Chiang Mai Performing Arts Festival: ผลักเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองละคร
พูดคุยกับกอล์ฟ ถึงการเกิดขึ้นของเทศกาลละครเชียงใหม่ บนความฝันและความหวังว่าเชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองที่คนละครสามารถใช้ชีวิตได้
เชียงใหม่เป็นเมืองอีเวนท์ แต่กับละครใบ้ เชื่อว่าถามคนเชียงใหม่เองก็คงนึกภาพกันไม่ออกว่ามันจะออกมาเป็นยังไง จะเกิดขึ้นได้ยังไง หน้าตาเป็นยังไง แต่มันเกิดขึ้นแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมากับ Pantomime Planet เทศกาลละครใบ้ที่รวมคนละครใบ้ทั่วไทยมาไว้ที่เชียงใหม่
วันนี้เลยชวนกอล์ฟมาพูดคุยกันถึงความเป็นมา ที่มาที่ไป และความคิดเบื้องหลังที่ผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้
เส้นทางละคร
กอล์ฟเล่าว่าตนมีความใกล้ชิดผูกพันอยู่กับงาน Performing arts มาตั้งแต่เด็ก ได้มีโอกาสร่วมการแสดงหลายแขนงจนตัดสินใจเข้าเรียนที่คณะการสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยหวังว่าจะได้มีโอกาสทำงาน Performing Arts อย่างเข้มข้นขึ้น ก่อนต้องอกหักเมื่อค้นพบว่าระบบการเรียนแบบสถาบันการศึกษาในตอนนั้นไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้หรือได้ทำงานอย่างเข้มข้นดังที่หวัง
กอล์ฟกับเพื่อนหัวอกเดียวกันจึงรวมตัวเกิดเป็น Lanyim Creative Group กลุ่มคนทำงานครีเอทีฟด้าน Performing arts ที่มุ่งเน้นเรื่องโอกาสในการพัฒนางานของคนในกลุ่มแบบที่โครงสร้างสถาบันการศึกษาให้ไม่ได้ ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็น ลานยิ้มการละคร ในที่สุด
ความฝันที่อยากให้ละครใช้ทำมาหากินได้
กอล์ฟเคยเล่าถึงความฝันที่อยากให้งานละครเป็นงานที่ใช้ทำมาหากินได้ แม้ปัจจุบันการดูละครสำหรับเชียงใหม่จะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเพียงพอ การทำงานแต่ละครั้ง ต่อให้มีสปอนเซอร์สนับสนุนบางครั้งก็ยังเข้าเนื้อ คนทำงานต้องทำ “งานอื่น” ควบคู่กันไปเพื่อให้ยังพอหล่อเลี้ยงความฝันในการจะได้ทำละครต่อได้
กอล์ฟเล่าว่าหลังผ่านมา 8 ปี ลานยิ้มการละครมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือมากขึ้น จนเป็นพื้นที่ทางโอกาสที่อยากใช้ในการผลักดันประเด็นเรื่องการใช้ละครทำมาหากินได้ อยากใช้พื้นที่ของลานยิ้มในการส่งเสริมคนที่อยากทำงานละครได้มีพื้นที่ในการทดลองทำงาน รวมถึงมองหา Solution และ Model ในการพัฒนาละครให้กลายเป็นอาชีพที่มั่นคง
แต่พอลานยิ้มมันไม่ใช่ของกอล์ฟคนเดียว (แม้กอล์ฟจะเล่าว่าคนชอบมองอย่างนั้น) รวมถึงพื้นที่การทำงานและผู้คนในลานยิ้มเองก็มีความงดงามในแง่การเคลื่อนและกระบวนการอยู่ การจะทำโปรเจ็กต์นี้ในนามลานยิ้มจึงเป็นความกังวลที่กอล์ฟเลือกที่จะไม่เสี่ยง และคิดว่าเมื่อมันเป็นความฝันของตัวเอง ก็คงต้องทำมันในนามของตัวเองอย่างจริงจัง
ผลักเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองละคร
กอล์ฟเล่าว่าเมื่อได้มีโอกาสทำงานละครมากขึ้น ได้รับการยอมรับมากขึ้น เขาก็ได้พบข้อมูลว่าในการผลิตงานของศิลปินแต่ละครั้ง ทุกคนมี “หมุดหมาย” ที่อยากให้ตัวงานไปถึง มีเมืองที่เป็นเหมือน “เป้าหมาย” ที่อยากให้งานของตัวเองได้ไปแสดง ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ กอล์ฟเล่าว่าหากไปดูในกระบวนการวางแผนของศิลปินดัง ๆ จะมีถึงขั้นว่าตอนไหนควรไปที่ไหน ควรไปที่ไหนบ้างก่อนหรือหลัง ซึ่งมันน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมาก
คำถามที่เกิดขึ้นมาในฐานะที่ตัวเองทำงาน based เชียงใหม่คือ แล้วเชียงใหม่จะกลายเป็นเมืองในฝันของศิลปินได้หรือไม่
นั่นผลักดันให้กอล์ฟได้เข้าไปศึกษาถึงต้นสายปลายเหตุ ที่มาที่ไป รวมถึงองค์ประกอบที่ทำให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็น “เมืองในฝันของศิลปิน” ได้ แล้วก็พบว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ศิลปินมโนกันขึ้นมาเอง แต่เป็น agenda ของเมืองนั้น ๆ ที่พยายามจะทำโครงสร้างให้เกิดภาพจำในฐานะ “เมืองในฝัน”
สิ่งที่กอล์ฟพบคือการที่จะกลายเป็นเมืองลักษณะนี้ได้ มันต้องมีการทำงานบูรณาการกันในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน การออกแบบเมือง สาธารณูปโภค และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเมื่อมาดูกันจริง ๆ แล้ว พบว่าเชียงใหม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นเมืองแบบนั้นได้ กอล์ฟจึงคิดว่างั้นอยากจะลองดูสักตั้ง ลองผลักให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองในฝันสำหรับศิลปินงานละครดู
จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Chiang Mai Performing Arts Festival งานเทศกาลละครประจำปีที่จะจัดขึ้นที่เชียงใหม่ เพื่อผลักดันส่งเสริมภาพจำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองละคร เมืองที่ Performing Arts เบ่งบาน
กอล์ฟเล่าถึง agenda หลักที่อยากให้เกิดขึ้นผ่านโปรเจ็กต์นี้คือ
การสร้างวัฒนธรรมการดูละครให้กลายเป็นเรื่องปกติ โดยจะมีงานแสดงในโรงละคร มีการขายบัตรสำหรับการเข้าชมเพื่อส่งเสริมให้เกิดบรรทัดฐานในการดูงานแสดงในโรงละคร สร้างภาพจำว่างานละครเป็นงานที่มีมูลค่าในลักษณะเดียวกับการซื้อตั๋วเข้าไปดูภาพยนตร์หรือการแสดงอื่น ๆ
การแสดงในพื้นที่สาธารณะ ให้สอดคล้องกับลักษณะทางวัฒนธรรม เพราะงานมโหรสพของวัฒนธรรมเรามันคือมโหรสพในพื้นที่สาธารณะ เป็นงานที่คนสามารถเข้าถึงได้ ปฏิสัมพันธ์ได้ รวมถึงการแสดงในลักษณะดังกล่าวยังจะสามารถเชื่อมคนกับงานละครให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น และสร้างการรับรู้ต่อคนท้องถิ่นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองละครไปพร้อม ๆ กัน
การจัดกิจกรรม Workshop สิ่งที่กอล์ฟสนใจคือเรื่อง “วิธีพัฒนางาน” ของศิลปินแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่าหากสิ่งเหล่านี้มันเกิดการแลกเปลี่ยนกันมันจะสามารถสร้างงานที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปได้ จึงอยากให้มีพื้นที่ในการที่ศิลปินจะได้แลกเปลี่ยน practice ซึ่งกันและกัน รวมถึงการได้มีโอกาสเชื่อมโยงกันของคนทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ด้วย รวมถึงฝันเล็ก ๆ ที่งาน workshop อาจจะไปจุดประกายให้เกิดนักการละครเลือดใหม่ในพื้นที่เพิ่มขึ้นมาในอนาคต
Chiang Mai Performing Arts Festival จึงเป็น “จุดเชื่อม” ระหว่างความฝันที่อยากให้เชียงใหม่กลายเป็นหมุดหมายของศิลปินการละคร กับความฝันที่อยากให้ละครเป็นสิ่งที่ทำมาหากินได้
เกิดเป็น Chiang Mai Performing Arts Festival ปีที่ 1 ในธีม Pantomime Planet เทศกาลละครใบ้ในโลกไร้ขอบเขตทางจินตนาการ
บาดแแผลที่แลกมากับคำตอบที่ว่า เชียงใหม่เป็นเมืองละครได้
ตอนที่ได้เห็นภาพงานเทศกาล ส่วนตัว “ว้าว” กับมันมาก เพราะแม้จะได้มีโอกาสรับรู้เรื่องนี้และได้เกี่ยวพันกับทีมทำงานมาบ้าง แต่ไม่เคยเห็นภาพมันอย่างชัดเจนมาก่อน รวมถึงเมื่อเราเห็นรายชื่อศิลปินเรายิ่งรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ และอาจจะเรียกว่าประสบความสำเร็จได้เลยทีเดียว
แต่หากให้พูดในมุมของคนทำงาน กลับไม่ได้สวยหรูอย่างนั้น
กอล์ฟเล่าว่าสิ่งที่ทุกคนได้เห็นตัวงานจริงที่ผ่านมา เป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของความคิดแรกที่อยากทำ เรียกว่าจากสเกลงานในวันนั้นสามารถคูณเข้าไปได้อีกแปดถึงเก้าเท่าเพื่อกลับไปเป็นภาพแรกที่ฝันกันไว้ (แม้งานวันจริงเองก็ถือว่าสเกลใหญ่มากระดับหนึ่งแล้ว)
ดูเหมือนว่าภาพฝันเหล่านี้จะฉายชัดอยู่แค่ในใจของคนทำงาน แต่กลับเป็นภาพที่คลุมเครือสำหรับกลุ่มคนที่เป็นองคาพยพอื่น ๆ จนทำให้การสนับสนุนไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด
อย่างที่เล่าว่าการจะประสบความสำเร็จในการสร้างเชียงใหม่ให้กลายเป็นเมืองละคร ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะหน่วยงานราชการ กลุ่มทุน พื้นที่และชุมชน เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากส่วนใดส่วนหนึ่งจึงหมายถึงความยากลำบากในการทำงาน
กอล์ฟเล่าถึงการเข้าไปขอความร่วมมือส่วนงานราชการ แม้ครั้งแรก ๆ จะยังเห็นภาพไม่ตรงกัน แต่เมื่อมีโอกาสได้คุยกันบ่อยขึ้นก็ได้รับการตอบรับดีขึ้น
แต่เมื่อถึงเวลาทำงานกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น
กอล์ฟเล่าถึงความเจ็บปวดเมื่อนึกถึงว่า พี่ ๆ ที่ทำงานในท้องถิ่นตอนที่ได้คุยกันทุกคนดูสนใจ ดูมีความหวัง อยากช่วยสนับสนุนเต็มที่ แต่เมื่อเข้าสู่เรื่องของอำนาจการตัดสินใจ ท้องถิ่นกลับไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจจริง ๆ และเป็นคน “ส่วนกลาง” ที่ทำหน้าที่กำหนดชะตากรรม และทางเลือกของส่วนกลางก็เป็นการ “ไม่สนับสนุน” ในสิ่งที่คนท้องถิ่นเห็นพ้องต้องกัน และยิ่งเจ็บปวดมากขึ้นไปอีกที่ลักษณะของการไม่สนับสนุนมันไม่ใช่เพียงแค่การวางเฉยหรือไม่ให้ความร่วมมือ แต่ยังมีการ “เตะตัดขา” กันในบางแง่ จนทำให้การทำงานที่ยากลำบากอยู่แล้วยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก
เช่นเดียวกับการระดมทุน แน่นอนว่าเมื่อเป็นงานเทศกาลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความเชื่อมั่นก็ยังไม่เพียงพอ แม้จะมีการระดมทุนได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อภาพฝันที่วางไว้ มิหนำซ้ำแหล่งทุนยังมีการถอนทุนบางส่วนด้วยเหตุผลทางธุรกิจ จนทำให้กระบวนการทำงานมีการปรับเปลี่ยนและสร้างความเจ็บปวดในกลุ่มคนทำงานจำนวนไม่น้อย
การที่ทุกคนเห็นงานเบื้องหน้าแล้วรู้สึกชื่นชม งานเบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยบาดแผลที่ต้องใช้เวลาเยียวยาพอสมควร กอล์ฟบอกว่าหากคุยกันช่วงจบเทศกาลแรก ๆ กอล์ฟคงตอบว่าจะไม่ทำอีกแล้ว ไม่อยากทำอีกแล้ว
แต่เมื่อมองกลับมาที่ผลลัพท์ของงาน ฟังเสียงตอบรับจากผู้เข้าร่วม จากศิลปิน มองภาพที่ถูกฉายออกไปสู่สาธารณะ กอล์ฟก็รู้สึกว่างานมันประสบความสำเร็จเท่าที่มันจะทำได้แล้ว
และสิ่งที่กอล์ฟประทับใจ ภูมิใจ ดีใจ และสะใจที่สุด คือการที่ได้พิสูจน์ให้หลาย ๆ คน โดยเฉพาะส่วนงานราชการจากศูนย์กลางได้เห็นว่า “มันเป็นไปได้” มันทำได้จริง เชียงใหม่มันเป็นเมืองละคร เป็นเมืองที่มีเทศกาลละครประจำปีได้จริง ๆ
ซึ่งพอนึกย้อนกลับไปจึงเห็นภาพว่า นี่ขนาดทุกอย่างไม่ได้ราบรื่น ไม่ได้เป็นไปตามที่หวัง และไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากส่วนงานที่ควรมีหน้าที่สนับสนุนกิจกรรมพัฒนาเมือง
ความสะใจของกอล์ฟจึงเป็นเรื่องที่ความสำเร็จนี้มันได้สะท้อนกลับไปถึงตัวผู้มีอำนาจ ว่าควรวางตำแหน่งแห่งที่ตัวเองยังไง และจะสร้างบทสนทนามากขึ้นในครั้งต่อไป รวมถึงสำหรับกิจกรรมพัฒนาเมืองอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เป็นความสำเร็จที่แลกมาด้วยบาดแผลและความเจ็บปวดของคนทำงานทั้งมวล
นักจัดการงานศิลปะที่หายไปจากสมการ
อีกสิ่งหนึ่งที่กอล์ฟประทับใจคือโปรเจ็กต์ Super Volunteer กับโครงการรับอาสาสมัครทีมจัดการเทศกาลมาร่วม Workshop การจัดการ และดูแลเทศกาลในครั้งนี้
กอล์ฟเล่าว่าตอนที่คิดโครงการไม่เชื่อว่าจะมีคนสนใจขนาดนี้ เพราะมันอยู่นอกเหนือขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะระดับหนึ่ง มันคือคนที่จะเข้ามาจัดการงานแสดงศิลปะให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้รับความนิยมในไทย มากสุดที่เราคุ้นเคยคงเป็น Curator แต่พอเปิดโครงการก็ได้ค้นพบว่ามีคนที่สนใจอยากมาทำงานในส่วนนี้เยอะมาก
กอล์ฟเล่าจุดที่น่าสนใจมากของโปรเจ็กต์นี้อีกอย่างว่า ตอนที่เล่าเรื่องนี้ให้หลาย ๆ คนฟัง ทุกคนต่างเห็นด้วยว่าวงการศิลปะยังขาดพื้นที่ตรงนี้ เล่าให้ใครฟังก็มีแต่คนเห็นด้วย แต่กลับไม่มีใครสนับสนุนงบประมาณให้ กอล์ฟนำเรื่องนี้ไป “ขาย” อยู่หลายครั้งกว่าจะได้รับการสนับสนุน ซึ่งกอล์ฟรู้สึกว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่ใช้งบประมาณน้อยที่สุดแล้วเห็นผลมากที่สุด ประทับใจมากที่สุด
หลังจากพูดคุยกันบ้าง เยียวยากันบ้าง ก็กลับมา recheck กันว่าแล้วหลังจากนี้จะยังไงกันต่อ กอล์ฟเล่าว่าโปรเจ็กต์นี้ตั้งต้นคือวางไว้ว่าจะทำให้ได้ต่อเนื่องสัก 5 ปี แล้วหลังจากนั้นก็คงจะมาประเมินกันใหม่อีกที แม้ช่วงพึ่งจบงานจะเจ็บปวดจนรู้สึกอยากเลิก แต่เมื่อผ่านเวลามา ได้ทบทวนตัวเองเพิ่มขึ้น ก็ยืนยันว่าปีหน้ายังไงก็ต้องทำต่อ
พอถามถึงแรงขับหลักที่ทำให้กอล์ฟตัดสินใจทำต่อแม้จะต้องผ่านบาดแผลต่าง ๆ มามากมาย กอล์ฟก็เล่าว่าต้องนึกถึงเป้าหมายตั้งต้นที่เราอยากทำ เรายังรู้สึกเหมือนไม่ได้พิสูจน์สมมติฐานของตัวเองเลย ถ้ามันจะเจ็บปวดหรือล้มหายตายจากไปก่อนก็อยากได้บทเรียนจากส่วนนั้นให้มากเท่าที่จะทำได้
แม้จะยังตอบไม่ได้ว่าปีที่สองจะออกมาหน้าตาเป็นยังไง จะได้ทำอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ แต่อย่าง น้อยที่สุด การที่ Chiang Mai Performing Arts Festival ได้เกิดขึ้นและสำเร็จแล้วในครั้งนี้ จะกลายช่วยยืนยันความฝันของคนจำนวนมากที่ว่า เชียงใหม่เป็นเมืองที่ดีกว่านี้ได้