เครื่องฟอกอากาศแบบ DIY และ Open Source
อีกหนึ่งภาพสะท้อนของการพยายามช่วยกันแก้ปัญหาของ community ด้วยการ Open องค์ความรู้และกระบวนการเพื่อสร้างทางเลือกให้สังคม
สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์ที่หนังหน่วงสำหรับผู้อยู่อาศัยในเขตภาคเหนือของคนไทยจากสถานการณ์ฝุ่นควัน และ PM2.5 ที่แย่กว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศจนติดอันดับเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นอาทิตย์ โดยเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอนต่างผลัดกันเป็นอันดับหนึ่งอยู่หลายครั้ง
และแม้นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่สภาพอากาศของไทยโดยเฉพาะภาคเหนือย่ำแย่ในระดับนี้ แต่ยิ่งไม่ใช่ครั้งแรกยิ่งชวนให้สงสัยว่าทำไมมันถึงยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ หน่วยงานรัฐมีมาตรการยังไง มีแนวทางนโยบายยังไง และแม้รัฐบาลจะประกาศยุบสภาพจนทำให้รัฐบาลรักษาการณ์ไม่มีอำนาจในการจัดการ แต่เราก็ยังมีการปกครองท้องถิ่นที่ไม่ได้หมดเทอมไปพร้อมรัฐบาล หรืออย่างน้อยที่สุดเราสามารถประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงานแก้ปัญหาได้ คำถามที่หลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในพื้นที่คงกำลังสงสัยคือ “คนที่มีอำนาจเค้าทำอะไรอยู่”
หลายคนคงตระหนักเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้อาศัยในพื้นที่ซึ่งต้องประสบภาวะนี้เป็นประจำต่อเนื่องมาหลายสิบปี ว่าหากจะรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเริ่มทำอะไรสักอย่างคงจะช้าเกินไป สุดท้ายแล้วก็มีแต่ต้องพึ่งพาตัวเองในส่วนที่ทำได้ไปก่อน
นั่นทำให้ทุกปีนี่เป็นช่วงเวลาที่สินค้าสองประเภทจะขายดีอย่างมาก หนึ่งคือหน้ากากกันฝุ่นควันชนิดมาตรฐาน N95 ครั้งหนึ่งเคยขาดตลอดจนทำให้ N80 ขายดีไปด้วย กับอีกหนึ่งคือ “เครื่องฟอกอากาศ” ที่ล่าสุดขาดตลาดเป็นที่เรียบร้อยจากความต้องการซื้อที่สูงขึ้นจนมีคนซื้อสต็อกเพื่อขายเกร็งกำไร
ลำพังการซื้อเครื่องฟอกอากาศสักเครื่องก็เป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมากพออยู่แล้ว การที่ “จะต้องซื้อ” แต่ไม่มีขายยิ่งเป็นอะไรที่เพิ่มภาระมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาที่สูงขึ้นจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น หรือความยากลำบากในการหา แถมจังหวะแบบนี้ยังมีความเสี่ยงจะถูกโกงจากการซื้อนอกระบบตรวจสอบมากขึ้นด้วย เรียกว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัดไม่หยุดไม่หย่อน
แล้วการต้องพึ่งพาตัวเองก็ผลักเพดานมาถึงขีดสุด เมื่อมีการโพสต์ภาพแบบ “เครื่องฟอกอากาศแบบ DIY” โดยแจ้งรายละเอียดการสร้างเพื่อให้สามารถนำไปทำตามกันได้
โดยเพจ SpeedLab Tuning ChiangMai ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับ “ตัวทดลอง” เครื่องฟอกอากาศแบบ DIY พร้อมรายละเอียดการผลิต โดยหวังให้สามารถนำไปสั่งผลิตใช้กันในช่วงที่สภาพฝุ่นย่ำแย่และเครื่องฟอกอากาศขาดตลาด
โดยแบบเป็นการประยุกต์ใช้ไส้กรองของเครื่องฟอกอากาศมาติดตั้งกับกล่องที่ใช้พัดลมกรงกระรอกเป็นตัวไล่อากาศ โดยอธิบายว่าโรงงานของผู้ผลิตเองก็ใช้ตัวนี้อยู่ในปัจจุบัน สามารถลดค่าฝุ่นจาก 300+ ลงเหลือ 50 กว่า ๆ ได้ใน 10 นาทีสำหรับห้องขนาดประมาณ 100 ตารางเมตร
และนี่ไม่ใช่คนแรกที่ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มีคนออกมาทำคลิปเล่าว่าที่บ้านใช้กระดาษทิชชูชุบน้ำแปะไว้หลังพัดลม ช่วงกรองฝุ่นได้ดีในระดับหนึ่ง (แม้ภายหลังจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา) หรืออย่างการใช้แผ่นกรองเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งกับพัดลมใบพัดที่มีกำลังสูงที่เคยเป็นกระแส DIY มาก่อนในปี 2021 ก็มีการกลับมาพูดถึงกันมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจของทั้งสามตัวอย่างที่ยกมาและเป็นประเด็นเดียวกัน คือทุกคนต่างอยาก “แบ่งปัน” องค์ความรู้นี้ให้กับคนอื่น ๆ สามารถนำไปใช้ได้
นี่มันคือ Open Knowledge หรือถ้ามองกันจริง ๆ มันก็คือ Open Source แบบไม่ได้เป็นโปรแกรมนั่นเอง
ลองนึกกลับกันว่าถ้าหากผู้ริเริ่มนวัตกรรมเหล่านี้ เปลี่ยนมุมมองจากการ “ให้เอาไปใช้กัน” เป็น “ผลิตเพื่อขาย” สังคมเราก็จะมีเครื่องฟอกอากาศราคาถูกลงใช้ คนผลิตก็รับกำไรกันไปตามแบบทุนนิยม แต่คนเหล่านี้กลับ “มอบทางเลือก” ให้มากกว่าแค่การ “มีทางเลือกในการซื้อเพิ่มขึ้น” นั่นคือ “ทางเลือกในการจะผลิตใช้เอง”
ซึ่งเมื่อลองตั้งคำถามว่าทำไม เราก็จะมีคำตอบเรื่อง “เพื่อสังคม” ปรากฏขึ้นมา อธิบายให้มากขึ้นคือเรามองเห็นตัวเอง “เชื่อมโยงอยู่กับสังคม” ทำให้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติเราจะมีความรู้สึกว่าเราไม่สามารถรอดได้ด้วยตัวคนเดียว คือถ้าสังคมไม่รอดไปพร้อมกัน เราก็จะไม่รอดไปด้วย เป็นภาพความเชื่อมโยงที่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะเห็นว่า “การทำเพื่อสังคม” เป็นการ “ทำเพื่อตัวเอง” ไปพร้อม ๆ กัน นั่นทำให้แม้เบื้องลึกจะมีความเกี่ยวพันซับซ้อนกับแนวคิดเชิงคุณธรรมความดีต่าง ๆ แต่สุดท้ายแล้วปลายทางของมันจึงเกิดเป็นการ “เสนอทางเลือกให้สังคม” แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในกรณีฝุ่นควัน และเช่นเดียวกับ Open Source ที่ทำ ๆ กันมาทั่วโลก
งาน Open Source จึงเป็น “งานเพื่อสังคม” โดยตัวมันเองเป็นพื้นฐาน จะมากหรือน้อยคือส่วนที่ทุกคนนำไปปรับใช้
ในกรณีฝุ่นควัน นอกจากเครื่องฟอกอากาศแล้ว ในยุคที่หน้ากากกันฝุ่นมาตรฐาน N95 และ N80 ขาดตลาดอย่างหนัก ก็มีการนำงานวิจัยเรื่องหน้ากากอนามัย+กระดาษทิชชูพับสองชั้น ที่มีผลการวิจัยว่าสามารถช่วยป้องกัน PM 10 และ PM2.5 ได้มากถึง 98% ซึ่งแม้สุดท้ายในส่วนของรายละเอียดมีการถกเถียงกันต่อ แต่นี่ก็สะท้อนถึงความ “พยายาม” จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่างเต็มที่ของผู้คน และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากย้อนกลับไปช่วง 10-15 ปีก่อนหน้า ภาคประชาชนมีความตื่นตัวอย่างมากในประเด็นเรื่องฝุ่นควัน และตื่นตัวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
และเรื่องแบบนี้ก็ไม่ได้มีแค่ประเด็นด้านฝุ่นควัน เราจะพบว่าเมื่อเกิดวิกฤติหลาย ๆ อย่างขึ้น คนจำนวนมาก “พร้อม” ที่จะ contribute ทางออกใหม่ให้สังคม อย่างน้อยก็ระหว่างรอการแก้ปัญหาจากภาครัฐ เรานึกถึงกรณีการบริจาคน้ำท่วมจากภาคประชาชน หรือที่ชัดเจนมาก ๆ อีกกรณีหนึ่งก็คือเมื่อครั้งสถานการณ์ COVID-19 วิกฤติรุนแรง ก็เป็นภาคประชาชนเองที่พยายาม “ดูแลกันเอง” ตั้งแต่ครั้งที่รัฐบาลยังมองว่าเป็นแค่ไข้หวัดชนิดหนึ่งและรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงเข้าประเทศโดยมองเป็นโอกาสทางการท่องเที่ยวอยู่
ปัญหาฝุ่นควันในปัจจุบันเป็นเรื่องที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย มีการจัดทำรายระเอียด รายงาน ภาพถ่ายทางอากาศ รวมถึงโมเดลลมที่ทำให้เห็นภาพของควันอย่างชัดเจนขึ้น จนในปัจจุบันเราแทบไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าฝุ่นควันมาจากไหน (หากได้รับข้อมูลรอบด้าน)
แม้เราทุกคนต่างรู้ว่าอีกไม่กี่เดือนหรืออย่างเร็วที่สุดไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ปัญหาฝุ่นควันก็จะคลี่คลายด้วยตัวมันเองเพราะหมดฤดูเผาแล้ว แต่การมองข้ามปัญหานั้นเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง เพราะ PM 2.5 ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่สุดท้ายแล้วรัฐเองนั่นแหละที่ต้องแบกรับภาระจากส่วนนี้
และแม้ว่าสุดท้ายเราต่างรู้ว่าทางแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุดของประเด็นนี้คือการใช้กลไกรัฐในการแก้ปัญหา แต่นี่ก็เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เราต่างมองเห็นปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาของ Community และทุกคนต่างอยาก Contribute ทางแก้ปัญหาเพื่อให้สังคมมีทางเลือกมากกว่าการนั่งรอกระบวนการรัฐที่อุ้ยอ้ายเชื่องช้าจนเหมือนกับว่าจะไม่ทำอะไรกับปัญหาเลยสักอย่าง