Ranked-Choice Voting: ทำไมต้องเลือกแค่คนเดียว เมื่อเราเลือกได้มากกว่านั้น
พาไปรู้จักการเลือกตั้งที่ไม่ใช่แค่กาได้เบอร์เดียว ที่จะจบทุกปัญหา "ไม่เลือกเราเขามาแน่" เพราะผลโหวตจะอ้างอิงกับเจตนารมณ์ของประชาชนมากยิ่งขึ้น
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายกันแล้วของการเลือกตั้งทั่วไป ประเทศไทย ปีพ.ศ. 2566 หลังจากพึ่งมีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเหลืออีกไม่ถึงสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคมที่จะถึงนี้
ด้วยความเข้มข้นในปีนี้ ทำให้ในทุกขั้วการเมืองเริ่มมีภาวะตัดสินใจยาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งต่อต้านพลเอกประยุทธ์ที่ต้องเลือกระหว่างพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล ฝั่งสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เองก็ต้องเลือกระหว่างรัฐบาลเก่าอย่างพลังประชารัฐ หรือเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติของพลเอกประยุทธ์เอง ส่วนใครที่ไม่ได้ต้องการเลือกบนอุดมการณ์นี้ก็ยังมีทั้งพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนากล้า ชาติไทย และอื่น ๆ จะดูเหมือนว่าสนามชิงคะแนนน่าจะดุเดือดอยู่ไม่น้อย นั่นจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมถึงมีการพูดถึงเรื่องการออกเสียงเชิงกลยุทธ์ (Strategic vote) ขึ้นมาบ่อยมากขึ้นในตอนนี้
ด้วยความที่เราเป็นระบบเลือกตั้งแบบ “กาเบอร์เดียว” ใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะไป (First-past-the-post voting) เราคงมองเห็นทางเลือกในการชนะเลือกตั้งไม่มากนัก คือพอต้องออกเสียงเชิงกลยุทธ์ เรามีทางเลือกเดียวคือการทิ้งพรรคที่เราชอบ แล้วเลือกพรรคที่มีสิทธิชนะมากกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะนำไปสู่การต่อสู้ภายในตัวเองจนทำให้หลายคนยังอยู่ในภาวะ “ตัดสินใจไม่ได้” แม้จะใกล้วันเลือกตั้งมากขึ้นแล้ว
แล้วมันมีการเลือกตั้งแบบไหนไหม ที่เราสามารถเลือกพรรคที่ชอบ และเลือกตามกลยุทธ์ไปได้พร้อม ๆ กัน
Ranked-Choice Voting
การออกเสียงแบบ “จัดลำดับ” หรือ Ranked-Choice Voting (RCV) ดูจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้เราไม่ใช่แค่ “กาเบอร์เดียว” แล้วทิ้งเบอร์ที่เหลือ แต่เป็นการ “จัดอันดับ” ว่าเราชอบใครมากที่สุด
โดยในบัตรลงคะแนน เราจะได้จัดอันดับจำนวนผู้สมัคร ว่าเราชอบใครเป็นอันดับหนึ่ง สอง และรองลงมา เพื่อนำผลลงคะแนนนี้ไปใช้ในการอ้างอิงผู้ชนะในการนับคะแนน โดยการนับคะแนนด้วยระบบ RCV นี้จะเป็นการนับคะแนนแบบเป็นรอบ ๆ โดยอัตโนมัติ โดยจะมีการยกคะแนนของคนที่แพ้โหวตในรอบแรกกลับมาใช้นับใหม่ด้วยลำดับอื่น ๆ ถัดไปเรื่อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น
ในการเลือกตั้งทั่วไปมีผู้สมัครส.ส.เขต 3 เบอร์ คือ 1 2 และ 3 ผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 100 คน ได้ลงคะแนนเสียงแบบจัดอันดับให้กับทั้งสามคน ดังนี้
เบอร์ 1 ได้คะแนนในฐานะลำดับที่ 1 45 คะแนน
เบอร์ 2 ได้คะแนนในฐานะลำดับที่ 1 35 คะแนน
เบอร์ 3 ได้คะแนนในฐานะลำดับที่ 1 20 คะแนน
ขั้นตอนการนับคะแนน
นำคะแนนที่แต่ละเบอร์ได้รับเลือกในฐานะอันดับที่ 1 มาเทียบกัน จะได้ว่า
เบอร์ 1 ได้ 45 คะแนน (อันดับ 1)
เบอร์ 2 ได้ 35 คะแนน (อันดับ 2)
เบอร์ 3 ได้ 20 คะแนน (อันดับ 3)ให้ “ตัดชื่อ” เบอร์ที่ได้น้อยที่สุดออก จะได้ว่า
เบอร์ 1 ได้ 45 คะแนน (อันดับ 1)
เบอร์ 2 ได้ 35 คะแนน (อันดับ 2)เบอร์ 3 ได้ 20 คะแนน(ถูกตัดชื่อ เพราะคะแนนน้อยที่สุดไม่มีสิทธิชนะ)กลับไปดูในบัตรเลือกตั้งที่เลือก เบอร์ที่ถูกตัดชื่อไปแล้ว (เบอร์ 3) ทั้ง 20 ใบ พบว่า
เลือกเบอร์ 1 เป็นอันดับ 2 ทั้งหมด 4 คน
เลือกเบอร์ 2 เป็นอันดับ 2 ทั้งหมด 16 คนให้ทั้ง 20 ใบที่เลือกเบอร์ 3 (เบอร์ที่ถูกตัดชื่อไปแล้ว) เลื่อนคะแนนอันดับที่ 2 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แล้วนำคะแนนเหล่านั้นไปรวมกับเบอร์ที่ยังเหลืออยู่ (ยังไม่ถูกตัดชื่อ) จะได้ว่า
เบอร์ 1 ได้ 45 คะแนน + 4 คะแนน = 49 คะแนน (อันดับ 2)
เบอร์ 2 ได้ 35 คะแนน + 16 คะแนน = 51 คะแนน (อันดับ 1)เมื่อตัดชื่อคนที่ได้คะแนนในลำดับที่ 1 น้อยที่สุดออกอีกครั้ง จะได้ว่า
เบอร์ 1 ได้ 49 คะแนน(ถูกตัดชื่อ เพราะคะแนนน้อยที่สุดไม่มีสิทธิชนะ)
เบอร์ 2 ได้ 51 คะแนน (ผู้ชนะ)เบอร์ 2 จึงกลายเป็นผู้ชนะในเขตนี้ไป แม้ว่าจะได้อันดับ 1 จาก RCV ไปเพียง 35 คะแนน
โดยวิธีการนับคะแนนในลักษณะนี้ ถูกเรียกว่า Instant-runoff voting (IRV) คือการคัดผู้เข้ารอบไปเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติจากการลงคะแนนเพียงครั้งเดียวจนกว่าจะมีผู้ชนะหนึ่งคน โดยในกรณีที่มีมากกว่า 3 เบอร์ ก็ให้ทำขั้นตอน 1-4 ซ้ำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผู้ชนะหนึ่งคน ในขณะเดียวกัน Ranked-choice voting ก็ยังมีการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับหาผู้ชนะหลายคนพร้อมกันในการลงคะแนนครั้งเดียวที่เรียกว่า Single transferable voting (STV) อีกด้วย
จากตัวอย่างข้างต้น จะพบว่าคะแนนในลำดับสอง หรือลำดับถัด ๆ ไปจะยัง “ส่งผล” ต่อผลการเลือกตั้งอยู่ แม้ว่าคนที่เราเลือกเป็นอันดับหนึ่งจะ “ตกรอบ” ไปก่อน ซึ่งในลักษณะนี้เองจะเป็นผลดีต่อ Strategic vote คือเราสามารถเลือกพรรคอันดับสองเป็นพรรคที่อุดมการณ์ใกล้เคียงกันและมีโอกาสชนะได้ เพื่อไม่ให้คะแนนของเหล่าหล่นหายไปทันทีเมื่อคนที่เราสนับสนุนไม่ได้ไปต่อ
ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีข้อวิจารณ์ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งในลักษณะนี้เอาไว้ว่า ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ “เกิดประโยชน์” เท่าที่ควร
เริ่มจากการเลือกตั้งในลักษณะนี้จำเป็นที่จะต้องมีมากกว่า 2 เบอร์ขึ้นไป เพราะสุดท้ายแล้วการตัดสินก็จะเป็นแบบใครเสียงมากกว่าก็ชนะไปอยู่ดี (First-past-the-post voting) อีกทั้งยังมีข้อวิจารณ์ว่าแม้จะมีการถ่ายโอนคะแนนจากอันดับอื่น ๆ ในบัตรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ก็แก้ผลลัพท์บางแบบไม่ได้อยู่ดี เช่น การชนะอย่างท่วมท้นที่มากกว่าเสียงกึ่งหนึ่งไปตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้สุดท้าย Strategic vote ก็จะกลับมาพูดเรื่องเลือกพรรคไหนเป็นอันดับ 1 ให้ได้มากที่สุดอดังเดิม แถมการเลือกตั้งในลักษณะนี้ยังมีวิธีการลงคะแนนที่ซับซ้อน และยังจะก่อให้เกิดปัญหาในกรณีที่มีจำนวนเบอร์ผู้สมัครมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อฟังข้อวิจารณ์ดังนี้แล้ว เราคงจะเริ่มรู้สึกว่าการเลือกตั้งแบบจัดอันดับเองก็คงจะดูไม่ได้เป็นทางออกเท่าไร แต่รู้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งแบบนี้มีการใช้จริงในหลายประเทศ ตั้งแต่ระดับการเลือกตั้งท้องถิ่นในนิวซีแลนด์ ตลอดจนการเลือกตั้งระดับชาติอย่างออสเตรเลีย สโลวีเนีย มอลต้า และไอร์แลนด์ ที่ใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ปี 2002 สก็อตแลนด์ และเวลส์ ก็มีการใช้ในการปกครองภายใน รวมถึงในสหรัฐอเมริกาเองก็มีรัฐที่ใช้ระบบนี้เต็มระบบอย่าง อะลาสก้า และเมน รวมถึงอีกหลายรัฐที่มีการประยุกต์ใช้หลักการทำนองเดียวกันในการเลือกตั้ง หรือใช้ในการเลือกตั้งส่วนย่อยระดับเล็ก และมีแนวโน้มว่าจะมีการปรับใช้การเลือกตั้งในลักษณะนี้มากขึ้นอีกด้วย
แล้วเมื่อมองไปยังผลลัพท์ของประเทศที่มีการใช้ระบบ RCV ในการเลือกตั้งแบบต่าง ๆ จะพบว่าข้อวิจารณ์เหล่านั้น “เป็นจริง” แต่ไม่ “เป็นผล” นักในทางปฏิบัติ
กลับกันในหลาย ๆ ประเทศกำลังพบเจอกับข้อดีที่ “แก้ปัญหา” ภายในประเทศได้มากขึ้น เช่น ในไอร์แลนด์ได้มีการพูดถึงการแก้ปัญหาการกุมอำนาจของสภาจากการเลือกตั้งแบบ “เสียงข้างมาก” ทำให้สภาต้องทำงานร่วมกับพรรคอื่นมากขึ้น จนเกิดกลไกการคานอำนาจจากอุดมการณ์ที่แตกต่างกันมากขึ้น หลายประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งในลักษณะนี้สะท้อนข้อดีในการ “มีทางเลือก” ในการสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายแตกต่างกัน เช่น ในบางพรรคที่เสนอนโยบายด้านการศึกษาอย่างเข้มข้น แล้วผู้ใช้สิทธิสนใจในประเด็นนี้สอดคล้องกันอาจจะเลือกพรรคนี้ในฐานะพรรคอันดับถัดลงมา กรณีลักษณะนี้ทำให้เกิดผู้สมัคร พรรค หรือส.ส.ที่เป็นม้ามืดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย และจากการตรวจสอบในหลาย ๆ พื้นที่พบว่าแม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้างในช่วงเริ่มต้น แต่พัฒนาการต่อการเลือกตั้งในลักษณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังจากผ่านการเลือกตั้งไปแล้วไม่กี่ครั้ง
ทำให้แม้ว่ายังมีข้อเสียและข้อกังวล รวมถึงอาจจะแก้ปัญหาไม่ได้อย่างถอนรากถอนโคน แต่การเลือกตั้งในลักษณะนี้ก็ได้แสดงศักยภาพในการเป็น “ทางเลือกที่ดีกว่า” การเลือกตั้งแบบ First-past-the-post voting รวมถึงแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่การเลือกตั้งแบบกาเบอร์เดียวไม่มีทางทำได้ แถมยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงเจตนารมณ์ผ่านการเลือกตั้งมากขึ้น โดยบัตรออกเสียงแต่ละใบก็จะสะท้อนถึงลำดับที่มีความเฉพาะตัวและตอบสนองอุดมการณ์เชิงปัจเจกของผู้เลือกอย่างจำเพาะเจาะจง
และต้องย้ำว่านี่เป็นเพียง “แบบหนึ่ง” ในการเลือกตั้งที่กำลังพยายามสร้าง “ทางเลือก” ให้กับการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ถ้าเราไปค้นดูเราจะพบระบบที่เรียกว่า Cardinal voting ที่ไม่ใช่แค่จัดอันดับ แต่เป็นการ “ให้คะแนน” ผู้สมัครแต่ละคนกันเลยทีเดียว นอกจากระบบเลือกตั้งแล้วก็ยังมีการหาทางออกในเรื่องของการคานอำนาจ หรือจำนวนปีครบสมัย และอื่น ๆ อีกมากมาย
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ภาวะอึดอัดของประเทศไทยในปัจจุบัน ก็เริ่มคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องคิดถึงการ “สร้างทางเลือกใหม่” ให้กับการเลือกตั้ง และสร้างโครงสร้างสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศโดยไม่ใช่แค่เลือกตั้งจบแล้วก็อดทนกันไปสี่ปีแล้วมาเลือกตั้งใหม่
ไม่งั้นเราคงต้องมานั่ง Strategic vote กันทุกครั้งจนไม่มีโอกาสได้เลือกพรรคที่ใช่นโยบายที่ชอบกันสักที