ขับร้องและร่ายรำ เพื่อนสันติภาพของโลกและจิตใจ: Dance of Universal Peace
เล่าถึงบรรยากาศกิจกรรม งาน Dance of Universal Peace ที่จัดขึ้นที่ Friends & Forest
ได้รู้จัก Dance of Universal peace หรือ DUP ครั้งแรกคือตอนที่ได้มีโอกาสไปช่วยจัดงาน ข้างใน Market ของ Muchimore ตอนนั้นเข้าร่วมเพราะเป็นกิจกรรมที่มีการร้องและการเต้น อันที่จริงยังไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก
จำได้ตอนที่ร่วมกิจกรรมรู้สึกดีมาก ๆ พอมีข่าวว่าจะมีกิจกรรม camp เลยรู้สึกว่าน่าสนใจ และเมื่อเป็นกิจกรรมส่งท้ายสำหรับ Friends & Forest ยิ่งรู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่อยากเอาตัวเองไปงานให้ได้
Dance of Universal Peace เป็น spiritual practice ผ่านการร่ายรำ และการขับร้องบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับ “คำศักดิ์สิทธิ์” ในศาสนาต่าง ๆ นัยว่าเพื่อส่งเสริมสันติภาพท่ามกลางความต่างทางศาสนาและความเชื่อ
DUP จัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ 1968 หรือกว่า 55 ปีที่แล้ว โดยปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 28 ประเทศเลยทีเดียว ซึ่งในประเทศไทย ก็มี community ชื่อ DUP Thailand ที่คอยจัดกิจกรรม DUP ภายในประเทศทั้งแบบประจำและตามโอกาสต่าง ๆ
ซึ่งครั้งนี้ทีมจัดของไทยเราก็ไม่ได้มาเล่น ๆ เพราะได้ “ครู” ชาวโคลอมเบียซึ่งเคยจัดกิจกรรมมาหลายพื้นที่ทั่วโลกอย่าง Malika Salazar หรือ “มัลลิกา” มาเป็นคนนำจัดกระบวนการอย่างเข้มข้น ครั้งนี้จึงไม่ได้แค่เข้าไป “ร้องและเต้น” เหมือนครั้งก่อน แต่ให้ความรู้สึกว่าตัวเองได้รู้จัก และใกล้ชิดกับ DUP มากขึ้น
ร้องและเต้น และเชื่อม
กิจกรรมโดยมากของ DUP คือการเรียนรู้เพลงที่เกี่ยวพันกับ “คำศักดิ์สิทธิ์” ต่าง ๆ โดยแต่ละเพลงก็จะสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างตัวคำ วัฒนธรรม และเป้าหมายในการสื่อสาร ก่อนที่จะเรียนรู้ “ท่าเต้น” ที่พอมาครั้งนี้เลยได้รู้ว่ามันไม่ใช่แค่ “ท่าประกอบเพลง” อย่างที่เคยเข้าใจ แต่มีการพยายามเชื่อมโยงกับวิธีคิด และpractice ต่าง ๆ เอาไว้ด้วย
คำร้องก็มีหลากหลายทั้งภาษาอังกฤษ ฮิบรู ฮินดู เป็นคำจากศาสนาใหญ่ ๆ บ้าง หรือบางครั้งก็เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อพื้นเมือง ความสนุกอีกอย่างหนึ่งเลยเป็นการที่เราได้ฟังที่มาที่ไปของการเกิดเพลงรวมถึงเรื่องราวในอดีตและตำนานของเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเพลง
หลังจากรู้ที่มา รู้คำร้อง และท่าเต้น ก็เข้าสู่ช่วงการ “ร้องและเต้น” กับบทเพลงนั้น ๆ โดยมากจะเป็นวงกลมเต้นพร้อมกัน มีการเข้าคู่เต้น มีการวนเปลี่ยนคู่ และสิ่งที่เข้มข้นที่สุดที่ Culture shock เราในครั้งแรก ๆ คือวัฒนธรรมการ “สัมผัส” ที่ไม่ใช่แค่การจับมือ กอดคอ แต่มันเหมือนเป็นการเอาใจเราไปสัมผัสกับคนอื่นระหว่างเต้นด้วย
ครั้งแรกที่เข้าร่วมเรารู้สึกไม่ปลอดภัยมาก ๆ ในแง่นี้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นก้อนพลังงานที่ไม่น่าเอาไปสัมผัสกับใคร ไม่น่าเชื่อมต่อกับใครสักเท่าไร แล้วกิจกรรมมันมีไปถึงแบบจ้องตาเพื่อส่งพลังให้กันนี่ยิ่งรู้สึกว่าไม่ไหวจริง ๆ ถึงช่วงจ้องตาทีไรต้องคอยหลบตาตลอดบางทีพยายามจะจ้องตอีกฝ่ายแล้วเค้าหลบตาก็คิดวนอยู่ในหัวว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดอะไรขึ้น
ถามว่าเชื่อไหมเรื่องส่งพลังงานใด ๆ ส่วนตัวก็คงตอบยาก แต่สิ่งที่รู้สึกคือคนรอบตัวคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมเค้าดูรู้สึกได้จริง ๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าร่วมก็มีคนร้องไห้ มีคนกอดกันอย่าง “จริงใจ” ในขณะที่เรายังตอบไม่ได้ว่าเหตุผลที่คนจะกอดกันแบบนั้นคืออะไร อยู่ดี ๆ จะมีคนมากอดเราอย่างจริงใจแบบนั้นเพราะอะไร ตอนนั้นเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ชวนให้นึกความรู้สึกไม่ออกว่าควรรู้สึกยังไงกับมัน
แต่ถือว่าโชคดีที่พอเคยผ่านมาแล้ว เราเลยพอเข้าใจบรรยากาศของงานมาก่อน ครั้งนี้เราเลยลองปล่อยใจให้ว่างขึ้น นิ่งขึ้น ลองมองคนที่อยู่ตรงหน้าด้วยความคิดที่ผ่อนขึ้น เลยได้พึ่งได้สัมผัสปรากฎการณ์ “ความรู้สึกอุ่นๆ” ที่แผ่อยู่รอบ ๆ วงเต้น ส่วนหนึ่งที่ชอบมาก ๆ ของงานสาย awareness สาย spiritual คือการที่ทุกคนมันไม่ได้มาพร้อมความรู้สึกขัดแย้งกัน ไม่ได้มาเพื่อจะแข่งขันกัน บรรยากาศรายรอบจึงเต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นมิตร เวลาเราจับมือกัน มองตากัน น้อยที่สุดเราไม่ได้รู้สึกว่าอีกฝ่ายกำลังคิดร้ายกับเรา มันรู้สึกอบอุ่นอย่างบอกไม่ถูก
และครั้งนี้รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีกว่าครั้งก่อนมาก ๆ
Words of power
ทำไมต้องใช้ “คำศักดิ์สิทธิ์” ตามศาสนา? เพราะคำเหล่านี้มี “พลัง” ในการสื่อสารกับเทพหรือพระเจ้าอยู่ก่อนแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของบทสวดหรือคำร้องเพื่อสื่อสารกับเทพมาเนิ่นน่าน จึงประมาณว่าคำเหล่านี้มีพลังที่คนฟังจะได้รับในลักษณะเดียวกัน
“มัลลิกา” อธิบายไว้ตอน voice session เรื่อง “พลังของเสียง” ได้น่าสนใจ มัลลิกาพูดถึง “เสียง” ในฐานะพลังอำนาจที่มีติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่ในการเติบโตของเรามักถูก “ปิดกั้น” การใช่เสียง ภาวะการเลี้ยงดูที่ห้ามการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือความต้องการ การถูกปิดกั้นนี้จึงเหมือนเป็นการปิดกั้นอำนาจ และการรับรู้ต่ออำนาจของตัวเราด้วย
ส่วนตัวได้มีโอกาสลงคอร์สการขับร้องมาบ้าง แต่ไม่มีครั้งไหนเลยที่รู้สึกเข้ากันได้แบบนี้ การฝึกออกเสียงที่มีทั้งความสนุกและความเข้าใจอย่างเป็นธรรมชาติ พอพูดเรื่องว่าการใช้เสียงอย่างถูกวิธีคือไม่ควรมีร่างกายส่วนไหนถูกตั้งใจให้เกร็งเป็นพิเศษ ให้ร่างกายมันซัพพอร์ตและสงเสริมกันเองโดยที่เราไม่ต้องพยายาม ตอนยกตัวอย่างเรื่องเป่าลูกโป่งนี่ประทับใจมากเพราะตอนเด็ก ๆ สงสัยมตลอดว่าทำไมมันมีเพื่อนที่เป่าลูกโป่งไม่ได้เลยจริง ๆ แบบที่เราก็ตอบไม่ได้ว่าทำไมเราทำได้
นัยหนึ่งจึงเหมือนกับเป็นการบอกว่า หากเราใช้เสียงได้ดี ใช้พลังในตัวได้ลื่นไหล นั่นหมายถึงร่างกายเรากำลังทำงานอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด พอฟังอย่างนี้แล้วรู้สึกรักการร้องมากขึ้นมาก ๆ และเหมือนไขปมการร้องเพลงที่ผ่านมาของตัวเองได้เยอะสุด ๆ
และ “คำ” มันมี “พลัง” จริง ๆ เพราะทุกครั้งที่เข้าช่วงร้องและเต้น หลายคนรู้สึกเอ่อล้นกับเพลงออกมาจนหน้าเปียกกันเกือบหมด ยิ่งพออยู่ใน community ที่ได้จับผิดหรือตัดสินกันมันเลยเหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นความงดงามที่สุดอย่างหนึ่งของกิจกรรมครั้งนี้
หลายคนน่าจะคุ้นชินกับการกอดกันหลังจบกิจกรรมที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ต้องยอมรับว่าไม่เคยมีครั้งไหนที่ได้กอดใครสักคนแล้วมีความรู้สึกทำนองนี้มาก่อน ในวินาทีนั้นเรารู้สึกเหมือนหัวใจเรามันเชื่อมถึงกันได้จริง ๆ
พี่เพลง ซึ่งเป็น Host ของ community DUP Thailand ได้แชร์ไว้ว่า DUP ให้ความรู้สึกเหมือนการทำสมาธิแบบที่สนุก ซึ่งระหว่างร่วมกิจกรรมเราเองก็รู้สึกอย่างงั้น
ใครที่รู้จักกันคงตอบได้เลยว่าส่วนตัวไม่ได้เป็นสาย spiritual (ออกจะตรงข้ามด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือทุกครั้งที่เริ่มร้องและเต้น เราพบว่าสมองเราโล่งมาก ๆ จากคนที่มีหลายเรื่องให้คิดวนอยู่ในหัวกลับรู้สึกนิ่ง และมีสมาธิมากกว่าทุกครั้ง รู้สึกเหมือนมุมหนึ่งเราได้เห็นอะไรบางอย่างในตัวเองแบบที่ไม่เคยได้เห็นจากกิจกรรมชุดไหน
ยิ่งไปกว่านั้นบรรยากาศโดยรอบที่เต้นผิดบ้างร้องผิดบ้าง มันให้ความรู้สึก “สมจริง” อยู่ตลอด เรารู้สึกถึงข้อผิดพลาดในฐานะของ “การมีชีวิต” ท่อนนี้ร้องผิดรอบหน้าร้องใหม่ รอบนี้เต้นผิดรอบหน้าเอาใหม่ ทุกคนโอบกอดความผิดพลาดเอาไว้ด้วยเสียงหัวเราะที่ไม่ใช่แค่กลบเกลื่อน เวลาเราหัวเราะให้ความผิดพลาดร่วมกันแล้วมันรู้สึกเหมือนงานเทศกาลเหยียบองุ่นของต่างประเทศมาก ๆ รับรู้ถึงความสนุกที่บริสุทธิ์และงดงาม
สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าร่วม community DUP Thailand เพื่อร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นรายสัปดาห์ หรือกิจกรรมตามโอกาสต่าง ๆ ได้ เอาจริง ๆ คิดว่าต่อให้ไม่ชอบก็เป็นประสบการณ์ที่น่าลองสักครั้ง
สิ่งที่ “muse” เรามาก ๆ จาการได้ร่วมกิจกรรม DUP คือการที่ได้รับรู้ว่าหัวจิตหัวใจของคนมันสำคัญ การมองให้เห็นและเชื่อมสัมพันธ์กันด้วยหัวใจ ถือเป็นการรับรู้ตั้งต้นถึงผู้คนในฐานะของ “มนุษย์” คนหนึ่ง
ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่เราต้องคุยกันเวลาที่เราจะทำงานเกี่ยวกับมนุษย์ในด้านต่าง ๆ