Bangkok Open Source Hackathon 2023
รวมโปรเจ็กต์จากงาน Bangkok Open source Hackathon 2023
จบไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงาน “Hack” ที่ยาวนานเกือบสองเดือนอย่าง Bangkok Open Source Hackathon 2023 งานที่เชิญชวนเหล่า Contributors มาร่วมแก้ปัญหากรุงเทพฯ ด้วย Open Source ซึ่งจัดโดย Creatorsgarten คอมมิวนิตี้ของเหล่า Developers ที่สนใจประเด็นเรื่องความเปลี่ยนแปลง
หลังจากมีการจัด Connecting the dots ซึ่งเป็น workshop ที่เชื่อมโยงผู้คน และองค์ความรู้ด้านปัญหาเมืองเข้าด้วยกันตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ต่อยอดมาสู่โปรเจ็กต์ที่เหล่า Contributors สนใจในแต่ละประเด็น และล่าสุดก็ได้มีการนำเสนอโครงการเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา
จึงรวบรวมเอาแต่ละโปรเจ็กต์มาเล่าให้ทุกคนได้ฟัง ถึงแนวคิด ประเด็น และ solution ที่เหล่า Contributors ได้ระดมพลังกันพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าแต่ละโครงการไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว
Thailand area ranking
เริ่มด้วยโปรเจ็กต์ของคนหนุ่มสาววัยมัธยม ที่มองเห็นปัญหาเรื่อง “ข้อมูล” เชิงท้องถิ่นที่เข้าถึงได้ยาก ทีมได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์สมมติว่าหากเราต้องการซื้อบ้านสักหลัง การมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจนั้นถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นอย่างมาก เพราะการสร้างบ้านเป็นต้นทุนที่มีราคาสูง จึงเกิดเป็น Thailand Area Ranking เครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงพื้นที่ในรูปแบบของ “การจัดอันดับ”
โปรเจ็กต์นี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Areavibes ซึ่งเป็นเครื่องมือในลักษณะเดียวกันของประเทศอเมริกา และเมื่อสืบค้นพบว่าเครื่องมือลักษณะนี้ยังไม่มีในประเทศไทย จึงได้มีการใช้ฐานไอเดียของ AreaVibes มาพัฒนาและปรับปรุงให้เข้ากับบริบทไทย
โดยแม้ตัว Demo และการนำเสนอจะมุ่งเป้าไปที่เรื่องการซื้อบ้าน แต่นี่ถือเป็นไอเดียตั้งต้นที่ดีในการทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งหากทำได้จริงและสามารถ Open ได้จริงจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายรูปแบบ
โดยในครั้งนี้กรรมการมองถึงการเปิดช่องทางให้คนช่วยกันเข้ามาเพิ่มข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้การ Contribute ช่วยทำให้เครื่องมือนี้มีประโยชน์มากขึ้นในอนาคต
Bank for All
ต่อกันด้วยกลุ่ม Contributors ซึ่งสนใจในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของกลุ่มคน จนนำมาสู่ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยขูดรีด รวมถึงขั้นตอนการหมุนเวียนเงินทุนที่มีความเสี่ยงสูง
เกิดเป็น Bank for All โปรเจ็กต์ที่มุ่งหวังในการเป็น “ทางเลือก” ในการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้คนให้มากขึ้น
Bank for all มองปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นสำคัญ โดยคิดถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางเศรษฐกิจของผู้ประสบปัญหาด้านเงินทุน โดยมีไอเดียใหญ่คือการเป็นธนาคารที่สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนในกลุ่มผู้มีปัญหาด้านการกู้ยืมตามระบบ มีทั้งไอเดียเรื่อง microfinance ที่จะเข้ามาช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงแหล่งทุน
แต่ในครั้งนี้ Demo ที่ทางทีมพัฒนาขึ้น เป็นเครื่องมือ Online Peer Sharing หรือเปียแชร์ออนไลน์ ซึ่งเป็นการหมุนเวียนทุนในกลุ่มตลาดที่สนใจ โดยได้มองถึง Pain point ที่มักทำให้เกิดความเสี่ยงเช่น “เท้าแชร์” เชิดเงินหนี หรือแม้แต่เรื่องของการตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือของผู้ที่ร่วมเล่น โดยในปัจจุบันมีการรวมกลุ่มเล่นแชร์ในแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงและที่ผ่านมาทำได้เพียงแค่ยอมรับหากมีการ “ล้มแชร์” กันเกิดขึ้น
ทางเลือกใหม่จึงเป็นการสร้างแพล็ตฟอร์มในการเล่นแชร์ออนไลน์ โดยได้มีการนำเอาแนวคิดแบบแบ่งห้องมาใช้ แล้วแอพลิเคชันทำหน้าที่ช่วยคัดกรองสมาชิกและผู้ร่วมเล่น รวมถึงการเก็บรวบรวมหลักฐานซึ่งจะนำไปช่วยในกระบวนการทางกฎหมายหากมีการฉ้อโกงกันในอนาคต
แม้ปัญหาส่วนใหญ่จากคณะกรรมการจะเป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนของกฎหมาย รวมถึงสุดท้ายแล้วพอมีการพึ่งพิงแพล็ตฟอร์มมากขึ้น อาจจะทำให้กลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกเข้าถึงได้ยากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไอเดียที่น่าสนใจ รวมถึงเมื่อมองวัตถุประสงค์หลักต่อปัญหา ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ได้เริ่มต้นทำ โดยในงานครั้งนี้ทีมนี้ยังถือเป็นทีมเดียวที่เลือกหยิบปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมมาใช้เป็นไอเดียตั้งต้น
Ratchagitja
เมื่อประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นประกาศสำคัญในการเผยแพร่กฎหมายมักมาพร้อมปัญหาในการเข้าถึง เกิดเป็น Ratchagitja โปรเจ็กต์ที่ต้องการแปลงเอกสารราชกิจจาฯให้กลายเป็นเอกสารดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อได้โดยง่าย
ปัจจุบัน ราชกิจจานุเบกษา จะถูกประกาศในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ratchakitcha.soc.go.th อยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเอกสารเหล่านั้นมักถูกเผยแพร่ในรูปแบบไฟล์ PDF ซึ่งนำไปใช้ต่อได้ยากมากในทางข้อมูล อีกทั้งลักษณะการออกราชกิจจาฯ ที่มาในลักษณะของการแก้กฎหมายยังมักมาในรูปของการ “ประกาศใหม่” เพื่อ “ยกเลิกประกาศเดิม” ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดความสับสนและความต่อเนื่องสำหรับผู้ที่สนใจ
ทีมนี้จึงคิดโปรเจ็กต์ในการเปลี่ยนไฟล์ PDF ของราชกิจจาให้เป็น Markdown ที่สามารถอ่านได้ง่ายในทางคอมพิวเตอร์ แล้วได้ทดลองยิง bot ให้โพสต์ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ขึ้นไปบนแพล็ตฟอร์มเพื่อเป็นการ updated ให้คนทั่วไปได้รับทราบ
โปรเจ็กต์นี้ได้รับความสนใจอย่างมาก โดยทั้งกรรมการและผู้เข้าร่วมต่างได้เสนอแนวทางที่จะพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น การใช้ AI เข้ามาช่วยอ่าน PDF หรือการพัฒนาเป็นแพล็ตฟอร์มที่สามารถกดดูการเปลี่ยนแปลงก่อนหลัง และสามารถเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
ถือเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ และหากทำสำเร็จนี่อาจเป็นสารตั้งต้นที่ดีทั้งในการประยุกต์ใช้การเข้าถึงกฎหมายในลักษณะใหม่ รวมถึงยังสามารถใช้วิธีคิดนี้กับเอกสารราชการหรือเอกชนอื่น ๆ ที่ยังออกประกาศมาในรูปของ PDF อยู่ เลยทำให้ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่านี่เป็นโปรเจ็กต์ที่มีแนวคิดที่น่าสนใจจนได้รับรางวัล Concept Award จากงานครั้งนี้ไปครอง
PolicyTracka
อีกหนึ่งกลุ่มจากวัยรุ่นมัธยมที่ต้องการรวบรวมและติดตามข้อมูลด้านนโยบายของพรรคการเมือง ว่ามีนโยบายใดบ้าง และแต่ละนโยบายเดินทางไปถึงไหนแล้ว
โดยทีมนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการติดตามนโยบายของกลุ่ม WeVis ที่เคยทำข้อมูลเรื่องการเลือกตั้งและนโยบายมาใช้ต่อยอดให้เกิดเป็นเครื่องมือที่สามารถมองเห็นนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ในมุมที่กว้างขวางขึ้นด้วยวิธี Clustering แล้วนำข้อมูลที่ได้มานำเสนอ ทั้งในรูปแบบของการเปรียบเทียบ หรือการสำรวจความหลากหลายผ่าน Data visualization
ด้วยความน่าสนใจของ “สารตั้งต้น” ที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์ นี่จึงเป็นอีกโปรเจ็กต์หนึ่งที่ผู้เข้าร่วมและคณะกรรมการช่วยกันมองหาวิธีที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวโปรเจ็กต์มากยิ่งขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอนาคตไกลที่น่าจับตามอง
Fill you in the blank
เมื่อพูดถึง “คนทำงาน” เรื่องการแก้ปัญหาเมืองหรือแม้แต่กรุงเทพฯ เอง จะพบว่ามีคนอยู่มากมายหลายกลุ่มที่ทำงานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในลักษณะเดียวกัน หรือมีหน้างานที่ซ้อนทับกัน
จะดีกว่าไหมหากคนทำงานเหล่านั้นได้มีโอกาสเชื่อมต่อเข้ากับคนที่ทำงานบนพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้งานต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดเป็น Fill you in the blank โปรเจ็กต์ที่ต้องการเข้ามาเชื่อมต่อทุกช่องว่างของคนทำงานในกรุงเทพฯ ให้ถูกเติมเต็มมากยิ่งขึ้น
โดยโปรเจ็กต์นี้ถือเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ โดยมีแนวคิดในเรื่องของการสร้างเครือข่ายการทำงาน การเพิ่มพื้นที่การสื่อสาร และการสร้างช่องทางให้คนเข้าถึงพื้นที่การทำงานเพื่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น ผ่านเครื่องมือหลักสามตัว คือ Wiki Bangkok, Webpage สำหรับอาสาสมัคร และ Discord connection โดยมองถึงการช่วยส่งเสริมศักยภาพของการทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
โดยโปรเจ็กต์นี้ดูเหมือนจะไปไกลกว่าตัวงานแล้ว เพราะล่าสุดได้มีโอกาสไปนำเสนอโครงการต่อสภาเมืองคนรุ่นใหม่กรุงเทพมหานคร จนได้รับการผลักดันและสนับสนุนจากกทม. เป็นที่เรียบร้อย
WeSpace
เพราะการเป็นเมืองสีเขียว ไม่ใช่แค่มีพื้นที่สีเขียว และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้เพิ่มเพียงอย่างเดียว
WeSpace พาเราไปดูแนวคิดในการพัฒนาเมืองสีเขียวที่เป็นมากกว่าการสร้างนวัตกรรม แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ ด้วยการมอง “ต้นไม้” เป็น “ประชากร”
หลายต่อหลายครั้งเมื่อเราพูดถึงการปลูกต้นไม้ เรามักลืมนึกถึงการ “ดูแลต้นไม้” ทำให้ไม่ต้องแปลกใจว่าในประเทศที่มีโครงการปลูกป่าเยอะมหาศาลนี้ เรากลับยังต้องปลูกป่ากันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเราพูดถึงการดูแลรักษาต้นไม้กันน้อยมาก WeSpace จึงเอาไอเดีย “มองต้นไม้เป็นประชากร” ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนโยบายของประเทศสิงคโปร์มาปรับใช้
และจะมีอะไรมีประโยชน์ต่อการดูแลต้นไม้ มากไปกว่าการ “รู้จักต้นไม้” นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านฐานข้อมูลต้นไม้ ที่จะมาแทนที่ Treeplotter ซึ่งก่อต้นทุนจำนวนมาก โดย Solution ที่นำมาใช้ก็เรียกว่า “เด่น” ทั้งทางแนวคิด และ “ดี” ในด้านเทคนิค จนกรรมการรวมถึงผู้เข้าร่วมหลายคนช่วยกันเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างคึกคัก ยกตัวอย่างเช่น วิธีการนับจำนวนต้นไม้ที่ได้มีการ Demo กับถนนสายหนึ่งด้วยการใช้ Open Source Map มาวางทับกับ Google street view แล้วใช้ AI นับจำนวนต้นไม้จาก Google street view เพื่อหาว่ามีจำนวนต้นไม้เท่าไร แล้วยังมีการ check back กับภาพถ่ายทางอากาศเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำอีกหนึ่งขั้น ซึ่งในส่วนนี้ก็มีทีมสายอวกาศพูดถึงภาพถ่ายจากดาวเทียมที่มีการเก็บคลื่นที่สะท้อนจากต้นไม้ซึ่งน่าจะสามารถนำไปประยุกต์กับโปรเจ็กต์ได้ เป็นต้น
โดยหากฐานข้อมูลนี้สำเร็จ จะกลายเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนเมือง รวมถึงการวางแผนในการดูแลและจัดการต้นไม้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงอาจจะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีฐานข้อมูลต้นไม้แบบ Open กันเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้เอง WeSpace จึงกวาดไปถึงสองรางวัลคือ Contributability Award และ Implementation Award
โดยแม้จะมีการปิดโครงการไปเป็นที่เรียบร้อย แต่บอกเลยว่าในกลุ่ม Discord ของแต่ละโปรเจ็กต์ก็ยังคง active กันอย่างมาก หลายต่อหลายทีมเริ่มมองถึงการขยายโอกาสหรือการสานต่อโปรเจ็กต์ไปข้างหน้าแล้ว
เห็นแบบนี้ทางผู้จัดคงใจชื้นขึ้นมาก เพราะเคยได้เล่าเอาไว้ว่าเหตุผลที่เลือกจัด Hackathon ระยะยาวเกือบสองเดือนแบบนี้ เพราะต้องการให้โปรเจ็กต์ที่ออกมามันไม่ได้สิ้นสุดลงไปพร้อม ๆ กับงาน Hack
ไม่ใช่แค่การ Hack เสร็จแล้วก็จบไป