งตรงกลับห้องทันทีเมื่อเลิกงาน ไม่ได้เถลไถลกินเหล้าเมาแอ๋จนดึกจนดื่นเหมือนก่อนหน้านี้ มุมเล็ก ๆ นี่เองที่หากใครมีสัตว์เลี้ยงรออยู่ที่บ้านจะเข้าใจว่า เพียงการกลับบ้านมาเจอเหล่า “น้อง ๆ” รออยู่ ก็สามารถเปลี่ยนวันร้าย ๆ ให้สดใสขึ้นได้แทบจะในทันที ความรู้สึกแบบ “มีคนรออยู่ที่บ้าน” นี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่คอยขับไล่ความเปลี่ยวเหงาของผู้คนในสังคมได้อย่างดี ทำให้นอกจากประเด็นเรื่องการทำงานหนักในบริษัทญี่ปุ่นแล้ว เรื่องนี้ยังสะท้อนภาวะความโดดเดียวในญี่ปุ่นที่มีผลเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันได้อย่างเรียบง่ายแต่เฉียบคม
รวมถึงตัวตนของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ยังทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานที่ผลักดันให้การมีชีวิตอยู่ของเรามีเป้าหมายมากขึ้น ที่สำคัญการถูกสัตว์เลี้ยงปลุกยามเช้ายังเบาหัวใจกว่าการต้องสะดุ้งตื่นเพราะเสียงนาฬิกาปลุกหลายเท่า แถมยังอิดออดเลื่อนปลุกได้ยากอีกด้วย
และนี่ไม่ใช่เรื่องเดียวที่กำลังพูดถึงภาวะการขูดรีดแรงงานในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น เพราะในช่วงเดียวกันนี้ยังมีแอนิเมชันอย่าง “ซอม 100: 100 สิ่งที่อยากทำก่อนจะกลายเป็นซอมบี้” (Zon 100 ~ Zonbi ni Naru made ni Shitai 100 no Koto ~) ที่พูดถึงพนักงานหนุ่มทาสบริษัทที่ตั้งคำถามกับการทำงานของตัวเองทุกวัน จนชีวิตเข้าเปลี่ยนไปเมื่อเกิดซอมบี้ระบาดจนไม่ต้องตื่นไปทำงานอีกต่อไป หรืออย่างสายไลท์โนเวลาต่างโลกอย่าง “เลเวล 1 แล้วไง ผมมีสกิลแกร่งสุดล้ำไม่ซ้ำใคร” (Reberu Ichi dakedo Yunīku Sukiru de Saikyō Desu) ก็พูดถึงพนักงานทาสบริษัทที่เกิดใหม่ต่างโลกเพราะเสียชีวิตจากการทำงานหนัก ทำให้เราพอเข้าใจภาพได้เพิ่มขึ้นว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นถึงมีข่าวพนักงานเสียชีวิตจากการทำงานหนักอยู่บ่อยครั้ง และดูเหมือนประโยคที่ว่างานหนักไม่เคยฆ่าคนจะไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไปแล้ว แอนิเมชันเรื่องนี้จึงมีคุณูปการอย่างยิ่งในการสร้าง empathy ต่อคนทำงานในวัฒนธรรมการทำงานที่มองคนเป็นเพียงฟันเฟืองการผลิตชิ้นหนึ่งเท่านั้น
ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น ภาวะการเสียชีวิตจากการทำงานนี้กลายเป็นปัญหาร่วมกันที่หลาย ๆ ประเทศเริ่มมีการออกนโยบายมาจัดการแก้ไข ใกล้ตัวหลาย ๆ คนคงเป็นออสเตรเลียที่พึ่งออกกฎหมายควบคุมชั่วโมงการทำงานจนทำให้หลายคนที่หวังไปทำงานเก็บเงินที่ออสเตรเลียต้องโอดครวญ
และในขณะที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มพูดถึงเวลาการทำงานแบบ 4/3 คือทำงานสี่วัน หยุดสามวัน โดยมีงานวิจัยสนับสนุนถึงประเด็นเรื่องศักยภาพการทำงานทั้งในส่วนของบริษัทและแรงงานอย่างสอดคล้องกัน แต่สำหรับประเทศไทยเรายังคงมีการทำงานต่อเนื่องติดต่อกัน 6-7 วันอย่างเป็นปกติ จนสงสัยว่าแล้วคนเหล่านั้นจะเอาเวลาตรงส่วนไหนไปพักผ่อนและใช้ชีวิต
ในประเทศที่เมื่อพูดถึงนโยบายเพื่อแรงงานมักถูกผลักให้เป็นประเด็นเรื่องคุณภาพแรงงาน เรื่องไม่มีความสามารถ เรื่องขี้เกียจไม่เอาไหน เราก็ได้แค่คิดในใจว่ากับประเทศที่วัฒนธรรมการจ้างงานทั้งกดขี่และขูดรีดแรงงานอย่างเป็นปกติ
เราจะเอาเวลาที่ไหนไปเอาไหน