อันอ้อยตาลหวานลิ้นไม่สิ้นซาก: Greenery Journey พาไปชิมรสหวานจากธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติ
เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรม Greenery Journey รสหวานจากธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนวิถีบริโภคที่สนับสนุนชุมชนและส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ครั้งที่ 2 แล้วกับ Greenery Journey ครั้งก่อนไปชิมกาแฟ ครั้งนี้ไปชิมน้ำตาลและอาหารที่ใช้น้ำตาลธรรมชาติ บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นคนแบบไหน
โดยครั้งนี้ Greenery พาเราไปชิมน้ำตาลจากกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ในกิจกรรม Greenery Journey รสหวานจากธรรมชาติ มีวิทยากรมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเล่าเรื่องน้ำตาล ตั้งแต่เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ จนถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมน้ำตาลในปัจจุบัน และบทบาทของผู้บริโภคต่อการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่
เป็น “น้ำตาล” เพราะใช้ “ตาล”
จริง ๆ เป็นเรื่องที่เรียบง่ายมาก เพียงแต่คิดว่าคนน่าจะหลงลืมกันไปมากแล้ว อาจารย์ต้น และพี่แน็กจึงชวนเรามาระลึกความหลังถึงที่มาของชื่อ “น้ำตาล” ที่ในปัจจุบันเราจะคิดถึงผลิตภัณฑ์จากอ้อยเป็นหลัก แต่ในอดีตค่อนข้างตรงไปตรงมาว่าถูกเรียก “น้ำตาล” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จาก “ตาล”
พูดถึง “ต้นตาล” หลายคนคงเริ่มนึกภาพไม่ออก ตาลเป็นพืชตระกูลปาล์มที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วประเทศ มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับตาลย้อนกลับไปไกลถึงสมัยการค้าทางไกลก่อนประวัติศาสตร์ และมีการบันทึกอยู่บนศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง จึงอาจกล่าวได้ว่าการทำน้ำตาลจากต้นตาลในพื้นที่นั้นมีมาเนิ่นนานหลายร้อยปีแล้ว และหากอนุมานจากชื่อ ตาลน่าจะเป็นแหล่งความหวานหลักที่ได้รับความนิยมในแถบนี้
แต่ไม่ได้หมายความว่าตาลเป็นแหล่งน้ำตาลเดียวที่คนใช้ เพราะก็มีการใช้น้ำตาลจาก น้ำตาลลูกชก รวมถึงน้ำตาลอ้อยเองก็มีบันทึกทางประวัติศาสตร์เอาไว้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปของน้ำตาลฟอกหรือโครงสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างในปัจจุบัน อาจารย์ต้นเล่าเกร็ดว่าในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ที่ทำน้ำตาลจาก ก็มีคำเรียกต้นจากว่าเป็น “ตาล” สะท้อนว่าแนวคิดเรื่องความหวานมาจากตาลเป็นวัฒนธรรมร่วมขนาดใหญ่มาก่อนเนิ่นนาน
การที่ทุกวันนี้เมื่อพูดถึง “น้ำตาล” แล้วคนนึกถึง “อ้อย” จึงหมายถึงการเข้ามาแทนที่ของ “วิธีคิดอื่น” เป็นภาพความพ่ายแพ้ทางวัฒนธรรมคิดที่เราไม่ได้ระแวดระวังว่ามีบางอย่างกำลังควบคุมเราในระดับจุลภาค และกำหนดวิถีบริโภคของเราผ่านสิ่งนี้
กินน้ำตาลอุตสาหกรรมไม่ดีอย่างไร
ถ้าเป็นสายสุขภาพ เราก็คงพูดถึงเรื่องพวกนี้ในแง่ของการกินน้ำตาลต้องเท่ากับไม่ดีต่อสุขภาพ แต่อาจารย์ต้นชวนเรามองให้เห็นถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกันเป็นโครงข่ายที่ใหญ่ขึ้น ที่มากกว่าแค่สิ่งที่ตัวเราได้รับโดยตรง
สาเหตุการเปลี่ยนมาใช้อ้อยในการผลิตน้ำตาลเป็นเรื่องของกำลังการผลิตเป็นส่วนใหญ่ เพราะอ้อยให้ปริมาณน้ำตาลมากกว่า เป็นพืชที่ปลูกได้ง่ายกว่าแหล่งน้ำตาลอื่น ๆ และปลูกได้บ่อยกว่า เทียบกับต้นตาลที่ต้องรอระยะเวลาโตระดับ “พ่อปลูกให้ลูก” และยังต้องมีทักษะการปีนป่าย การจัดการ และอีกหลากหลายอย่าง การทำน้ำตาลอ้อย จึงเป็นพื้นที่ทางอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้น
สิ่งที่ตามมาของแนวคิดนี้ คือการเกณฑ์กำลังคนมาใช้งานในไร่อ้อย เกิดการค้าทาสคนดำในอเมริกา การกดขี่แรงงานในพื้นที่เพาะปลูก อย่างในบ้านเราก็มีการใช้แรงงานเพื่อนบ้านมาทำงานในไร่ ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้ามาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้รับสิทธิ ความคุ้มครอง เพราะผู้ว่าจ้างต้องการลดต้นทุนและความรับผิดชอบให้น้อยที่สุด
หลายครั้ง ตัวผู้ว่าจ้างหรือเกษตรกรก็เป็นผู้ถูกกดขี่เสียเอง จากระบบโควต้า การบังคับกำหนดคุณภาพราคาโดยโรงรับซื้อ เกษตรแบบพันธะสัญญาที่ผูกขาดสิทธิ์การค้าขายไว้ที่นายทุนเพียงฝ่ายเดียว การผลักภาระต้นทุนให้เกษตรกร จนนำมาสู่การใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อดิน ถูกชะล้างลงแหล่งน้ำธรรมชาติ การเผาเพื่อลดต้นทุนการเก็บเกี่ยวและยืดอายุผลผลิตสำหรับกระบวนการรอขาย นอกจากการเผาจะส่งผลต่อคุณภาพอากาศแล้ว หากคิดต่อไปอีกกระบวนการขนส่งไปขายก็เพิ่มปริมาณคาร์บอนมหาศาล ส่งผลสืบเนื่องไปถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างถนนพัง และอุบัติเหตุจากการกดขี่แรงงานคนขับรถให้ต้องขับแบบหามรุ่งหามค่ำ เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสารพัด
แม้ท่อนหลัง ๆ จะเป็นผมคิดเพ้อไปเองเสียส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่อาจารย์ต้นชวนกันมาตระหนักคือทุกครั้งที่เรากินน้ำตาลฟอกขาว เรากำลังมีส่วนในการส่งเสริมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องในสังคม และหากเราปล่อยให้ความหมายของน้ำตาลถูกผูกขาดโดยทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น เราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งเหล่านี้โดยที่เราไม่รู้ตัว
การกินน้ำตาลด้วยกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม หรือกินน้ำตาลธรรมชาติจากชุมชน จึงเป็นการกระตุ้นเตือนเราให้ระลึกได้อยู่เสมอว่า น้ำตาลนั้นมีความหลากหลาย ไม่ได้มีเพียงน้ำตาลจากอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว
น้ำตาลไทย ไม่ชิมไม่รู้
แล้วก็มาถึงไฮไลท์สำคัญของงาน คือการลองชิมน้ำตาลจาก 9 แหล่ง ที่มีลักษณะเฉพาะโดดเด่นแตกต่างกันไป ความสนุกคือการที่เราได้ลองจดลักษณะเด่นของแต่ละตัวแล้วแบ่งปันกับคนอื่น ๆ มีน้ำตาลจากสุโขทัยและพิษณุโลกที่ห่างกันไม่กี่กิโลเมตรแต่มีแนวคิดกรรมวิธีต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ น้ำตาลจากที่ให้ความรู้สึกเหมือนกลิ่นหมัก มีรสหลากหลายวิ่งไปมาในปากสนุกสนาน มีน้ำตาลลูกชกที่หวานติดขมนิด ๆ และน้ำตาลอ้อยจากกระบวนการดั้งเดิมที่แม้จะคุ้นเคยแต่ก็มีมิติที่กว้างขวางขึ้น
ส่วนตัวรู้สึกว่ามันสนุกมาก แม้เป็นคนที่คุ้นเคยกับน้ำตาลหลายแบบมาก่อนแต่ก็ไม่สามารถทัดเทียมกับประสบการณ์ใหม่เหล่านี้ได้ ระหว่างชิมพี่แน็กและอาจารย์ต้นแบ่งปันเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของน้ำตาลแต่ละพื้นที่ การปลูก ลักษณะเด่นที่ได้จากสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาของแต่ละพื้นที่ที่กำลังทำให้น้ำตาลเหล่านี้กำลังจะหมดไป
อาจารย์ต้นเล่าความช่วงหนึ่งว่าอันที่จริงแล้วหากปล่อยให้มันเป็นไป น้ำตาลในพื้นที่เดียวกันแต่ละปีก็จะต่างกัน ปีไหนน้ำมาก น้ำน้อย แดดเยอะ แดดน้อย แดดแรง หรือมีภัยพิบัติ หากเราสามารถประยุกต์ใช้วิธีคิดแบบไวน์ปีต่าง ๆ มาใช้กับน้ำตาลได้คงจะดีไม่น้อย ลองนึกว่าเรามีน้ำตาลปีที่อร่อยที่สุดเก็บไว้แล้วมีคุณค่าแบบเดียวกับของหรูหราอื่น ๆ จะน่าสนุกแค่ไหน
และแม้ต้องยอมรับว่ามันคงไปไม่ถึงจุดนั้น แต่การจะปล่อยให้น้ำตาลเหล่านี้ล้มหายตายจากก็เป็นเรื่องน่าเศร้า และเป็นความเสียโอกาสของผู้คนที่จะถูกกำหนดรสชาติให้รู้สึกอยู่เพียงไม่กี่อย่าง เมื่อคิดว่ากินน้ำตาลก็ต้องหวานเพียงอย่างเดียว น้ำตาลเค็มน้ำตาลขมจะเป็นไปได้ยังไง การถูกจำกัดอิสรภาพในการลิ้มรสนี้เองที่เป็นความเสี่ยงในการทำให้ผู้คนถูกควบคุมวิถีชีวิตวิถีบริโภคโดยไม่รู้ตัว อิสรภาพแรกที่เราควรทวงคืนกลับมาจึงเป็นอิสรภาพที่เราจะได้เลือกลิ้มรสชาติที่หลากหลาย
แล้วเราในฐานะผู้บริโภคจะทำอย่างไรได้บ้าง อาจารย์ต้นก็เสนอวิธีที่โคตรจะ practical คือเริ่มจากการระลึกอยู่ตลอดว่ามันมีทางเลือกอื่น ๆ แล้วค่อย ๆ ขยับตัวเองเข้าไปหาสิ่งนั้น อาจจะเริ่มจากการกล้าที่จะลองชิม เพิ่มความหลากหลายให้การกินของตัวเอง บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ต่อออกไปให้คนรู้จัก
อีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยอย่างมากในการทำภาพนี้ให้สมจริงคือการที่เราลองหัดทำอาหาร เริ่มจากค่อย ๆ ทำสิ่งง่าย ๆ เดือนละครั้ง อาทิตย์ละครั้ง จนเราเริ่มคุ้นชินกับการทำอาหารมากขึ้น ทำได้บ่อยขึ้น และทำอาหารที่ซับซ้อนขึ้น เมื่อเราเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นคนทำอาหาร เราก็จะมีเหตุผลในการซื้อน้ำตาลประเภทอื่น ๆ มาใช้ เป็นการสร้างอุปทานให้ตัวผลิตภัณฑ์ไปพร้อมกัน
สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้ จึงเป็นการพยายามในการผลักตัวเองให้เปลี่ยนวิถีบริโภค ให้ก้าวพ้นจากแนวคิดเรื่องการได้มาซึ่งอาหารผ่านการซื้อขาย สร้างความเชื่อเราเป็นผู้ผลิตอาหารได้เองและไม่ผูกติดตัวเองอยู่กับวิถีบริโภคที่เอื้อให้ผู้คนถูกจำกัดความสามารถในการกิน
สิ่งที่ muse เรามาก ๆ ในส่วนนี้คือการผลักดันให้คนสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่จุดที่เล็กที่สุด ไม่กดดันบีบคั้นให้ต้องข้ามมาจับสิ่งที่ใหญ่เกินมือหรือหนักเกินแรง หากแนวคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้กับทุกการเปลี่ยนแปลงได้ เราจะมีคนที่พร้อม contribute เพื่อการเปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนมาก และมากขึ้น เข้มข้นขึ้นในอนาคต
ลิ้มรสให้รู้ราก
พี่แน็กเล่าถึงที่มาของโปรเจ็คที่นำพาเขาไปใช้ชีวิตอยู่กับผู้ผลิตน้ำตาล พูดถึงปัญหาการสิ้นสุด Generation ของคนทำน้ำตาล และความเสี่ยงในการสูญหายของกรรมวิธีทำน้ำตาลแบบท้องถิ่นดั้งเดิม เล่าถึงว่าพี่ ๆ น้า ๆ ชวนให้มาทำน้ำตาลต่อจากพวกเขาไหม เพราะหมดรุ่นเขาก็น่าจะไม่มีใครทำแล้ว
พี่แน็กเล่าว่าส่วนตัวเองถ้าให้ทำน้ำตาลก็อาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ใจก็ไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้หายไป จึงเกิดเป็นโปรเจ็คที่อยากบันทึกเรื่องราวของคนทำน้ำตาล และกระบวนการทำน้ำตาลเหล่านี้เอาไว้ เพื่อเป็นภูมิปัญญาที่จะสามารถส่งต่อไปสู่ลูกหลานในอนาคตได้
สิ่งที่ลิ้มรสให้รู้รากกำลังทำ จึงถือเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญให้ผู้คนได้เห็นภาพว่า การ contribute หลาย ๆ อย่างนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของการทำสิ่งนั้น ๆ โดยตรง แต่คือการมองหาความเป็นไปได้ ทางออกอื่น ๆ ที่พอดีมือพอดีแรงของเราในการสนับสนุนสิ่งเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อ หากเรามองแบบนักขับเคลื่อนยุคเก่า เราคงต้อง sacrifice ชีวิตตัวเองลงมาทำน้ำตาลเพื่อสืบทอดสิ่งนี้ไว้ให้คงอยู่ โดยต้องละทิ้งความฝัน ความหวัง และวิถีชีวิตบางอย่างไปโดยเชื่อมั่นใน “ความดี” ที่เรากำลังทำ ก่อนจะแตกกระสานกันไปเมื่อภาวะหมดไฟมาเยือน แล้วสิ่งนั้นก็สูญสิ้นไปในท้ายสุด
การทำงานของลิ้มรสให้รู้ราก จึง muse เราอย่างมากในแง่ที่กำลังยืนยันว่า เราควรมีวิธี contribute ต่อประเด็นที่เราสนใจได้อย่างหลากหลายรอบด้าน เป็นวิธีการที่เราสามารถเลือกได้อย่างสอดคล้องกับกำลังและแนวคิดของตน โดยไม่ต้องแล่เนื้อเถือหนังตัวเองในนามความเสียสละ
ก็ต้องย้ำอยู่บ่อย ๆ ว่าส่วนตัวแล้วไม่ใช่สายสิ่งแวดล้อมแบบเต็มลูก แรงบันดาลใจหลัก ๆ ของการร่วมกิจกรรมจึงเป็นการออกสำรวจและเพิ่มพูนประสบการณ์ของตัวเองให้มากขึ้น การมาร่วมงาน Greenery Journey ครั้งนี้จึงเป็นอะไรที่เกินความคาดหมายที่เรารู้สึกเหมือนการมาทำงานชุมชน ทำงานพื้นที่ ผ่านการส่งต่อองค์ความรู้ของคนทำงานในประเด็นดังกล่าวโดยตรง เมื่อเรามองไปที่สิ่งแวดล้อมเราจึงไม่ได้มองเห็นมันแบบแห้ง ๆ แต่ชุ่มฉ่ำไปด้วยเรื่องราวของผู้คน เวลาพูดเรื่องสุขภาพก็ไม่ใช่เรื่องสุขภาพแบบแบน ๆ แต่มีมิติด้วยเรื่องราวของโครงสร้างสังคมที่โอบปัญหาไว้อีกชั้นหนึ่ง
ข้อดีที่สุดของ Greenery Journey คือเหล่าวิทยากรที่เป็นคนจริง ของจริง ที่มาแบ่งปันเรื่องราวให้เราจริง ๆ แบบไม่มีหมกเม็ด เราจึงจะไม่ได้รับรู้แค่เรื่องราวชวนฝันหรือโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นภาพการแบ่งปันความฝันและความหวังที่อยากจะเห็นสังคมเป็นที่ที่ดีขึ้นไปด้วยกัน
เป็นเสน่ห์แบบที่หากมีโอกาสก็ยังอยากจะไปอีก
.
.
เครดิตภาพ: www.greenery.org