แรงบันดาลใจจาก WikiHouse: เมื่อ Opensource เป็นมากกว่าการเขียนโค้ด
เล่าถึงการพบเจอกับ WikiHouse โครงการออกแบบระบบสร้างบ้านแบบต่อหน่วย (Modular) ที่นอกจากสร้างบ้านด้วยวิธีการที่น่าสนใจแล้ว ยังสร้างแรงบันดาลใจในการผลักดันสังคมผ่านวัฒนธรรมแบบ Opensource อีกด้วย
WikiHouse เป็นระบบการสร้างบ้านแบบต่อหน่วย (modular) ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อหวังลดช่องว่างทางต้นทุนการสร้างทั้งในแง่เวลา ราคา และกำลังคน โดยมุ่งเป้าในการพัฒนาระบบการสร้างให้เกิดความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ไปสู่ผู้คนได้ง่าย โดยใช้แนวคิดแบบ Opensource เปิดเผยรายละเอียดการผลิต เพื่อให้คนเข้าถึงแล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างอิสระ
WikiHouse จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจในการนำแนวคิดแบบ Opensource ที่ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ มาใช้ในการแก้ปัญหาและผลักดันสังคม
อ่าน เมื่อสถาปนิกไม่อยากสร้างบ้านให้คนแค่ 1%
เมื่อมองย้อนกลับมาที่บริบทประเทศไทย เราจะพบว่าการจะมีบ้านหนึ่งหลังนั้นใช้ต้นทุนสูงมากเมื่อเทียบกับโครงสร้างค่าแรงของผู้คน อีกทั้งองค์ความรู้ในการ “สร้างบ้านด้วยตัวเอง” ยังเข้าถึงได้ยาก นั้นทำให้การมีบ้านหนึ่งหลังหมายถึงภาระหนี้ที่สูงเกินความสามารถในการใช้หนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
WikiHouse จึงมีศักยภาพอย่างมากที่จะเป็นทางออกให้กับสังคมไทยในประเด็นเรื่องหนี้บ้าน และยังมีพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อไปยังอนาคต
คำถามสำคัญจึงเป็นว่า ในบริบทแบบไทยที่มีทั้งความชื้น มีแมลง และปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้น่าสนใจว่าทางออกแบบ wikiHouse จะสามารถทำได้จริงหรือไม่
เป็นคำถามที่ท้าทายทั้งตัวโครงการ WikiHouse และท้าทายความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย Open source ไปพร้อม ๆ กัน
แรงบันดาลใจจาก WikiHouse
ประเด็นหลักที่น่าสนใจของ WikiHouse คือการ “ลดต้นทุน” ในการสร้างบ้านลงอย่างมหาศาล เริ่มด้วยการเลือกใช้วัสดุที่มีราคาถูกในท้องตลาด ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติในการจัดการวัสดุด้วยระบบดิจิทัลทำให้ย่นระยะเวลาในการผลิต และยังลดจำนวนแรงงานการสร้างจากระบบการสร้างแบบต่อหน่วยย่อย ๆ เข้าด้วยกันจนกลายเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ นี่คือบ้านที่เข้าใกล้คำว่า “ทำได้เอง” มากที่สุดเท่าที่นึกออก
และด้วยแนวคิดแบบ Opensource ที่จะมีการเปิดเผยให้ผู้คนเข้าถึงรายละเอียดการผลิตและนำไปใช้ได้อย่างอิสระยังจะทำให้เแนวคิดในการสร้างบ้านนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ที่ผ่านมาเราอาจจะมองเห็นการสร้างเป็นการ “จ้างสร้างบ้าน” และเมื่อจะซ่อมบ้านก็ต้อง “จ้างซ่อมบ้าน” จะปรับปรุงแก้ไขก็ต้อง “จ้าง” เพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการ การส่งต่อองค์ความรู้การสร้างบ้านแบบ Opensource จึงเหมือนเป็นการเบิกทางให้กับความคิดที่เราสามารถจัดการ “บ้านของตัวเอง” ได้อย่างอิสระ เพราะเรามีแบบบ้าน รู้วิธีเชื่อมต่อ และสร้างมันขึ้นมากับมือ
การผลักดันโครงการด้วยแนวคิดแบบ Opensource จึงมีเป้าใหญ่อยู่ที่การ “พลิกแนวคิด” เรื่องการสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อการออกแบบเพื่อให้สะดวกต่อการรื้อถอนขนย้าย การออกแบบเพื่อให้กระบวนการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด การออกแบบเพื่อให้มีพื้นที่มากพอให้นำไปสู่การออกแบบแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะผลักดันได้ถึงขีดสุดได้เมื่อทุกคนช่วยพัฒนามันออกมาร่วมกัน WikiHouse จึงเชื่อว่าถ้าระบบนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนคืออุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่มากกว่าจะมีทางเลือกมากขึ้น ยังเป็นการผลักให้ตัวอุตสาหกรรมต้องขยับมาตรฐานการผลิตขึ้นไปอีกขั้น ทำให้ในอนาคตแม้เราจะไม่สร้างบ้านเองเราก็อาจจะยังมั่นใจได้ว่าบ้านที่เราอยู่นั้นมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถจัดการบ้านได้ผ่านโครงสร้างที่เป็นระบบด้วยตัวเอง และสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยหากเราปล่อยให้ระบบอุตสาหกรรมปรับตัวกันไปเองตามยถากรรม
สิ่งที่ WikiHouse มอบให้แก่เรา จึงไม่ใช่แค่องค์ความรู้ว่า “สร้างบ้านยังไง” แต่ยังเป็นความเชื่อมั่นว่าทางออกที่ดีที่สุด คือการที่ทุกคนร่วมคิด ร่วมแก้ และร่วมผลักดันปัญหาไปพร้อม ๆ กัน
โครงการผลิตบ้านด้วยระบบการสร้างของ WikiHouse จึงไม่ใช่แค่การพิสูจน์ว่าเราจะสามารถสร้างบ้านด้วยตัวเองได้จริงหรือไม่ แต่ยังเป็นการท้าทายว่าแนวคิดแบบ Opensource จะผลักโลกให้เคลื่อนไปได้จริงหรือเปล่า
โจทย์ของประเทศไทย
พื้นที่ตั้งต้นของ WikiHouse คือประเทศอังกฤษ นั่นทำให้การเลือกใช้วัสดุและการออกแบบอ้างอิงอยู่กับบริบทที่เป็นอังกฤษ หรือยุโรปอยู่ระดับหนึ่ง
แต่เมื่อมองกลับมาที่บริบทไทย การสร้างบ้านจากไม้อัดทั้งหลังนั้นน่าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคเชิงสภาพภูมิประเทศ เพราะเป็นเขตที่ร้อนชื้น ในช่วงที่อากาศร้อนก็จะร้อนอบอ้าว เมื่ออากาศหนาวก็อาจจะเย็นตัวลงไปถึงหนาวจัดซึ่งน่าจะมีผลต่อการยืดหดของตัวไม้ การมีฝนตกกระจายแทบตลอดทั้งปี แถมในช่วงมรสุมยังเป็นพายุฝนที่ค่อนข้างรุนแรงอาจส่งผลต่อขีดจำกัดเรื่องความชื้นที่ไม่เหมือนยุโรป ทั้งยังมีปลวก มีแมลงที่ทำให้การสร้างจะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการป้องกันสิ่งเหล่านี้ เป็นไปได้ด้วยซ้ำว่าเมื่อผลิตจริงขึ้นมาอาจจะแพงกว่าหรือใกล้เคียงกับการผลิตบ้านแบบปกติ
การสร้างบ้านด้วยระบบของ WikiHouse ในประเทศไทยจึงถือเป็นความท้าทายของ WikiHouse ว่าระบบที่ถูกคิดค้นมานี้จะส่งต่อไปสู่ผู้คนได้จริงไหม หรือหยุดอยู่แค่พื้นที่ยุโรปหรือแคบที่สุดคือภายในอังกฤษ
และยังเป็นการท้าทายว่าสุดท้ายแล้วแนวคิดเรื่องการสร้างบ้านแบบ Opensource จะเป็นแค่ “หลักการสวยหรู” ที่ปฏิบัติไม่ได้จริง หรือยากเกินกว่าจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่
โจทย์ของเรา
นอกจากความท้าทายของบริบทเชิงสภาพภูมิอากาศแล้ว ความท้าทายที่เรามองเห็นคือเรื่อง “ราคา”
หากอ้างอิงจาก WikiHouse เมื่อไม่รวมราคาค่าเครื่อง CNC การผลิตด้วยระบบต่อหน่วยของ WikiHouse จะมีค่าใช้จ่ายในการผลิตอยู่ที่ประมาณ 300 ปอนด์สเตอริ่ง (ประมาณ 12,000 บาท) ต่อตารางเมตร จากปกติที่อาจจะมีราคาพุ่งสูงถึง 2,000 ปอนด์สเตอริ่ง (ประมาณ 80,000 บาท) ต่อตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการลดต้นทุนลงมาได้มากถึง 85%*
แต่สำหรับประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านประมาณ 12,000 บาทต่อตารางเมตร กลับเป็นราคากลุ่มฐาน คือราคาที่ “ถูกที่สุด” ที่จะสามารถสร้างบ้านได้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหมายความว่าราคาประมาณนี้ก็เป็นราคาที่ “เกินกำลัง” ของผู้คนจำนวนมากภายใต้โครงสร้างค่าแรงของไทยอยู่แล้ว บ้าน “ราคาถูก” ของอังกฤษและยุโรปจึงไม่ถือว่า “ถูก” สำหรับที่นี่ตั้งแต่ต้น
โจทย์คือ แล้วเราจะทำยังไงให้มัน “ราคาถูก” กว่าราคาฐานของไทย
เมื่อดูกลับมาที่ราคาฐาน 12,000 บาทต่อตารางเมตรของไทย ในฐานะราคาขั้นต่ำมันจึงเป็นบ้านที่มีโครงสร้างแบบพื้นฐานที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการออกแบบรวมถึงการใช้วัสดุต่าง ๆ เป็นบ้าน “ราคาถูก” เพื่อให้ “มีบ้าน” เป็นของตัวเองเท่านั้น ทำให้หากจะอยากได้บ้านที่สามารถออกแบบได้มากขึ้นหรือรายละเอียดมากขึ้น ใช้วัสดุที่ดีและแข็งแรงทนทานขึ้นอาจจะต้องเพิ่มราคาขึ้นไปถึงประมาณ 20,000 บาทต่อตารางเมตรเลยทีเดียว
ณ จุดนี้ หากเราสามารถสร้างบ้านที่ราคาเท่าราคาฐานด้วยคุณภาพที่เพิ่มขึ้นไปถึงระดับกลาง หรือกลางค่อนสูงได้ โครงการสร้างบ้านด้วยระบบของ WikiHouse ก็จะพิสูจน์ตัวเองในฐานะของ “บ้านที่ถูกลง” ได้ พูดกันง่าย ๆ ว่าหากเราสร้างบ้านหนึ่งหลังด้วยราคา 100,000 บาทแล้วคุณภาพออกมาเท่ากับบ้านหลังละ 200,000 หรือ 500,000 บาทได้ นั่นคือประสบความสำเร็จ
การสร้าง “บ้านราคาถูก” ของเรา จึงไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การทำยังไงให้ “ราคา” มันถูกที่สุด แต่เป็นการทำยังไงให้บ้านที่สนับสนุนการใช้ชีวิต มีการออกแบบที่ทันสมัย มีระบบอำนวยความสะดวกครบครัน มีราคาที่ “ถูกที่สุด” ด้วยคุณภาพที่ “ดีที่สุด”
ขั้นตอนการสร้าง
เนื่องจากเป้าหมายหลักของเราคือการ “พิสูจน์” ความเป็นไปได้ของระบบสร้างแบบ WikiHouse เราจึงสร้างบ้านโดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลของโครงการ WikiHouse เอง ทั้งแบบบ้าน ลักษณะการตัด การประกอบ โดยระหว่างขั้นตอนจะมีการจัดการข้อจำกัดต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดและข้อมูลที่ถูกแบ่งปันกันผ่านชุมชนนักพัฒนาของ WikiHouse รวมถึงการปรับตามข้อจำกัดบริบทของประเทศไทยเพิ่มเติม
ท่านที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและดาวน์โหลดแบบบ้านเพื่อใช้สำหรับเครื่อง CNC ได้ที่ wikihouse.cc
ผลลัพท์
ปัจจุบันโครงการสร้างบ้านด้วยระบบสร้างแบบ WikiHouse ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นผลิตภัณฑ์ตัวทดลองรหัส 000 ตั้งอยู่ที่ muse PAI สำนักงานใหญ่ โดยได้มีการทดลองเข้าอยู่จริงเพื่อทดสอบความสะดวกสบายและความเหมาะสมต่อการเป็นที่อยู่อาศัย
สรุปค่าใช้จ่ายทางการผลิตโดยไม่รวม CNC อยู่ที่ประมาณ 180,000 บาทพร้อมงานระบบ
ปัญหาที่พบ
เนื่องจาก WikiHouse เป็นงานที่ผลิตบนพื้นฐานของพื้นที่ประเทศอังกฤษและมาตรฐานยุโรป ปัญหาใหญ่ที่สุดจึงเป็นเรื่องของการออกแบบและระบบที่ไม่สอดคล้องกับระบบและฝีมือช่างในประเทศไทย
ยกตัวอย่างเช่น งานออกแบบวัสดุปิดผิวด้วย Metal sheet เราจะพบว่างานตัดเพื่อใช้ปิดหลังคาในรูปทรงแบบบ้าน Nordic นั้นไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทำให้ต้องมีการทำงานออกแบบกันเพิ่มเติม และเมื่อลงมือทำจริงจะพบว่างานปิดผิวเป็นงานฝีมือในระดับที่ไม่ใช่ใครก็สามารถทำตามได้ง่าย ๆ
หรืออย่างงานกระจกที่เมื่อใช้ในงานโครงสร้างแบบปูนจะมีมาตรฐานการวัดขนาดอีกแบบในขณะที่ระบบสร้างแบบ WikiHouse ก็จะมีอีกแบบทำให้ต้องมีการจัดการเรื่องระบบกันใหม่ อย่างงานประตูเองก็มีส่วนของรายละเอียดด้านสัดส่วนที่ระบบสร้างแบบ WikiHouse และระบบสร้างด้วยงานปูนในอุตสาหกรรมปัจจุบันของไทยใช้ไม่เหมือนกัน
รวมถึงเมื่อเข้าสู่การผลิตบ้านทั้งหลัง เราจะพบว่าการสร้างบ้านด้วยระบบแบบ WikiHouse เองก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทั้งการตัดการควบคุมเครื่อง CNC การเชื่อมต่อและการใช้งานไฟล์ตัดจำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่และใช้การแก้ปัญหาด้วยทักษะระดับหนึ่ง การตัดและการต่อจุดเชื่อมต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจ และเมื่อประกอบเป็นเฟรมบ้านก็ยังมีขนาดใหญ่จนต้องใช้กำลังคนหรือรถเครนในการช่วยยก อีกทั้งในแบบบ้านเวอร์ชันที่เราใช้ยังพบจุดผิดของตัวแบบจนต้องมานั่งศึกษาและแก้แบบกันอีกหลายครั้ง
ทำให้แม้ระบบสร้างแบบ WikiHouse จะสร้างบ้านได้จริง และช่วยในการลดต้นทุนการผลิตได้จริง แต่ระบบการผลิตเองก็ยังไม่ได้สะดวกสบายพอที่จะเข้าถึงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่มีความรู้เรื่องการสร้างบ้านเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนยิ่งจะเจอปัญหาเรื่องการจัดการวัสดุหรือการแก้ปัญหาในโครงสร้างบ้านได้ อีกทั้งยังมีระบบการผลิตที่ขาดความสอดคล้องกับระบบที่อุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยใช้อยู่
หมายความว่าแม้แต่จะสร้างเอง หรือจ้างคนอื่นสร้างด้วยระบบดังกล่าว ก็ยังยากอยู่ดี
Shared resource model
ย้อนกลับไปที่ปัญหาตั้งต้นเรื่องราคาที่เราพยายามจะหลีกเลี่ยงการพูดถึงคือ เครื่องกลึง CNC หรือ Computer Numerical Control
CNC เป็นระบบอัตโนมัติที่เข้ามาช่วยลดต้นทุนในหลาย ๆ ด้าน ทั้งแรงงานและเวลาในการผลิต เรียกว่าเป็นส่วนสำคัญในการทำให้การสร้างบ้านด้วยระบบแบบ WikiHouse สามารถเกิดขึ้นได้จริง ข้อดียิ่งไปกว่านั้นคือเมื่อผ่านการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ นั่นหมายถึงเราสามารถใช้การออกแบบด้วยไฟล์แบบดิจิทัลในการสร้างบ้านได้เลย ซึ่งก็จะมีทั้งความแม่นยำในการผลิต ลดความสิ้นเปลืองจากการผลิตเกินความจำเป็นได้อีกด้วย
แต่ต้องยอมรับว่าเครื่อง CNC นั้นไม่ได้เป็น “เครื่องมือ” ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขนาดนั้น ด้วยราคาตั้งต้นอยู่ที่ประมาณสามแสนบาท ทำให้เมื่อคิดกันตามจริงแล้วต้องบวกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เข้าไปด้วย และยังต้องบวกค่าไฟฟ้าเพื่อใช้เดินเครื่องเข้าไปเพิ่มอีกต่างหาก ทั้งยังไม่ได้ใช้งานง่ายระดับนั้น ในเรื่องการใช้ไฟล์ดิจิทัล การควบคุมเครื่อง การ calibrate การแก้ปัญหา รวมถึงการบำรุงรักษาต่าง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจจนอาจจะเพิ่มต้นทุนเวลาในส่วนนี้เข้าไปอีก
และบนพื้นฐานความเข้าใจอย่างง่ายว่าเราจำเป็นจะต้องจ่าย 2-3 แสน เพื่อการสร้างบ้านแค่ครั้งเดียวหรือไม่ อีกทั้งยังต้องเสียเวลาทำความเข้าใจการใช้งานจนยุ่งยากอีก ทำให้แม้ว่า WikiHouse จะพยายามขายเรื่องการ “ถอดประกอบ” และ “จัดการบ้านเองได้” ก็อาจจะยังต้องทำงานกับความรู้สึกของผู้คนอยู่อีกหลายขั้นตอน
แล้วจะทำยังไงให้การมีเครื่อง CNC ไม่ใช่การลงทุนที่เสียเปล่า
ตอบอย่างง่ายที่สุดก็คือต้องผลิตบ้านให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราเองก็อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าในชีวิตหนึ่งเราจะผลิตบ้านได้สักกี่หลังถ้าไม่ใช่การผลิตเพื่อขาย
นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดแบบ Shared resource คือการผลักดันให้ชุมชนมีทรัพยากรบางอย่างเป็นพื้นฐานเพื่อให้คนในชุมชนสามารถมาใช้งานได้ร่วมกัน การมีเครื่อง CNC จึงไม่ควรเป็นการผลักภาระให้ปัจเจกคนใด แต่ต้องเป็นการเห็นภาพร่วมกันว่าการมี CNC เป็น shared resource นั้นมันส่งเสริมชุมชนในลักษณะเดียวกับศาลาอเนกประสงค์หรือสนามกีฬากลางหมู่บ้านอย่างไร เช่นเดียวกับ WikiHouse ที่ไม่ได้มองหน่วยการผลิตให้ทุกคนต้องมี CNC แต่ให้พื้นที่ CNC เป็นแหล่งการผลิตหน่วยย่อยที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
จึงเกิดเป็นข้อสรุปที่ว่า หาก WikiHouse จะสามารถกลายเป็นทางเลือกให้สังคมได้จริง เราจำเป็นที่จะต้องสร้างบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง หรือคือการผลักดันให้เกิดชุมชนที่ส่งเสริมการสร้างบ้านให้สมาชิกในชุมชน แทนที่จะเป็นการสร้างบ้านให้ตัวเองแล้วจบไป
การผลักดันระบบสร้างแบบ WikiHouse จึงจำเป็นต้องผลักดันการสร้าง Community ที่เชื่อเรื่อง Shared resource ขึ้นมาพร้อม ๆ กันด้วย