พี่อั๋ง hostel บ้านก๋ง : ผู้อยากผลักดันตะกั่วป่าให้กลายเป็นเมืองที่คนหนุ่มสาวอยากกลับบ้าน
พอมานึกดูดี ๆ ก็พบว่าจริง ๆ แล้วส่วนตัวมีความเชื่อมโยงกับภาคใต้ไม่มากนัก มากสุดคือโดนลากไปเที่ยวทะเล แล้วเราก็เห็นภาคใต้เป็นเรื่องทำนองนี้มาตลอด
จนครั้งนี้ได้มีโอกาสไปพัก hostel ในเขตเมืองเก่าของอำเภอตะกั่วป่าแล้วได้พูดคุยกับ พี่อั๋ง เจ้าของ Hostel บ้านก๋ง วิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ผันตัวเองเป็นเกษตรกรเต็มเวลา และสนใจการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน พอเริ่มได้คุยกันมากขึ้นแล้วรู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านี้น่าจะถูกบันทึกไว้
เริ่มต้นคุยกับพี่อั๋งเกี่ยวกับความทรงจำต่อพังงาในสมัยอดีต ไล่เลียงไปถึงความฝันเมื่อครั้งก่อนพี่อั๋งเคยฝันว่าอยากจะทำเกมเป็นของตัวเอง เป็นแพสชันหลักจนถึงขนาดทำเป็นตัวจบตอนสมัยมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบันพี่อั๋งก็ยังเล่นเกมอยู่อย่างต่อเนื่อง เท่าที่ได้พูดคุยกันนี่ถือเป็นคอเกมตัวยงอีกหนึ่งคน
พี่อั๋งเล่าว่าตอนแรกตัดสินใจจะเอาดีด้านงานคอมพิวเตอร์ให้สุดทางจนสามารถมีบริษัทเกมเป็นของตัวเองได้ แต่ฝันนี้ก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะพี่อั๋งถูกเรียกตัวกลับมาจากบริษัทปูนซีเมนต์ที่ระยองเพื่อช่วยดูแลก๋งและยายที่ป่วยและเริ่มอายุเยอะขึ้น
เมื่อต้องกลับบ้าน ภารกิจหลักของพี่อั๋งคือการดูแลคนแก่ เป็นการดูแลในระดับที่ต้องทุ่มเทพลังแบบเต็มเวลา
พี่อั๋งเล่าว่าเมืองตะกั่วป่าในความทรงจำเคยเป็นเมืองที่เงียบสงบ แต่เมื่อได้กลับมาหลังผ่านไปยี่สิบปีก็พบว่าจริง ๆ มันเป็นเมืองที่ค่อนข้างเงียบเหงา แกต้องหนีความเบื่อหน่ายด้วยการหาอะไรทำไปพลาง ๆ โดยเริ่มจากการสอนพิเศษนักเรียนมัธยม ก่อนก้าวแรกของการเดินทางเข้าสู่งานพัฒนาชุมชนจะเริ่มต้นขึ้น
จุดเริ่มต้นของพี่อั๋งเริ่มจากถนนคนเดินเขตเมืองเก่าตะกั่วป่า ที่เป็นการรวมตัวกันของคนในชุมชนเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวในพื้นที่ พี่อั๋งเล่าว่าตอนแรกสุดเริ่มจากการไป “ยกของ” ช่วยพ่อค้าแม่ขายที่จัดตลาด แกเล่าว่าเป็นพี่ ๆ ป้า ๆ สูงอายุ ดูจะยกแผงยกของข้ามถนนลำบากเลยอาสาเข้าไปช่วย จากยกของช่วยก็กลายเป็นช่วยยกนั่นยกนี่ในการจัดตลาด ก่อนถูกผลักดันให้ร่วมประชุมกับทีมจัดถนนคนเดิน แล้วกลายเป็นประธานกลุ่มในเวลาต่อมา
ก็เลยชวนให้สงสัยว่า แล้วทำไมพี่อั๋งถึงตัดสินใจไปเป็นจิตอาสาตั้งแต่แรก ก็เลยได้พูดคุยกันถึงความเกี่ยวพันกับจิตอาสามาต่อเนื่อง พี่อั๋งเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ที่เวลาจะชวนเพื่อนไปเล่นด้วยกันแล้วเพื่อนต้องล้างจานต้องทำงานบ้านนั่นนี่ พี่อั๋งก็จะอาสาเข้าไปช่วยทำ เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้นแล้วได้ไปเล่นกันไวขึ้น
พอเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย พี่อั๋งก็ได้มีโอกาสไปร่วมค่ายอาสาต่าง ๆ แต่แอบเล่าว่าเพราะตอนนั้นอยากสัมผัสฟิลโรแมนติก ตกหลุมรักกันในค่ายอะไรทำนองนั้น แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ได้รับกลับมาคือความรู้สึกเข้มข้นต่อการทำงานจิตอาสา จนเมื่อครั้งที่ทำงานบริษัทที่จังหวัดระยอง ก็ได้รวมตัวกับเพื่อนประมาณสิบคน เปิดรับบริจาคแล้วรวมตัวกันขึ้นไปทำงานจิตอาสาในพื้นที่ขาดแคลนในนาม “คนคืนคอน”
พี่อ๋งเล่าด้วยความภูมิใจว่าครั้งแรก ๆ เป็นการรวมตัวทำกันเอง เริ่มจากสิบกว่าคน แล้วพอปีต่อ ๆ มาก็เริ่มมีคนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายโปรเจ็กนี้กลายเป็นงาน CSR ที่ทางบริษัทต้องเข้ามาสนับสนุน แกเล่าเสริมว่าในปีท้าย ๆ ที่แกไปจัดกิจกรรม จากสิบคนรถกระบะสองคัน กลายเป็นรถบัสห้าคันเลยทีเดียว และเมื่อลองไปสืบค้นดูก็พบว่า “คนคืนคอน” ยังเป็นโปรเจ็กที่ขับเคลื่อนกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
พี่อั๋งเล่าประสบการณ์ถึงการทำงานจิตอาสาในลักษณะดังกล่าว ว่าเปลี่ยนมุมมองของแกไปหลายอย่าง เริ่มจากการแจกของที่อาจจะเริ่มต้นด้วยการขึ้นไปแจกแบบไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พบว่าสิ่งเหล่านี้มันทำประโยชน์ให้กับคนเหล่านั้นได้จริง ๆ แจกอุปกรณ์กีฬาแล้วเด็กได้มีกิจกรรมในการใช้เวลาว่างเพิ่มขึ้น เคยบริจาคคอมพิวเตอร์ที่ปลดระวางจากบริษัทส่งต่อไปให้ชุมชน ในตอนนั้นชุมชนถึงกับจัดงานเลี้ยงต้อนรับเพื่อขอบคุณ นั่นทำให้พี่อั๋ง “อิน” ต่อ “การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” มาตลอด
ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็น “ประตู” ที่เปิดไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ของชีวิต
ด้วยความที่เป็นคนชอบช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ ทำให้ครั้งหนึ่งเมื่อตอนที่มีคณะทำงานเรื่องสถาปัตยกรรมเมืองเก่าเข้ามาทำงานในพื้นที่ พี่อั๋งก็ได้เข้าไปช่วยดูแลรับส่ง ซื้อข้าวซื้อน้ำไปสนับสนุนคณะทำงาน จนสุดท้ายก็ถูกบรรจุชื่อเป็นหนึ่งในสมาชิกดูงานที่ประเทศด้านสถาปัตยกรรม
หรืออย่างครั้งที่ได้มีโอกาสไปช่วยเปิดสไลด์บรรยายให้อาจารย์ สมโชติ อ๋องสกุล ที่ทำงานด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก็กลายเป็นโอกาสให้พี่อั๋งได้พูดคุยแลกเปลี่ยน และซึมซับแนวคิดการทำงานด้านท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน และต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปพร้อม ๆ กัน
สิ่งเหล่านี้ประกอบรวมกันเป็นก้าวสำคัญ ที่ทำให้พี่อั๋งอยากผลักดันเมืองตะกั่วป่าให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวิถีและธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับทั้งคนมาเที่ยวและคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่
เราชวนพี่อั๋งคุยย้อนกลับมาเล็กน้อย เพราะหลังจากฟังเรื่องราวตั้งต้นของพี่อั๋งแล้ว สิ่งที่ชวนให้สงสัยคือ “แล้วอะไรเป็นสิ่งที่อั๋งเห็นว่าเป็นปัญหา” แค่ทำเพราะตัวเองเบื่อเหรอ หรือเพราะต้องการผลักดันเศรษฐกิจในชุมชน (ซึ่งก็มีบางช่วงที่พี่อั๋งเล่าว่าคนแถวนี้บางคนก็มีเงินเยอะ) เลยได้ชวนพี่อั๋งพูดคุยถึงส่วนที่น่าจะเป็น pain point ที่สะกิดใจให้พี่อั๋งต้องลุกขึ้นมาผลักดันเรื่องดังกล่าว
พี่อั๋งเริ่มจากความรู้สึกของตัวเองในช่วงแรก ๆ ที่กลับบ้าน ที่รู้สึกว่าเมืองตะกั่วป่ามันเป็นเมืองที่เงียบเหงา และไม่ได้มีอะไรให้ทำมากนัก ซึ่งนี่เองที่อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปยังคนตะกั่วป่าจำนวนมากที่ต้องไปทำงานไกลบ้าน ด้วยความไม่คึกคักของเมือง นั่นหมายถึงจำนวนงานที่ไม่เพียงพอต่อผู้คน นั่นจึงเป็นการผลักคนออกจากเมืองโดยธรรมชาติ และนั่นทำให้เมืองที่ไม่คึกคักยิ่งซบเซาลงไปอีก
โจทย์แรก ๆ ของพี่อั๋งจึงเป็นเรื่องทำยังไงให้คนรู้สึกอยากกลับบ้าน เกิดเป็นโปรเจ็ก Takuapa My Home พิพิธภัณฑ์มีชีวิตใจกลางย่านเมืองเก่าที่จัดขึ้นเพื่อรวบรวมและจัดแสดง “เมืองตะกั่วป่า” ให้ผู้คนได้ซึมซับในช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก
ความน่าสนใจแรกของโปรเจ็กนี้ คือการระดมทุนเป็นการขายเสื้อและทอดผ้าป่า ซึ่งมีพลังมากพอในการจัดงาน โดยในครั้งที่สองพี่อั๋งเล่าว่าระดมทุนจนสามารถจ้างเอเจนซี่มาช่วยดำเนินงานได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ชวนประหลาดใจมาก ๆ เพราะส่วนตัวแล้วถ้าคิดถึงการทำงานชุมชนในระดับประมาณนี้ ภาพแรกที่อยู่ในหัวก็ต้องเป็นการขอสนับสนุนจากแหล่งทุนหรือองค์กรรัฐ มากสุดก็ได้รับการสนับสนุนจากห้างร้านธุรกิจต่าง ๆ
แล้วพอถามว่าทำไมถึงเป็นช่วงนั้น ก็ได้คำตอบว่าลักษณะเด่นของเมืองตะกั่วป่านั้นคือเทศกาลที่คนจะเดินทางกลับบ้านพร้อมกันเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ใช่ช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์แบบหลาย ๆ พื้นที่ แต่เป็นช่วงถือศีลกินผักนี่แหละ อีกทั้งการจัดงานในลักษณะนี้ยังเป็นการเพิ่มสีสันให้ตัวเทศกาล ซึ่งจะกลายเป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และจะส่งผลต่อไปถึงภาพความคึกคักของเมืองเมื่อคนหนุ่มสาวที่กลับมาบ้านได้พบเห็นด้วย
Takuapa My Home เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 และจัดต่อเนื่องอีกครั้งในปี 2558 ซึ่งในครั้งหลังนั้นถือเป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
แม้ในปัจจุบันตัวโปรเจ็กจะเหมือนพักไปแล้ว เนื่องด้วยความจำเป็นและวิถีชีวิตของทีมงาน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทางทีมรู้สึกว่าสามารถวางมือได้อย่างสบายใจ คือการที่หลังจากนั้นเขตเมืองเก่าก็กลับมาคึกคักมากขึ้น เริ่มมีคาเฟ่ มีร้านอาหารเปิดตามมุมต่าง ๆ จากที่ตอนแรกบ้านทุกหลังแทบจะปิดเงียบ
แต่งานก็ยังไม่เสร็จ พี่อั๋งเล่าต่อว่านี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เป้าหมายในการผลักดันชุมชนก็เหมือนกับการ upgraded job ในเกม (ยังอ้างอิงเกมอยู่ตลอดบทสนทนา) เพราะในส่วนงานที่มองภาพใหญ่ขึ้นก็เป็นงานที่ยังคงต้องผลักดันกันต่อ
นั่นจึงเป็นเหตุผล ที่ในปัจจุบันพี่อั๋งกำลังรวบรวมผู้คนที่สนใจจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมาย เพื่อเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนงานผลักดันการท่องเที่ยววิถีชุมชนและท่องเที่ยวเชิงนิเวศในตะกั่วป่า
ความฝันครั้งใหม่
หลังจากฟังเรื่องราวมาทั้งหมด คำถามที่ได้ถามต่อไปคือ “แล้วความฝันเรื่องเกมพี่อั๋งยังอยู่ไหม”
แม้จะพูดคุยกันด้วยภาษาเกมมาเกือบตลอดทั้งบทสนทนา แต่พี่อั๋งก็ยืนยันว่ามันเป็นฝันในอดีตไปแล้ว และอาจจะจบไปตั้งแต่ตอนที่ตัดสินใจว่าต้องกลับมาอยู่บ้านแล้ว
พี่อั๋งเล่าเสริมว่า อันที่จริงสิ่งที่เล่ามาข้างต้นเป็น “งานเสริม” เพราะจริง ๆ งานหลักคือทำเกษตร เป็นเกษตรกรเต็มตัว แต่เพราะมีความรู้เทคโนโลยี และแนวคิดเรื่องการทำเกษตรแบบใหม่ ทำให้สามารถจัดการเวลาในการทำเกษตรได้ดีจนสามารถมาผลักดันงานเหล่านี้ได้ แถมแม้แต่ในสายเกษตร แกก็ยังเป็นกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติอันดามันที่จังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
ถ้าให้พูดถึงความฝันในปัจจุบัน ด้วยการที่มีครอบครัวและลูกหนึ่งคน (กำลังแพลนจะมีคนที่สอง) พี่อั๋งก็ฝันถึงชีวิตที่มันสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น มีธุรกิจเล็ก ๆ ที่ดูแลตัวเองได้ และสามารถสนับสนุนครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต
และสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อเมืองมันมีชีวิตชีวาขึ้น
พี่อั๋งเล่าว่าภาพฝันต่อเมืองตะกั่วป่าในอนาคต คือเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักและมีชื่อเสียงในระดับเดียวกับพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเขาหลัก และภูเก็ต แต่ขอให้จำนวนคนลดลงสักหลาย ๆ เท่า ไม่ต้องเป็นเมืองที่แย่งกันกินแย่งกันเที่ยว ไม่เป็นเมืองที่แออัด และที่สำคัญต้องไม่ทำลายต้นทุนที่มีอยู่เดิมของพื้นที่ หรือใช้คำที่เราเข้าใจกันว่า “เมืองต้องไม่พัง”
ระหว่างที่คุยกันพี่อั๋งชี้ให้ดูนักท่องเที่ยวสองสามคนที่เดินผ่านไปว่า ภาพฝันคืออยากเห็นภาพแบบนี้ผ่านไปสักสามสี่กลุ่ม ไม่ต้องแน่ขนัดเต็มถนน เป็นเมืองแบบที่คนมาเที่ยวก็ได้อะไรมากกว่าภาพถ่าย และคนที่อยู่ก็ได้อะไรมากกว่าเงิน เมืองแบบที่หากใครได้มาแล้วอยากมาเที่ยวอีก หรืออยากมาอยู่นาน ๆ ซึ่งจะช่วยส่งให้คนที่ต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านได้ย้อนกลับมามองว่าตะกั่วป่ามีศักยภาพในการจะเป็น “ทางเลือก” ของการใช้ชีวิตได้
การรีโนเวทบ้านเก่าของก๋งให้กลายเป็น hostel จึงเหมือนเป็นจุดตัดสำคัญระหว่างความฝันของตัวพี่อั๋ง และความฝันต่อเมืองในอนาคต โดยเชื่อว่าการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนและธรรมชาติจะเป็นกุญแจสำคัญให้ภาพฝันนั้นเป็นจริง