IMPACT CULTURE: ฝุ่นควันกับบทพิสูจน์ Co-Contribution
เราช่วยดับไฟป่าได้มากกว่าที่เราคิด ผ่านแนวคิด Co-Contribution ร่วมสร้างสรรค์วัฒนธรรมงาน social impact ในทิศทางใหม่ ที่จะนำพาเราไปสู่อนาคตแบบใหม่ กับคอลัมน์ Impact Culture
ปีนี้เป็นอีกปีที่สถานการณ์ฝุ่นควันภาคเหนืออยู่ในระดับวิกฤติจนติดอันดับเมืองที่สภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกอยู่หลายสัปดาห์
แต่ที่ทำให้สถานการณ์ดูย่ำแย่ลงไปอีกระดับคือกรณีการเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานออบหลวงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่กินพื้นที่ป่าหลายร้อยไร่ และอีกหลายพื้นที่ นำมาสู่การระดมกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การขอรับสนับสนุนเป้เดินทางสำหรับมอบให้เจ้าหน้าที่ ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็ได้รับบริจาคอย่างล้นหลามจนต้องประกาศหยุดรับการบริจาค รับสมัครอาสาดับไฟป่า รับบริจาคแกลลอนบรรจุน้ำ และการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อีกมากมาย
และ movement ที่น่าสนใจอย่างมาก คือโพสต์ของพี่หนูหริ่ง ที่นำแบบ 3D Printer สำหรับการผลิตหน้ากากกันฝุ่นควันมาแจกจ่ายให้สาธารณะ โดยขอสนับสนุนการนำแบบไปผลิตเป็นหน้ากากแล้วส่งกลับมาใช้ในภารกิจดับไฟป่าในครั้งนี้ด้วย
พี่หนูหริ่งแจ้งว่าในการผลิตชุดหน้ากากหนึ่งชุดต้องใช้เวลาในการผลิตมากถึง 4 ชั่วโมง เป็นข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงอยากเปิดแบบการผลิตแล้วขออาสาสมัครที่มี 3D Printer ร่วม contribute เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้น โดยไม่ปิดกั้นว่าจะส่งมาสนับสนุนจำนวนเท่าไร และยังกระตุ้นให้มีการผลิตต่อเนื่องเพราะสามารถส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐไว้สำรองใช้ได้ด้วย
ก้าวนี้ จึงถือเป็นก้าวสำคัญที่ muse พวกเราอย่างมากในเรื่องของการ publicize องค์ความรู้ที่จะสร้าง Impact ต่อผู้คน และเปิดพื้นที่ให้มีการ co-contribute จากเหล่า contributors ที่มีต้นทุนสนับสนุน เพื่อขยาย Impact ให้กว้างขวางขึ้นไป
หากก้าวนี้ประสบความสำเร็จและสร้าง Impact เป็นที่ประจักษ์ นี่จะเป็นหมุดหมายหนึ่งของการพูดคุยเรื่องการสนับสนุนงาน Social Impact ผ่านวัฒนธรรมใหม่ที่เปิดกว้างต่อการสนับสนุนการทำงาน ในอนาคต muse foundation จึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพิสูจน์ความเป็นไปได้ของวัฒนธรรมเพื่อสังคมลักษณะนี้ และร่วม Contribute เพื่อส่งเสริม Impact ของตัวงาน
โดยกระบวนการผลิตหลังดาวน์โหลดแบบทางออนไลน์ เราใช้วัสดุเป็นพลาสติก ABS ประมาณ 19 กรัมต่อ 1 ชุด ใช้เวลาในการพิมพ์ทั้งหมด 4.45 ชั่วโมง โดยมีต้นทุนพลาสติกที่ประมาณ 9 บาท (0.475 บาท/กรัม) ค่าไฟ 6.65 บาท (4 บาท/หน่วย) และค่าเสื่อมเครื่อง 37.4 บาท (7.875 บาท/ชั่วโมง) ต้นทุนรวมทั้งหมดจึงอยู่ที่ประมาณ 53 บาทต่อชุด
แน่นอนว่าในปัจจุบัน 3D Printer ยังมีราคาสูงและไม่ได้แพร่หลายในระดับครัวเรือน รวมถึงเมื่อประเมินเวลาการผลิตแล้วทำให้การผลิตต่อชิ้นก็ยังถือว่าใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่หากมองว่าโจทย์ของพี่หนูหริ่งที่ต้องการอย่างต่ำ 100 ชุด หากคนที่มี 3D Printer ทุกคนช่วยกันผลิตคนละหนึ่งชุดภายใต้ต้นทุนไม่เกิน 100 บาท (รวมค่าส่ง) นี่อาจจะสร้าง Impact มากกว่าการบริจาคเงิน 100 บาทโดยตรงเสียด้วยซ้ำ
และสิ่งนี้อาจจะจุดประกายผู้คนที่ไม่ได้มีเครื่อง แต่รู้จักคนที่มีเครื่อง แล้วสนับสนุนค่าดำเนินการ คนที่มีเครื่องขอรับการสนับสนุนค่าไฟ ค่าวัสดุ รวมถึงเปิดให้อาสาสมัครเข้ามาใช้เครื่องสำหรับการผลิตได้ อีกทั้งการเปิดแบบเป็นสาธารณะ ก็ยังเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้มีเครื่อง แต่มีความสามารถด้านการออกแบบได้นำแบบไปพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือเพื่อลดระยะเวลาการผลิตต่อชิ้นได้อีกด้วย
จึงพูดได้ว่านี่ไม่ใช่แค่การ “ขอรับบริจาค” ที่มุ่งเน้นไปที่การได้มาซึ่งสิ่งของ แต่เป็นการจุดประกายวัฒนธรรมที่ผู้คนสามารถมองหาช่องทางที่จะเอาตัวเองเข้าไปร่วมผลักดันสิ่งต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ร่วมเป็น contributors ในการแก้ปัญหา และสร้างความรู้สึกว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสิ่งนี้ร่วมกันจริง ๆ
เวลาพูดคำว่า “ช่วยกันคนละไม้ละมือ” มันจึงไม่ได้หมายถึงแค่ว่ามีคนกำหนดมาแล้วเราก็ไปแบ่งกันทำ แต่หมายถึงการมองเห็นแง่มุมในการ “ช่วยทำ” ที่เราได้เลือก ได้คิด ได้ตัดสินใจด้วยตัวเอง
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ปีที่แล้วก็มีโอกาสเขียนถึงการเผยแพร่วิธีทำเครื่องฟอกอากาศ DIY วิจัยเรื่องหน้ากากป้องกันฝุ่น ปีนี้ก็มีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาเผยแพร่ซ้ำ การแบ่งปันวิธีทำบ้านความดันบวก มุ้งกัน PM2.5 และอีกมากมายที่ “ผู้คน” ต่างอยากส่งต่อแนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาให้กันและกันโดยไม่ถือเอกสิทธิ์ว่าใครเป็นเจ้าของ เปิดโอกาสให้ผู้คนนำไปใช้ ปรับใช้ หรือพัฒนาคุณภาพเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อ Impact ที่เพิ่มขึ้นต่อไป
ในขณะที่รัฐบาลแสดงความกังวลเรื่องการท่องเที่ยวเลยไม่มีนโยบายประกาศหลายพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ รวมถึงชี้แจงว่าแม้จะประกาศก็ไม่ได้มีแนวทางการเบิกจ่ายที่เอื้อต่อการแก้ปัญหามากนัก ก็คงมีแต่ประชาชนที่จะต้องดูแลจัดการตัวเองไปอีกปี จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ประชาชนร่วมมือกันผลักดันปัญหาโดยไม่ถือว่าใครจะต้องดีเด่นกว่าใคร ร่วมมือกันโดยมองประโยชน์ของ Community เป็นสำคัญ
จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อน “คนละไม้ละมือ” เพื่อฝันของสังคมที่ดีขึ้นไปด้วยกัน
ปล.สนใจสนับสนุนกิจกรรมไหนกดที่รูปภาพเพื่อนำไปสู่ลิงก์ต้นทาง