IMPACT CULTURE: เมื่อเราต้องก้าวพ้นงานการกุศล
เพราะการกุศล อาจจะไม่ได้หมายถึงทำดีเสมอไป ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมงาน social impact ในทิศทางใหม่ ที่จะนำพาเราไปสู่อนาคตแบบใหม่ กับคอลัมน์ Impact Culture.
ผมเชื่อว่าหากใครที่เกิดหรือเติบโตในประเทศไทย เราคงจะเคยได้ยินวลี “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” กันมาบ้าง รวมถึงใครหลาย ๆ คนอาจจะมีสิ่งนี้เป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตและเชื่อมั่นในมันอย่างไม่เคยระแวงสงสัย
การยึดติดกับ “ความดี” หรือ “การทำดี” คงพูดได้ยากว่าเป็นเรื่อง “ดีหรือไม่ดี” เพราะจะกลับมาติดปัญหาเรื่อง “แล้วเราจะวัดยังไงว่าสิ่งไหนดีไม่ดี” เพียงแค่ว่าพอเรามองการทำดีโดยไม่ได้ตั้งคำถาม สุดท้ายกรอบแนวคิดเรื่องดีไม่ดีก็จะไปผูกอยู่กับความเชื่อ ศาสนา ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นกรอบที่ไม่ได้เปิดกว้างต่อการตีความได้มากนัก
ประเด็นใหญ่ของการ “ทำดี” คือมันวางอยู่พื้นฐานว่าต้อง “ทำให้ได้เยอะ” เพื่อให้บรรลุเงื่อนไขทางศาสนาต่าง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่ายิ่งทำเยอะยิ่งดี เมื่อเกิดอุปสงค์ (demand) ในการทำดี หากเรามองว่าทำเท่าที่มีไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งหนทางในการทำดีอาจจะหมดลง แต่เมื่อ demand ยังอยู่สุดท้ายมันอาจไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างอุปทาน (supply) ขึ้นมา มันคงเป็นเรื่องปกติมาก ๆ หากเรามองในแง่ธุรกิจ แต่เมื่อมองในด้านการทำดี อุปทานเหล่านี้มันจึงหมายความไม่ดี ความไม่สะดวกสบาย ความลำบากต่าง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น การจูงมือคนแก่ข้ามถนนอาจจะเป็นการทำดีแบบหนึ่ง แต่พอวันหนึ่งเรามีนวัตกรรมในการส่งเสริมผู้สูงอายุและผู้พิการให้ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย ก็อาจจะมีกลุ่มคนที่รู้สึกว่าตัวเองสูญเสียพื้นที่ในการทำดีไป แล้วพยายามจะโจมตีว่าเทคโนโลยีนี้มันไม่ได้ดีจริง เราควรให้คนแก่คนพิการกลับมาข้ามถนนแบบเดิมโดยพึ่งพิงความช่วยเหลือจากผู้อื่นเท่านั้น ซึ่งก็จะไปขัดขวางแนวคิดการพัฒนาเมืองที่สนับสนุนให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตนเองไป เป็นต้น
การมองว่าตัวเองกำลัง “ทำดี” จึงมีปัญหาตรงที่ว่ามันกระตุ้นให้คนรู้สึกว่าเมื่อมันดีจึงต้องทำให้ได้เยอะที่สุด ทำให้ได้มากที่สุด สั่งสมให้เพิ่มพูนที่สุด โดยอาจมองข้ามการทำงานเชิงประเด็นที่มุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาเป็นสำคัญ
เมื่อมาผูกกับการทำงานขับเคลื่อนสังคม สิ่งนี้สะท้อนชัดอยู่ในงานประเภท “การกุศล”
จริง ๆ แค่พูดว่า “กุศล” มันก็มีภาพของความเกี่ยวโยงกับศาสนาแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ที่จะขยายความหมายของงานประเภทนี้ออกไปให้ไม่ผูกอยู่กับวิธีการหรือการเรียกชื่อ แต่เป็นแนวคิดเบื้องหลังของการเกิดงานนั้น ๆ
หากเรานึกถึงงานการกุศล เราคงคิดถึงงานระดมทุน เก่าหน่อยก็จะมีดาราคนดังมานั่งรับโทรศัพท์เปิดบริจาคในช่วงวิกฤติน้ำท่วม หรืออื่น ๆ พอได้เงินแล้วก็เอาลงไปเปลี่ยนเป็นของเพื่อส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ เมื่อจบโครงการแล้วขอบคุณกันเชิดชูกันที่มาช่วย แล้วปีต่อไปก็มารวมกันแบบนี้อีกเพราะน้ำก็จะยังท่วมอยู่
แน่นอนว่างาน “บรรเทาภัย” เองก็เป็นงานสำคัญส่วนหนึ่ง ในช่วงเวลาฉุกเฉินเราคงไม่พูดว่ามัวแต่ระดมเงินมาใช้แก้ปลายเหตุแล้วไปทำงานเชิงประเด็นที่ต้นเหตุกันบ้าง แต่ลักษณะที่สะท้อนชัดเจนของงานแบบ “การกุศล” ที่แอบอิงอยู่กับแนวคิดเรื่องการ “ทำดี” คือการที่เรามุ่งเป้าทำงานในลักษณะนี้เพียงอย่างเดียว โดยไม่ลงไปแตะกับต้นตอของปัญหา หรือโครงการที่จะทำงานเพื่อการแก้ปัญหาเท่าที่ควร เรายินดีมากกว่าที่จะทำงาน “บรรเทาภัย” โดยไม่ต้องทำงาน “ระวังภัย” ที่จะทำให้งานบรรเทาภัยอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นน้อยลง
ตัวอย่างอีกแบบหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างแพร่หลายในงาน CSR คืองาน “แจกของ” ระดมทุนซื้อข้าวไปแจกเด็กกำพร้า ระดมทุนซื้อของเล่นไปแจกเด็กบนดอย คำถามที่คิดว่าน่าจะไม่ค่อยได้ถามกันอย่างจริงจังคือ เราทำแบบนั้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร บรรเทาความหิวของเด็กเหรอ แล้วอีก 364 วันที่เราไม่ได้มาล่ะ และจริง ๆ แล้วเด็กในบ้านเด็กกำพร้าอดอยากจริงหรือเปล่า จะดีกว่าไหมหากเรานำเงินก้อนนี้อุดหนุนเข้าไปที่สถานสงเคราะห์โดยตรงเพื่อให้สามารถนำทุนไปพัฒนาส่วนอื่นที่มีประโยชน์กว่า หรือเป็นสิ่งที่เด็กต้องการมากกว่า หรือจะดีกว่าไหมหากเงินก้อนนี้สามารถเป็นทุนการศึกษาให้เด็กเพื่อผลักดันให้เด็กก้าวพ้นภาวะความลำบากจากความกำพร้าและกลายเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพในสังคมได้ ทำไมเราถึงเลือกนำเงินก้อนนี้มาซื้อข้าวแจกเด็ก ซื้อขนมหรู ๆ ให้เด็กกิน เรามีแนวคิดแบบไหนต่อตัว “ปัญหา” ที่เราสนใจ
อย่างกรณีแจกของเล่นเด็กบนดอย เราอาจจะตั้งเป้าว่า เราอยากให้เด็กบนดอยนี้มีคนที่สามารถกลายเป็นนักกีฬาทีมชาติ เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดรายได้จากการเป็นนักกีฬาอาชีพ ไม่ต้องคิดแค่เรื่องการทำไร่เกษตรเชิงเดี่ยว รวมถึงผลักดันให้ได้รับสัญชาติผ่านการเป็นนักกีฬาทีมชาติ ฯลฯ
เราจึงทำกิจกรรมเพื่อแจกอุปกรณ์กีฬา ครั้งแรกมันก็คงจะดูสมเหตุสมผล ครั้งที่สองที่สามเราอาจจะพูดว่าเพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กคนอื่นมากขึ้น ครั้งที่สี่ที่ห้าอุปกรณ์อาจจะเกินจำนวนเด็กไปแล้วแต่ก็เผื่อสำหรับสับเปลี่ยนได้ พอครั้งที่สิบครั้งที่สิบสองก็จะเริ่มมีห้องที่เอาไว้เก็บอุปกรณ์กีฬาที่ไม่ได้ใช้ และก็ยังจะมีครั้งที่ยี่สิบสามสิบต่อไปอีกโดยที่ไม่เคยกลับมาตรวจสอบวัตถุประสงค์ตั้งต้นของตนเอง หรือมองถึงวิธีอื่น ๆ ที่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ เช่น ในครั้งต่อไปพาโค้ชมาสอนพัฒนาทักษะไหม ครั้งต่อไปพาเด็กลงไปเรียนในสถาบันการสอนไหม ลองไปฝึกแข่งในสนามจริงไหม หรือลองพาเด็กไปชมการแข่งขันกีฬาอาชีพจริง ๆ สักครั้ง ก็ดูจะผลักดันให้เด็กกลายเป็นนักกีฬาอาชีพได้จริง แม้แต่หากมองว่ากำลังของเรามีไม่พอ เราจึงอยากจุดประกายความฝันในการเป็นนักกีฬาให้เด็ก เราก็อาจจะแจกอุปกรณ์กีฬาเหมือนเดิม แต่ใช้วีธีไปแจกในพื้นที่ที่ขาดแคลน ที่มีความต้องการ ก็ยังดูจะตอบโจทย์ที่ตัวเองตั้งไว้มากกว่การมีลูกบอลมากกว่าจำนวนเด็กสองสามเท่า
การแจกข้าวเด็กกำพร้า แจกของให้เด็กบนพื้นที่ห่างไกล จึงไม่ได้มีปัญหาอยู่ที่ “ตัวกิจกรรม” ไม่ใช่ว่าพอใครทำกิจกรรมลักษณะนี้ก็จะต้องมองว่ามันล้าหลัง ไม่ก้าวหน้า ไม่เกิดประโยชน์ แต่มันคือ “วิธีคิด” ในการทำกิจกรรม ที่หลายครั้งมองมันในฐานะของการทำดี และยิ่งได้ทำจำนวนครั้งมากขึ้นยิ่งดี โดยมองข้ามรายละเอียดอื่น ๆ ไปราวกับว่ายินดีแล้วที่จะได้ทำต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องให้ปัญหาเหล่านี้ถูกแก้จนสิ้นซาก ยินดีแล้วที่จะมี “คนลำบาก” หลงเหลืออยู่ในสังคม
เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับการ “เข้าใจ” ว่าสิ่งที่เรากำลังทำมัน “ดีอย่างไร” ในแง่ของการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง คนละเรื่องกับการ “ทำเยอะ” เพราะ Trust in process ว่าหากทำสิ่งนี้ซ้ำ ๆ ประเด็นมันจะถูกขยายขึ้น แล้วมันจะสร้าง Impact บางอย่างให้สังคม
ปัญหาของงานแบบการกุศล คือการ “จงใจ” ที่จะไม่มองไปยัง “ใจกลางปัญหา” ของผู้คน และยินดีที่จะให้ปัญหานั้นยังคงอยู่ในสังคมเพื่อรองรับการทำงานของตนไปเรื่อย ๆ เป็นลักษณะของการ “เลี้ยงปัญหา” ให้ยังคงอยู่โดยไม่สนใจว่าปัญหานี้จะส่งผลกระทบหรือทำร้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง
เราจึงอาจพูดได้ว่า แม้งานการกุศลจะเป็นการทำความดี แต่สิ่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ส่งเสริมการเกิด Impact ต่อสังคม
ดังนั้น มันไม่ได้สำคัญว่าเพราะคุณกำลังทำงานระดมทุน คุณอาจจะรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถทางด้านนี้ แม่นยำทางด้านนี้ หากคุณมองว่าอยากเห็นปัญหานี้สิ้นสุด คุณก็สามารถระดมทุนช่วยคนที่ทำงานแก้ปัญหาในประเด็นนี้ได้ คุณอาจจะทำกิจกรรมแจกของ ด้วยการรับสมัครอาสาไปร่วมแจกของเพื่อให้คนเหล่านั้นได้สัมผัสความลำบากของผู้คนเพื่อหวังให้พวกเขากลับมาริเริ่มโครงการอื่น ๆ ด้วยตัวเองก็ได้ เราอาจจะทำกิจกรรมแจกของ เพื่อยกประเด็นปัญหาในพื้นที่ให้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างก็ได้ เราอาจจะทำกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนช่วยกันคนละไม้ละมือในการแก้ปัญหาก็ได้ ตราบใดที่สิ่งเหล่านี้วางอยู่บนแบบแนวคิดที่เชื่อว่าวันหนึ่งมันจะเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างจากสิ่งที่เรากำลังทำ
การก้าวออกมาจากการทำงานบนแนวคิดแบบการกุศล จึงถือเป็นก้าวสำคัญของการมองไปยังการแก้ปัญหาสังคมในประเด็นต่าง ๆ เป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลง และการมองหาเครื่องมือที่จะมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต
ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนที่ใฝ่ฝันความเปลี่ยนแปลงน่าจะอยากให้เกิดขึ้นมากกว่า