Patagonia impact
เมื่อรายใหญ่ดันเพดานการรักสิ่งแวดล้อมครั้งสำคัญ เพื่อพิสูจน์ว่าการรักษ์โลกไม่ใช่เพียงคำโฆษณา
คงปฏิเสธได้ยากแล้วสำหรับใครที่สนใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคืออุตสาหกรรมการผลิตที่ตอบสนองบริโภคนิยม กระบวนการผลิตเพื่อขายทำกำไรในระบบทุนนิยมกระตุ้นให้เรามองข้ามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมาเนิ่นนาน แถมยังถูกเลี่ยงการพูดถึงมาตลอดจนพาเรามาถึงจุดวิกฤติอย่างในปัจจุบัน
จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมเกรต้า ธันเบิร์ก เยาวชนนักกิจกรรมที่เหมือนเป็นตัวแทนของยุคสมัยปัจจุบันถึงได้ “เกรี้ยวกราด” ขนาดนั้น
เพราะในขณะที่เรายังทำแคมเปญรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างต่อเนื่อง แต่กลับมีงานเชิงนโยบายการเมืองที่ลงไปจัดการ “ต้นตอ” ของปัญหาน้อยมาก ๆ ราวกับว่าเราไม่ได้ใส่ใจที่จะแก้ปัญหากันอย่างแท้จริง หรือมีแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมเอาไว้เป็น “โฆษณา” ว่ากำลังสนใจประเด็นเหล่านี้อยู่เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่กดดันไปยัง “ผู้ผลิต” ที่มีส่วนรับผิดชอบจากผลกำไรที่พวกเขาทำได้บนการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปจากโลก
ความโกรธเกรี้ยวของผู้คนปลุกกระแสด้านสิ่งแวดล้อมให้ถูกกระตุ้นเตือนมากขึ้น ไม่นานเราก็เริ่มเห็นแบรนด์ใหญ่ ๆ หลายเจ้าออกมา “ล้างบาป” ด้วยการออกนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมมาลดทอนกระแสความไม่พอใจที่เกิดขึ้น จนในปัจจุบันเราจะเห็นว่าการ “ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” กลายเป็น “การส่งเสริมการขาย” ของหลาย ๆ แบรนด์ไปเป็นที่เรียบร้อย
สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ว่าบริษัทต่าง ๆ พยายามจะวางตัวว่า “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ เช่น แบรนด์รถยนต์ที่ทำระบบการผลิตให้เป็น Carbon Zero-NET แต่ตัวผลิตภัณฑ์ยังส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดังเดิม จนเกิดเป็นคำถามว่า “การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ของแบรนด์ต่าง ๆ นั้นเป็นเพียง “โฆษณาชวนเชื่อ” เท่านั้นหรือไม่
การประกาศ "ยกบริษัทให้โลก" ของ Patagonia จึงถือเป็นก้าวที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับกระบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพราะนอกจากนี่จะเป็นการสร้างอิมแพคต่อขบวนการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการธุรกิจในเรื่องการการแสดงออกต่อประเด็นทางสังคมสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Patagonia ถือเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้าน “นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม” อย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายการมอบ 1% ของรายได้สมทบการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าบริษัทจะได้กำไรหรือไม่ รวมถึงการเป็นแบรนด์เสื้อผ้าที่ส่งเสริมการใช้วัสดุที่รักษ์โลก และอีกหลายนโยบายที่ถือว่า “มาก่อนกาล” มาก ๆ ในวงการใส่ใจสิ่งแวดล้อม
แต่เหมือนนั่นจะยังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว (2022) Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Patagonia ได้ประกาศยกหุ้นบริษัท 98 % ให้องค์กรไม่หวังผลกำไรที่ต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเครื่องตอกย้ำต่ออุดมการณ์ของเจ้าตัวที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง
และนี่ไม่ใช่แค่การบริจาคเพื่อการกุศลแต่เป็นการ "สร้างทางเลือกใหม่" ในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
Yvon อธิบายว่าเขามองหาความเป็นไปได้มากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในการจะปันผลกำไรจากธุรกิจให้ส่งกลับไปช่วยโลกในทางใดทางหนึ่ง แต่ไม่ว่าทางไหนก็ดูจะมีข้อจำกัดเต็มไปหมด เขาจึงเลือกจะสร้างทางเลือกใหม่ ซึ่งการยกหุ้นปันผล 98% ให้องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมคือทางที่เขาเลือก และด้วยการเป็นบริษัทที่มีผลกำไรหลักล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายถึงว่าจะมีเงินหมุนเวียนในการสนับสนุนการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคยเป็นมาหลายเท่า จนกลายเป็นพาดหัวของหลายสำนักข่าวที่ว่า “ยกหุ้นให้โลก” “มีโลกเป็นหุ้นส่วน” ตามมา
แต่เมื่อเรียกสิ่งนี้ว่า “ทางเลือกใหม่” มันจึงไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในขณะที่เป้าหมายเพื่อสังคมเป็นอุดมการณ์หลักของการเปลี่ยนแปลง แต่ Yvon ก็ยังมองเรื่องความยั่งยืนทางธุรกิจไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยไม่ได้มีการปรับเปลี่ยน Patagonia ให้เป็นบริษัทไม่แสวงหาผลกำไร แต่ยืนยันชัดเจนว่า Patagonia ยังเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไรอยู่ และบริษัทยังจะต้องรักษามูลค่าของตัวเองเอาไว้
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่อีก 2% ของหุ้น (ซึ่งเป็น 100% ของหุ้นที่มีอำนาจในการออกเสียง) จะถูกดูแลโดย The Patagonia Purpose Trust ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่า Patagonia จะยังคงดำเนินแนวทางที่ถูกต้องต่อไปแม้ในวันที่ตัวของ Yvon จะไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว
Patagonia เลยจะยังคงเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไร และดำเนินนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมดังที่เป็นมา เพียงแต่กำไรจากการปันผลจะถูกส่งต่อไปยัง the Holdfast Collective ในฐานะผู้ถือหุ้น 98% ของบริษัทเพื่อใช้สำหรับต่อสู้เพื่อโลกในอนาคต นอกจากนี้แม้จะมีสัดส่วนการทำเพื่อสังคมที่สูงขึ้นจนแทบจะเรียกว่าเป็น New High สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ Patagonia ก็ยังยืนยันจะดำเนินนโยบาย 1% จากรายได้จะถูกส่งต่อไปช่วยโลกดังเดิม โดยมองว่านี่คือภารกิจหลักในฐานะของตัวแบรนด์เอง ยิ่งทำให้ภาพของการ "ใส่ใจสิ่งแวดล้อม" ของ Patagonia นั้นเข้มข้นมากขึ้นไปอีก
Patagonia ทำได้อย่างไร?
สิ่งที่ Patagonia ทำ สามารถพูดได้ว่าช่วยส่งให้ Patagonia กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับ “แนวหน้า” ในเรื่องใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มปาก แต่เราจะหวังให้แบรนด์อื่น ๆ ทำในลักษณะเดียวกันได้มากน้อยแค่ไหน เราคิดว่าความเป็นไปได้ที่ Apple Amazon หรือ Google จะขายหุ้นตัวเองเพื่อองค์กรการกุศลในระดับนี้มีอยู่เท่าไร แค่นึกเล่น ๆ เราก็แทบจะตอบได้ในทันที
คำถามที่น่าสนใจของเรื่องนี้จึงเป็นว่า “แล้วทำไม Patagonia ถึงทำได้?”
คำตอบที่น่าจะชัดเจนและเป็นจริงที่สุดของคำถามนี้คือประโยคของ Yvon ที่ว่า "I never wanted to be a businessman." Yvon มองว่าเขาเริ่มจากการเป็นช่างฝีมือ ผลิตอุปกรณ์ปีนเขาใช้กันเอง ตอนที่เขาพบว่าโลกกำลังเผชิญกับสภาวะล่มสลายจากสิ่งที่พวกเขากำลังทำและมีส่วนร่วม นั่นคือตอนที่เขามองว่า Patagonia จะต้องมีภารกิจในการรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อม
มุมมองต่อโลกของ Yvon ที่สร้างปรากฏการณ์นี้ขึ้นมาสามารถพูดได้อย่างชัดเจนว่าเพราะเขาไม่ได้มีเป้าหมายเป็นการทำธุรกิจที่มุ่งหวังผลกำไรสูงสุดตั้งแต่ต้น Yvon เดินอยู่บนเส้นทางของการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นคนรวย
"ผมเคยถูกจัดอันดับอยู่ในรายชื่อมหาเศรษฐีของนิตยสาร Forbes นั่นทำให้ผมหัวเสียมาก ๆ"
ทำให้เมื่อพูดอย่างรวบรัดแล้ว ความสำเร็จของ Patagonia จึงไม่ได้เกิดขึ้นในฐานะของ "นโยบาย" แต่เป็นเรื่องของ "เป้าหมาย"
การที่ Patagonia ทำแบบนี้ได้เป็นเพราะตัวบริษัทมีเป้าหมายว่าจะทำสิ่งนี้ให้ได้ตั้งแต่ต้น ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงนโยบายไปตามเทร็นเท่านั้น
แม้สุดท้ายเราอาจจะยังไม่เห็นอิมแพคเหล่านี้เกิดขึ้นกับบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากที่ยังคงขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทำกำไรในเร็ววันนี้ แต่การ “ยกหุ้นให้โลก” ครั้งนี้ของ Patagonia ได้กลายเป็น “เพดานใหม่” ของการแสดงตัวอยู่ฝั่ง “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ของแบรนด์ธุรกิจทั่วโลกที่ต้องการแสดงความจริงใจต่อการ “ร่วมแก้” ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในอนาคต