IMPACT CULTURE: เพราะเรื่องทุนเราแบ่งกันได้
ชวนรู้จัก Sharing Resource แนวคิดที่อาจจะช่วยให้การทำงานเพื่อสังคมไม่ต้องเหนื่อยจนเกินไป
ถ้าลองชวนชาว Social Impact มาพูดคุยเรื่องปัญหาในการทำงาน คิดว่าส่วนใหญ่คงชี้ไปในทิศเดียวกันคือเรื่องของ “ทุน” หรือถ้าพูดให้ชัดก็คือ “เงิน” มันไม่พอกับคนทำงาน
ปัญหาเรื่อง “ทุน” กระจายไปไม่ถึงคนทำงานดูจะเป็นปัญหาดั้งเดิม ในขณะที่เรามักจะเห็นว่าเงิน “ทุน” ที่ถูกใช้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็มักจะถูกใช้กับโครงการที่ชวนให้เกาหัวแบบงง ๆ ใครหาเงินเองได้ก็ทำงานกันต่อ ส่วนใครหาไม่ได้ก็ล้มหายตายจากกันไป และต้องไม่ลืมว่า “เงิน” ที่พูดถึงนี้สำหรับหลายกลุ่มมันเป็นเพียง “เงินดำเนินโครงการ” ยังไม่รวม “ค่าตอบแทนคนทำงาน” ซึ่งหลายที่ใช้ระบบอาสาสมัคร Impactor ต้องทำงานประจำไปด้วยแล้วใช้เวลาว่างทำงานขับเคลื่อนไปด้วย
จึงไม่แปลกหากมองในแง่ pain point แล้ว เราจะมอง solution เรื่องการเข้าถึงแหล่งทุนเป็นเรื่องแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพล็ตฟอร์ม Crowdfunding เช่น เทใจ.com หรืออย่าง Cheewid ที่นอกจากทำแพล็ตฟอร์มระดมทุนแล้ว ยังขยับไปทำงานสนับสนุนด้าน branding ขององค์กรในเครือข่ายด้วย
และในปัจจุบันเอง งบ CSR ก็เริ่มไหลมาทางคนทำงานจริง ๆ เพิ่มขึ้น หลาย ๆ บริษัทเริ่มไม่เอาเงินไปละลายกับกิจกรรมที่จัดโดยฝ่ายบุคคล หรือจ้าง agency จัดแคมเปญประชาสัมพันธ์ที่ชวนให้ เอ๊ะ ว่ามัน “รับผิดชอบต่อสังคมยังไง” ทำให้โอกาสที่เราจะมี “เงินทุน” มากพอสนับสนุนคนทำงานยิ่งเป็นไปได้มากขึ้น
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การจะมีเงิน “เพียงพอ” กับคนทำงาน ดูเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อย่างในกรณีของ Cloud Funding เอง โครงการส่วนใหญ่ที่ได้ผลตอบรับดีก็มักจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง แม้ตัวแพล็ตฟอร์มจะช่วยรับรององค์กรที่ลงโครงการแล้วก็ตาม ลักษณะเดียวกับ CSR ที่ผูกอยู่กับภาพลักษณ์องค์กร ยิ่งองค์กรขนาดใหญ่ยิ่งมองข้ามคนทำงานตัวเล็ก ๆ และอยากจะเชื่อมกับองค์กรที่ทำให้ “มีหน้ามีตา” มากกว่า
แม้แต่การจะพูดเรื่อง “แนวทางตรงกัน” ก็จะติดว่ามีองค์กรที่ทำเรื่องคล้าย ๆ กันอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วสุดท้ายเมื่อต้องเลือก เราก็ต้องเลือกองค์กรที่เรา trust มากกว่า ส่วนองค์กรที่ไม่ค่อยได้รับทุน ก็สร้างผลงานให้เกิด trust ได้ยาก กลายเป็น loop นรกที่ไม่มีวันจบสิ้น
นอกจากนี้การทำงานขับเคลื่อนยังมีธรรมชาติอยู่ 2 ลักษณะคือ
เรามักจะทำงานของใครของมัน หากเราลองเจาะเข้าไปในประเด็นเพื่อสังคมแต่ละประเด็น เราจะเห็นภาพว่ามี “ผู้เล่น” ที่กำลังทำงานในประเด็นนั้นอยู่เยอะมาก ๆ และทุกองค์กรมักทำงานโดยไม่ได้เชื่อมโยงหรือรู้จักกัน
การเกิดขึ้นขององค์กรจำนวนมากในประเด็นคล้าย ๆ กันนี้ แม้มุมหนึ่งจะสะท้อนถึงความ “ตื่นตัว” ในประเด็นดังกล่าว หรืออาจสะท้อนถึงความ “เข้มข้น” ในการแก้ไขปัญหา แต่อีกมุมหนึ่งยังสะท้อนวิธีการทำงานที่มักผูกติดอยู่กับแนวคิดแบบ Project base ที่ในแต่ละปีต้องเขียนโปรเจ็คใหม่เข้าไปเพื่อขอทุนแบบปีต่อปี แล้วปีหน้าก็ต้องมีโปรเจคใหม่กลุ่มใหม่เพิ่มขึ้นมาในลักษณะดังกล่าว
ตรงจุดนี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนของวิธีการ “ให้ทุน” คนทำงาน ที่มักเป็นทุนก้อนเล็ก ๆ ทำโปรเจ็คสั้น ๆ พอจบโครงการก็แยกย้ายกันไป เหมือนว่าตัวชี้วัดคือการเพิ่ม “จำนวนหัว” หรือไม่ก็เพิ่ม “จำนวนกลุ่ม” ที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น
ทำให้กลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ แม้ในกระบวนการอาจจะรู้จักกัน แต่จะไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกัน ด้วยวิธีการขอทุนที่ให้ความรู้สึกแบบ “คู่แข่ง” มากกว่า และเมื่อกลุ่มใดต้องการจะเดินหน้าต่อก็จะถูกผลักให้พึ่งพาตัวเองมากขึ้น (หรือทั้งหมด) ก็จะยิ่งผลักให้คนทำงานไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กรทุนหรือ community ก่อนหน้านี้ไปอีกต่อหนึ่งความคิดเห็นไม่ตรงกัน เมื่อพูดถึง “จำนวน” ของคนทำงานในแต่ละประเด็น คนจำนวนไม่น้อยมักจะมองว่ามันเป็นปัญหาเรื่อง “ความซ้ำซ้อน” แต่หากมองให้ลึกขึ้น เราต้องเข้าใจว่าการที่กลุ่มใด ๆ ไม่ได้รวมตัวกัน หรือเชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มใหญ่นั้น อาจเกิดจากเรื่องเรียบง่ายอย่างการที่ “คิดเห็นไม่ตรงกัน” แม้จะเชื่อในประเด็นเดียวกันก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น คนทำประเด็นเรื่องเด็ก กลุ่มหนึ่งอาจจะมองว่าเราต้องสนับสนุนความต้องการของเด็ก ในขณะที่อีกกลุ่มอาจมองที่ระดับนโยบาย โครงสร้างสังคม หรืออย่างในกรณีที่ทำในลักษณะแทบจะคล้ายคลึง ก็อาจมีปัญหาเรื่อง “วิธีการ” ที่แตกต่างกัน หรือการตรวจสอบเรื่องความเป็นมาเป็นไปของกันและกัน ว่าเป็นกลุ่มที่ทำเพื่อสร้าง Impact จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงองค์กรรับจ้าง PR ภาคธุรกิจ ทำไมทำประเด็นนี้โดยไม่พูดไม่แตะต้องเรื่องนี้เลย ฯลฯ
ความหลากหลายในลักษณะนี้ จึงเป็นเหมือน “พื้นที่” ให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมทางสังคม คือหากมีใครทำเรื่องเด็กกำพร้าแล้วไม่ทำอย่างอื่นเลยนอกจากเลี้ยงข้าววันเด็ก มันก็อาจจะมีคนอยากทำเรื่องเด็กกำพร้าโดยที่มองไปที่วิธีการอื่นที่เจ้าแรกไม่ทำ ซึ่งการมองว่าหากทำประเด็นเดียวกันควรรวมกัน เราก็อาจจะมีแค่คนทำงานเลี้ยงข้าวเด็ก หรืออาจจะมีแต่คนทำงานเชิงโครงสร้างและต่อต้านการแจกเงินให้คนไร้บ้าน ทั้งที่มีวิจัยพิสูจน์แล้วว่าการให้เงินกับคนไร้บ้านไม่ได้เป็นไปตามอคติที่คนทั่วไปมอง เป็นต้น
สุดท้ายแล้วต่อให้เรามี “บ่อเงิน” สักบ่อผุดขึ้นมา ด้วยลักษณะดังกล่าวเราก็จะยังคงต้อง “แข่งขัน” กันเพื่อให้มีเงินมากพอมาทำกิจกรรม และเราก็ต้องคิด Solution ในการหาเงินเพิ่มกันต่อไปเรื่อย ๆ ไม่จบสิ้น โดยที่ไม่ได้เอะใจว่านอกจากเรื่องการ “เพิ่มเงิน” แล้ว มันยังมีวิธีง่าย ๆ แบบอื่นอยู่ด้วย
Sharing resource เรื่องโลกสวยของการแบ่งปัน
การหาเงินเพิ่มให้เพียงพอ แม้จะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดต่อตัวปัญหา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีนี้ใช้ effort อย่างมากในการทำให้สำเร็จ ซึ่งในหลายต่อหลายครั้งอาจนำมาซึ่งการสูญเสียกำลังกายกำลังใจจนก่อให้เกิดการ burn out ตามมาได้
จะดีกว่าไหมหากเราสามารถ “ลดต้นทุน” ในการทำกิจกรรมลงได้ โดยไม่ต้องพยายามหาเงินมาถมส่วนต่างทั้งหมด
แม้จะเปิดมาเหมือนเป็น solution ระดับนวัตกรรม แต่อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ได้แปลกใหม่สำหรับคนทำงานมากนัก เพราะในมุมหนึ่งมันคือการลดต้นทุนด้วยการ “ขอสนับสนุนเป็นสิ่งของ” นั่นเอง เพียงแต่ในรายละเอียดอาจจะแตกต่างออกไป เพราะสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงไม่ใช่ประเด็นเรื่องการขอ sponsor แต่เป็นการขอ support จาก Community ต่างหาก
Sharing resource เป็นแนวคิดสำหรับ Community model ที่พูดถึงการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันของคนใน Community ลองจินตนาการภาพว่าในปัจจุบันหากเรามีหมู่บ้านเล็ก ๆ เราอาจจะมี Public sharing ร่วมกันมากสุดคือถนน หรือศาลากลางหมู่บ้าน ทีนี้ลองนึกถึงหมู่บ้านแบบนั้น ที่มีโรงไม้ส่วนกลางให้คนมาใช้ตัดไม้ มีสระว่ายน้ำ มีแปลงผักส่วนกลางที่ให้คนมาใช้เพาะปลูกหรือเก็บกินได้
หรือสเกลให้เล็กลงมาในระดับบ้านเช่าร่วม หรือในออฟฟิศ ที่ทุกคนไม่มีความสามารถในการที่จะมีครัวหรือแม้แต่ตู้เย็นเป็นของตัวเอง ครัวจึงกลายเป็น Sharing resource แบบ Co-Space ไปโดยปริยาย
แต่ทีนี้ครัวกว้าง ๆ อาจจะไม่มีประโยชน์เมื่อไม่มีเครื่องครัว เราจึงต้องจัดซื้อบนเป้าหมายที่ว่าให้สามารถใช้ร่วมกันได้ ด้วยการลงขันหรือวิธีอื่น ๆ ก็จะถือว่าเครื่องครัวที่ได้มานี้เป็น Sharing resource ในเชิง Co-Asset คือมีสิ่งหนึ่ง ๆ ที่เราไม่สามารถมีเป็นของตัวเองได้เหมือน ๆ กัน จึงต้องสร้างพื้นที่กลางร่วมกันขึ้นมา
แบบที่สองลองนึกภาพถึงบ้านเช่าร่วมอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นเรื่องว่าแต่ละคนมี resource ของตัวเองแต่ไม่ซ้ำกัน ยกตัวอย่างเช่น
มีเพื่อนคนหนึ่งในบ้านมีจักรเย็บผ้า ทำงานเย็บปัก ทำให้เวลามีเสื้อผ้าของใครขาดเสียหายก็มักจะไหว้วานให้คนนี้ซ่อมให้
ในขณะเดียวกันก็มีเพื่อนที่เก่งงานช่าง เวลาหลอดไฟในห้องหรือในบ้านเสียก็จะเป็นคนนี้ดูแลจัดการ
คนหนึ่งเก่งเรื่องคอมพิวเตอร์และมือถือ ก็จะเป็นแม่หมอคอยแก้ปัญหาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้เพื่อน ๆ
ในขณะที่อีกคนหนึ่งเป็นคนชอบทำอาหาร ก็จะได้ทำอาหารให้ทุกคนเวลาที่มีการกินข้าวร่วมกัน
สิ่งนี้เองก็ถือว่าเป็น Sharing resource ด้วยเช่นกัน แต่เป็นในเชิง Co-Contribute คือใครมีความสามารถหรือต้นทุนส่วนไหนที่อีกฝ่ายไม่มีก็มาช่วยกันเติมเต็มได้ โดยไม่ต้องไปจ้างช่างไฟหรือช่างเย็บผ้าแยกให้เสียเงินเพิ่ม
ถ้าเปลี่ยนภาพข้างต้นเป็นงาน Social Impact เราก็จะเห็นภาพของการที่คนทำงานมี Co-Space ที่คนใน Community สามารถมาเข้าใช้สำหรับจัดกิจกรรมได้ มี Co-Asset ที่สามารถหยิบไปทำโครงการได้ หรือภาพการที่เราสามารถนำ “สิ่งที่เรามี” หรือ “ความถนัด” เข้าไป support การทำกิจกรรมหรือโครงการของคนอื่น ๆ ใน Community แบบ Co-Contribute ได้
นี่น่าจะเป็นภาพที่ง่ายที่สุด (เท่าที่นึกออก) สำหรับแนวคิดหลัก ๆ ของเรื่อง Sharing resource นั่นคือการที่เราสามารถขอ “แชร์” ต้นทุนบางอย่างจากคนอื่น ๆ บนข้อจำกัดที่เรามีด้วยตัวเองไม่ได้ หรือมีได้ยากนั่นเอง
แล้วทำไมสิ่งนี้ถึงดู “แปลกใหม่” จนต้องพูดถึง
เพราะหากเรามองกันที่วิธีทำงานส่วนใหญ่ที่นักขับเคลื่อนคุ้นเคย เวลามีปัญหาเรื่องการ “ขาดแคลน” อะไรสักอย่าง สิ่งแรกที่เราจะคิดคือ “ต้องหาเงินมาซื้อ” ซึ่งเมื่อต้องเขียนโครงการในลักษณะนี้ สิ่งที่ตามมาคือการต้องสเกลให้องค์กรสามารถรับเงินได้มากขึ้น ก็จะตามมาด้วยการทำงานที่มากขึ้น และอาจหมายถึงการรับคนเพิ่มขึ้น เป็นความเสี่ยงของการสเกลบนปัจจัยไม่พร้อมที่จะนำมาสู่ปัญหาอีกมากมาย
การ “แบ่งปันต้นทุน” จึงเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เราประเมินความสำคัญของสิ่งที่กำลังขาด ว่าอันที่จริงแล้วเราสามารถ share resource นี้กับ Community ได้หรือไม่ รวมถึงเวลาที่เราจะซื้ออะไรเพิ่ม เราก็จะได้ประเมินว่าสิ่งนี้จะสามารถเป็น Sharing resource ให้ Community ได้อย่างไรอีกด้วย
ภาพฝันที่กำลังจะกลายเป็น Trend โลก
แน่นอนว่าเมื่อพูดแบบนี้ ก็จะมีคนที่เริ่มรู้สึกว่า “มันจะเป็นไปได้จริง ๆ เหรอ” “โลกสวยเกินไปหรือเปล่า” แต่ต้องเล่าว่าสิ่งนี้เป็นภาพที่คนเริ่มมีร่วมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
เท่าที่ได้พูดคุยกับหลาย ๆ คนมา แม้แต่ในระดับที่ไม่ได้เป็นงานขับเคลื่อน ก็เริ่มมีคนพูดถึงการ “ลงขัน” ซื้อที่ดินแล้ว “สร้างหมู่บ้าน” อยู่ด้วยกัน ให้คนที่รู้จักกันมาสร้างบ้านเป็นชุมชน แล้วมีพื้นที่ส่วนกลางใช้ร่วมกันในลักษณะเดียวกับบ้านจัดสรร ต่างกันตรงที่ไม่ได้มีบริษัทกลางมาคอยดูแลจัดการในฐานะ “ผู้ให้บริการ” แต่เป็นคนใน “ชุมชน” ด้วยกันเองเป็นคนตัดสินใจ
ขยับมาที่คนทำงานขับเคลื่อนจำนวนไม่น้อยที่เคยได้สัมผัส ก็มีการดำเนินการเรื่อง Sharing resource กันเป็นปกติแล้ว ง่ายสุด ๆ คือกลุ่มไหนมี “พื้นที่” สำหรับกิจกรรมก็จะยินดีสนับสนุนให้ “เพื่อน ๆ” ใน Community มาใช้พื้นที่ได้ หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะมีการ Co-Contribute สิ่งที่แต่ละคนมีมาผลักดันงานประเด็นนั้น ๆ ให้เคลื่อนไปได้จนลุล่วง
อย่างในต่างประเทศก็เริ่มมี Model มากมายที่กำลังพัฒนาในส่วนนี้ เช่น WikiHouse ที่ทำเรื่องระบบสร้างบ้าน ก็ไม่ได้มองแค่การสร้างบ้านด้วยวัสดุราคาถูก แต่เป็นการเผยแพร่แนวคิด Sharing resource ที่ส่งเสริมให้แต่ละชุมชนมีเครื่อง CNC ในฐานะกำลังการผลิตที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ร่วมกันได้
โปรเจ็คหนึ่งที่ส่วนตัวสนใจชื่อ Project Kamp ก็ได้มีการทดสอบสมมติฐานด้วยการสร้างชุมชนแล้วชวนคนมาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมี Sharing resource ส่วนกลางให้ใช้ในการต่อเติมที่อยู่อาศัยของตัวเอง และเป็น Asset ที่จะนำไปต่อยอดการขยาย Facility ต่าง ๆ ของหมู่บ้านด้วย
หรือแม้แต่ใน Community ด้าน Opensource เราก็จะเห็นภาพการ “แบ่งปัน” resource บางอย่างร่วมกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา solution หลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน
และอันที่จริงแล้ว สิ่งนี้ก็ไม่ได้ห่างไกลจากวัฒนธรรมของเราอย่างที่คิด แนวคิดแบบ Co-Contribute ที่ชัดเจนที่สุดในสังคมไทย คือหากใครเคยอยู่ต่างจังหวัด จะพบว่าเวลามีงานบุญงานวัด คนในหมู่บ้านจะไปช่วยกันทำกับข้าวเลี้ยงพระ ใครจะไม่ได้มาช่วย ก็จะซื้อหมูซื้อไก่ซื้อผักมาให้แม่ครัว หรือใส่เป็นเงินไว้ให้เอาไว้ซื้อวัตถุดิบ ใครทำงานในครัวไม่เป็นก็ช่วยกันเสิร์ฟน้ำเสิร์ฟอาหาร แม้ว่าในปัจจุบันจะถือว่าค่อนข้างห่างไกลจากตัวเราโดยเฉพาะคนที่ถูกฉีกให้กลายเป็นปัจเจกในสังคมเมืองก็ตาม
ดังนั้น แนวคิดทำนองนี้แม้เราอาจจะยังเห็นภาพได้ยากด้วยข้อจำกัดด้านวัฒนธรรมและโครงสร้างสังคม แต่สามารถพูดได้เต็มปากว่าไม่ได้เป็นแค่เรื่องเพ้อพก และโลกเองก็มีแนวโน้มที่จะหมุนไปในทางนี้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
เพราะ “ต้นทุน” ไม่ใช่แค่เรื่อง “เงิน”
คิดว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้การนึกภาพเรื่องนี้ได้ยาก เพราะเราผูกติด “ต้นทุน” เอาไว้กับ “เงิน” คือต่อให้มองเป็นวัตถุ เป็นพื้นที่ เป็นรถ เป็นคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้ก็ยังต้องใช้เงินอยู่ดี ซึ่งจริงแท้อย่างที่สุด
แต่หากเรามองบริบทด้าน “เวลา” เข้าไปด้วย เราจะพบว่ามันมีของหลายอย่างที่ “ไม่ต้องใช้เงินอีกแล้ว” หรือ “ไม่ต้องใช้เงินเท่าเดิมแล้ว” ประกอบอยู่ เช่น
เรามีร้านกาแฟอยู่หนึ่งร้าน ตอนทำพื้นที่ครั้งแรกไม่ได้คำนึงถึงการจะเอาไปใช้กับงานขับเคลื่อนใด ๆ แต่พอมาวันหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่ามันน่าจะใช้จัดกิจกรรม Talks, Workshop หรือ ฉายหนังได้ เราจึงอยากส่งต่อสิ่งนี้ให้กลายเป็น Sharing resource สำหรับคนทำงาน ด้วยอาจจะใช้ในเวลาปิดร้านหรือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้เป็น Prime time ที่จะเสียรายได้อยู่แล้ว
เราทำ Homestay ขึ้นมาโดยตั้งต้นก็มีพื้นที่ส่วนกลางเพื่อให้ผู้พักใช้นันทนาการอยู่แล้ว มีครัวร่วมให้ใช้ทำอาหารได้ แล้ววันหนึ่งอยากส่งต่อพื้นที่นี้ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องวิถีบริโภคสนับสนุนคนทำงานให้เข้ามาใช้พื้นที่ได้
เรามีหนังสือที่อ่านครบแล้วอยู่ในบ้าน ถ้าไม่ทำอะไรมันก็จะถูกตั้งให้ฝุ่นจับอยู่อย่างนั้น ตอนที่ซื้อก็ซื้อเพียงเพราะอยากอ่านไม่ได้อยากส่งต่อให้ใคร แต่วันหนึ่งเราเห็นว่ามีการรับบริจาคหนังสือเพื่อสร้างห้องสมุด เพื่อส่งเสริมการอ่าน เราจึงร่วมบริจาคหนังสือเหล่านั้น
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่ต้องการจะสื่อว่า เราสามารถเริ่มมอง resource ที่อยากแบ่งปันจากสิ่งที่เรา “มีอยู่แล้ว” โดยในตอนที่ได้มาก็ไม่ได้คิดว่าจะเอามาเป็น Sharing resource ได้ อาจจะมีบริษัทรถตู้ที่ปิดตัวลงแล้วอยากส่งต่อรถให้องค์กรเพื่อสังคมไปใช้งานเพราะขายก็ทำราคาได้ไม่ดี อาจจะมีรถฉายหนังกลางแปลงที่หมดรุ่นคนทำต่อแล้วอยากส่งต่อให้ไปทำประโยชน์ในด้านอื่น มีที่ดินที่รกร้างอยากให้มันถูกใช้สนับสนุนงานขับเคลื่อนมากกว่าต้องปลูกกล้วยปลูกมะนาว ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้แม้มันจะต้อง “เสียเงินอยู่ดี” แต่ถ้ามองในแง่ของ Sharing resource นั่นหมายถึงมันจะไม่ต้องเสียเงินในระดับเดียวกับการเช่าพื้นที่ตามห้องสัมนา หรือการซื้อครุภัณฑ์ใหม่ และต้องยืนยันว่าในสังคมยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่อยาก “ส่งต่อ” resource ต่าง ๆ ให้นำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ ติดแค่เรายังหากันไม่เจอเท่านั้น
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ Social Impact Community ต้อง Healthy
ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างเรื่องบ้านเช่าร่วมด้านบน เราลองนึกภาพว่าสาเหตุแบบไหนจะทำให้การอยู่ร่วมกันของคนกลุ่มนี้จะต้องแตกหัก และไปต่อไม่ได้
นั่นคือเมื่อมีใครสักคนเลือกที่จะ “กอบโกยผลประโยชน์จากคนอื่น ๆ อยู่ฝ่ายเดียว”
สิ่งนี้จึงน่าจะตอบคำถามหลายคนที่อ่านมาถึงจุดนี้ได้ว่า แนวคิดเรื่อง Sharing resource เป็นแนวคิดที่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหาก Community นั้น ๆ Toxic และเป็นแวดวงที่จ้องจะเอาเปรียบคนอื่นอยู่ตลอด
Sharing resource จะสำเร็จได้ จึงจำเป็นอย่างมากที่ตัว Community จะต้อง Healthy เป็น Give and take situation ทุกคนมี “เจตนาดี” ต่อ Community และมองเรื่องของ Impact ต่อสังคมเป็นสำคัญ
สิ่งนี้ต่างหากที่ดู “โลกสวย” ในโครงสร้างสังคมแบบทุนนิยม เพราะนั่นหมายถึงทุกคนใน Community ต้องไม่รู้สึกว่าต่างคนต่างกำลัง “แข่งขัน” และต้องทำลายคู่แข่งลง
แต่แม้จะโลกสวยก็ยังเป็นไปได้ เพราะในปัจจุบันการทำงาน Social Impact ของคนทำงานเชิงพื้นที่ ที่ตัดขาดตัวเองออกจากโครงสร้างทุนแบบดั้งเดิม แนวคิดนี้ก็ดูจะเป็น “ทางเลือก” ที่หลาย ๆ กลุ่มเลือกใช้ คือการที่ไม่ได้ “เข้ากลุ่ม” กันเพียงเพราะมีทุนจากแหล่งเดียวกัน แต่เป็นคนที่เมื่อเรามองไปที่การทำงานของอีกฝ่ายแล้วเรารู้สึกชื่นชม รู้สึกเหมือนเรามี “เพื่อน” ที่เชื่อในเรื่องเดียวกัน
การเชื่อม Community แบบ “กัลยาณมิตร” นี้เอง ทำให้เราไม่เกิดความกดดันของการรวมกลุ่ม ว่าจะต้องมีโครงการร่วมกันเท่านั้น ต้องทำประเด็นเดียวกันเท่านั้นถึงจะเป็นเพื่อนกันได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มไม้ขีดไฟ ที่ทำประเด็นเรื่องเยาวชน ก็ยังมีเพื่อนที่ทำประเด็นด้านการอนุรักษ์อย่าง รักษ์เขาใหญ่ หรือ ธรรมดาวิถี เป็นต้น
เมื่อ Community มัน Healthy สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเราสามารถ “แบ่งปัน” ข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกันได้อย่างสนิทใจ เช่น ใครทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะมีเครือข่ายแหล่งทุนด้านสิ่งแวดล้อม ที่สามารถแนะนำให้รู้จักกันได้ ใครมีโครงการหรือทุนใด ๆ มาก็สามารถส่งต่อให้กัน Community หนึ่งอาจจะมี Co-Space ที่ใช้ร่วมกันแค่ที่เดียวจนต้องผลัดกันจัดกิจกรรม เมื่อมี Network กว้างขึ้น ก็อาจจะได้รู้จักกับคนใหม่ ๆ ที่อยาก “ส่งต่อ” พื้นที่ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น และเมื่อสามารถเชื่อม Community เข้าหากันได้อย่าง Healthy เราจะยิ่งมีโอกาสได้พบเห็น “ทุน” ที่บาง Community อาจจะได้รับมาแต่ไม่รู้จะเอาไปใช้ยังไง บาง Community ไม่ได้ใช้แล้วอยากส่งต่อไปให้คนอื่นได้ใช้ด้วย เกิดเป็นโครงข่าย Community ที่สร้างความเป็นไปได้ในการ Sharing resource ให้กว้างขวางยิ่ง ๆ ขึ้นไป
หัวใจสำคัญของ Healthy Community จึงเป็นเรื่องของ Healthy Relationship ระหว่างผู้คน ที่เชื่อในเรื่องการเปลี่ยนแปลงและสังคมที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
Sharing Resource ไม่ใช่การขอใช้ฟรี
ในโครงสร้างการทำงานที่คุ้นชินกับการขอ Sponsor เราอาจจะสับสนว่ามันต้องเป็นการขอแล้วได้รับมาทั้งหมด เมื่อเจอพื้นที่บางพื้นที่ไม่ให้ใช้ฟรีก็อาจจะชวนให้รู้สึกว่า “เฮ้ย ไม่ Sharing resource เลย” “เฮ้ย ไม่มอง Social Impact เป็นสำคัญนี่หว่า”
อย่างที่พูดไปว่า Sharing resource นั้น ส่วนหนึ่งเป็นการมอง “ต้นทุน” ที่แต่ละคนมีอยู่ เราต้องตระหนักว่าโดยทั่วไปแล้วคนจำนวนมากอาจจะ contribute พื้นที่ให้ได้ แต่ contribute ค่าน้ำค่าไฟให้ไม่ได้ เพราะไม่ได้ผลิตเอง หรือหลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ในการตัดสินใจ เช่น ผู้จัดการร้านอาหาร หรือผู้จัดการโรงแรม ที่อยากส่งเสริมในส่วนนี้ แล้วไปหาวิธีชนกับผู้บริหารจนสามารถขอใช้ทำกิจกรรม Social Impact ในราคาพิเศษได้ แต่จะให้ฟรีทั้งหมดก็ทำไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของโรงแรมเอง
สิ่งเหล่านี้เราควร “ชื่นชม” ในฐานะของ effort ที่ผู้คนอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง มากกว่าการมองว่าสิ่งนี้ “เล็กน้อย” เกินกว่าจะถูกเรียกว่า Impact
ดังนั้น สิ่งที่ชี้วัดว่า Community ต่าง ๆ อยู่ในสถานะที่ Healthy จริงหรือไม่ จึงเป็นประเด็นเรื่องมุมมองต่อ Social Impact ว่าคิดเห็นเช่นไร เพราะไม่งั้น Community เหล่านี้ที่อาจจะ Healthy ต่อคนในกลุ่มจริง แต่ก็กลายเป็น Private community ที่แบ่งปันกันอยู่ภายใน หากใครอยากเข้ามาก็ต้องปวารณาตัวในสักทางเช่นเดียวกับวิธีเข้าถึงทุนแบบเก่า ๆ หรือแม้ Community นี้จะสร้าง Impact ได้จริง ก็จะเป็นการสร้างในนามของกลุ่มหรือตัวบุคคล เพื่อหล่อเลี้ยง Ego ตัวเองว่าตนนั้นได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมและควรได้รับการยกย่อง จนหลงลืมการให้ความสำคัญต่อ Impact ที่เกิดขึ้นไป
และแม้ว่าการตรวจสอบยอมรับคนเข้าสู่ Community จะเป็นเรื่องจำเป็น แต่สุดท้ายเชื่อว่าอุดมคติของการมุ่งเป้าไปที่ Social Impact ควรเป็นการยอมรับว่า “จะเล็กน้อยแค่ไหนก็ต้องนับเป็น Impact” มากกว่าการพยายามชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จแบบเดิม ๆ
อ่านมาถึงจุดนี้ หลายคนคงรู้สึกว่า กลับไปเขียนขอทุนให้พอสำหรับการทำงานอาจจะง่ายกว่า เพราะดูเต็มไปด้วยเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แถมดูจะมีงานให้ทำเพิ่มขึ้นอีกเป็นภูเขาเลากา
แต่ข้อดีหนึ่งของการสร้าง Impact Environment ที่ Healthy คือเป็นการสร้าง “อำนาจต่อรอง” ในฐานะคนทำงานกับแหล่งทุนบางแบบที่ในปัจจุบันไม่ได้สนใจ Social Impact เท่าที่ควร (แม้จะใช้เงินในการ CSR ไปเยอะมาก)
เพราะมันจะทำให้แหล่งทุนเหล่านี้ต้องระมัดระวังว่า จะไม่สามารถเอาเงินไปใช้ทำ CSR แบบชุ่ย ๆ ได้อีกต่อไป และหากต้องการภาพลักษณ์ด้านการรับผิดชอบต่อสังคม จำเป็นต้องทำให้เข้มข้น หรือสนับสนุนคนทำงานที่เข้มข้นอยู่ก่อนเท่านั้น
นั่นหมายความว่า นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีเงินอีกจำนวนมหาศาลไหลมาทางคนทำงาน ในขณะที่การทำงานก็สามารถจะไม่ต้องใช้ต้นทุนหรือ effort สูงเท่าเมื่อก่อนได้อีกด้วย
และเมื่อเราสามารถ “ลดต้นทุน” ในส่วนที่ “แบ่งปัน” กันได้ ไปพร้อม ๆ กับมีเงินเข้ามาเพิ่มขึ้น “เงิน” ที่จะต้องใช้ ก็จะถูกนำไปใช้กับส่วนที่ “จำเป็น” มากกว่า และไม่ควรเป็นต้นทุนที่ถูกตัดทิ้งตั้งแต่ต้น
เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวก็อาจจะพอได้