Sustrends 2024: ส่องอนาคตความยั่งยืน
แกะประเด็นสำคัญในกระแส sustainability จากงาน Sustrends 2024
ต้องใช้คำว่าเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วสำหรับ Social Development Goals หรือ SDGs ที่จะต้องบรรลุผลสำเร็จภายในปี 2030 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า หลังจากไม่ได้ติดตาม SDG มาสักพักด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ก็เลยถือโอกาสไปร่วมงาน Sustrends 2024 ที่จัดโดย The Cloud ดู เผื่อว่าจะสามารถจูงใจให้กลับมาอินเรื่อง SDGs ได้อีกครั้ง และเผื่อจะได้เห็นความหวังในแผนพัฒนาชุดนี้ต่อโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไปอีกด้วย
บรรยากาศโดยรวมเป็นพื้นที่สำหรับเปิดร้านและ Showcase ประเด็นด้านความยั่งยืนของผู้ร่วมจัดหลาย ๆ เจ้า พื้นที่จัดแสดงไม่ใหญ่มากแต่อัดแน่นไว้ด้วยคุณภาพ มีทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมรวมอยู่ด้วยกัน เดินไล่อ่านดูแต่ละเจ้าก็ชวนให้รู้สึกว่านี่คือองค์กรที่ทำงานด้านความยั่งยืนในระดับ “คุณภาพ” ทุกทีมขายโปรเจ็กต์ด้านความยั่งยืนเหมือนเป็นการยืนยันว่าที่มาร่วมจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงเพราะการโฆษณาเกินจริง
พื้นที่ส่วนใหญ่ของงานเป็นพื้นที่สำหรับนั่งฟังการบรรยายจาก speaker หลากหลายสาขาจากหลายภาคส่วน แม้บรรยากาในโซนนั่งจะร้อนอบอ้าวไปเสียหน่อย แต่เห็นได้ชัดว่าเวทีนี้ถือเป็น “ดาวเด่น” ที่จับคนให้อยู่กับงานได้เกือบตลอดทั้งบ่าย โดย speaker แต่ละคนก็มาพูดในแต่ละประเด็นเรื่องความยั่งยืน มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป เลยอยากเก็บประเด็นน่าสนใจต่าง ๆ จากกิจกรรมมาเล่าให้ฟังเผื่อว่าจะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คนได้
SDGs ใจความและภาพรวม
เปิดเวทีด้วย speech ของคุณ เรอโน เมอแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชนติประจำประเทศไทย ที่มาพูดเกี่ยวกับ “หัวใจ” ของ SDGs เพื่อปูพื้นความเข้าใจในภาพรวมแก่ผู้ฟัง โดยคุณเรอโนเชื่อว่า SDGs เป็น “ความต้องการสามัญ” ร่วมกันของทุกคนบนโลกที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง SDGs จึงไม่ได้มีลักษณะแบบ “ข้อถกเถียง” ในเชิงหลักการ มากที่สุดก็เพียงแต่อธิบายว่ารายละเอียดหรือวิธีการไม่สมบูรณ์อย่างไร มีช่องโหว่อย่างไร การบรรลุเป้าหมายของ SDGs จึงเป็นเหมือน “เป้าหมายร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน และแม้ก่อนหน้านี้นี่เคยเป็นเรื่องที่ “ควรทำ” แต่สำหรับวันนี้ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกำลังผลักเราให้ “ต้องทำ” ไปเรียบร้อยแล้ว
ประโยคหนึ่งที่ทัชใจมาก ๆ ของคุณเรอโนคือช่วงที่บอกว่า เราต้องการความร่วมมือจากทุกคนในทุกระดับเพื่อทำเป้าหมายเหล่านี้ให้สำเร็จ ดังนั้น ในส่วนไหนที่เราสามารถทำได้ก็อยากให้เกิดการลงมือทำ จะเล็กจะน้อยแค่ไหนก็ได้ “Everything counts” เหมือนเป็นการส่งสารว่าหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายไม่ใช่เรื่องการทำเรื่องยิ่งใหญ่หรือสร้าง impact มหาศาล แต่เป็นพลังจาก “งาน” ของคนตัวเล็ก ๆ ที่จะช่วยกันทำให้ SDGs บรรลุได้ต่างหาก
สถานการณ์ SDGs ปัจจุบัน
อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้นว่าส่วนตัวนั้นห่างหายจากเรื่อง SDGs ไปพักใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะในปีที่แล้วเราได้มีโอกาสอ่านรายงานประจำปีเกี่ยวกับ SDGs พบข้อเสนอที่น่าสนใจว่าการจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030 นั้น “เป็นไปได้ยาก” เพราะมีประเทศจำนวนมากยัง “ไม่มีความพร้อม” สำหรับการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งเมื่อนึกภาพถึงประเทศในโลกเราก็ต้องยอมรับว่ามัน “ไม่เกินจริง” มีหลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ อาหาร หลายประเทศเจอวิกฤติเศรษฐกิจ หรือในหลายประเทศยังมีโครงสร้างทางการเมืองที่ “ไม่เอื้อ” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ต่าง ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีการเดินหน้า agenda SDGs กันต่อเหมือนไม่ได้ระแวดระวังถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดเหล่านั้น จนเราเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าอันที่จริงแล้ว SDGs มันกำลังทำหน้าที่อะไรกันแน่
ซึ่งในเวทีวันนี้ก็ได้ ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาช่วยยืนยันตัวเลขรายงานระดับนานาชาติว่ามีการประเมินความสำเร็จของ SDGs ภายในปี 2030 อยู่ที่ประมาณ 12% และถ้าอยู่บนอัตรานี้เราอาจจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้งหมดได้ในปี 2065 คือใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 35 ปี
อาจารย์ชล บุญนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ประเทศไทยได้เล่าว่าปัญหาใหญ่ของ SDGs คือการที่มีการแยกย่อยในเชิงรายละเอียดมากเกินไป โดยใน 17 หัวข้อนั้นยังแบ่งย่อยออกไปหลายร้อยเป้าหมาย จนเกิดความรู้สึกต่อการทำงานว่าทั้ง 17 หัวข้อนั้นเป็น “คนละเรื่อง” กัน การทำงาน SDGs จึงเป็นการทำเป้าหมายของใครของมันให้ประสบความสำเร็จโดยไม่เห็นความเชื่อมโยงของประเด็นร่วมกัน trend แรกที่อาจารย์ชลสนับสนุนให้เกิดขึ้นจึงเป็นการ “ปรับวิธีการมอง” ต่อ SDGs ให้เห็นความเชื่อมโยง ครอบคลุม และการร่วมมือกันทำงาน โดยเล่าถึงการปรับกรอบแต่เดิมจาก 17 หัวข้อ ให้กลายเป็น 6 กลุ่มเป้าหมาย โดยเชื่อว่าการมองในลักษณะนี้จะสร้างการคิดเชิงบูรณาการต่อการแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้มากขึ้น
Move the SDGs
ช่วงแรกนี้ ใจความสำคัญที่ทั้งสามท่านในฐานะองค์กรภาคนโยบายต้องการจะสื่อคือการสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการผลักดัน ในการร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่จุดที่น่าสนใจคือแทบไม่มีใครชี้เป้าไปที่ปัญหาว่าแล้วทำไมที่ผ่านมาเราถึงทำไม่ได้ เราบอกว่าพลังของทุกคนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ทำไมนักวิทยาศาสตร์ที่เคยออกมาเรียกร้องเรื่องพลังงานสะอาดถึงถูกจับกุม เมื่อมีคนออกมาพูดเรื่องความเท่าเทียมถึงถูกละเมิดสิทธิและถูกจำคุก พอเราไม่แตะเรื่องพวกนี้ การพูดเรื่องความร่วมมือมันจึงมีความ “ลอยลม” อยู่ระดับหนึ่ง
และเมื่อพูดถึงสภาวะ “ไม่ยั่งยืน” อีกกลุ่มหนึ่งที่มักถูกเลี่ยงการพูดถึงอยู่ตลอดเวลาคือ “ผู้ประกอบการธุรกิจ” ทั้งที่เราเลิกปฏิเสธกันไปแล้วว่าภาคธุรกิจนี่แหละที่เป็นตัวเร่งปัญหาสิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ ซึ่งขัดกับ SDGs
จนกระทั่งเดินทางมาถึง “รองศานนท์” คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ที่มาเล่าถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองเพื่อสอดรับกับเป้าหมาย SDGs โดยถือเป็น speech แรกที่มองว่าการจะบรรลุ SDGs นั้นต้อง “แก้กฎหมาย” ในหลายภาคส่วน โดยกทม.มีความต้องการแก้กฎหมายเรื่องพื้นที่และปริมาณการใช้รถบรรทุกเพื่อลดปริมาณคาร์บอนในเขตเมือง หรือการย้ายท่าเรือการค้าออกจากพื้นที่เมืองและพื้นที่อยู่อาศัยเพื่อลดปริมาณคาร์บอนจากรถบรรทุกขนส่งในเขตเมืองลง ซึ่งเหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า ภาคธุรกิจอาจต้องได้รับผลกระทบจากการบรรลุผล SDGs จากเลี่ยงไม่ได้
คุณยศพล บุญสม ผู้บริหารบริษัท ฉมา จำกัด ได้พูดถึงการที่ภาคธุรกิจควรเข้ามา “มีส่วนร่วม” ในการพัฒนาเมืองในฐานะ “หุ้นส่วน” หนึ่งของสังคม โดยมองว่าการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมนี้ จะทำให้ภาคธุรกิจผูกติดกับเมืองและมองการพัฒนาเมืองเป็นภารกิจและความรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้จะกลับไปส่งเสริมและปลดล็อกศักยภาพของผู้คนให้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมร่วมกันมากขึ้น
ต่อด้วย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ได้มาเล่าถึงแนวโน้มที่ดีในการประกอบธุรกิจด้านความยั่งยืน ทั้งในแง่ของ trend ที่มีผู้สนใจลงทุนมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งในแง่ของการลดรายจ่ายโดยมีการเล่าว่าจากการเก็บสถิติแล้ว หุ้นบริษัทด้านความยั่งยืนมีแนวโน้มในเรื่องค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคลดลง โดยหุ้นบริษัทกลุ่มยั่งยืนทั้งหมด 170 กว่าบริษัทสามารถประหยัดไฟรวมกันได้มากกว่าอัตราการใช้ไฟของจังหวัดระยองทั้งจังหวัด และหากมองเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยง การหันมายึดหลักความยั่งยืนยังเป็นผลดีต่อการเติบโตในอนาคต ทั้งในแง่ของความนิยม และการป้องกันการถูกฟ้องร้องทั้งจากตัวชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ และจากการละเมิดข้อตกลงของรัฐเอง เรียกว่า convincing สุด ๆ เมื่อมองผ่านมุมของการประกอบธุรกิจ
ก่อนที่พี่สุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน ChangeFusion จะ “กระทุ้ง” ต่อในประเด็นเรื่องของการมองให้ข้ามเรื่อง carbon net zero ไปให้ได้ โดยชี้ว่าสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำให้อนาคตคือการสร้างความมั่นใจว่าการทำงาน sustainability ของแบรนด์ไม่ได้เป็นเพียงการ “ฟอกเขียว” หรือทำตามกระแสเพียงเท่านั้น โดยได้เสนอว่าหัวใจสำคัญคือความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปฏิบัติอย่างมีคุณภาพ และต้องชี้วัดได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อ “ธรรมชาติ” อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการปลูกป่าเพื่อ PR แล้วก็ไม่ได้ไปดูแล หรือไม่สนใจผลกระทบต่อโครงการที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
Literacy is key
กลุ่มเนื้อหาที่สองที่รู้สึกสนใจและมาอยู่รวมกันได้ค่อนข้างดี คือกลุ่มเนื้อหาที่พูดเรื่องการเรียนรู้ และอะไรที่ใกล้ตัวขึ้นมามากขึ้น เริ่มจากคุณโตมร สุขปรีชา ที่มาพูดเรื่อง “การศึกษาอย่างยั่งยืน” โดยพุ่งเป้าไปที่วัฒนธรรมการศึกษาที่ไม่ “ส่งเสริม” ความยั่งยืน เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในแบบที่เหมาะสมกับตน
ซึ่งพอพูดเรื่องวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่มีปัญหา ก็ดันมาเข้ากับงาน sustain ด้านสุขภาพอย่างเรื่อง “อาหาร” พอดิบพอดี โดยเฉพาะในส่วนของเชฟดวงพร ทรงวิศวะที่พูดเรื่อง sustainable food trend ในหัวข้อ Food literacy โดยหัวข้อนี้คุณดวงพรพยายามจะอธิบายถึงว่า “เท่าทัน” ว่าอาหารแต่ละแบบเดินทางมาอย่างไร มีที่มาแบบไหน ส่งผลกระทบสิ่งใดบ้าง การรับอาหารเหล่านี้เข้าไปจะเป็นอย่างไร
ซึ่งมาสอดคล้องกับหัวข้อของคุณพงศ์ศิลา คำมาก Food activist ที่เล่าถึงผลเสียของบาง trend ด้านอาหาร เช่น ในกลุ่มคนไม่กินเนื้อสัตว์มักอธิบายว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์นั้นก่อคาร์บอนจำนวนมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันการหันไปกินอะโวคาโด้ก็สร้างภาระด้านสิ่งแวดล้อมอยู่เหมือนกัน เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำในการปลูกปริมาณมหาศาล หรืออย่างในกรณีของควินัวที่ส่งผลต่อหน้าดิน จากเดิมที่เคยมีการปลูกหญ้ารอบบริเวณเพาะปลูกเพื่อช่วยเรื่องดังกล่าว แล้วนำปศุสัตว์มาคอยควมคุมการเติบโตของหญ้า และใช้มูลจากสัตว์เป็นปุ๋ยให้ควินัวในลักษณะหมุนเวียน แต่พอการกินควินัวกลายเป็น trend อุตสาหกรรมการปลูกก็เปลี่ยนเป็นการลดต้นทุน เช่นการเลิกปลูกหญ้าเพื่อช่วยเรื่องหน้าดิน จนสุดท้ายพื้นที่ปลูกควินัวก็เกิดปัญหาด้านคุณภาพดินต่าง ๆ ตามมา แถมยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการผลิตอาหารแบบอุตสาหกรรมนั้นให้พลังงานต่อหน่วยน้อยกว่าการผลิตอาหารตามลักษณะทางห่วงโซ่อาหาร
เราจึงพบว่าปัญหาใหญ่อีกข้อหนึ่งของ SDGs ในฐานะของ trend มาตลอด คือการที่คนจำนวนมากไม่ได้มี Literacy เกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนขนาดนั้น จนหลายต่อหลายครั้งก็ถูกฉกฉวย “เจตนาดี” เหล่านี้ไปใช้เพื่อผลประโยชน์แล้วกลับมาสร้างความ “ไม่ยั่งยืน” ต่อโลกโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งพอให้ประเมินว่าการขาด Literacy นั้นเกิดจากอะไร เราก็จะเห็นภาพขึ้นมาว่า อ๋อ ก็เพราะวัฒนธรรมการเรียนรู้ของเราเองมันก็ไม่ sustain นี่เอง
Hit to the point
กลายเป็นว่าพออากาศเริ่มเย็นขึ้น บนเวทีก็ร้อนจนลุกเป็นไฟ เริ่มด้วยตัวตึงท่านแรกอย่างคุณสฤณี อาชวนันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ที่มาพูดเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน” จากพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่เป็นพลังงานสะอาด เพียงแต่การเปลี่ยนผ่านนี้จะต้องคำนึงถึง “ความยุติธรรม” ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมองว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม ซึ่งสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือการยกเลิกการรวมศูนย์การจัดการพลังงานเอาไว้ที่รัฐ และเปิดให้คนสามารถจัดการพลังงานของตัวเองได้อย่างเสรี
ต่อด้วยคุณอาทิตย์ เวชกิจ กรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ที่มาพูดถึงความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยได้อ้างอิงถึงงานศึกษาที่ชี้ว่าเมื่อสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากติด 1 ใน 10 อันดับของโลก ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมยืนยันว่าในปัจจุบันสามารถหยุดใช้พลังงาน fossil ได้ “ทันที” แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่ที่ผ่านมาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมักถูกโจมตีด้วยประเด็นเรื่องความไม่เสถียรและราคาแพง แต่ในปัจจุบันสิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว และขณะนี้หน้าที่หลักจึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของพลังงานสะอาดกลับมาหลังจากถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องมาหลายปี
ยกระดับกันอีกนิดกับประเด็นของ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ อดีตประธานมูลนิธิโลกสีเขียว ที่มาพูดถึงเรื่องหัวใจสำคัญของ “ความสมบูรณ์เชิงนิเวศ” ที่ไม่ใช่แค่ปลูกป่าก็เพียงพอ โดยพูดถึงประเด็น carbon net zero ว่าเป็นการ “ลดทอน” ความสำคัญของธรรมชาติให้เป็นเพียงตัวเลขหรือสกุลเงินซื้อขายรูปแบบหนึ่ง ทำให้อาจชี้นำการแก้ปัญหาไปผิดทาง
ส่วนที่เราควรให้ความสนใจมากกว่าเรา “ปลูกต้นไม้” ทดแทนการปล่อยแก๊สเรือนกระจกไปแค่ไหน คือการให้ความสำคัญกับ biodiversity net gain หรือการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพให้ระบบนิเวศสมบูรณ์อีกครั้ง โดยต้องยอมรับว่า carbon net zero นั้นไม่เพียงพอในการจะทำภารกิจนี้ นอกจากนี้ยังต้องทำการ rewild หรือการส่งเสริมให้ “ป่า” ตามธรรมชาติสามารถดำรงอยู่หรือเกิดขึ้นได้ โดยเสนอประเด็นเรื่อง “สิทธิป่า” แบบในหลายประเทศที่มีใจความสำคัญเรื่องการให้สิทธิ์ในการได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้ไม่ถูกควบคุมโดยมนุษย์ และให้ผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากป่าต้องมีหน้าที่ในการดูแลรักษาป่าให้ไม่ถูกแปลสภาพหรือเบียดเบียนสิทธิตามกฎหมายหรือตามรัฐธรรมนูญไป
เรื่องยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อคุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทยได้ออกมาพูดถึงต้นทุนของประเทศไทยที่เป็นหนี้นิเวศอยู่จำนวนมาในระดับที่ใช้ประเทศไทยสองประเทศมาใช้หนี้ยังไม่เพียงพอ และปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับนโยบายของการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความเป็นธรรม ต่อเรื่อง Greenwashing literacy ว่าด้วยการ “รู้เท่าทันการฟอกเขียว” หรือการมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนไว้เพียงเพื่อโฆษณาไม่ได้จับไปที่ปัญหาอย่างแท้จริง
เรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ของคุณธารา คือ Doughnut Economics ว่าด้วยการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัยและเป็นธรรม” ระหว่างการใช้ชีวิดของผู้คน และการดูแลรักษาธรรมชาติ โดยเสนอว่าหากเราจะขยายวงของการดูแลรักษาธรรมชาติออกไปให้มากขึ้น วงนั้นต้องไม่ไปกดทับให้วิถีชีวิตหรือรากฐานทางสังคมด้อยลง หรือเอาพื้นที่ของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเข้าไปเบียดบังผู้คน เพื่อให้การพัฒนาสิ่งแวดล้อมประสบผลสำเร็จ ราวกับโดนัทที่ไม่สามารถมีรูเล็กกว่าวงนอกได้เพราะจะทำให้แป้งสุกไม่เท่ากัน
อีกหนึ่งหัวข้อที่รู้สึกว่า Hit to the point ไม่แพ้กัน คือประเด็นเรื่อง governance ecosystem ของ ดร.ต่อภัสร์ ยมนาค ที่พูดถึงกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการร่วมมือของประชาชนมากขึ้น คือการที่รัฐมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และยังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม เช่นการวิเคราะห์การใช้งบประมาณ การวิจารณ์ หรือการสร้างข้อเสนอต่อการใช้งบประมาณต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต้องมีความรับผิดชอบต่อผลงานของตน โดยเชื่อว่าหากเราทำได้ดังนี้ ประชาชนจะกลายเป็นกลไกสำคัญในการเข้าไปกำกับการทำงานของรัฐในการผลักดันด้านความยั่งยืนได้ และรัฐจะไม่สามารถเอื่อยเฉื่อยต่อประเด็นได้อีกต่อไป ซึ่งน่าเศร้าอยู่ระดับหนึ่งที่ประเทศเราไม่ได้มีโครงสร้างทำนองนี้ที่เข็มแข็งเลยสักนิด
แล้วเราจะทำเมื่อไร
หากเราฟังในภาพรวม หัวข้อสำคัญที่หลายท่านพูดร่วมกันคือการ “สร้างความร่วมมือ” “ร่วมแรงร่วมใจ” แต่เราต่างรู้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราพูดเรื่องนี้
speech ปิดท้ายโดยสุทธิโชค จิตรศรีสมบัติ ผู้ก่อตั้งสมาคมยุวชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไทย (YSDA) จึงเหมือนเป็น “คำถาม” ต่อการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในภาพใหญ่ว่า “แล้วเราจะเริ่มกันเมื่อไร”
สุทธิโชคพูดถึงความรู้สึกของตนในฐานะคนรุ่นใหม่ที่สนใจมาทำงานด้านความยั่งยืนว่า ที่ผ่านมาหลายปีเรามีการเดินหน้าเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่จนถึงวันนี้เรายังพูดเรื่องเดิม ๆ คือการ “สร้างความร่วมมือ” ทั้งที่มันควรจะทำสำเร็จไปเนิ่นนานแล้ว ซึ่งสุทธิโชคแสดงความกังวลต่อความรู้สึกของประชาชนว่าการใช้คำเหล่านี้ในลักษณะของ buzz word อาจจะทำให้ผู้คนเบื่อหน่ายและตีตัวออกห่างจากเป้าหมายมากขึ้น จึงเสนอว่าหากเราจะลงมือทำงานดังกล่าวให้สำเร็จ เราควรผลักดันมันอย่างถึงที่สุดและตั้งเป้าเพื่อทำให้สำเร็จ เพื่อสร้างเชื่อมั่นให้กับผู้คนที่ต้องการมีส่วนร่วม ว่าสิ่งเหล่านี้ที่กำลังจะทำ เราทุ่มเทกับมันอย่างแท้จริง
speech ของสุทธิโชคนั้นเร่าร้อน และมี energy ใกล้เคียงกับ Greta Thunberg อย่างมาก จนเหมือนเป็นสุ้มเสียงแห่งยุคสมัยที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการถอยจากข้อจำกัดและข้ออ้างสารพัด
หลังจบงานให้ความรู้สึกเหมือนการฟังเลคเชอร์แบบมาราธอน มีข้อมูลมากมายเต็มหัวไปหมด เป็นบทความที่ใช้เวลาเขียนยาวนานต่อเนื่องไม่แพ้กัน มีประเด็นน่าสนใจ น่าตื่นเต้น และน่าประทับใจอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นประเด็นที่มีแง่มุมทั้งในเชิงพลวัตรของ SDGs ที่ไม่ได้เป็นเพียง “เหรียญเกียรติยศ” ที่ทุกคนต้องทำตามเท่านั้น รวมทั้งในหลายส่วนยังมีการวิพากษ์กลับไปที่ใจกลางของตัว “ความยั่งยืน” อย่างต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าไม่ได้คาดหวังภาพงานนี้ไว้ในลักษณะนี้
แต่อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าในฐานะ “บุคคล” เรามีพลังอยู่น้อย และข้อจำกัดอยู่มากในการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนให้สำเร็จ ในขณะที่คนที่มีพลังมากกลับไม่ได้ดูจะ “เข้มข้น” อย่างคนตัวเล็กตัวน้อยแบบเรา ๆ สักเท่าไร
พิธีกรในงานอธิบายไว้ว่าโลโก้งานเป็นภาพแทนของกลุ่มคนตั้งแต่คนที่ “เขียวเข้ม” จนถึง “เขียวอ่อน” ซึ่งมันน่าสนใจมาก ๆ ว่าสาย “เขียวอ่อน” นั้นกลับเป็นส่วนที่มีอำนาจและพลังในการผลักดันประเด็นแทบจะทั้งนั้น
นี่ยกให้เข้มสุดคงเป็นพี่พิธีกรที่เผลอหลุดเสียงในหัวแทนใจเราออกมาตลอดเวลา