Empower Local กับพี่กุล
ชวนมาทำความรู้จักกับพี่กุล ผู้มีความคาดหวังในการเสริมพลังชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
ถ้าพูดถึงเครือข่ายคนสำคัญ ที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับ muse foundation มาอย่างยาวนาน ก็ต้องพูดถึงพี่กุลแห่ง Farmkits ภูผาม่าน Initiator ผู้ผลักดันการเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นภูผาม่านมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนตัวได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับพี่กุลอยู่หลายครั้ง ก่อนจะได้มีโอกาสลงไปเยี่ยมเยียนพี่กุลที่ภูผาม่านเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่ติดปัญหาทุกครั้งตรงที่เมื่อจะเล่าเรื่องของพี่กุล เรามักจะเหมือนวนกลับไปเล่าเรื่องเดิม ๆ ที่เคยมีคนเล่าเอาไว้แล้ว ด้วยความที่พี่กุลได้มีโอกาสให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อหลาย ๆ เจ้า เราก็คิดว่าจะเล่ายังไงให้มันไม่รู้สึกว่า “เรื่องนี้อีกแล้ว”
เลยชวนพี่กุลมา Check up กัน พูดคุยถึงโปรเจ็กต์ต่าง ๆ อยากเล่าเรื่องของพี่กุลในฐานะคนทำงาน Social Impact ที่มีความน่าสนใจในเชิงพื้นที่และวิธีการ ชวนพี่กุลมาถอดบทเรียนความสำเร็จและล้มเหลวตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และชวนพี่กุลเล่าถึงภาพอนาคตของตนกับการผลักดันงานท้องถิ่น ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปจากครั้งแรก ๆ ที่เริ่มทำอย่างไร
พี่กุลถือเป็นนักขับเคลื่อนคนสำคัญของพื้นที่ภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ทำงานผลักดันเชิงพื้นที่มาต่อเนื่องกว่า 5 ปี เป็นเจ้าพ่อร้อยโปรเจ็กต์ที่เวลาได้พูดคุยกันแต่ละทีก็จะมีโครงการใหม่ ๆ มาให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ เลยชวนพี่กุลเล่าย้อนถึงภาพวันวาน และจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่กุลได้เข้ามาผลักดันงานในลักษณะดังกล่าว
พี่กุลเล่าว่าตอนที่กลับมาภูผาม่านใหม่ ๆ เมืองนี้เป็นเมืองที่เหงียบเหงามาก เป็นเมืองทางผ่านไปพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างภูกระดึง ทำให้ไกลที่สุดที่คนจะมาถึงคือบริเวณสามแยกทางเข้าอำเภอ พี่กุลเคยมาลงทุนเปิดร้านอาหารแต่ก็เจ๊งไม่เป็นท่า เพราะในวันนั้นมันยังเป็นเมืองที่ไม่ได้มีกำลังจ่ายมากพอ หลังจากล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายครั้ง พี่กุลก็เห็นคำตอบว่า หากจะมีชีวิตรอดในเมืองนี้ได้ เมืองทั้งเมืองต้องโตไปพร้อมกัน คนในพื้นที่ต้องมีรายได้ มีกำลังจ่าย มีความคึกคักทางเศรษฐกิจ นั่นจึงหมายถึงการต้องดึงทุนทางเศรษฐกิจเข้ามาในพื้นที่ภูผาม่านให้ได้
เลยทำให้พี่กุลหยิบโปรเจ็กต์เก่ามาปัดฝุ่น โดยที่พี่กุลนั้นมีคำถามมาเนิ่นน่านแล้วว่า “ทำไม Tech Meet-up ถึงต้องจัดแค่ในกรุงเทพฯ” อาจจะด้วยความอินในฐานะคนพื้นที่ที่ทำงานเทคฯ และการมองเห็นความเหลื่อมล้ำทางอำนาจความรู้มาแต่ไหนแต่ไร ครั้งนี้พี่กุลจึงได้เชิญชวนเพื่อน ๆ พี่ ๆ คนรู้จักที่ทำงานสายเทคฯ มาจัด “Tech Meet-up” กลางทุ่งนา กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้เกิดโปรเจ็กต์ชื่อ เทคไทบ้าน ขึ้นมานับตั้งแต่วันนั้น
เทคไทบ้าน : กระจาย อำนาจ ความรู้ สู่ท้องถิ่น
ไอเดียหลักที่ทำให้เกิด เทคไทบ้าน คือการกระจายอำนาจและความรู้สู่ท้องถิ่น และการประยุกต์เทคโนโลยีมาสนับสนุนชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่น โดยทั้งสองส่วนนี้มีเป้าหมายร่วมกันคือการเสริมพลังให้ท้องถิ่น (Empower Local)
พี่กุลมองว่าเวลาเราอยากจะพัฒนา อยากจะยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน แม้ว่าปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นเหมือนใจความของทุกปัญหาในท้องถิ่น แต่เราจะคิดแค่เรื่องทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราเชื่อว่าสิ่งที่จะปลดขีดศักยภาพผู้คนได้ คือการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตโดยไม่ถูกผิดกั้น คนที่ทำเกษตรก็สามารถเข้าถึงการทำเกษตรแบบเพิ่มมูลค่า คนที่ทำการค้าก็สามารถเข้าถึงการเพิ่มยอดขายโดยลดต้นทุน ฯลฯ เพียงแต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก แม้ในปัจจุบันจะมีอินเตอร์เน็ตก็ยังคงมีกำแพงทางเทคโนโลยีที่คอยขวางกั้นอีกต่อหนึ่ง เป้าหมายของ เทคไทบ้าน จึงเป็นการผลักดันพื้นที่แบบดังกล่าวให้เกิดขึ้น และสามารถส่งเสริมการใช้ชีวิตในวิถีแบบท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกันอย่างสอดคล้องอีกด้วย
การท่องเที่ยววิถีชุมชน
การจะผลักดันให้เมืองที่เงียบเหงากลายเป็นเมืองที่คึกคัก เป็นพื้นที่ที่เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น ก็คงไม่พ้นการผลักดันเมืองให้เข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว พี่กุลเล่าว่าแต่เดิมนั้นภูผาม่านจะมีชื่อเสียงบ้างในเรื่องของถ้ำค้างคาว แต่ก็ไม่ได้มีคนมาท่องเที่ยวกันคึกคักแบบเมืองอื่น ๆ พี่กุลจึงเริ่มจากการเฟ้นหา “จุดเด่น” ของภูผาม่าน จนได้เจอเข้ากับฉากของภูเขาที่สะท้อนกับบึงน้ำชุมชน เป็ฉากที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ต่างประเทศ พี่กุลเลยปักธงว่าวิวนี้แหละ จะกลายเป็น Landmark สำคัญที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาภูผาม่านมากขึ้น
พี่กุลใช้เวลาอยู่หลายปีในการโปรโมตภาพดังกล่าวออกสู่สายตาผู้คน รวมถึงการจัด Tech Meet-Ups โดยมีฉากหลังเป็นภาพนี้ เมื่อวันที่มันจุดติด ภูผาม่านก็กลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น
จริง ๆ หากมองในทางธุรกิจ การมีคนมาเที่ยวกันคึกคักก็น่าจะดีต่อธุรกิจเพียงพอแล้ว แต่พี่กุลมองว่าแต่สิ่งเหล่านี้มันจะไม่ยั่งยืน เพียงไม่นานหลังจากเริ่มเห็นรีสอร์ตหลากสีทรงสูงผุดขึ้นในภูผาม่าน พร้อมกับการรบกวนวิถีชีวิตคนพื้นที่จากนักท่องเที่ยวที่มาเข้าพัก พี่กุลก็เริ่มคิดถึงการผลักดันการท่องเที่ยววิถีชุมชน การท่องเที่ยวที่มีหัวใจคำนึงถึงคนพื้นที่ และมุ่งเน้นการเที่ยวที่เชื่อมโยงอยู่กับพื้นที่มากกว่าการมาเที่ยวใครเที่ยวมัน เมื่อจากไปก็ทิ้งเพียงแต่เศษซากจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเอาไว้ให้ชุมชน
ปัจจุบันพี่กุลจึงเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาให้กับวิสาหกิจชุมชน ที่จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการนโยบายการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งสิ่งนี้พี่กุลเชื่อว่าจะนำพาการเติบโตและการพัฒนาชุมชนไปในทิศทางที่ยั่งยืนมากกว่า
Farmkits ร้านกาแฟ? ธุรกิจเพื่อสังคม?
ตอนที่รู้จักพี่กุลครั้งแรก ๆ ก็รู้จักพี่กุลในนาม Farmkits แต่ต้องยอมรับเลยว่าก็แทบไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว Farmkits คืออะไร ที่พอจะสังเกตได้คือเป็นร้านกาแฟที่ภูผาม่าน มันก็ดูเป็นธุรกิจสุด ๆ หรือว่าโปรเจ็กต์นี้จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม? หรือเป็นชื่อองค์กรรวมแล้วมีร้านกาแฟเป็นธุรกิจหนึ่ง?
คุยกับพี่กุลมาก็หลายครั้ง แต่ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสถามเรื่องนี้ตรง ๆ เลยทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้ว Farmkits เป็นโปรเจ็กต์ตั้งต้นของพี่กุลมาตั้งแต่สมัยอยู่กรุงเทพฯ แล้ว
พี่กุลเล่าว่า Farmkits เป็นโปรเจ็กต์ตรงตัวตามชื่อ คือพี่กุลสนใจเรื่องการปลูกผักกินเองในพื้นที่เมือง แต่ทำยังไงคนที่อยู่ในเมืองถึงจะปลูกได้ จะหาเครื่องมือจากที่ไหน หาความรู้ยังไง เตรียมเมล็ดพันธุ์ เตรียมดิน เลยกลายเป็นไอเดียของ “กล่องปลูกผัก” ที่เตรียมทุกอย่างไว้ให้ มีเครื่องมือจำเป็น มีเมล็ดพันธุ์ มีดิน รวมถึงคู่มือในการปลูกและดูแล เป็นชุด kit สำหรับคนอยากปลูกผักกินเอง
โปรเจ็กต์นี้ได้มีการทดลองเปิดขายให้ผู้สนใจแล้วบางส่วน แต่ด้วยเหตุที่ต้องกลับมาอยู่ขอนแก่นทำให้ต้องพับโครงการนี้ไปก่อน พี่กุลเล่าว่าตอนที่ต้องทำธุรกิจร้านกาแฟนึกชื่อร้านไม่ออก เลยนึกถึงโปรเจ็กต์นี้ ก็เลยยืมชื่อมาใช้ก่อนเท่านั้น
แล้วปัจจุบันโปรเจ็กต์ Farmkits เป็นอย่างไรบ้าง พี่กุลเล่าว่าก็ยังเป็นส่วนที่สนใจอยู่ดังเดิม แต่ไม่ได้เห็นภาพเป็นชุด kit สำหรับปลูกผักเหมือนในอดีตแล้ว ตอนนี้พี่กุลกำลังอินเกี่ยวกับเรื่องการผูกผิ่นโตระหว่างบริษัทกับเกษตรกร โดยเหมือนเป็นการจ้างเกษตรกรให้ปลูกผักปลอดสารพิษ ส่งมาเป็นสวัสดิการให้กับพนักงานในบริษัทของตนแบบ CSA model (Community-supported agriculture) โดยพี่กุลเชื่อว่าโมเดลที่เกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภคใกล้กันในระดับนี้ จะช่วยส่งเสริมการมีรายได้ และเป็นการเปิดช่องทางการเพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตรไปพร้อม ๆ กัน และเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้
ก้าวต่อไปของ Farmkits จึงน่าจะเป็นเรื่องประมาณนี้มากกว่า แค่ตอนนี้กำลังรอจังหวะเวลาในการตกผลึก และดูความเป็นไปได้ในการจะผลักดันต่อ
ธุรกิจและ CSR
อันที่จริงตั้งแต่เริ่มเล่ากันมา พี่กุลใช้คำว่า ทั้งหมดนี้เป็นวิธีหา “ทางอยู่รอดให้ครอบครัว” ของพี่กุลเอง ตอนที่พี่กุลผลักดันเรื่อง Tech Meet-Up ก็เพื่ออยากให้คนทำงานสายเทคฯ จากกรุงเทพฯ เดินทางมาเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ภูผาม่าน นั่นจึงเป็นเหตุผลแรก ๆ ที่พี่กุลเปิดร้านกาแฟ Farmkits เพราะว่าในภูผาม่านก่อนหน้านี้ไม่มีร้านกาแฟเลย การจะให้คนกรุงเทพฯ มาเที่ยวก็เท่ากับไม่สามารถตอบสนอง Lifestyles เขาได้ การผลักดันภูผาม่านให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจร้านกาแฟของพี่กุลเองด้วย อย่างในช่วงที่พี่กุลอินเรื่องการท่องเที่ยวเชิงท้องถิ่น ก็ถึงกับเปิดพื้นที่เพื่อรองรับคนเข้าพัก หวังเป็นทางเลือกให้คนที่อยากมาเที่ยวภูผาม่านมีตัวเลือกมากขึ้น
แต่ทั้งหมดนี้ ก็ยังอยู่บนแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจของพี่กุลเอง พูดแบบตรงไปตรงมาคือสุดท้ายเหมือนผลประโยชน์มันจะหมุนกลับไปหาพี่กุลเกือบทั้งหมด
จึงไม่แปลกเลยหากจะมีใครมองว่าสิ่งที่พี่กุลกำลังทำอยู่นี้ “ไม่ใช่งานขับเคลื่อนจริง ๆ” มองว่าพี่กุล “ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง” เป็น “CSR” ให้ตัวเองได้หน้าได้ชื่อเสียง
พี่กุลเล่าว่าก่อนหน้านี้เคยกังวลเรื่องเหล่านี้อย่างมาก เพราะมันตอบสนองต่อคุณค่าบางอย่างในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ในปัจจุบันพี่กุลจัดการตัวเองได้มากขึ้นและยอมรับได้มากขึ้น เพราะหากมองดี ๆ มันก็คงจะเป็น CSR จริง ๆ
พี่กุลเล่าว่าต้องยอมรับก่อนว่าสิ่งที่ตัวเองทำก็ทำเพื่อความอยู่รอดของตัวเองจริง ๆ งานต่าง ๆ ที่มันเป็นการขับเคลื่อนหรือผลักดันสังคม เราก็มองเป้าหมายที่มันจะกลับมาสนับสนุนชีวิตเราจริง ๆ
เพียงแต่หากเรามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็น CSR เป็นเรื่องได้หน้า พี่กุลก็มองว่างั้นทุกคนก็ควรทำ CSR แบบนี้ในพื้นที่ตัวเองบ้างก็น่าจะดี อย่างน้อยที่สุดท้องถิ่นก็จะได้ประโยชน์ไปพร้อม ๆ กันด้วย
พี่กุลเล่าว่าทุกวันนี้ประเด็นดังกล่าวรบกวนจิตใจของตนน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าตนไม่ได้เป็นคนหลงตัวเองขนาดนั้น รวมถึงเชื่อว่าตนเป็นคนที่รับฟังมากพอ ตอนนี้เลยอยากมุ่งเป้าไปที่การทำงานแบบที่ตัวเองสนุกมากกว่า
แต่ถึงจะอย่างนั้น พี่กุลก็ยังระแวดระวังเรื่องนี้อยู่เสมอ เพราะเมื่อทำงานเยอะขึ้น มีคนเข้าหาเยอะขึ้น พี่กุลก็กังวลว่าสุดท้ายแล้วตัวเองจะกลายเป็น “บ่อ” ที่ให้หน่วยงานต่าง ๆ มายืมมือเพื่อทำ CSR เพื่อผลาญงบโดยที่สุดท้ายไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ซึ่งพี่กุลไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องมือทำนองนั้น
ตรงนี้จึงเหมือนเราได้ Common ground ร่วมกันว่า แม้โดยพื้นฐานแล้วเราจะไม่ได้มีปัญหากับคำว่า CSR ขนาดนั้น แต่เราก็ยังมองงานขับเคลื่อนทำนองนี้ว่าจำเป็นที่จะต้องเกิดประโยชน์จริง มากกว่าการทุ่มเงินมาทำกิจกรรมแล้วถ่ายรูปเอาหน้าแล้วก็จบ ๆ กันไป
ถอดบทเรียน : 5 ปีกับภูผาม่าน
หลังพาพี่กุลคุุยเรื่องเก่า ๆ ก็เลยชวนพี่กุลมองภาพภูผาม่าน ณ ปัจจุบัน ว่าเมืองนี้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างแล้ว และพี่กุลรู้สึกอย่างไรกับเมืองนี้บ้าง
พี่กุลเริ่มเรื่องด้วยว่า ถ้านับ ณ วันนี้ ภูผาม่านเป็นเมืองที่ปล่อยมือในเรื่องท่องเที่ยวได้แล้ว เรื่องความคึกคัก เรื่องการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเอง การท่องเที่ยววิถีชุมชนก็กลายเป็นเรื่อง “พื้นฐาน” ที่คนในพื้นที่รู้สึกต้องกันแล้ว มองภาพไปยังนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูผาม่านก็เป็นภาพแบบที่พี่กุลใช้คำว่า “เราเลือกนักท่องเที่ยวแบบที่เราอยากได้ได้แล้ว”
ภารกิจเรื่องการทำให้ภูผาม่านเป็นเมืองที่คึกคักและมีวิถีท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจึงถือว่าปิดจ็อบไปแล้วสำหรับพี่กุล ปัจจุบันพี่กุลเลือกที่จะเป็นเพียงที่ปรึกษาในส่วนงานนี้ และทุ่มพลังไปสนใจในเรื่องอื่นได้อย่างเต็มที่
แต่มีส่วนหนึ่งที่พี่กุลพึ่งมาตกผลึกตัวเองเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าเป็นเรื่องที่ยังไปไม่ถึง ยังทำไม่สำเร็จ ทั้งที่เป็นหมุดหมายสำคัญในใจมาตลอดคือการ Empower Local
พี่กุลเล่าว่าพึ่งมีโอกาสกลับมานั่งตกผลึกกับตัวเอง ว่างานเทคไทบ้านในส่วนที่เป็น Tech Meet-Up นั้น ที่ผ่านมามันทำงานกับ Tech Community มากกว่าตัว Local ที่ตั้งใจ หลังจากจัดต่อเนื่องมาหลายปีพบว่าคนทำงานสายเทคฯ นั้นเห็นภาพชัดเจนมาก ปัจจุบันภูผาม่านและขอนแก่นกลายเป็น Tech Community ที่ถูกรับรู้ในเชิงกว้างแล้ว การจัด Meet-Up เอง ชาวบ้านในพื้นที่ก็รับรู้ แต่คำถามคือแล้วมันกลับไป Empower พวกเขาอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พี่กุลไม่เคยตั้งคำถามมาก่อน
พี่กุลเลยตั้งเป้าว่า ก้าวต่อไปของพี่กุลและเทคไทบ้าน จะต้องเป็นการมองหา Solution ที่มันกลับมา Empower Local ได้จริง ๆ และอยากทุ่มพลังไปกับส่วนนั้นมากขึ้น และคงลดความเป็นจ้าวโปรเจ็กต์ลงบ้างในอนาคต
เทคโนโลยีคือเรื่องสำคัญ?
พี่กุลเป็นคนที่มีแรงขับเกี่ยวกับเทคโนโลยีสูงมาก จนหลายต่อหลายครั้งเวลาได้ฟังเราอาจจะรู้สึกว่าเหมือนพี่กุล “อวย” เทคโนโลยีเกินไปหรือเปล่า ทำไมเทคโนโลยีถึงดูเป็น solutions ของทุกอย่างไปหมด
พี่กุลตอบว่า จริง ๆ เราต่างยอมรับร่วมกันว่า “ความรู้” นั้นไม่จำเป็นต้องเรื่องเทคโนโลยีก็สามารถพัฒนาชีวิตผู้คนได้และสำคัญเท่า ๆ กัน เพียงแต่ที่พี่กุลลงมาจับเรื่องเทคโนโลยีเป็นเพราะพี่กุลอินในเรื่องนี้
จึงถามต่อไปว่า แล้วความรู้ส่วนอื่นเราจะทำยังไง พี่กุลก็ตอบว่า “ก็ถ้าใครอินเรื่องไหนก็มาทำ”
พี่กุลเล่าว่าสิ่งที่พี่กุลมองเสมอคือ ไม่ได้มองตัวเองเป็นศูนย์กลางของท้องถิ่น ไม่ได้มองว่าหากใครจะทำอะไรในภูผาม่านต้องผ่านตนก่อนเหมือนเป็นมาเฟียเจ้าถิ่น พี่กุลวางตำแหน่งตัวเองเอาไว้ว่าเป็นเพียงคนทำงานกลุ่มหนึ่ง ที่สนใจในประเด็นใด ๆ ก็อยากทำงานในส่วนนั้น
ส่วนต้นทุนในการทำมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นคอนเนคชัน แหล่งทุน หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ พี่กุลมองเป็นส่วนงานที่จะช่วยมาซัพพอร์ตคนที่จะเข้ามาทำงานในประเด็นอื่น ๆ มากกว่า
ถามว่าอยากทำงานในระดับที่ใหญ่ขึ้นไหม พี่กุลมองว่าในวันหนึ่งที่ทำงานระดับ Local จนอิ่มตัวแล้วก็อาจจะอย่างขยับไป แต่ในปัจจุบันสิ่งที่พี่กุลเชื่อมั่นคือการทำงาน “ตามกำลัง” ที่เราสามารถทำได้ พี่กุลมองว่าหากเราทำตามกำลังของใครของมันแล้วเอามารวมกัน ก็น่าจะสร้างงานขนาดใหญ่ ๆ ได้เหมือนกัน หรือหากมีใครมีพลังมากพอที่จะทำงานในสเกลใหญ่ที่มันเกิดอิมแพคในวงกว้างก็พร้อมจะสนับสนุน แค่หากมาบีบคั้นตัวเองเพื่อไปถึงจุดนั้น พี่กุลรู้เลยว่าในตอนนี้ยังเป็นไปไม่ได้
พี่กุลเลยชอบที่จะทุ่มแรงของตัวเองไปกับการทำโปรเจ็กต์ โดยทิ้งข้อมูล หลักฐาน และโมเดลต่าง ๆ เอาไว้ให้คนนำไปใช้ต่อได้แบบเดียวกับวัฒนธรรม Opensource ในสายเทคฯ
5 ปีที่ผ่านมา พี่กุลจึงทุ่มเทให้กับการทำ MVP (Minimum viable product) ของโปรเจ็กต์ พร้อม ๆ กับการทบทวนและถอดบทเรียน เพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์ให้ดียิ่งขึ้น
ทำให้หากวัดความสำเร็จกันจริง ๆ พี่กุลมองว่า ถ้าจะเรียกว่าสำเร็จ มันคือเมื่อมีคนนำโปรเจ็กต์เหล่านี้ที่พี่กุลทำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน รวมถึงมีการปรับปรุง พัฒนา และส่งต่อโมเดลเหล่านี้ออกไปอย่างกว้างขวางขึ้นมากกว่า
ปัจจุบันพี่กุลได้เปิดพื้นที่ภูผาม่าน เพื่อเป็นพื้นที่สนับสนุน Community เพื่อการเปลี่ยนแปลง เป็นพื้นที่กึ่งโฮมสเตย์ท่ามกลางธรรมชาติ เหมาะกับการไปพักผ่อนนั่งซึมซับบรรยากาศ พูดคุยเรื่องชีวิตและการเปลี่ยนแปลงสังคม พี่กุลเล่าว่าอยากให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่สำหรับสนับสนุนเครือข่ายในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรม หรือการมาพักผ่อน โดยเชื่อว่าผู้คนที่มาเจอกันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ได้