WikiHouse: เมื่อสถาปนิกไม่อยากสร้างบ้านให้คนแค่ 1%
เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ WikiHouse โครงการผลิตบ้านแบบ Opensource ที่สร้างปรากฎการณ์ในสาย sustainable architecture ไปทั่วโลก และยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อโครงการที่ muse กำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเราพูดถึง Opensource คนจำนวนมากมักคิดถึง การเปิดเผย source code ของ software ใด ๆ ที่ทำให้คนสามารถเข้าถึง นับไปปรับปรุงและประยุกต์ใช้ได้อย่างอิสระ ทำให้คำว่า Opensource มันจะถูกผูกโยงอยู่กับความเป็น program หรือ application ต่าง ๆ อยู่เสมอ
แต่เมื่อเราทำความรู้จักกับ Opensource ให้มากขึ้น เราจะพบว่าแนวคิดแบบ Opensource ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางและหลากหลายตามแต่การประยุกต์ใช้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการ “สร้างบ้านแบบ Opensource” ที่ผลักดันให้การสร้างบ้านนั้นสามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น และใช้วัฒนธรรมแบบ Opensource เพื่อสร้างความร่วมมือในการ “ร่วมผลักดัน” การพัฒนาให้สมบูรณ์และใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
กำเนิด WikiHouse
WikiHouse ถูกคิดค้นขึ้นในหน้าร้อนของปี 2011 โดยผู้ร่วมก่อตั้ง 5 คน คือ Alastair Parvin, Nick Ierodiaconou, Tav Siva, James Arthur และ Steve Fisher ด้วยแนวคิดการออกแบบระบบการผลิตบ้านผ่านอุปกรณ์ตัดอัตโนมัติ CNC (computer numerical control) ซึ่งทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนบ้านแบบต่อหน่วย (modular) อย่างการนำชิ้นส่วนที่มีลักษณะคล้ายจิ๊กซอว์มาประกอบกัน โดยยังมีการทำโครงการในลักษณะ Opensource ที่สนับสนุนให้ผู้คนนำไปพัฒนาต่อได้อย่างอิสระ ก่อนจะได้รับรางวัล TED's City 2.0 Awards จาก TEDGlobal และสามารถระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบัน WikiHouse ถือเป็น Opensource community ที่มี Contributors ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก
เมื่อสถาปนิกไม่อยากทำบ้านให้คนแค่ 1%
Alastair Parvin ได้ขึ้นพูดในงาน TED 2013 ที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษถึงสิ่งที่เขารู้สึกในฐานะสถาปนิก เขาเล่าว่าในฐานะนักศึกษาสถาปนิกจบใหม่ไม่มีใครอยากจบมาแล้วทำงานเงินเดือนถูก ๆ ซึ่งเงินเดือนสถาปนิก ณ จุดเริ่มต้นนั้นทำให้คนที่จะมีทุนมากพอที่จะจ้างสถาปนิกมีเพียงแค่ 1% ในสังคมเท่านั้น นั่นทำให้ในฐานะสถาปนิก Alastair มองว่าความท้าทายใหม่ของอนาคตคือทำยังไงให้สถาปนิกเลิกสร้างบ้านให้คนแค่ 1%
Alastair ได้เสนอแนวทางเอาไว้สามข้อต่อประเด็นนี้ แรกสุดคือการเลิกคิดเพียงแต่ว่า “สักแต่จะสร้างบ้าน” โดยเขามองว่าบ้านหรืออาคารหนึ่งหลังนั้นเป็นต้นทุนที่แพงมาก ในขณะที่การออกแบบพื้นฐานนั้นสามารถลดต้นทุนการผลิตบ้านและอาคารลงได้อย่างมาก การออกแบบโดยยึดถึงการ “ไม่เพิ่มต้นทุนที่ไม่จำเป็น” จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ประเด็นต่อมาที่ Alastair เสนออย่างจริงจัง คือการที่เราต้องเลิกคิดถึงการผลิตอย่างศตวรรษที่ 20 ที่มุ่งเน้นการผลิต “ขนาดใหญ่” เป็นที่สุด เพราะการผลิตบ้านหรืออาคารขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งนั่นทำให้มีคนแค่ 1 % ที่จ่ายไหว ในทางกลับกันหากเรามองถึงการผลิตขนาดเล็ก (Micro architecture) แม้หนึ่งคนจะได้ราคาถูก แต่หากผลิตด้วยจำนวนที่มากก็จะได้ราคาเทียบเท่ากับการสร้างงานใหญ่หนึ่งงาน ซึ่งการเปลี่ยนวิธีคิดของวิถีการผลิตนี้ จะทำให้คนอีก 99% สามารถเข้าถึงสถาปนิกได้มากขึ้น และจะมากขึ้นในอนาคต
และที่สำคัญคือต้องคิดถึงการทำธุรกิจบนฐานประโยชน์ทางสังคม (Social economy) โดย Alastair ได้ยกตัวอย่างแนวคิดแบบ Opensource ที่สร้างผลประโยชน์ทางสังคมไปพร้อม ๆ กับการทำธุรกิจ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด WikiHouse ระบบการสร้างบ้านแบบ Opensource ที่มุ่งหวังให้ทุกคนสามารถสร้างบ้านด้วยตัวเองได้อย่างอิสระ
การสร้างบ้านแบบ Opensource
การนำเอาแนวคิดแบบ Opensource มาใช้กับการสร้างบ้านอาจจะต้องเรียกว่าเป็นอะไรที่ “น่าประหลาดใจ” อยู่มาก เพราะเรามักจะพูดถึง Opensource กันในฐานะ Software เสียเป็นส่วนใหญ่
WikiHouse ประยุกต์แนวคิดแบบ Opensource เข้ากับการสร้างบ้านได้อย่างน่าทึ่ง เริ่มจากการยึดโยงอยู่กับความเป็นดิจัทัลที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายและลดต้นทุน โจทย์แรงจึงเป็นการเลือกเครื่องตัดอัตโนมัติ CNC ที่สามารถใช้ไฟล์ดิจิทัลในการสั่งงานให้ตัดชิ้นส่วนออกมาได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจุดนี้เองเป็นเหมือนฐานยืนที่สำคัญเพราะนั่นทำให้ทั้งแบบบ้าน หรือหลักการออกแบบชิ้นตัด สามารถส่งต่อถึงกันผ่านไฟล์ดิจิทัลได้หมด เพียงแค่เรานำไฟล์มาป้อนใส่เครื่องก็แทบจะหมายความว่าเราสร้างบ้านไปได้ครึ่งทางแล้ว
และแม้ความรู้เรื่องการประกอบชิ้นส่วนเพื่อใช้เป็นโครงสร้างจะยังเป็นสิ่งใหม่ที่ผู้คนต้องเรียนรู้ แต่เสน่ห์แบบ Opensource ก็ยังสามารถเข้ามาช่วยอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้ กล่าวคือหากขั้นตอนชิ้นส่วนประกอบนั้น “ซับซ้อนเกินไป” การเปิดให้ Contributors สามารถนำแบบไปพัฒนาได้อย่างอิสระยังจะช่วยให้ความซับซ้อนเหล่านั้นถูกแก้ไขด้วยตัวผู้ใช้เอง และยังสามารถช่วยกันพัฒนาแบบบ้าน แบบชิ้นส่วนการตัด หรือแม้แต่ขั้นตอนการผลิตให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
การเลือกใช้แนวคิดแบบ Opensource มาเป็นตัวผลักดันโครงการจึงทำให้น่าจับตามองว่า สิ่งที่ WikiHouse กำลังทำ มุ่งหวังผลลัพท์ในระดับใดกันแน่
ปฏิวัติอุตสาหกรรมการสร้างบ้าน
นอกจากการผลิตด้วยระบบตัดอัตโนมัติที่ช่วยย่นระยะเวลาการผลิตให้น้อยลงแล้ว ระบบบ้านของ WikiHouse ยังคำนึงถึงกระบวนการผลิตที่สามารถทำได้เองด้วยจำนวนคนน้อยที่สุดคือสองคน และยังขายว่าสามารถสร้างบ้านขนาดเล็ก (Microhouse) หนึ่งหลังจนสำเร็จได้ภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังเลือกวัสดุอย่างไม้อัดซึ่งถือว่ามีราคาถูกมาใช้ จนสามารถลดต้นทุนวัสดุก่อสร้างลงได้อีกมหาศาล
แม้ในปี 2013 Alastair Parvin จะยอมรับว่า WikiHouse ยังถือเป็นช่วงต้นของการทดลอง แต่เขาก็ฝันไกลถึงการเป็น “กลไก” ให้เกิดการปฏิวัติอุสาหกรรมการสร้างบ้าน
WikiHouse ได้สังเกตเห็นลักษณะเด่นของโลกยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เคยถูกผูกขาดด้วยผู้เล่นรายใหญ่แค่ไม่กี่รายกำลังถูกผู้เล่นรายเล็กเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ได้ นั่นทำให้ในปัจจุบันเรามีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีผู้ผลิตรายย่อยเพิ่มขึ้น และ WikiHouse ก็หวังให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นภายในอุตสาหกรรมการสร้างบ้านเช่นกัน
WikiHouse มองว่าการที่เราสามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบบ้านจากอินเตอร์เน็ต และผลิตชิ้นส่วนผ่านอุปกรณ์ตัดอัตโนมัติ CNC จะทำให้การผลิตบ้านถูกเข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลดีกับผู้ผลิตรายย่อย ตลอดจนการผลิตบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง จะถือเป็นการลดทอนพลังของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมการผลิตบ้านในที่สุด และนั่นยังจะถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการระบบการผลิตบ้านที่ก้าวข้ามแนวคิดของศตวรรษที่ 20 ไปสู่อนาคตที่แท้จริง
“หากการออกแบบที่ดีที่สุดสำหรับศตวรรษที่ 20 คือการออกแบบเพื่ออิสระในการบริโภค การออกแบบที่ดีที่สุดของศตวรรษที่ 21 ก็ควรเป็นการออกแบบเพื่ออิสระในการผลิต”
เสียงตอบรับและคำวิจารณ์
แน่นอนว่านอกจากคำชื่นชมแล้ว ก็ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่โจมตีไปที่กระบวนการผลิตที่ยึดโยงกับเครื่อง CNC เป็นสำคัญ กล่าวคือแม้กระบวนการผลิตจะสามารถลดต้นทุนให้ถูกลงได้แต่นั่นถือเป็นต้นทุนที่ยังไม่ได้คิดรวมกับราคาเครื่อง CNC ที่เป็นส่วนสำคัญของการผลิต
และ WikiHouse เองก็น่าจะกังวลเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้มีการยอมรับว่าหากรวมราคาเครื่อง CNC แล้วค่าใช้จ่ายในการผลิตก็คงไม่ได้ต่างจากการผลิตแบบปกติเท่าไรนัก หรืออาจจะมากกว่าในบางกรณีด้วยซ้ำ
นั่นทำให้เกิดแนวคิดเรื่อง shared resource ขึ้น คือการที่มองว่าเครื่อง CNC นั้นไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่จะต้องมีทุกคน แต่อาจจะมีหนึ่งเครื่องในชุมชนเพื่อให้คนสามารถไปใช้งานร่วมกันได้ โดยแนวคิดนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ที่ WikiHouseRio ที่กรุง Rio de Janeiro ประเทศ Brazil โดยการผลักดันให้ Community เข้ามาใช้เครื่อง CNC เพื่อผลิตและพัฒนาความสามารถทางการผลิตได้อย่างอิสระ
และแม้จะเป็นต้นทุนที่สูง แต่ WikiHouse มองว่านั่นถูกทดแทนด้วยคุณค่าที่ระบบการสร้างบ้านในปัจจุบันทำไม่ได้ คือการที่เราสามารถจัดการบ้านของเราได้ด้วยตัวเอง คือเมื่อเรามีแบบบ้าน เราผลิตมันขึ้นมาเอง เราก็จะสามารถปรับแต่ง จัดการพื้นที่ ซ่อมแซม หรือแม้แต่รื้อถอนมันได้เองทั้งหมด ซึ่งนี่ถือเป็นอิสระทางการผลิตที่ WikiHouse เชื่อมั่น และหมายถึงการลดต้นทุนการซ่อมบำรุงที่จำเป็นต้องจ้างช่างมาช่วยดูแลในอนาคตด้วย
การที่เราสามารถจัดการกับบ้านทั้งหลังได้ทั้งหมดด้วยตัวเองยังจะหมายถึงความสัมพันธ์ในฐานะการเป็น “เจ้าของบ้าน” ที่แท้จริงดังสำนวนที่ว่า “‘If you can’t mend it, you don’t own it”
ปัจจุบัน WikiHouse ยังคงพัฒนาโครงสร้างแบบบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตของ Community ที่ยังคงดำเนินการกันอยู่ตลอดเกือบสิบปี และมุ่งเป้าให้ WikiHouse เป็นการออกแบบเพื่ออนาคตด้วยหลักการออกแบบถึง 19 อย่างที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องความปลอดภัย การลดต้นทุนความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนผลกระทบต่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ WikiHouse พิสูจน์ให้เราเห็นไม่ใช่แค่การสร้างบ้านอย่างไรให้ราคาถูก แต่ยังเป็นการยืนยันว่าแนวคิดแบบ Opensource สามารถถูกนำมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นนอกเหนือจาก software ได้ และการผลักดัน Opensource community นี้เองที่ช่วยผลักดัน WikiHouse ให้สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้จริง