IMPACT CULTURE: Scaling the Impact, not Business
ถอดบทเรียนจาก Robinhood เมื่อการทำงาน Social Impact กับการทำธุรกิจมีเพียงเส้นกั้นบาง ๆ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่
เห็นข่าวเรื่องแอพลิเคชัน Robinhood ต้องปิดตัวลงก็เกิดความรู้สึกหลากหลายขึ้นในใจ
แรกสุดเลยคงเป็นเรื่องที่การปิดตัวครั้งนี้หมายถึงทางเลือกที่น้อยลง ทั้งส่วนของผู้บริโภค พ่อค้าแม่ขาย และพี่ ๆ ไรเดอร์ ทำให้ปัจจุบันการแข่งขันเหลือผู้เล่นอยู่เพียงไม่กี่เจ้า ซึ่งมันหมายถึงอำนาจต่อรองของคนตัวเล็ก ๆ ที่ลำพังก็น้อยอยู่แล้วต้องน้อยลงไปอีก
อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องไม่ลืมว่าโปรเจ็คนี้เป็นโปรเจ็คที่เริ่มต้นบนจังหวะเงื่อนไขของสถานการณ์ COVID-19 การเปิดตัวที่ต้องการจะเป็นทางเลือกให้สังคมในชั่วโมงที่การพบปะกึ่ง ๆ จะเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” และเป็นช่วงเวลาที่หลายบริษัทอาศัยความจำเป็นนี้ในการขึ้น % ส่วนแบ่งจากร้านค้าด้วยเหตุผลเรื่องความนิยมของตัวแอพลิเคชันทำนองนี้ (ที่มีพื้นฐานมาจากความจำเป็นอีกที) การเข้ามาของ Robinhood ที่ต้องการจะเชื่อมผู้คนตัวเล็กทั้งไรเดอร์ที่ต้องทำรอบบนค่ารอบที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ร้านค้าที่ถูกหักส่วนแบ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ มันก็ดูเหมาะสมกับชื่อโปรเจ็คอยู่เหมือนกัน
การต่อสู้ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าจำไม่ผิด Robinhood เป็นโปรเจ็คที่เริ่มต้นในพื้นที่ Local ขนาดเล็ก นำร่องด้วยการเชื่อมร้านที่เรา “ไปประจำ” ให้สามารถมาถึงเราได้แม้ในช่วงที่การออกจากบ้านเป็นไปได้ยาก ยังมีช่วงที่ถูกสัมภาษณ์ ถูกพูดถึง และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง เข้าใจว่าจุดนี้เองที่ทำให้ “ทุน” ของโปรเจ็คถูกขยายใหญ่ด้วยการมองว่ามีศักยภาพที่จะต่อสู้ในตลาดได้
ส่วนตัวเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน Robinhood ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ สมัยที่ยังใช้ในพื้นที่ไม่ได้ก็คอยแชร์ข่าวคอยพูดถึง ตอนที่เริ่มมีในพื้นที่แล้วบางทียังแอบไปขายแอพนี้ให้พี่ ๆ แม่ค้าที่กินประจำอยู่บ้าง (เลยได้รู้เรื่องว่ามีดีล Delivery บางเจ้าผู้ขาดร้านค้าให้ไม่สามารถทำสัญญากับแอพอื่นในช่วงนั้นด้วย) ทำให้มุมหนึ่งจะได้มีโอกาสติดตามการเติบโตของ Robinhood ค่อนข้างใกล้ชิด นั่นเลยทำให้พอจะเห็นสัญญาณของการต้อง “ขยาย” ตัวแบบไม่ Healthy มาบ้าง อย่างตอนที่อยู่ดี ๆ ก็มีความพยายามจะกลายเป็น Super app เแบบคู่แข่ง มีการไปจับถึงตลาดท่องเที่ยว ที่ส่วนตัวก็รู้สึกแปลก ๆ ตั้งแต่ตอนนั้น แอพอื่นโฆษณาก็จะเป็นโค้ดค่าข้าวค่ารถ ช่วงนั้น Robinhood สแปมโค้ดท่องเที่ยวรัว ๆ จนเริ่มรู้สึกว่าต่อให้อยากสนับสนุนก็ดูจะทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ
มีครั้งหนึ่งที่ลงไปรับของจาก Robinhood แล้วพี่ไรเดอร์บอกเราว่า “ฝากแอพ Robinhood ด้วยนะครับ” เราก็แอบตกใจเล็ก ๆ ไม่แน่ใจว่าเป็น Policy หรือว่าไรเดอร์ทำเอง แต่ก็ค่อนข้างส่งกลิ่นว่าอนาคตของ Robinhood อาจจะไม่ได้สดใสเหมือนภาพฝันเสียแล้ว ยิ่งพอมาเห็นรายละเอียดที่ว่าขาดทุนต่อเนื่องทุกปียิ่งคิดว่าการที่พึ่งมาปิดตัวเอาตอนนี้ดูจะเป็นการ “ฝืน” ที่มากเกินจำเป็นเสียด้วยซ้ำ
ถ้าให้ “เดา” ว่าทำไมเรื่องราวถึงมาจบลงตรงนี้ เหตุผลหนึ่งที่ขึ้นมาในหัวเลยก็คือ เพราะพี่โจรใจบุญของเราดันก้าวเข้าไปสู่การต่อสู้ที่ “ใหญ่” กว่าก้าวแรกของตัวเองเกินไป
เราต้องไม่ลืมว่าจุดเด่นของ Robinhood ช่วงแรกคือการที่ตัวผู้ให้บริการไม่หวังกำไรจากตัวร้านค้าและไรเดอร์เป็นกอบเป็นกำ ค่าอาหารก็ส่งให้ร้านค้า ค่าส่งอาหารก็ส่งให้คนขับได้ค่อนข้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้ราคาอาหารก็ถูก ค่าส่งก็ไม่แพง ซึ่งสิ่งนี้มองปราดเดียวเราก็ตอบได้เลยว่ามันไม่ Healthy ในฐานะธุรกิจอยู่แล้ว
ทำให้เมื่อจะขยับขึ้นเป็นธุรกิจ Robinhood มีสิ่งที่ต้อง “ทำใหม่” อยู่เยอะมาก แล้วสิ่งที่เปลี่ยนได้ยากคือ “จุดขาย” เรื่องการไม่เบียดเบียน Partner เพราะหากแตะต้องเรื่องนี้สิ่งที่ต้องทำอาจจะยิ่งเยอะขึ้นไปอีก ทั้งอาจจะต้องเสียผู้สนับสนุน และสูญเสียอาวุธในการต่อสู้ทางการตลาด สุดท้ายถ้าจะ “หาเงิน” ก็ต้องไปหาทางอื่น นั่นก็จะหมายถึง “เงิน” ที่จะต้องทุ่มลงไปเพื่อขับเคลื่อนขานั้นอีกต่อหนึ่ง ซึ่งจนที่สุดแล้วเราก็เห็นผลลัพธ์ว่ามัน “ไม่พอ”
Scaling the Impact, not Business
เมื่อหลายวันก่อนพึ่งได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้กับคนทำงาน Social Impact ว่าปัญหาหนึ่งที่มักพาคนทำงานไป “ผิดทาง” คือเรามักนึกถึงการ “หาเงิน” มาทำเรื่องเดิมให้จำนวนเยอะขึ้น โดยขาดการประเมินว่าสิ่งนี้มันก่อให้เกิด Impact เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราทำกลุ่ม Workshop ฮีลใจ เป้าหมายแรกเราคงคิดถึงชีวิตคนเมืองที่วุ่นวายแล้วไม่ได้มีพื้นที่ให้พักผ่อนทางจิตใจ เราอาจจะเริ่มจากการเก็บค่าเข้าร่วมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กิจกรรมมันเกิดขึ้นได้โดยคนจัดไม่เจ็บตัว ปรากฎว่ามีคนสนใจเยอะเกินคาด ลองจัดอีกสองถึงสามครั้งก็ยังได้รับผลตอบรับที่ดี จนเริ่มรู้สึกว่าสิ่งนี้น่าจะซัพพอร์ตการใช้ชีวิตคนทำงานได้ เพียงแต่อาจจะต้องจัดบ่อยขึ้นเป็นสัปดาห์ละสองครั้งหรือสามครั้ง
ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เราคงได้มีโอกาสช่วยฮีลใจคนมากขึ้น มีคนที่เคยมาแล้วอยากกลับมาอีก อาจจะมีคิวล้นจนต้องเปิดรอบเพิ่ม พอเริ่มทำคนเดียวไม่ไหวก็ต้องหาคนมาช่วย และก็ต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับคนที่มาช่วย ปัญหาที่จะตามมาคือหากวันหนึ่งคนมาเข้าร่วมน้อยลง คนที่เคยมาอาจมาน้อยลง สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากวันที่เริ่มต้น แต่รายรับกลับน้อยกว่ารายจ่ายในปัจจุบัน โดยที่คนทำงานเองก็พิสูจน์ไม่ได้ด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองทำเกิด Impact กับสังคมมากน้อยแค่ไหน สุดท้ายก็อาจจะล่มแล้วแยกย้ายกันไปพร้อมกับบาดแผลในความรู้สึก
สิ่งที่เป็นจุดพลิกผันของเรื่องนี้ คือการที่ในจังหวะที่เราขยาย “ธุรกิจ” หรือกิจกรรมที่จำเป็นจะต้องประเมินเรื่องเงินเป็นสำคัญ เราลืมตรวจสอบไปว่าการ “ใช้เงิน” ในส่วนนี้มันเป็นการขยายตัว Impact ไปพร้อม ๆ กันหรือไม่ หรือน้อยที่สุดคือการประเมินว่าเรายังเดินอยู่บนเส้นทางเป้าหมายตั้งต้นของตัวเองหรือเปล่า
หากกลับมาที่เรื่องราวของ Robinhood สิ่งที่อาจจะต้องมาพูดกันในวันนี้ คือสุดท้ายแล้ว ณ วันที่ทุกอย่างยุติลง ตัว Robinhood มองว่าตัวเองได้สร้าง Impact บางอย่างให้สังคม หรือยังคงหนักแน่นในเส้นทางของตัวเองจากเป้าหมายตั้งต้นหรือไม่
หรือหากวันนี้ทุกอย่างจบลงบนความ suffer ของคนทำงานตั้งต้น รู้สึกเหนื่อยล้าหรือสับสนว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ กรณีนี้ก็จะกลายเป็นอีกเครื่องพิสูจน์ว่างานเพื่อการเปลี่ยนแปลงมันไม่สามารถ “ขยายตัว” ด้วยแนวคิดแบบธุรกิจเพียงอย่างเดียวได้ และนั่นอาจเป็นเหตุผลให้คนทำงานจำนวนมากต้องใช้ท่า “มีช่องทางไว้หาเงิน” เพื่อมาสนับสนุนพาร์ทที่เป็นงาน Social Impact โดยเฉพาะ
สุดท้ายเราคงไม่ปฏิเสธว่าการทำงาน Social Impact ต้องใช้เงิน กลับกันเราอาจจะต้องยืนยันว่าว่ามันเป็นเรื่องที่ “จำเป็น” ต้องใช้เงินเสียด้วยซ้ำ แต่ปัญหาใหญ่ที่ซ้อนทับกันไปมาคือเงินที่เราใช้นั้นเราควักออกมาจากกระเป๋าของใคร หากเราเชื่อว่าทุกปัญหามันยังคงอยู่เพราะมีคนได้ประโยชน์จากมัน เราคิดว่าเราควรหาวิธีควักเงินออกจากกระเป๋าคนที่ได้ประโยชน์ หรือคนที่เสียประโยชน์แต่ต้องการการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากัน
ซึ่งหากเราโฟกัสการขยายตัวทางธุรกิจ เราอาจจะหลงลืมไปว่าเงินที่เราได้มาเป็นเงินที่มาจากกระเป๋าไหน เพราะก็จะถูกบีบให้เห็นภาพว่า “เงินก็คือเงิน” เหมือนกันหมด และคิดแค่ว่าต้องมีเงินมาใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมเท่านั้น
ทำให้สิ่งที่ Robinhood น่าจะส่งต่อบทเรียนให้คนทำงาน Social Impact คนอื่น ๆ ได้ จึงเป็นเรื่องของการประเมินจุดยืนและเป้าหมายในการทำงาน ว่าจริง ๆ แล้วสิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่มันเป็นการ “ขยายองค์กร” เพื่อ ขยายแรงกระเพื่อมสู่สังคม
หรือเป็นเพียงแค่การขยายธุรกิจเพื่อให้รับเงินได้มากขึ้นเท่านั้น