Muse Recap: 2023 Year in review, 2024 Year’s resolution
พาทุกคนสำรวจหนึ่งปีที่ผ่านมาของ muse ผลงาน ความคิด ความผิดพลาด การเรียนรู้ และการเติบโต ขอบคุณทุกคนที่ยังติดตาม muse มาอย่างต่อเนื่อง
เข้าสู่ปีที่ 3 ของการทำงานในนาม muse foundation ตลอดปีที่ผ่านมาเป็นอีกปีที่เรายังคงเชื่อมั่นว่าสังคมเป็นที่ที่ดีขึ้นได้ และพยายามผลักดันโปรเจ็กต์ของเราเพื่อสนับสนุนความฝันนั้นให้เกิดขึ้นได้จริง
ปี 2023 เราตั้งใจกันว่าจะเป็นปีที่เราได้ผลักดันโปรเจ็กต์ที่เราคิด ที่เราเชื่อ ให้สำเร็จพร้อมในการที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของผู้คนที่เชื่อในฝันเดียวกับเรา เป็นปีที่เราตั้งเป้าที่จะต้อง “Get it done” ในแต่ละโปรเจ็กต์ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และพร้อมที่จะสร้างประโยชน์แก่สังคม
วันนี้เลยอยากมาเล่าถึงความเป็นไปในปีที่ผ่านมาว่า muse ทำอะไรไปบ้าง มีส่วนไหนที่สำเร็จเสร็จสิ้น ส่วนไหนที่มีการเปลี่ยนแปลง มีเหตุการณ์ ปัญหา และอุปสรรคใด ๆ เกิดขึ้นบ้าง เราผ่านมันมาอย่างไร รวมถึงเป้าหมายในอนาคตและทิศทางที่ muse กำลังจะเดินต่อไป ถือป็น 2023 Year in review และ 2024 Year’s resolution ของ muse foundation ไปพร้อม ๆ กัน
Plywood CNC Project
muse foundation เริ่มต้นลงทุนกับระบบตัดอัตโนมัติด้วยเครื่อง CNC เป็นอย่างแรก ๆ จากโปรเจ็กต์บ้าน WikiHouse แล้วพัฒนาองค์ความรู้ในด้านนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี
ปีที่แล้วจึงเป็นเหมือนปีที่เราได้ทดสอบองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบตัดอัตโนมัติที่สั่งสมมา พลิกแพลงและปรับใช้เพื่อพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์ต่าง ๆ พิสูจน์ว่าระบบตัดอัตโนมัติสามารถเข้ามาเป็นทางเลือกในกระบวนการผลิตได้จริงหรือไม่ และเรายังอยากท้าทายโจทย์นี้ด้วยความทะเยอทะยานที่มากขึ้น
muse Workshop
กว่า 3 ปีที่เราทำงานอยู่กับระบบตัดไม้อัดอัตโนมัติ แม้ตัวระบบจะมีศักยภาพในฐานะทางเลือกทางการผลิต แต่ก็ต้องยอมรับว่าก็ยังมีรายละเอียดและข้อจำกัดจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องแก้ไข ปรับปรุงเพื่อผลักดันระบบนี้ให้ดีขึ้น
ปัญหากลุ่มหนึ่ง ซึ่งดูเป็นปัญหาสำคัญของระบบนี้คือ ปัญหามลภาวะจากกระบวนการทำงาน ทั้งเสียงเครื่องระหว่างการตัดที่ดังเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 90-93 dB ซึ่งเป็นความดังระดับเดียวกับงานก่อสร้างแต่อยู่ในพื้นที่ใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งยังมีปัญหาเรื่องฝุ่นจากการตัดไม้ที่ยากต่อการจัดการ
การใช้เครื่อง CNC จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่สำหรับทำงานที่ป้องกันมลภาวะเหล่านั้นไม่ให้รบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ ง่ายที่สุดคือการมี workshop แยกออกไปจากพื้นที่อยู่อาศัย นั่นทำให้การใช้ระบบนี้ก่อให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
เดิมที เราใช้พื้นที่โล่งส่วนหนึ่งของอาคาร muse foundation ในการทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในตัวอาคารอย่างเลี่ยงไม่ได้ แถมยังเสียพื้นที่รอบตัวเครื่องที่อาจจะมีทั้งฝุ่นและเสียงรบกวนจนไม่สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ครั้นจะสร้าง workshop นอกตัวอาคารก็อาจจะกินเวลาจนกระทบต่อการดำเนินโปรเจ็กต์ของ muse ไป
เราจึงตั้งโจทย์ในการปรับปรุงพื้นที่ของตัวอาคาร muse foundation ให้กลายเป็น workshop สำหรับทำงานที่สามารถป้องกันทั้งเสียงและฝุ่นละอองจากการทำงานได้ และจะดีกว่าไหมหากเราสามารถประยุกต์องค์ความรู้เรื่องการตัดไม้อัดด้วยระบบ CNC ให้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญของตัว workshop เพื่อให้ต้นทุนในส่วนนี้เหลือเพียงต้นทุนวัสดุในการผลิตแทนการต้องสร้าง workshop ใหม่ทั้งหลัง
เกิดเป็นนวัตกรรมการกั้นห้องด้วยระบบเฟรมแบบ modular ที่ผลิตจากไม้อัดระบบตัดอัตโนมัติ CNC เราประยุกต์ใช้ทั้งองค์ความรู้เรื่องระบบตัด องค์ความรู้เรื่องไม้อัด และแนวคิดการออกแบบเพื่อให้ชิ้นงานสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากที่สุด
เราได้ตั้งโจทย์ในเรื่องของการใช้งานได้จริง โดยห้องสำเร็จพร้อมบุวัสดุกันเสียงสามารถลดเสียงดังลงได้จนเหลือประมาณ 50-60 dB หรือความดังระดับเสียงพูดคุยปกติเท่านั้น
อีกทั้งยังคงแนวคิดความสามารถในการรื้อถอนใหม่ได้ ทำให้กระบวนการผลิตไม่ต้องมีการเจาะที่ตัวโครงสร้างอาคารเดิม คง concept ระบบการประกอบที่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว และยังออกแบบให้พร้อมสำหรับการนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น การกั้นส่วนแบบโปร่ง ใช้เป็นชั้นวางของหรือชั้นวางหนังสือได้อีกด้วย
762P Studio
หลังจากพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานตัดด้วยระบบ CNC มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเชื่อว่าระบบการผลิตนี้จะสามารถเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพต่อผู้คนได้ในอนาคต สิ่งที่ท้าทายจึงเป็นการพิสูจน์ความเชื่อของเราว่าจะสามารถผลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นจริงได้หรือไม่
เราจึงได้ทดลองพัฒนาแนวคิดจากองค์ความรู้ที่สั่งสมมา ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นโมเดลธุรกิจ เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าระบบการผลิตนี้จะได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด
เกิดเป็น 762P Studio บริษัทที่นำองค์ความรู้ซึ่งศึกษาและพัฒนาโดย muse foundation มายกระดับให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะเข้าแข่งขันในตลาดจริง อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ผลักดันการตลาดแบบ Opensource โดยหวังให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อแนวคิดการผลิตที่ไม่แอบอิงอยู่กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เป็นสำคัญ
โดยในปีที่ผ่านมา 762P Studio ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากองค์ความรู้เรื่องงานตัดไม้ และแนวคิดการผลิตแบบ modular เกิดเป็น Office pod สำหรับใช้ทำงาน หรือประชุมแบบเก็บเสียง ประยุกต์องค์ความรู้เรื่อง modular frame ออกมาเป็น Art frame กรอบรูปเอนกประสงค์ และผลิตภัณฑ์อีกหลายชิ้นที่พัฒนาจากองค์ความรู้ของ muse foundation รวมทั้งการประยุกต์เอาระบบการผลิตไปใช้ในการรับงานเชิงโครงสร้างภายใน ไม่ว่าจะเป็นการปูพื้น กั้นห้อง หรือตกแต่งภายใน
การชี้วัดความสำเร็จของ 762P Studio จึงเป็นการกลับมาตอบคำถามสำคัญว่า สิ่งที่เราเชื่อมั่นนั้นมีคนที่พร้อมเชื่อไปกับเราหรือไม่ สิ่งที่เรากำลังผลักดันมีคน “เก็ท” กับมันมากน้อยแค่ไหน และเราควรเดินไปในทิศทางใดต่อจากผลลัพท์เหล่านี้
muse Opensource Space
เราฝันกันมาอย่างต่อเนื่อง ว่าอยากมี “พื้นที่” เชิงกายภาพไว้สนับสนุนงาน Social Impact ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานที่เชื่อในเรื่องการเปิดเผยและส่งต่อองค์ความรู้แบบ Opensource คืสู่สังคม
หลังจากพัฒนาทั้งแนวคิด วัตถุประสงค์ และกระบวนการมาอย่างต่อเนื่อง จึงผลักดันให้เกิด muse Opensource Space ในพื้นที่ของ muse foundation อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จะกลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ในการ “ซัพพอร์ต” การทำงานของผู้คนที่เชื่อในสังคมที่ดีขี้น
ตัว space เป็นอาคารจากตู้คอนเทนเนอร์บนงานฐานราก มีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมรวมประมาณ 60 ตารางเมตร โดยออกแบบให้ยืดหยุ่นต่อการใช้งานในหลาย ๆ ลักษณะเพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับกิจกรรมให้มากขึ้น วางแผนการตกแต่งภายในด้วยงานไม้อัดจากระบบตัดอัตโนมัติ ให้เป็นเหมือนพื้นที่สำหรับ Showcase องค์ความรู้ของ muse ไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากการเป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมแล้ว เรายังคาดหวังให้ muse Opensource Space เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการ “Retreat” จากการทำงาน เป็นพื้นที่สำหรับการหลบลี้จากความเหนื่อยล้า และมีศักยภาพในการเติมพลังใจให้กับผู้คนที่กำลังจะหมดไฟ เราได้ออกแบบตัว space ให้มีพื้นที่พร้อมสำหรับพักอาศัย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตได้จริง โดยหวังว่าการพักผ่อนอย่างเต็มที่จะช่วยเสริมพลังให้ผู้คนพร้อมกลับไปสู้ต่อ และหวังให้สิ่งที่ muse Opensource Space มอบให้ สามารถกลายเป็น “muse” ให้ผู้คนอยากส่งต่อสิ่งดี ๆ ออกไปสู่สังคมในอนาคต
เรียกว่าตั้งใจให้เป็นพื้นที่สนับสนุนทั้ง “งาน” และ “คนทำงาน” social impact ไปพร้อม ๆ กัน
โดยปัจจุบันตัวอาคารอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีแผนจะแล้วเสร็จพร้อมเข้าใช้งานได้ในช่วง Q1 ของปี 2024 นี้
Community building
อีกสิ่งหนึ่งที่เราเชื่อมั่น คือผู้คนที่ฝันถึงสิ่งเดียวกัน เราเชื่ออยู่เสมอว่ามีผู้คนจำนวนมากกำลังผลักดันและขับเคลื่อนสังคมนี้ให้กลายเป็นที่ที่ดีขึ้น
เป้าหมายหนึ่งของ muse คืออยากรู้จักผู้คนเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด ปีที่ผ่านมา muse จึงได้มีโอกาสเดินทางไปพบปะกับผู้คนหลากหลาย เพื่อทำความรู้จัก พูดคุย รวมถึงบันทึกเรื่องราวของพวกเขาเอาไว้
โดยในปีที่แล้วเราถือว่าเป็นปีสำหรับ Soft Introduction คือการได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม พบปะพูดคุยในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ เน้นให้เกิดความรู้สึกเหมือนการรู้จักกันแบบ “เพื่อน” แล้วเริ่มสร้างความเป็นไปได้จากการพูดคุยในเรื่องความเชื่อและความฝันที่ตรงกัน เราหวังเอาไว้ว่าความสัมพันธ์เหล่านี้จะสามารถเป็นรากฐานในการสร้าง Community ที่ “healthy” ได้ในอนาคต
และแม้จะเป็น Soft Introduction แต่เราก็ได้มีโอกาสพบปะกับเครือข่ายที่หลากหลาย ได้พบเจอกับผู้คนที่สนใจอยากจะแชร์ความฝันกับพวกเราอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย เช่น ขอนแก่น ราชบุรี พังงา เชียงใหม่ ตรัง ภูเก็ต และพื้นที่ปริมณฑลอีกหลายกลุ่ม
ถือเป็นการเติมไฟให้ยิ่งเชื่อในสิ่งที่เราฝัน เพราะเราไม่ได้เชื่อในสิ่งนั้นเพียงลำพัง
Substack: at.muse.foundation
เมื่อพูดถึง “คนทำงาน” เราอาจจะมีภาพถึงจิตอาสา มูลนิธิ องค์กรไม่แสวงผลกำไรต่าง ๆ แต่เมื่อมองให้ลึกเราจะพบว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่กำลัง “Contribute” บางอย่างให้กับการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับอุดมการณ์ส่วนตัวถึงโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ แต่กลับไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก
เราจึงอยากช่วยส่งแสงไปยังคนทำงานที่อาจจะถูกซ่อนจาก algorithm ของ Social Media ผู้คนที่ถูกมองผ่านเนื่องด้วยแนวคิดเรื่องจิตอาสาและการทำงานเพื่อสังคม ผู้คนที่พยายามในวิถีทางต่าง ๆ เพื่อให้สังคมที่พวกเขาใฝ่ฝันเกิดขึ้นได้จริง
เราอยากส่งต่อแรงบันดาลใจ ส่งต่อ “muse” ที่เราได้รับจากคนทำงานแต่ละคนไปสู่ผู้คนอีกจำนวนมากที่สนใจและเชื่อในสิ่งเดียวกัน รวมถึงอยากบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคนทำงานที่หลายครั้งความฝันอาจจะต้องยุติลง เพื่อเชิดชูผู้คนที่มีความฝันเหล่านี้ และส่งต่อบทเรียนจากอดีตสู่ผู้คนที่สนใจในอนาคต
เครื่องมือที่เราเลือกใช้คือ Substack แพล็ตฟอร์มสำหรับส่ง Newsletter ตรงเข้าอีเมลของผู้ติดตาม โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นในการส่งเสริมวัฒนธรรมการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างจาก feed scrolling ซึ่งหลายต่อหลายครั้งมักถูกบดบังหลบซ่อนจาก algorithm ของตัว Social Media เองจนสิ่งเหล่านี้ถูกผลักให้หลุดออกจากวงโคจรชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คน เพื่อให้รู้สึกถึงความใกล้ชิดและต่อเนื่องว่ายังมีคนจำนวนมากกำลังทำงานผลักดันสังคมนี้อยู่
ปีที่ผ่านมา เราได้ลงบทความไปทั้งหมด 38 บทความ เป็น Newsletter 20 บทความ ได้เขียนถึงเครือข่ายที่เราเข้าไปเชื่อมต่อแล้ว 6 บทความ โดยเรามี subscriber รวมทั้งสิ้น 16 คน มียอดการอ่านรวมประมาณ 2,200 ครั้งตลอดทั้งปี และมีอัตราการเปิดอีเมลอ่านเฉลี่ยอยู่ที่ 67%
แม้หากมองในแง่สื่อมวลชน ตัวเลขเหล่านี้อาจจะไม่ได้ให้ความรู้สึกว่ามากมายเช่นตัวเลขใน social media แต่สิ่งที่เรามองเห็นคือแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้คนที่สนใจในตัวงาน ผู้คนที่แม้แพล็ตฟอร์มจะไม่คุ้นเคยก็ยังเข้ามาอ่านและกดติดตาม
สิ่งที่เราค้นพบคือแนวโน้มนี้เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับความต่อเนื่องของการทำงานบนแพล็ตฟอร์ม นั่นหมายความว่าหากเราตั้งใจและจริงจังกับมันมากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าความเติบโตนี้จะยิ่งแข็งแรงมากขึ้นในอนาคต
นั่นทำให้ในปีนี้ muse อยากตั้งใจลงทุนกับการทำงานบน Substack ให้มากขึ้น เพื่อพิสูจน์สมมติฐานและความเป็นไปได้ในการสร้างทางเลือกการสื่อสารที่ไม่ผูกติดอยู่กับ Centralized Social Media เพียงอย่างเดียว
Nodes connection
เมื่อเรามองความสัมพันธ์ภายใน Community ว่าเป็นเพื่อน การขยาย Community สำหรับเราจึงเป็นความรู้สึกคล้าย ๆ การ “แนะนำเพื่อนให้รู้จักกัน”
สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำนอกจากการที่เราได้ทำความรู้จักกับกลุ่มต่าง ๆ แล้ว คือการหาช่องทางให้คนทำงานได้มีโอกาสรู้จักกับคนทำงานกลุ่มอื่น ๆ คนที่อาจจะทำงานร่วมกันได้ คนที่อาจจะสนับสนุนงานของกันและกันได้ หรือคนที่น่าสนใจถ้าหากมีโอกาสได้รู้จักกัน
เราเชื่อว่าการแนะนำกันในลักษณะนี้ น้อยที่สุดคือคนทำงานจะรับรู้ว่ามีใครทำอะไรอยู่ที่ไหนบ้าง บางคนทำงานแบบเดียวกัน บางคนทำงานที่เกี่ยวข้องกัน บางคนอาจจะมีสิ่งที่สนใจร่วมกัน เราวางความคาดหวังเอาไว้ว่าแม้สุดท้ายกลุ่มเหล่านี้จะไม่ได้จบที่การทำโปรเจ็กต์ร่วมกันก็อาจจะสามารถสร้างประโยชน์ในแง่อื่นได้
ปีที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสทดลอง “แนะนำ” กลุ่มต่าง ๆ ให้รู้จักกันด้วยแนวคิดดังกล่าว เช่น การแนะนำกลุ่มแนวจัด event สายเทคโนโลยีอย่าง creatorsgarten ให้รู้จักกับผู้สนใจสนับสนุนกิจกรรมด้านเทคโนโลยีอย่าง Cleverse ได้แนะนำ พี่นัทที่ทำงานคนไร้บ้านในขอนแก่น ให้ได้มีโอกาสรู้จักกับพี่กุลที่ทำงานในจังหวัดเดียวกัน ได้แนะนำพี่ไผ่ แห่งมหาลัยไทบ้านให้รู้จักกับ พี่ป๊อบ Friends & forest. และได้แนะนำทีม Bangkok Opensource Hackathon ให้รู้จักกับแพล็ตฟอร์ม Fundraising & Directory ด้านองค์กรเพื่อสังคมอย่าง Chewiid เป็นต้น
รวมถึงเรายังได้มีโอกาส “ถูกแนะนำ” จากกลุ่มเครือข่ายให้รู้จักกับ “เพื่อน” ของพวกเขา กลายเป็นภาพการขยาย Community ในฝัน และแม้เราจะยังชี้วัดอย่างชัดเจนไม่ได้ว่าการเชื่อมโยงกันในลักษณะนี้จะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่
แต่เราก็อยากจะเชื่อว่า อย่างน้อยการได้รู้จักกันก็ไม่น่าส่งผลเสียต่อการทำงานแต่อย่างใด
สิ่งที่ได้เรียนรู้
หนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เราได้ผลักดันงานในนาม muse foundation อย่างเข้มข้นมากขึ้น ทุกโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้นล้วนผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านการเรียนรู้ และการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เราเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายในช่วงปลายปี 2022 และช่วยกันผลักดันอย่างจริงจังเพื่อให้ปี 2023 เป็นปีที่เราสามารถพิสูจน์ตัวเองผ่านงานที่เราทำได้
แต่หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เรียกว่าแต่ละโปรเจ็กต์กว่าจะสำเร็จลุล่วงนั้นต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาตั้งคำถามถึงตัวโปรเจ็กต์ว่ามันจะ Impact อย่างที่เราวาดไว้หรือไม่
ทั้ง muse Workshop เอง muse Opensource Space เอง หรือ 762P Studio เอง ต่างก็ผ่านการตั้งคำถามที่เข้มข้น มีการรับฟังความคิดเห็น มีการปรับปรุงแก้ไขแนวทางเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการและ Impact ที่เราคาดหวัง
และยังมีโปรเจ็กต์ที่แม้การชี้วัดความสำเร็จจะไม่เป็นดังที่ตั้งใจ แต่ก็ได้ฝากบทเรียนที่สำคัญต่อพวกเรา เป็นโปรเจ็กต์ที่ช่วยให้เราได้ตั้งคำถามและพัฒนาเป้าหมายของเราให้หนักแน่นยิ่งขึ้น
Interior for RAMA9 space
เดิมที ปีนี้เป็นปีที่เราหวังว่าจะได้เปิดใช้พื้นที่ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Cleverse บริเวณพระราม 9 ให้เป็นพื้นที่สำหรับสนับสนุนคนทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ด้วยลักษณะพื้นที่ซึ่งเหมาะกับการจัดกิจกรรมประชุมสัมนา เราจึงอยากที่จะใช้องค์ความรู้ด้าน CNC ในการผลิตงานโครงสร้างภายในของพื้นที่ ให้สามารถกั้นใช้และแบ่งสัดส่วนได้ รวมถึงเป็น Workshop ในการทดลองงานตัด CNC สำหรับผู้ที่สนใจไปพร้อม ๆ กัน
เราจึงประยุกต์องค์ความรู้เรื่อง Modular frame จาก muse Workshop มาใช้ในการออกแบบสำหรับการตกแต่งภายในและการกั้นห้องสำหรับทำ Workshop ตัดไม้ โดยครั้งนี้เราได้ลองเลือกใช้วัสดุสำหรับงานตกแต่งภายในในอุตสาหกรรมจริง ใช้วิธีการตัดชิ้นส่วนจากปายแล้วส่งลงไปประกอบในพื้นที่
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเราพบว่าวัสดุที่เราใช้นั้นมีการปล่อยสาร formaldehyde ออกมาเป็นจำนวนมากเมื่อสภาพอากาศร้อน จนรบกวนและอาจเกิดอันตรายต่อการใช้ชีวิตได้ สิ่งนี้ถูกพบระหว่างการขนส่งวัสดุลงไปกรุงเทพฯ เริ่มมีกลิ่นให้สังเกตตั้งแต่ช่วงเที่ยง ๆ ของการเดินทาง และเมื่อนำมาประกอบในพื้นที่ก็ได้รับคำยืนยันจากเจ้าของพื้นที่อีกที
ที่ตัดสินใจใช้วัสดุนี้ เพราะก่อนทำการสั่งซื้อเราได้มีการหาข้อมูลเกี่ยวกับตัววัสดุ และมีการตรวจสอบชนิดกาวกับผู้ขายจนแน่ใจแล้วว่าปลอดภัย ก่อนจะได้รับการยืนยันว่าเป็นความเข้าใจผิดพลาดของพนักงานขายเอง เนื่องจากวัสดุดังกล่าวเป็นคุณภาพระดับเดียวกับที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมตกแต่งภายในอย่างเป็นปกติ เกือบทุกที่ใช้วัสดุคุณภาพนี้กันทั้งนั้น ซึ่งจะมีการปล่อยสาร formaldehyde ออกมาอยู่แล้วตามแต่สภาพอากาศและคุณภาพของวัสดุปิดผิว ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยกับกลิ่นนี้ในลักษณะของ “กลิ่นเฟอร์นิเจอร์ใหม่”
สุดท้าย ชิ้นส่วนชุดนี้จึงถูกถอนออกจากพื้นที่ และนำไปหาวิธีจัดการกับกลิ่นเพื่อหวังว่าชิ้นส่วนเหล่านั้นจะยังสามารถกลับมาทำประโยชน์บางอย่างได้ แม้ในปัจจุบันจะยังไม่พบวิธีจัดการกลิ่นที่มีประสิทธิภาพก็ตาม
สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้คือกระบวนการคัดกรองผู้ผลิตที่มีคุณภาพ ที่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ เพราะนอกเหนือจากเรื่องกลิ่นแล้ว เราพบว่าตัววัสดุเองก็กันความชื้นไม่ได้ดังคำโฆษณา จึงถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เราหันมาสนใจทั้งเรื่องการเลือกใช้วัสดุ และการประเมิผลกระทบของสิ่ง ๆ อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น
Modular structure
ด้วยความที่เราสนใจในเรื่องการตัดไม้อัด Plywood เราจึงมุ่งเป้าไปที่การ Maximize ศักยภาพของระบบตัดดังกล่าวให้ได้มากที่สุด หนึ่งในโปรเจ็กต์ความหวังของเราคือการสร้าง Modular structure ที่สามารถต่อหน่วยออกไปจนเป็นโครงสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ตามต้องการ
แนวคิดนี้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่โมเดลบ้าน M House และเราก็ง่วนอยู่กับโมเดลลักษณะนี้กันอยู่พักใหญ่ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต สิ่งที่เราค้นพบคือโครงสร้างในลักษณะนี้มีความซับซ้อนมากเกินจำเป็น ซึ่งนำมาสู่ปัญหาความล่าช้าของกระบวนการผลิตอีกด้วย
เราจึงเริ่มพัฒนามาเป็น muse Block ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้ไม้จริงที่หาได้สะดวกในพื้นที่ ก่อนจะเริ่มพัฒนามาสู่งานเหล็ก งานพับ และการจัดการวัสดุที่เข้าใจง่ายขึ้น
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการพัฒนาส่วนนี้ คือสุดท้ายเรายังคงอยากพัฒนา Modular structure กันต่อ แต่ไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับแค่ว่าต้องเป็นไม้อัดจากระบบ CNC เพียงเท่านั้น
เมื่อถึงจุดหนึ่งเราพบว่าการเรียนรู้ทำให้เรา “หนักแน่น” กับสิ่งที่เราอยากทำ และ “ยืดหยุ่น” ต่อวิธีทำมากขึ้น
นั่นนำมาสู่คำถามต่อหลายโครงการว่าเรากำลัง “ยึดติด” กับ “วิธีทำ” มากเกินไปหรือเปล่า
ก้าวต่อไปของ muse
มีบทสอบเกิดขึ้นมากมายในปี 2023 หลายข้อก็ช่วยผลักดันให้เราเดินไปข้างหน้า หลายข้อก็เปิดโอกาสให้เราได้ทบทวนตัวเองมากขึ้น ปีที่ตั้งเป้าว่าต้อง “Get it done” ก็ถือว่าสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ระหว่างทาง เป็นปีที่ช่วยตอกย้ำเราว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
สิ่งที่เราค้นพบในช่วงเวลาที่ยากลำบาก คือตราบใดที่เรายังคงทำงานอยู่ ยังมีความเป็นไปได้อีกมากมายที่พร้อมจะสนับสนุนเรา มีผู้คนจำนวนมากที่พร้อมจะเชื่อไปกับเรา
ในปี 2024 เราจึงตั้งเป้าที่จะผลักดันผลลัพท์ที่ทำมาให้มีความต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราฝัน และเพื่อเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมฝันกันมากขึ้น รวมทั้งเตรียมพร้อมตั้งรับต่อบททดสอบต่าง ๆ ที่จะทำให้เราเรียนรู้ และผลักดันเราไปสู่เป้าหมายที่หวังไว้ได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
ปีนี้เป็นปีที่เราคาดหวัง Impact ที่เพิ่มขึ้น จากการทำงานที่เข้มข้นขึ้น และเตรียมความพร้อมต่อการแสดงตัวในพื้นที่การสื่อสารที่กว้างขวางขึ้น เข้าถึงผู้คนมากขึ้น
เราคาดหวังว่าปีนี้เราจะได้แสดงอีกหนึ่งคุณค่าของวัฒนธรรมแบบ Opensource นั่นคือ Transparency ให้กลายเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการบริหารจัดการองค์กร เพื่อเน้นย้ำศักยภาพของ Opensource ในฐานะทางเลือกหนึ่งของสังคมและงานขับเคลื่อนสังคมในอนาคต
เรายังคงมุ่งมั่นในการมองหาความเป็นไปได้เพื่อสนับสนุนงาน Social Impact ต่าง ๆ และหวังให้การทำงานของนักขับเคลื่อนทั้งหลายทำให้ทุกคนยังเชื่อว่า สังคมเป็นที่ที่ดีขึ้นได้
ขอบคุณทุกคนที่ติดตาม muse มาตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
และหวังว่าเราจะยังได้มีโอกาสส่งต่อ muse ต่าง ๆ ให้กับทุกคนต่อไป