เจ้าถิ่นนำชมงานนอก: Thailand Biennale 2023 Chiang Rai
ไปดูงานศิลป์ แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดกลับเป็นเหล่าอาสาสมัครนำชมนิทรรศการ ที่นอกจากจะเป็น "เจ้าถิ่น" ในพื้นที่แล้ว ยังช่วยทำให้งานแต่ละชิ้นดูใกล้ชิดและผูกพันกับผู้คนมากยิ่งขึ้น
เข้าสู่ครึ่งทางกันแล้วกับ Thailand Biennale 2023 Chiang Rai นิทรรศการศิลปะสุดยิ่งใหญ่ประจำ 2 ปีที่ขนศิลปินจากหลายประเทศทั่วมาจัดแสดงงานอยู่แทบทุกมุมเมืองเชียงราย
ส่วนของงานศิลป์ คงมีหลายคนที่ได้ไปดูมาเขียนถึงกันค่อนข้างเยอะ ตัวงานเองก็มีความหลากหลาย ใช้เทคนิค วิธีคิดที่น่าสนใจไปตามแต่ศิลปินจะสื่อสาร พอเป็นคนอาร์ตไม่มากก็ยากจะเล่าว่างานไหนดี งานไหนไม่ดี งานไหนควรค่ากับการไปดู งานไหนไม่ควรพลาดอะไรทำนองนั้น
แต่สิ่งที่จับเราไว้ได้ และดึงความสนใจเราไปมากที่สุดคงเป็นส่วนของอาสาสมัครนำชมนิทรรศการในแต่ละพื้นที่
ปกติแล้วเวลาชมนิทรรศการศิลปะสิ่งที่เราจะรู้สึกตลอดคือคนนำชมเองเค้าก็พยายามเต็มที่ แต่มันจะมีกำแพงด้วยวิธีคิดการเสพศิลปะ ทำให้เรารู้สึกฟังไม่เข้าใจ เข้าไม่ถึง ทั้งที่เดินตามกันมาติด ๆ ก็ยังให้ความรู้สึกห่างเหินด้วยเรื่องที่คุยกันเหมือนอยู่คนละโลก
แต่ที่นี่กลับแตกต่าง กลับกันคือให้ความรู้สึกใกล้ชิดและคุ้นเคยอย่างมาก พี่ ๆ แม่ ๆ ที่อยู่ประจำแต่ละจุดให้ความรู้สึกเหมือนจะเป็นญาติผู้ใหญ่ของเราคนใดคนหนึ่งได้ ชวนให้เห็นภาพว่าพอจบงานแต่ละวันแกก็บึ่งรถเครื่องกลับบ้านที่อยู่ซอยข้าง ๆ พื้นที่จัดแสดงได้เลย
ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาสาฯ แต่ละท่าน ก็พบความน่าสนใจว่ากระบวนการคัดเลือกอาสาสมัครนั้น ให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในพื้นที่ก่อน ทั้งเชียงราย และเชียงแสน เข้าใจว่าด้วยจะได้ไม่ต้องเป็นภาระเรื่องค่าเดินทางและที่อยู่ที่พัก ทำให้เมื่อสุ่มถามเหล่าอาสาฯ ก็จะได้คำตอบว่า “เป็นคนแถวนี้” “บ้านอยู่แถวนี้” กันเป็นส่วนใหญ่
อย่างงานพี่เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่จัดในบริเวณโรงเรียนร้างในอำเภอเชียงแสน ที่หน้างานก็จะมีเจ้าโรส และเจ้าโกโก้ คอยดักรับแขกอยู่ เป็นควายและหมาที่ถูกเลี้ยงในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว ถ้าปกติคนก็คงอยากเคลียร์ออก แต่พอเป็นพี่เจ้ยเลยน่าจะอยากเอามาเป็นงาน Installation เรียกแขกไปเลยทีเดียว ยืนคุยกับพี่อาสาฯ ที่มีเจ้าตัวน้อยวิ่งเล่นไปมาอยู่รอบ ๆ ได้ความว่าแม้โรงเรียนจะถูกปิดไปนานแล้ว แต่ตัวพื้นที่นั้นยังถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง เป็นพื้นที่กิจกรรมของชุมชนรอบ ๆ อยู่แล้ว ทำให้เราได้ซึมซับถึงการเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่ห้องขาว ๆ ที่เอาไว้แสดงงานศิลปะเพียงเท่านั้น
เอาจริง ๆ อีกจุดหนึ่งที่เด่นของงานเชียงรายปีนี้ คือการเอางานเข้าไปอยู่ในพื้นที่ หลายพื้นที่เป็นจุดที่เกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตของผู้คนอยู่ก่อน เหมือนเอางานเข้าไปแทรกตัวอยู่ในพื้นที่ชีวิตของคน เวลาที่เราไปก็จะได้รู้สึกว่าตัวประเด็น กับชิ้นงานมันสอดรับกับตัวพื้นที่ได้อย่างดี เหมือนพาเราไปนั่งอยู่กลาง “ผืนงาน” ของศิลปินไปพร้อมกันด้วย บางพื้นที่ก็เพิ่มอรรถรสให้งานได้อย่างดี มีรายละเอียดบริบทแวดล้อมที่เมื่อเดินผ่านระหว่างเข้าไปดูงานก็เหมือน “ช่วยทำงาน” ให้ศิลปินไปแล้วส่วนหนึ่ง
เมื่อ “ตัวพื้นที่” กับ “คนพื้นที่” กลายเป็นตัวแสดงนำ สิ่งที่เรารู้สึกระหว่างที่ดูงานเลยคือมันทำให้ตัวงานดูมีหัวจิตหัวใจ มีความเชื่อมโยงกับผู้คน ทั้งคนที่นำชมและคนที่เดินชม เราแทบจะไม่ได้สนใจแล้วว่างานชิ้นนี้ศิลปินเป็นใครทำอะไรมาบ้าง แต่ไปสนใจตัวงานว่ากำลังทำอะไร และสิ่งนี้มันเชื่อมโยงกับพื้นที่อย่างไรทำนองนั้นมากกว่า
และในฐานะคนนำชม เรากลับรู้สึกเชื่อในสิ่งที่พี่ ๆ เค้าพูด เพราะมันเหมือนว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเขามาก ๆ พี่บางคนเล่าเรื่องนี้ไปต่อเรื่องนั้นเล่าเรื่องนั้นไปต่อเรื่องนี้ราวกับเป็นจดหมายเหตุเมือง ส่วนที่ขลุกขลักที่สุดเลยดูจะเป็นการพูดชื่อของศิลปินที่บางครั้งก็ออกเสียงยากเกินไป
อันที่จริงศิลปินเองหลาย ๆ คนก็ลงมาทำงานกับพื้นที่อย่างเข้มข้น ใช้เวลาฝังตัวอยู่ในพื้นที่เพื่อหาแรงบันดาลใจ ใช้ช่าง “สล่า” ท้องถิ่นในการช่วยผลิตงาน งานบางชิ้นให้เครดิตทีมทำในพื้นที่มากจนชวนให้รู้สึกอิ่มเอิบแทนคนทำงาน
ทำให้สิ่งที่เป็นเสน่ห์อย่างมากของงาน Thailand Biennale 2023 Chiang Rai คือการที่ตัวเทศกาลมันไม่ดูแปลกแยก ผิดที่ผิดทาง แต่กลับหลอมกลืนเข้ากับพื้นที่และผู้คนได้อย่างลงตัว
ในขณะที่งาน Design week กำลังถูกตั้งคำถามเรื่อง Gentrification อะไรต่าง ๆ เราพบว่าอันที่จริงเทศกาลทำนองนี้ถ้าอยากให้มันเชื่อมโยงกับคนมันก็ทำได้ อยู่ที่คนจัดงานจะมองเห็นและอยากทำหรือเปล่าเท่านั้นจริง ๆ