muse ไหน?
ชื่อ muse foundation มาจากไหน มีความหมายยังไง และทำไมคำว่า muse ถึงถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม แล้ว muse ของเราต่างจากคนอื่นยังไง
เวลาที่ได้ไปแนะนำตัวให้หลาย ๆ ท่านรู้จักกับ muse foundation คำถามแรกที่เราจะได้ยินตลอดคือ “muse ไหน” “ใช่ muse นี้หรือเปล่า” รวมถึง “รู้สึกคุ้น ๆ เหมือนเคยได้ยิน” ซึ่งเราก็แทบจะตอบได้ในทันทีเลยว่าน่าจะไม่ใช่ “muse นั้น”
หากเราลองกดเสิร์ชใน Google เราจะพบว่า muse นั้นถูกใช้เป็นชื่อองค์กรหลายองค์กร และค่อนข้างครอบคลุมไปหลายอุตสาหกรรม แม้แต่ชื่อ Muse foundation ยังมีการใช้อย่างตรงตัวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
วันนี้เราจึงอยากเล่าถึงความน่าสนใจของคำว่า muse ว่ามาจากไหน มีเสน่ห์ยังไงคนถึงอยากใช้เป็นชื่อองค์กรกันมากมาย รวมถึงแล้ว muse ของพวกเราเหมือนหรือแตกต่างยังไงจาก muse อื่น ๆ
เมื่อความคิดสร้างสรรค์เป็นพรจากเทพเจ้า
คำว่า “muse” นั้นเชื่อว่ามีรากมาจากตำนานเทพสมัยกรีกโบราณ (Ancient Greek) ที่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์และพรสวรรค์ของผู้คนนั้น เป็นสิ่งที่เทพประทานมาให้ โดยเทพธิดาแห่งศิลปะและวิทยาการที่เรียกรวมกันว่า Muses
แนวคิดเรื่อง Muses เป็นแนวคิดเทพเจ้ากลุ่ม Boeotia เป็นหนึ่งในความเชื่อดั้งเดิมของกรีกก่อนการมาถึงของเหล่าเทพโอลิมปัส แต่เดิมมีการบันทึกไว้ว่ามีเพียง 3 องค์ คือ Melete (ฝึกฝน) Mneme (ความจำ) และAoide (เพลง) โดยเทพธิดาทั้งสามเป็น “ภาพแทน” ของ “พรสวรรค์” ที่แฝงอยู่ในมนุษย์ กล่าวคือหากใครที่มีความสามารถในสิ่งใด เป็นเพราะมีพลังของเทพทั้งสาม (หรือองค์ใดองค์หนึ่ง) สถิตอยู่
เชื่อว่า Muses ได้รับการเคารพบูชาอย่างมากแถบภูเขา Helicon และ Delphi แต่ที่ Delphi จะถูกรู้จักในนาม Nete Mese และ Hypate ซึ่งนำไปใช้เป็นชื่อคอร์ดสำหรับเครื่องดนตรีโบราณที่เรียกว่า Lyre ด้วย
ที่มาของคำว่า Muses มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง บ้างก็ไม่เชื่อว่า Muses นั้นเป็นอิทธิพลจาก Boetian แต่เป็นของ Tharcian ที่พูดภาษากลุ่ม Proto-Indo-European มากกว่า ในขณะที่ก็มีคนเสนอว่าเป็นคำภาษากลุ่ม Pre-Greek ที่ใช้กันมาเนิ่นนานก่อนจะมีอาณาจักรกรีกเกิดขึ้น มีทั้งที่เชื่อว่ารากศัพท์มาจากคำว่า “put in mind” และ “mountain” ตามที่ผู้นับถือมักรวมตัวและสร้างวิหารอยู่บนภูเขา เป็นต้น
ต่อมา ในยุคกรีกคลาสสิค (Classical Greek) ที่ได้รับอิทธิพลจากตำนานเทพโอลิมปัส Muses ก็ถูกเล่าเปลี่ยนไปว่าเป็นลูกของ Zues และ Mnemosyne โดยมีกันถึง 9 องค์ คือ Calliope พรสวรรค์ด้านมหากาพย์กวี, Clio พรสวรรค์ด้านประวัติศาสตร์และงานเขียน, Erato พรสวรรค์ด้านบทกลอนรัก, Euterpe พรสวรรค์ด้านดนตรีและเพลงขับร้อง, Melpomene พรสวรรค์ด้านการต่อสู้, Polyhymnia พรสวรรค์ด้านการเพาะปลูก, Terpsichore พรสวรรค์ด้านการเต้นรำ, Thalia พรสวรรค์ด้านการแสดงตลก และ Urania พรสวรรค์ด้านการอ่านดวงดาว
เรื่องจำนวนก็เป็นอีกเรื่องที่วุ่นระดับหนึ่ง เพราะยังมีบางหลักฐานที่พยายามอธิบายว่า Muses มีด้วยกัน 4 องค์ ในขณะที่บางคำอธิบายอ้างว่ามี 7 องค์ บ้างก็ว่ามี 9 องค์แต่มีชื่อและการแบ่งพรสวรรค์แตกต่างกันไป บ้างก็เป็นลูก Apollo บ้างก็เป็นลูก Zues แต่แม่เป็นคนอื่น เรียกได้ว่า Muses นั้นค่อนข้างเนื้อหอมมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
และแม้ว่าจำนวนจะต่างกัน ชาติกำเนิดจะไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่ยังคงอยู่เสมอคือเมื่อพูดถึง Muses จะถูกยกให้เป็นเทพธิดาของ “ศิลปะวิทยาการ” เสมอ บ้างก็ยึดโยงอยู่กับบทกวีและดนตรี ในขณะที่บ้างก็ครอบคลุมไปถึงความสามารถในการรบและการเพาะปลูกด้วย
ในปัจจุบัน muse มีความหมายหนึ่งตามพจนานุกรมว่า “บุคคล หรือพลังใด ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานสร้างสรรค์” ซึ่งถือเป็นความหมายที่ใกล้เคียงกับความหมายดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากการยึดติดกับเทพเป็นการกล่าวถึงสิ่งอื่นอย่าง “กลาง ๆ” แทน
muse ในความเข้าใจปัจจุบัน
เมื่อพูดคำว่า muse เรามักคิดถึงคำว่า amuse ที่แปลว่าสนุกสนาน (รากคำเดียวกัน) แต่หากเป็น muse คำเดียว เรามักพบเจอในความหมายของ “แรงบันดาลใจด้านศิลปะ” มากกว่า
จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะพบเห็นคำว่า Muse ถูกตั้งเป็นชื่อองค์กรด้านศิลปะ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านสื่อและความบันเทิง เพราะคำว่า music เองก็มีรากคำมาจากคำว่า muse เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทสื่อขวัญใจสายอะนิเมะสัญชาติสิงคโปร์อย่าง Muse communication วงร็อกสัญชาติอังกฤษ Muse มูลนิธิเพื่อการสนับสนุนการสร้างสื่อ Muse foundation โครงการพัฒนางานวิจัยแบบไม่แสวงผลกำไร Project Muse
ยิ่งถ้าพูดถึงค่ายเพลงที่ใช้ชื่อว่า Muse คงมีเยอะจนนับกันไม่หวาดไม่ไหว
muse ของเรา
muse foundation ของเรา ก็หลงใหลในเสน่ห์ของคำว่า Muse ไม่แพ้กัน โดยเราเองค้นพบว่าแรงบันดาลใจของเราหลาย ๆ อย่างนั้นเป็นการ “รับมา” จากคน หรือโปรเจ็กต์ที่ทำงานเรื่องนั้น ๆ อยู่ก่อนแล้ว แรงผลักดันและกำลังใจของเราในการดำเนินการเป็นแรงบันดาลใจที่เราได้รับจากคนรอบข้าง เป็น muse ที่ได้รับมาจากคนอื่น
เราจึง “อิน” กับโครงสร้างการ “ส่งต่อแรงบันดาลใจ” จากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่หนึ่ง และส่งต่อไปยังพื้นที่ถัด ๆ ไป
“muse ของเรา” จึงเป็นการสนับสนุนการส่งต่อ “muse” ต่าง ๆ ให้ไปถึงผู้คนในวงกว้างมากขึ้น
เราจึงอยากใช้คำว่า muse เป็นคำที่สื่อถึง “แรงบันดาลใจ” ที่ได้รับส่งต่อมา และผลักดันให้เรารู้สึกอยากทำอะไรบางอย่าง เช่นเดียวกับเราที่ได้รับ muse มาจากผู้คนและผลักดันโครงการต่าง ๆ โดยหวังว่าสิ่งนี้จะกลายเป็น muse ให้ผู้คนในอนาคต
Museum x Foundation
เวลาแนะนำตัวว่ามาจาก muse foundation สิ่งที่คนจะนึกถึงคงเป็น “มูลนิธิอะไรสักอย่าง” ซึ่งสิ่งนี้เป็นเรื่องที่พอได้มาตกผลึกกันจริง ๆ ก็ตลกอยู่เล็กน้อย
เพราะจริง ๆ แล้วคำว่า foundation นั้นเป็น “ส่วนหนึ่งของชื่อ” ไม่ได้หมายความว่าเป็นมูลนิธิแต่อย่างใด
ด้วยความที่เรา “อิน” เรื่อง Muses และการส่งต่อแรงบันดาลใจมาก คำถามมันคือแล้วทำยังไงมันถึงจะเกิดขึ้นได้ เราก็มองว่าปัญหาของการที่ muse มันไปถึงผู้คนได้ยาก ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่มี “พื้นที่” ในการเข้าถึง muse เหล่านั้นได้อย่างง่าย ๆ ในปัจจุบันเราอาจจะคิดว่าอยากรู้เรื่องอะไรเราก็เสิร์ชวิธีทำผ่าน Youtube ผ่าน Tiktok แต่เราจะรู้ได้ไงว่าความรู้เหล่านี้จะคงอยู่ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เกิดวันหนึ่งเซิร์ฟที่เก็บสิ่งเหล่านี้ล่ม หรือมีนโยบายในการลบองค์ความรู้บางความรู้ muse บาง muse ตลอดจนการ “ปิดกั้นการมองเห็น” ที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน เราแทบนึกไม่ออกเลยว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นแล้วเราจะหาองค์ความรู้จากที่ไหนได้บ้าง
คิดฟุ้ง ๆ ต่อไปว่า แล้วคนสมัยก่อนเค้าเข้าถึง Muses กันที่ไหนนะ ก็พบว่ามันมีสถานที่สำหรับบูชาเหล่า Muses ที่เรียกว่า mouseion ซึ่งคำนี้เป็นรากของคำว่า Museum หรือ พิพิธภัณฑ์ นั่นเอง
เราเลยฟุ้งต่อไปว่า ถ้าเราจะ “อิน” กับ muse มาขนาดนี้แล้ว เราก็ดันไปให้สุดด้วยการมองว่า เราอยากจะมี (รวมถึงส่งเสริมให้มี) Museum ที่รวบรวมและเก็บรักษา muse ของผู้คนเอาไว้
แน่นอนว่าเรารู้ว่า การจะตั้งพิพิธภัณฑ์แบบกายภาพนั้นเป็นอะไรที่ค่อนข้างมีข้อจำกัด มีประเด็นเรื่องการเข้าถึง เรื่องการบำรุงรักษาต่าง ๆ เราเลยมองว่าเราต้องหา “วิธี” ในการสร้าง Museum แบบใหม่ที่อาจจะตอบโจทย์มากกว่า เข้าถึงได้ง่ายกว่า และแก้ปัญหาหลาย ๆ ส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ซึ่งสิ่งนี้ก็กำลังศึกษาหาข้อมูลกันอยู่ว่าจะทำยังไงได้บ้าง ในโอกาสหน้าจะมาเล่าเรื่องพวกนี้ให้ได้ฟังมากขึ้น)
โดยเราเชื่อว่า สิ่งนี้จะเข้าไปช่วย “สนับสนุน” muse ทั้งหลายให้สามารถส่งต่อไปสู่อนาคตได้ อาจจะไม่คาดหวังเรื่องความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด หรือมองตัวเองเป็น “กำลังสำคัญ” ในการผลักดัน แต่อยากให้ Museum นี้ กลายเป็นหนึ่งใน Foundation (รากฐาน) ในการส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ผู้คน (เช่นเดียวกับที่หลาย ๆ คนพยายามจะบันทึกลง Tiktok Youtube Fcebook หรือสื่อรูปแบบอื่น ๆ)
muse น้อย ๆ
หากสังเกตจะเห็นว่าเวลาพิมพ์ muse foundation เราจะใช้ตัวพิมพ์เล็กเสมอ
เหตุผลคือ เราอยาก “แสดงตัว” ว่าเราเป็นเพียง “muse เล็ก ๆ” muse หนึ่งในบรรดา Muses ทั้งหลาย เราพยายามจะแสดงว่าสิ่งที่เราทำนั้น ยืนอยู่บนการระลึกว่าพวกเรานั้นไม่ได้ “พิเศษ” กว่าคนอื่น สิ่งที่เราทำไม่ได้ “ยิ่งใหญ่” หรือ “ทะเยอทะยาน” กว่าใคร ๆ ซึ่งส่วนนี้จะเข้ามาสอดคล้องกับการ “อิน” เรื่อง Opensource ของพวกเรา ที่พยายามจะผลักดันงานแบบไม่ยึดถือไว้เป็นผลงานส่วนตัว แต่เชื่อในพลังของ Community (ในทีนี้คือชุมชนด้านงานขับเคลื่อนสังคม) ที่จะช่วยกันส่งเสริม พัฒนา หรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เราทำเพื่อให้งานสามารถเติบโตอย่างเป็นอิสระ
ในมุมหนึ่งการใช้ muse ตัวเล็กอาจจะดูเป็นภาพลักษณ์เอาเท่ แต่เราก็หวังว่ามันจะช่วยส่งต่อความเป็นตัวตนของเราไปถึงเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน รวมถึงเป็นเครื่องคอยย้ำเตือนให้เราไม่ลืมว่าเป้าหมายของเราจริง ๆ คืออะไร
ภาพระยะไกลคืออยากให้พื้นที่ของ muse กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่คนเข้ามาแบ่งปัน ส่งต่อ และเก็บรักษา muses ร่วมกัน
ระหว่างนี้เราเลยใช้พื้นที่นี้ (substack) เป็นช่องทางหนึ่งในการบันทึก รวบรวม และส่งต่อ muse ต่าง ๆ ให้กับผู้คนที่สนใจ ถือว่าเป็น Museum ขนาดทดลอง และหวังว่าสิ่งนี้จะเป็น muse ให้ผู้คนได้ไม่ทางใดทางหนึ่ง