ดื่มกาแฟช่วยโลก: greenery. ชวนจิบกาแฟ พร้อมพูดคุยปัญหาสิ่งแวดล้อมจากวิถีบริโภค
กิจกรรมดื่มกาแฟจาก 5 พื้นที่ทั่วประเทศ จัดโดย greenery. ที่จะทำให้การดื่มกาแฟของคุยไม่เหมือนเดิม
ถ้าถามว่า “การที่เราเดินไปสั่งกาแฟสักแก้วเราจะช่วยโลกได้อย่างไร”
ต่างคนก็อาจจะเห็นภาพต่างกันไปหลากหลายแบบ จะด้วยบรรจุภัณฑ์ที่รักษ์โลก นโยบายลดราคาหากนำแก้วมาเอง หรือแนวทางการคัดแยกขยะของร้าน ฯลฯ
แต่สำหรับงาน “ชิมกาแฟ” ที่จัดโดย greenery. จะพาเราไปเข้าใจถึงการ “รักษ์โลก” จากต้นน้ำผ่านการชิมกาแฟ 5 สายพันธุ์ซึ่งมีแนวทางการเพาะปลูกที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง ระหว่างชิมก็มีการนำวงคุยโดยผู้คนในแวดวงกาแฟตั้งแต่ผู้ลิตถึงตัวแทนผู้บริโภค ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องกาแฟ และวิถีบริโภคที่ยั่งยืน
ความปลอดภัยในอาหาร และการปลูกกาแฟรักสิ่งแวดล้อม
เราเปิดบทสนทนากับพี่มะเป้ง food activist แห่ง Sansaicisco และ Slow food Chiangmai มาเล่าข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร ด้วยตัวเลขที่แสดงว่าประเทศไทยนั้นมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นการเกษตรแบบออร์แกนิก นั่นหมายความว่าเกือบ 90% ของอาหารในจานของเรามีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตรสูงมาก เป็นผลมาจากนโยบายกลุ่มส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ ที่สร้างวงจรการปลูกให้สั้นและรวดเร็วเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก จนนำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การชะล้างหน้าดินที่ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ การเผาทำลายซังซากของพืชผลเกิดเป็นปัญหาหมอกควันและมลภาวะทางอากาศตามมา
นั่นจึงเป็นข้อดีข้อแรก ๆ ของการปลูกกาแฟ เพราะตัวกาแฟเองเป็นพืชไร่ที่ไม่จำเป็นต้องมีการเผาทำลาย และเป็นพืชที่ยืนระยะในการปลูกได้ยาวนาน
โดยเฉพาะกับพื้นที่ที่มีการปลูกกาแฟแบบ Shade-Grow หรือการปลูกใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้ร่มไม้ช่วยปกป้องเมล็ดกาแฟจากฝนหรืออุณหภูมิที่ผันผวน ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาศัตรูพืช ยิ่งในช่วงที่อุณหภูมิโลกกำลังผันผวนพุ่งสูงขึ้น ทำให้ศัตรูพืชมีระยะฟักตัวที่สั้นลงจนก่อปัญหาต่อผลผลิตได้
การชิมกาแฟทั้ง 5 ตัวในกิจกรรม จึงเป็นการคัดเลือกเมล็ดจากเกษตกรที่มีวิธีการปลูกแบบ Shade-Grow ที่นอกจากจะให้คุณภาพผลผลิตที่ดีแล้ว ยังเป็นวิธีการปลูกที่ส่งผลต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
Shade-Grow กับการรักษ์โลก
ด้วยหัวข้องาน คำถามของหลาย ๆ คนคงเป็นว่า การดื่มกาแฟมันจะช่วยโลกได้ยังไง (วะ) ตรงนี้อาจคาดเดาไปต่าง ๆ นานา แต่ข้อเสนอกลับเรียบง่ายกว่านั้นอย่างมาก
เนื่องด้วยการปลูกแบบ Shade-Grow จำเป็นต้องปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเลือกปลูกกาแฟลึกเข้าไปในทิวป่า ซึ่งต่างกันกับพื้นที่เพาะปลูกกาแฟเพื่ออุตสาหกรรมที่จะต้องถางป่าให้ได้พื้นที่การปลูกที่มากที่สุด การปลูกแบบ Shade-Grow จึงเป็นวิธีการเพาะปลูกที่แอบอิงอยู่กับการ “มีป่า” มากกว่าการ “ล้มป่า”
และเมื่อเราต้องอาศัยป่าในการช่วยรักษาและพัฒนาคุณภาพผลผลิต นอกจากไม่ทำลายป่าแล้ว เกษตรกรยังต้องคอย “รักษาป่า” ให้อุดมสมบูรณ์ไปพร้อม ๆ กันด้วย นี่ยังหมายถึงหากจะมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเองก็อาจจะเป็นการส่งเสริมการเพิ่มปริมาณป่าและการรักษาป่าควบคู่กันไป
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเพาะปลูกด้วยวิธีแบบ Shade-Grow จึงเหมือนเป็นการผลักความต้องการซื้อไปสู่เกษตรกรผู้ผลิตให้หันมาทำการเพาะปลูกแบบ Shade-Grow และเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้ในเวลาเดียวกัน
ทำไมต้องเป็นกาแฟ
ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย ทอมมี่ คอกาแฟตัวยงเล่าถึงการได้มีโอกาสไปพบเจอพื้นที่การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ที่มีปัญหาตั้งแต่การต้องถางป่าทั้งป่า ถางภูเขาทั้งลูก เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่เพาะปลูก และในวงจรการผลิตแบบดั้งเดิมก็จะมีการส่งเสริมให้ใส่สารเคมีจำนวนมากเพื่อเร่งผลผลิต
ปัญหาของหน้าดินที่โล้นเกลี้ยงไม่ใช่แค่ทัศนียภาพที่ไม่สบายตา แต่หมายถึงความสามารถของการจับตัวกันของหน้าดิน โดยเฉพาะในภูมิประเทศที่ลาดชันแบบพื้นที่เพาะปลูกทางภาคเหนือ ทำให้เมื่อฝนตกก็จะชะล้างหน้าดินออกไปได้อย่างง่ายดาย
การชะล้างของหน้าดิน นั่นหมายถึงคุณภาพดิน สารอาหารในดินที่ถูกชะล้างไปพร้อมกัน เมื่อคุณดินไม่ดีก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเติมสารเคมีเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกชะล้างไป และเมื่อในดินมีสารเคมีทางการเกษตร ก็หมายความว่าการชะล้างจะนำพาสารเคมีเหล่านี้ไหลสู่ที่ลุ่ม แล้วลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในที่สุด ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำ ที่ก็จะถูกดึงไปใช้อุปโภคบริโภคในกิจกรรมชีวิตอื่น ๆ ต่อไป
ทอมมี่มองว่ากรณีนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดกับพืชตระกูลกาแฟ เพราะในอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟให้ได้ผลผลิตปริมาณมาก ๆ นั้น ก็มีการใช้สารเคมีและการถางป่าในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน หมายความว่า “แค่การเปลี่ยนพืชผลที่ปลูก” ยังคงไม่พอตราบใดที่เรายังยืนอยู่ในวิถีการผลิตแบบเดิม
เรื่องนี้จึงอาจจะไม่ใช่เพียงเพราะเป็น “กาแฟ” ถึงแก้ปัญหาได้ แต่มันต้องหมายถึง “วิธีการปลูก” ที่ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
พี่มะเป้งตอบเสริมในประเด็นที่ว่า “ทำไมต้องเป็นกาแฟ” ได้น่าสนใจอีกมุมหนึ่ง คือในปัจจุบันเรานำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ถ้าเอาจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมาวัดกับความต้องการบริโภคกาแฟในประเทศ ยังมีช่องห่างอีก “เกินพอ” ที่เราจะเข้าไปเติมเต็มได้
การส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกกาแฟเพื่อผลผลิตมาตรฐาน Specialty จึงถือว่ายังมีโอกาสเปิดกว้างอยู่ ยิ่งเมื่อเราส่งเสริมวิธีการปลูกแบบ Shade-Grow และวิธีการปลูกที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ให้เกษตรกรได้ ก็จะกลายเป็นการเข้าไปเคาะปัญหาทั้งในแง่เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมพร้อมกันในครั้งเดียว
บริโภคอย่างเข้าใจ
น้ำหวาน ตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจากแม่น้ำกึ๋นเชียงใหม่ ได้แบ่งปันความรู้ในเรื่องการเพาะปลูกกาแฟ ทั้งรายละเอียดการเพาะ การจัดเก็บ การเตรียมดิน ระยะลงทุน รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกษตรกรต้องประสบพบเจอ นั่นยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงความยากลำบากในกระบวนการผลิตกว่าจะกลายเป็นกาแฟหนึ่งแก้ว
การลงต้นใหม่ที่ต้องใช้เวลาเติบโต 3-5 ปีกว่าจะออกผลิตชุดแรก การเตรียมดินอีกหลายเดือนเพื่อให้จุลินทรีย์ป่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแลต้นอ่อนให้เติบโต ปัญหาพื้นที่เพาะปลูกที่ลาดชันเหมือนเป็นการจำกัดพื้นที่เพาะปลูกให้ขยายพื้นที่ได้ยาก ยิ่งหากเราต้องการให้ผลผลิตมีคุณภาพก็จำเป็นต้องเว้นระยะห่างระหว่างต้น ทำให้ปริมาณที่ปลูกได้ต่อพื้นที่น้อยลงไปอีก พอได้ฟังรายละเอียดระดับนี้ก็เหมือนทำให้เราพอเห็นภาพว่าทำไมเมล็ดกาแฟไทยดี ๆ ถึงแพงกว่าเมล็ดนำเข้าจากต่างประเทศขนาดนั้น
ทำให้เห็นว่า แม้เราจะมองการปลูกกาแฟแบบ Shade-Grow ว่ามีตลาดที่กำลังจ่ายสูงขึ้น ขายได้แพงขึ้น แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ขายได้ เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนและความเสี่ยงอยู่มาก มากจนรู้สึกว่าในความเป็นจริงแล้วเราสามารถปลูกพืชอื่น ๆ หรือแม้แต่ปลูกกาแฟแบบอื่นเพื่อหาเงินอย่างเดียวก็น่าจะง่ายกว่า
เราอาจจะมองว่าการรักษาป่าก็เป็นผลประโยชน์ของตัวเกษตรกร เป็นกำไรของเกษตรกร แม้มันจะช่วยรักษาป่าแต่ก็เป็นเกษตรกรเองที่ได้ผลตอบแทนจากจุดนี้ มีเหตุผลอะไรที่ต้องจ่ายแพงขึ้นทั้งที่อีกฝ่ายก็ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง
แต่มองกลับกันว่าถ้าในวิถีบริโภคปัจจุบันของเรา ได้ช่วยผลักและส่งเสริมอัตราการทำลายป่า อัตราการใช้สารเคมีในดิน และอัตราการเพิ่มขึ้นของมลภาวะตลอดอยู่แล้ว การจ่ายเงินแพงขึ้นตรงส่วนนี้ก็เหมือนเป็นต้นทุนที่เรา “จ้าง” ให้คนปลูกกาแฟช่วยดูแลป่า เพื่อทดแทนวิถีการบริโภคอื่น ๆ ที่เราส่งเสริมการทำลายสิ่งแวดล้อมมาก่อน ถ้ามองแบบนี้ก็อาจจะไม่ได้เป็นราคาที่แพงเกินจริงอะไรขนาดนั้น
การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้กับ greenery. จึงเหมือนเป็นการช่วยเสริมสร้างการบริโภคอย่างเข้าใจ ช่วยลดอคติและเสริมแรงให้ผู้บริโภคอย่างเราสนับสนุนกาแฟจากกระบวนการปลูกที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีต้นทุนที่สูงกว่ากาแฟทั่วไป แต่เราสามารถตอบได้ว่าเรากำลังบริโภคสิ่งเหล่านี้ด้วยคุณค่าแบบใด
ช่วงหนึ่งพี่มะเป้งสะท้อนปัญหาของผู้บริโภค ที่เมื่อเราขาดความเข้าใจบางแบบอาจทำให้เรา “เรียกร้อง” จากผู้ผลิตโดยขาดบริบท เช่น ในบางพื้นที่มีความชุ่มชื้นสูง มีแดดน้อย ก็เป็นไปได้ยากที่จะมีผลิตภัณฑ์แบบ Dry process ที่ต้องใช้เวลาในการตากจนกว่าเมล็ดจะแห้ง ในขณะที่บางพื้นที่มีปัญหาที่คุณภาพน้ำก็ยากที่จะมีผลิตภัณฑ์แบบ Washed process ที่ต้องอาศัยน้ำปริมาณมากในการผลิด ซึ่งพอเราขาดความเข้าในส่วนนี้ เราก็จะบริโภคเหมือนเป็นเพียงการเลือกซื้อสินค้าที่ต้องตามใจคนซื้อทั้งที่ผู้ผลิตเองต่างมีข้อจำกัดเป็นอุปสรรคสำคัญ
พี่มะเป้งแอบเล่าว่า เวลาที่แกเดินทางไปส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนวิธีการปลูกกาแฟคุณภาพมาตรฐาน Specialty เปลี่ยนการปลูกเป็น Shade-Grow และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น สิ่งแรก ๆ ที่ต้องทำคือการลดจำนวนต้นกาแฟเพื่อเพิ่มระยะห่างให้กาแฟเติบโตได้เต็มที่ เฉลี่ยคร่าว ๆ จะต้องริดต้นกาแฟออกจากเดิมมากถึง 2 ใน 3 ส่วน และแม้ในอนาคตกาแฟเหล่านี้จะได้รับผลผลิตที่อาจมีราคาสูงขึ้นหลายเท่า แต่ในระหว่างนั้นหมายความว่าเกษตรกรต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่ไม่ต่างจากเดิมหรือเพิ่มขึ้น ด้วยรายได้ที่ลดลง ทำให้สิ่งที่พี่มะเป้งมักจะทำคือการรับซื้อเมล็ดกาแฟเหล่านั้นในราคาที่สูงกว่าคุณภาพในปัจจุบัน โดยมองว่าส่วนนี้เป็นส่วนที่เราต้อง “แบกรับร่วมกัน” จนกว่ามันจะยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตัวเอง
การบริโภคอย่างเข้าใจ จึงไม่ได้หมายถึงแค่การบริโภคกาแฟโดยเข้าใจแหล่งที่มา เลือกเฉพาะที่ปลูกแบบ Shade-Grow เพื่ออนุรักษ์แวดล้อม แล้วคาดหวังผลผลิตที่ดีที่สุดเพราะเชื่อว่าเมื่อจ่ายแพงกว่าก็ย่อมต้องได้ของที่ดีกว่า
แต่อาจหมายรวมถึงการที่เรา “ยอมจ่ายแพงกว่า” ด้วยความเข้าใจว่า พวกเรากำลังร่วมกัน Contribute อะไรให้กับสังคม และวันหนึ่งสิ่งนี้มันจะคุ้มค่ากับสิ่งที่เราลงทุนไปอย่างไร
อ่านและชมภาพบรรยากาศงานเต็ม ๆ ได้ที่ greenery.org