IMPACT CULTURE: เงินไหนรับได้บ้าง
จากกรณี Bangkok Pride ถูกวพากษ์วิจารณ์ถึงการรับผู้สนับสนุนเป็น 7-11 จนเกิดเป็นคำถามต่อประเด็น Rainbow Capitalism แล้วเงินสนับสนุนแบบไหนที่คนทำงานขับเคลื่อนสามารถรับมาจัดกิจกรรมมาสร้างอิมแพคได้บ้าง
กลายเป็นดราม่าที่แผ่วงกว้างออกไปอย่างรวดเร็วกับกรณีที่งาน Bangkok Pride ประกาศรับการสนับสนุนจาก 7-11 ซึ่งมีประเด็นถูกจับจ้องในฐานะการเป็นเครือทุนใหญ่ที่ส่งอิทธิพลต่อปัญหาโครงสร้างหลายอย่างในประเทศ จนเกิดเป็นคำถามว่าในการเฉลิมฉลองการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม การมีองค์กรที่ถูกมองว่าเป็น “ปัจจัย” ในการสร้างความไม่เท่าเทียมมาเข้าร่วมมันเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
ทำไมถึงเป็นประเด็น
ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลา 4-5 ปีย้อนหลัง movement เรื่องความเท่าเทียมทางเพศถูกจุดติดในหมู่ผู้คนอย่างมากในประเทศไทย พิสูจน์ได้จากปัจจุบันมีพื้นที่ร่วมเฉลิมฉลองงาน Pride กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ความเฟื่องฟูนี้เหมือนเป็นไฟท์บังคับให้บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่สนใจเรื่องภาพลักษณ์ทางการตลาดต้องกระโดดเข้ามาร่วมวงเพื่อสร้างการรับรู้ว่าตนเป็นแบรนด์ที่สนใจและสนับสนุนในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ตามมาด้วยการติดโปรไฟล์สีรุ้งในช่วง Pride Month กันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
คำถามที่เกิดขึ้นมาตลอดของประเด็นนี้คือว่า การที่บริษัทห้างร้านเหล่านั้นหันมาสนใจเรื่องนี้เป็นเพราะสนใจความเท่าเทียมทางเพศจริง ๆ หรือเพียงสร้างความรับรู้ทางการตลาดเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าเท่านั้น เราเรียกการพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์จากกระบวนการขับเคลื่อนด้านเพศหลากหลายนี้ว่า Rainbow Capitalism
Rainbow Capitalism กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่นักขับเคลื่อนด้านความหลากหลายทางเพศเป็นกังวลร่วมกันทั่วโลก เพราะหลายองค์กรนอกจากจะพยายามแสดงตัวสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ ตัวนโยบายขององค์กรเองยังเป็นปัจจัยให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมทางเพศอีกด้วย ทำให้ในการจัดกิจกรรม Pride หากไม่มีการประเมินอย่างถูกต้อง ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนขบวนการถูก “ยืมมือ” ไปทำร้ายเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของตน การรับเงินสนับสนุนจากองค์กรห้างร้านต่อการขับเคลื่อนเรื่อง Pride จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องระวังอย่างที่สุด
และเรื่องนี้ยิ่งเป็นประเด็นมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ในกิจกรรม Chiang Mai Pride ได้เกิดกรณีที่มีภาคธุรกิจที่ต้องการแสดงตัวในกิจกรรมแต่ไม่ยินดีจะจ่ายเงินสนับสนุน จนทีมงานต้องออกมาประกาศว่าบริษัทห้างร้านที่ไม่ได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมแต่จะมาหาผลประโยชน์ในขบวนถือเป็น Rainbow Capitalism ที่ยอมรับไม่ได้ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกไปในทางว่า หมายความว่าหากจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรม ก็จะไม่ถือว่าเป็น Rainbow Capitalism แล้วหรือไม่
การเปิดตัวสปอนเซอร์เป็น 7-11 จึงเหมือนเป็น “คลื่นต่อเนื่อง” ทางความรู้สึกของผู้คน ว่าสรุปแล้วทีมจัดซีเรียสเรื่อง Rainbow Capitalism แค่ไหน และขบวนนี้จะเป็นขบวนเฉลิมฉลองความเท่าเทียมหรือเป็นพื้นที่ “ฟอกขาว” ให้กับบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มีเงินแต่ไม่มีอุดมการณ์หรือไม่
กรณีเทียบเคียง มูลนิธิกระจกเงากับน้ำสิงห์
เรื่องนี้ชวนให้คิดถึงความขัดแย้งครั้งหนึ่งในกลุ่มขบวนการขับเคลื่อนเพื่อความเปลี่ยนแปลง เมื่อมูลนิธิกระจกเงาทำแคมเปญติดภาพคนหายไว้บนฉลากน้ำดื่มตราสิงห์ ซึ่งในความรับรู้ถือเป็น “ทุนใหญ่” อีกกลุ่มทุนหนึ่งที่มีประเด็นเรื่องการเป็น “ปัจจัย” ต่อปัญหาโครงสร้างสังคมด้วยเช่นกัน
ในครั้งนั้นแม้ในกลุ่มผู้พบเห็นจะให้เสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ภายในกลุ่มคนทำงานขับเคลื่อนว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ การรับเงินมาทำกิจกรรมจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของตัวสปอนเซอร์หรือเปล่า เรื่องนี้ขยายตัวไปจนก่อเป็นสโลแกน “นักบุญทุนชาวบ้าน” ที่พยายามจะลดทอนว่าการทำงานของมูลนิธิกระจกเงานั้นกลายเป็นงานเพื่อการ PR ทั้งฝั่งสปอนเซอร์และตัวคนทำงานเอง ไม่ได้สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
ในช่วงนั้นเรื่องลุกลามไปถึงว่าหากมูลนิธิกระจกเงาซื้อรถหรืออะไรสักอย่าง ก็จะถูกมองว่าเป็นการซื้อใช้ส่วนตัว เพราะได้รับเงินสนับสนุนจากทุนใหญ่มาเยอะเลยออกรถใหม่ อะไรทำนองนั้นไป
แล้วเราควรเอาเงินมาจากไหน
เมื่อเราบอกว่าเราไม่ควรรับงบ CSR จากบริษัทมาใช้ทำงาน คำถามต่อมาคือแล้วเราจะใช้เงินจากที่ไหนมาสนับสนุนการขับเคลื่อน?
จริง ๆ เรื่องนี้เป็นจินตภาพที่ควรสร้างร่วมกันให้ชัดเจนหากเรามีแนวคิดว่า “เงินแบบไหนควรรับไม่ควรรับ” ไม่งั้นเราจะต้องมานั่งทะเลาะกันในหมู่คนขับเคลื่อนอีกหลายต่อหลายครั้งเเพราะอันที่จริงแล้วเราไม่เคยมี Code of conduct อย่างที่ว่าจริง ๆ
ทุนรัฐบาล
ต้องเป็นทุนที่ขอตรงมาจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว เป็นงบประมาณที่ควรถูกกันไว้เพื่อสนับสนุนงาน Pride โดยเฉพาะ รัฐมีหน้าที่ต้องทำยังไงก็ได้ให้มีทุนก้อนนี้มาสนับสนุน
อันที่จริงหากเรามองกันว่ารัฐควรมี agenda ในการสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเพราะจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ การมองว่างบนี้รัฐบาลต้องสนับสนุนก็ดูจะถูกต้อง
แต่ปัญหาที่จะตามมามีอยู่ว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหน ซึ่งหากดูจากการบริหารจัดการงบในปัจจุบันต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะกันงบจาก พรบ.งบประมาณมาใช้ หรือใช้งบกลางก็น่าจะติดปัญหาหลายขั้นตอน แล้ววิธีที่รัฐจะทำได้ ก็คือต้องขอความร่วมมือจากภาคเอกชน หรือก็คือต้องไปขอเงินจาก 7-11 จาก “ทุนใหญ่” อยู่ดี
แล้วในกรณีแบบนี้เราจะถือว่าเป็น Rainbow Capitalism หรือไม่ หรือพอเป็นเงินมือสองเราก็สามารถใช้ได้โดยไม่รู้สึกแบบนั้น หรือแม้แต่ว่ารัฐมีดีลว่าต้องมีขบวนสำหรับแต่ละสปอนเซอร์ หรือมีโลโก้ติดอยู่ทุกที่ก็จะมองว่ามันไม่ได้เป็นการ “ฟอกขาว” เพราะจริง ๆ เรารับเงินมาจากรัฐบาล ไม่ใช่พวกกลุ่มทุน ประมาณนี้หรือเปล่า
ทุน สสส.
ต้องเป็นเงินงบประมาณที่มาจากการเขียนโครงการเข้าไปแข่งขันกับโครงการอื่น ๆ เพื่อขอทุนจาก สสส. มาจัดกิจกรรมตามครรลองการทำงานขับเคลื่อน
แน่นอนว่า สสส. ถือเป็นแหล่งทุนที่ใหญ่ที่สุดที่มีอยู่ และทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เหล่านักขับเคลื่อนต่างก็รู้ว่าขนาด สสส. มีเงินเยอะขนาดนั้นยังไม่เคยเพียงพอต่อคนทำงานทั่วประเทศ มีโครงการจำนวนมากที่ไม่ได้ไปต่อเพราะข้อจำกัดเรื่องเงินทุน ต้องมานั่งแข่งนั่งประกวดโครงการกันจนเหมือนว่ามีประเด็นสังคมหนึ่งถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าอีกประเด็นหนึ่งอยู่ตลอด
ทำให้ต่อให้เรื่องความเท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นใหญ่ และเป็น agenda หลักจริง ๆ แต่การควักเงินก้อนนี้ออกไปมันก็หมายถึงการลดโอกาสของประเด็นอื่น ๆ และโครงการอื่น ๆ ที่ต้องการใช้เงินก้อนนี้เหมือนกัน และเกิดคนที่ไม่ได้ทุนไปขอทุนนอกก็อาจจะถูกมองว่าไม่ได้ทำเพื่อสังคมจริง ๆ อะไรทำนองนั้นไปอีก
ทุนระหว่างประเทศ - ทุนต่างประเทศ
หากเรามองว่าความเท่าเทียมทางเพศเป็น “ประเด็น” ระดับโลก หมายความว่ากองทุนระดับโลกก็ควรจะมี slot สำหรับการขอทุนเพื่อการจัดกิจกรรมนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือการหาคนที่มีความชำนาญในการประสานทุนต่างประเทศแล้วใช้เงินก้อนดังกล่าวในการจัดกิจกรรมในฐานะ Global Agenda แล้วค่อยไปลุ้นว่าองค์กรเหล่านั้นมีเงินพอจะสนับสนุนทุกประเทศที่ต้องการจัด Pride Parade หรือไม่
กลุ่มทุนที่สนใจประเด็น Queer
หากมองตามประเด็น อาจจะไม่ได้หมายความว่าห้ามรับเงินภาคธุรกิจ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่สนใจและสนับสนุนประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว ท่านี้ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ว่า น่าจะมีกลุ่มทุนใหญ่หรือกลางสักกลุ่มที่ไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “ปัจจัย” ในปัญหาโครงสร้าง และสนใจสนับสนุนงานขับเคลื่อน
สิ่งที่เราต้องทำคือแค่หา “วิธี” มาชี้วัดให้ได้ว่าบริษัทไหนสนใจจริงหรือแค่ Rainbow Capitalism อย่างไม่มีอคติเท่านั้น
รับบริจาคจากคนธรรมดา
งานเพื่อสังคมก็ต้องใช้เงินของคนในสังคม ด้วยการเปิดรับบริจาคจากคนที่สนใจและสนับสนุนประเด็นนี้ คนละเล็กคนละน้อย หากมีแนวร่วมมากก็จะได้เงินมาก เพื่อเป็นการพิสูจน์พลังจากมวลชนไปพร้อม ๆ กัน คนที่บริจาคก็หากอยากให้งานยิ่งใหญ่ อยากอยู่ในสังคมที่มีความเท่าเทียม ส่งต่อแรงกระเพื่อมได้มากก็ต้องบริจาคให้มาก โดยก็ไปหาวิธีจัดการเอาเองว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จะเอาเงินมาจากไหน
ตัดงบประมาณ
เมื่อการหาเงินให้เพียงพอต่อการจัดกิจกรรมดูเป็นไปได้ยาก สิ่งที่ทุนนิยมบอกเราคือให้ลดต้นทุนการผลิตลง ก็ไปตัดลดงบตรงไหนที่ตัดได้ อาจจะตัดพวกงานโปรดัคชัน ตัดงบสวัสดิการคนทำงานให้ดูแลตัวเอง จ่ายค่าเดินทางเอง หรือตัดงบสนับสนุนคนทำงานให้เป็นระบบอาสาสมัครเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าคนเหล่านี้มาอดตาหลับขับตานอนเตรียมงานด้วยใจ ไม่ได้หวังผลประโยชน์ ไม่ใช่เพราะว่าได้เงินสนับสนุนเลยมาทำ ถ้าไม่มีเงินให้ก็ไม่ทำ
ทำไมเราถึงต้องใช้เงิน CSR บริษัทใหญ่
หากมองจากแหล่งทุนที่ลิสต์มาข้างต้น เราจะพบว่าปัญหาใหญ่จริง ๆ คือมันมีไม่กี่แบบที่จะหาเงินสนับสนุนมาได้ ทั้งแบบเพียงพอ หรือแบบพอประทังให้ผ่าน ๆ ไปได้ เพราะในความเป็นจริงเราต่างรู้ว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดตลอดมาของการทำงานขับเคลื่อนคือเงินมันไม่เคยพอ และพอจะมีใครพยายามหาเงินจากทางอื่นก็มักจะถูกตั้งคำถาม เช่น ทำงานให้ต่างประเทศมาทำลายประเทศตัวเองหรือเปล่า ทำงานให้บริษัท ทำงานรับใช้ทุนใหญ่หรือเปล่า ซึ่งยิ่งกลายเป็นการจำกัดกรอบการได้มาซึ่งทุนของคนทำงาน และผลักให้คนทำงานต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองเพื่อแย่งทุนจำกัดที่มีอยู่ไปพร้อมกัน
และเราก็รู้ว่าในปัจจุบันบริษัททุกบริษัทจำเป็นจะต้องมีงบสำหรับทำ CSR (Corporate social responsibility) เพื่อแสดงภาพว่าองค์กรของตนมีความรับผิดชอบต่อสังคม บางบริษัทมีงบส่วนนี้มากถึงหลักหลายสิบล้าน (หรืออาจมากกว่า) แต่ในขณะเดียวกันเงินก้อนนี้มักถูกทิ้งไปกับการทำ CSR ที่ชวนให้กังขาว่ามันรับผิดชอบต่อสังคมยังไง ปีปีหนึ่งมีเงินที่ถูกใช้ทิ้งใช้ขว้างไปกี่ร้อยล้านโดยไม่สร้างอิมแพคใด ๆ กลับมาที่สังคม แล้วบริษัทต่าง ๆ ก็เอาผลงานห่วย ๆ เหล่านี้ไปอ้างว่าบริษัทของตนสนใจและรับผิดชอบต่อสังคม
ดังนั้น หากแนวคิดเรื่อง CSR ยังจะต้องมีอยู่ เราควรจะมีกลไกให้เกิดการนำงบประมาณเหล่านี้ไปใช้ในทาง Social Service ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากทำได้ เราจะมีเงินสำหรับสนับสนุนการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลในทันที
การใช้เงิน CSR โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัทใหญ่ ๆ จึงไม่ใช่แค่การรับเงินมาจัดกิจกรรม แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานด้านการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ด้านสังคมของบริษัทต่าง ๆ ว่าควรใช้ในกิจกรรมหรือโครงการที่เกิดอิมแพคจริง ไม่ใช่เพียงการเลี้ยงข้าวสร้างฝายแจกผ้าห่มเท่านั้น
ข้อผูกมัดของการสนับสนุน
เข้าใจว่าประเด็นในปัจจุบันเรามองมันในฐานะของการรับทุนสนับสนุนแบบดั้งเดิม คือเมื่อรับเงินเค้ามาก็ต้องทำตามที่เค้าบอก ส่วนนี้ไม่ใช่แค่กับทุนภาคธุรกิจ แม้แต่การรับทุนรัฐบาลเราก็เจอภาวะอำนาจทำนองนี้กันเป็นปกติ ความกังวลส่วนใหญ่จึงเป็นว่าเมื่อรับเงิน 7-11 มาแล้ว 7-11 ก็จะมีอำนาจในการเข้ามาแทรกแซงการทำงานต่าง ๆ ของขบวน จนอาจกลายเป็นขบวน PR 7-11 ไปแทน
แต่หากเรามองอีกมุมหนึ่ง โดยเฉพาะในยุคสมัยที่มีการจับจ้องตรวจสอบจากผู้คน การที่บริษัทภาคธุรกิจใด ๆ แสดงตัวว่าสนับสนุนการเคลื่อนไหวใด ๆ สิ่งนี้จะกลายเป็นข้อผูกมัดต่อแบรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตไปพร้อมกันด้วย เช่น วันนี้ 7-11 สนับสนุนงาน Pride แต่วันหนึ่งก็มีกรณีกีดกันไม่รับคนข้ามเพศเข้าทำงาน สิ่งนี้ก็จะย้อนกลับไปวิจารณ์ตัว 7-11 เอง และคนที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็จะมองภาพลักษณ์ของ 7-11 เปลี่ยนไป จนนำมาสู่การ Cancel หรืออื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย ซึ่งหากมองในแง่แบรนด์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่สามารถมองข้ามได้ ซึ่งก็จะส่งผลให้แบรนด์เหล่านี้ต้องระมัดระวังรวมถึงปรับนโยบายให้สอดคล้องไปพร้อมกัน
ยิ่งหากในอนาคตเราสามารถสร้างภาพองค์รวมให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศสอดคล้องกับเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน เราผลักดันเรื่องการขึ้นค่าแรงหรือยกระดับสวัสดิภาพแรงงานในฐานะ movement หนึ่งของงานความหลากหลายทางเพศ แบรนด์เหล่านี้ก็จะถูกมัดมือชกให้ต้องไหลตาม หรือหากมองแบบแย่สุด ๆ ว่าแบรนด์หน้าด้านยืนยันว่าคนละเรื่องกันก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีผลต่อภาพลักษณ์แบรนด์อีกทางหนึ่ง
ทำให้แม้ทางปฏิบัติเรื่องนี้อาจจะมีความท้าทายอยู่หลายอย่าง แต่โดยหลักการแล้วการพุ่งเข้ามาเล่นในพื้นที่ประเด็นสังคมของบริษัทภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่ได้ทำงานแค่ในแง่ให้ผลประโยชน์ต่อตัวแบรนด์เพียงด้านเดียว แต่มีมุมที่ขบวนการขับเคลื่อนสามารถฉกฉวยมาเป็นไพ่ในการผลักดันให้องค์กรเหล่านี้ต้องสนใจ ใส่ใจ และสนับสนุนประเด็นสังคมมากขึ้นด้วย
ประเด็นที่เราควรมองกันจริง ๆ มันจึงไม่ใช่เรื่องผิวเผินอย่าง “ใครรับเงินใคร” แต่เป็นเรื่องที่ต้องมาทำงานกันต่อว่ารับเงินมา “เพื่ออะไร” หากวันนี้เรามองภาพงานเชิงรุก มีกลยุทธในการผูกมัดแบรนด์ให้ต้องหลวมตัวเข้ามาอยู่ในขบวนการและถูกจับจ้องจากสังคมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันในภาคธุรกิจต่าง ๆ ไหลเงินสนับสนุนมาที่คนทำงานขับเคลื่อนจริง ๆ ปักหมุดหลักการและสร้างอำนาจต่อรองว่าคุณสนับสนุนเราแต่เราไม่ได้ทำงานให้คุณ เราก็ควรจะประเมินกันในแง่ว่ามันจะทำได้จริงหรือไม่อย่างไรมากกว่าการตั้งแง่ไปเลยว่าเพราะรับเงินไม่สะอาดอุดมการณ์เลยมัวหมอง
สิ่งที่คนทำงานควรกลับไปประเมินตัวเองจริง ๆ คือเรารับเงินสนับสนุนมาเพื่อผลักเพดานให้สูงขึ้น หรือเป็นแค่การรับเงินมาให้พอจัดงานแล้วรับ PR ให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ฉกฉวยสร้างผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อคนทำงานเท่านั้นหรือไม่ เพราะหากเป็นทางนี้ การถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็อาจจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วตั้งแต่ต้น