แรงบันดาลใจจาก WikiHouse(2): สู่ M House แบบบ้านที่ท้าทาย WikiHouse ด้วยบริบทประเทศไทย
หลังจากผลิตบ้านตามแบบ WikiHouse จนสำเร็จ เราก็ได้ค้นพบปัญหาและรายละเอียดที่น่าจะนำไปต่อยอดได้ จึงเกิดโครงการบ้านที่ผลิตด้วยระบบ WikiHouse แต่ปรับแต่งให้เข้ากับบริบทไทยมากขึ้น
จากการพิสูจน์ความเป็นไปได้ของ WikiHouse ทั้งในแง่การสร้างบ้านแบบ Opensource และการใช้ Opensource ในการผลักดันสังคม เราได้พบว่าแม้ WikiHouse จะมีศักยภาพและเป็นแรงบันดาลใจที่ดี แต่การใช้ระบบสร้างแบบ WikiHouse ทั้งระบบยังถือว่าห่างไกลความเป็นจริงอยู่ระดับหนึ่งโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย
เราจึงลองท้าทายตัวเองด้วยการผลักดันการสร้างบ้านในรูปแบบระบบสร้างที่จะสามารถเข้าถึงผู้คน และสอดคล้องกับบริบทการสร้างของไทยให้เกิดขึ้นโดยใช้แรงบันดาลใจและการเรียนรู้จาก WikiHouse ได้อย่างไรบ้าง
ปัญหาที่พบจาก WikiHouse
ระบบสร้างมีหลักการเชิงมาตรฐานแตกต่างจากระบบสร้างที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน ทำให้การจัดหาวัสดุเป็นไปได้ยาก
กระบวนการสร้างมีน้ำหนักมากเกินกว่าจะสามารถผลิตได้ด้วยกำลังคนไม่กี่คน
องค์ความรู้เพื่อใช้ในการสร้างทำให้เกิดต้นทุนด้านเวลาที่มากขึ้น
โจทย์ของเรา
เราตั้งโจทย์ในโครงการนี้ด้วยนำเอาปัญหาที่พบในการสร้างบ้านด้วยระบบ Wikihouse มาหาทางออกที่จะช่วยผลักดันให้การสร้างบ้านด้วยตัวเอง ด้วยวัสดุท้องถิ่น และมีต้นทุนในการสร้างที่ถูกลงสามารถเกิดขึ้นได้จริงในบริบทไทย
โดยในครั้งนี้เราใช้วิธีการควบคุมตัวแปรการผลิตเพื่อพิสูจน์ความเป็นไปได้ โดยกำหนดว่าต้องใช้วัสดุที่เป็นวัสดุที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศเท่านั้น และโครงสร้างต้องไม่มีน้ำหนักเกินกว่าที่สองแรงคนสามารถขนย้ายได้ และยังกำหนดงบประมาณในการผลิตเอาไว้ที่ 50,000 บาทเพื่อให้เป็นราคาการผลิตที่สามารถเข้าถึงได้อย่างไม่สร้างภาระเกินจำเป็นในโครงสร้างค่าแรงของประเทศไทย
และเมื่อเราไม่ได้มองโครงการเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างแต่เป็นระบบการผลิต เราจึงมองถึงการสร้างแม่แบบของระบบต่อหน่วยในระดับโครงสร้าง คือการนำโครงสร้างดังกล่าวมาต่อกันเพื่อขยายพื้นที่การใช้งานทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่งแล้วยังสามารถรับน้ำหนักได้มากพอในการจะเป็นสิ่งก่อสร้างจริง
โดยทั้งหมดนี้วางอยู่บนโจทย์ที่ว่าต้องสามารถทำได้เอง ทำได้เร็ว และมีราคาถูก
แนวคิดการออกแบบ
ด้วยโจทย์ที่ควบคุมตัวแปรในหลายส่วน ทำให้การออกแบบมุ่งเป้าอยู่ที่การเอาชนะโจทย์ภายใต้ของข้อจำกัดให้ได้
ทำอย่างไรให้โครงสร้างสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม
เมื่อนึกถึงโครงสร้างที่ต้องมีการต่อหน่วยออกไปได้ทั้งด้านข้างและด้านบน เราจึงตั้งโจทย์ให้โครงสร้างมีความสามารถในการรับน้ำหนักมากพอโดยมีตัวชี้วัดอยู่ที่ 500 กิโลกรัม คำถามแรก ๆ จึงเป็นเรื่องของระบบโครงสร้างในการรับน้ำหนัก คาน เสา จุดเชื่อมและข้อต่อ ที่สามารถรับน้ำหนักได้จริง
ทำอย่างไรให้บ้านสามารถอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ
เมื่อมองว่า M house จะต้องเสร็จสมบูรณ์แบบพร้อมอยู่อาศัยด้วยงบประมาณจำกัด การคาดหวังการมีอยู่ของเครื่องปรับอากาศในงบประมาณจึงถือว่าเป็นไปแทบไม่ได้ ครั้นจะมองว่าเป็นราคาก่อนจะติดระบบปรับอากาศก็ไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการอยู่อาศัยได้จริง การออกแบบจึงมองถึงการจัดการปัญหานี้ตั้งแต่ต้น
เริ่มจากการออกหลังคาให้ยื่นออกมากันแดดให้ได้นานที่สุดต่อวันเพื่อป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านโดยตรง
อีกทั้งยังออกแบบบ้านให้มีช่องเปิดเพื่อสะดวกต่อการระบายอากาศและการรับลมธรรมชาติ โดยเชื่อว่าหากทำร่วมกันกับการคำนวณทิศที่ตั้งและทิศทางแดดจะสามารถลดปัญหาเรื่องอุณหภูมิในพื้นที่อยู่อาศัยจนสามารถอยู่อาศัยมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันได้จริง
ทำยังไงให้สามารถสร้างได้ภายใต้ราคา 50,000 บาท
โจทย์สำคัญคือการคุมงบประมาณให้อยู่ งานออกแบบจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่เสมอ เพราะหลังจากออกแบบแต่ละครั้งเมื่อมีการนำมาคำนวณจะพบว่ารายจ่ายจากรายละเอียดการออกแบบนั้นทำให้งบประมาณสูงขึ้น
การปรับแบบเพื่อลดทอนรายละเอียดเพื่อให้เหลือแต่โครงสร้างชิ้นส่วนที่จำเป็นจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ตลอดกระบวนการ เช่น การลดทอนโครงสร้างรับน้ำหนักบางจุดที่ไม่ได้มีการใช้รับน้ำหนักจริง รวมถึงการลดความซับซ้อนของตัวอาคารเพื่อให้ตอบโจทย์การผลิตได้เองอีกด้วย
ขั้นตอนการผลิต
ปรับพื้นที่ เตรียมฐานราก
หลังจากกำหนดตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ก็ได้มีการปรับพื้นที่และเตรียมฐานราก และลงตอม่อสำเร็จที่นิยมใช้กันในการก่อสร้างเพื่อให้วัสดุที่ใช้สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่
ตัดไม้ส่วนประกอบ และประกอบไม้
นำไม้อัดมาตัดส่วนประกอบด้วยเครื่อง CNC ตามที่ได้มีการออกแบบไว้ ก่อนนำไปประกอบกันเป็นส่วนโครงสร้างต่าง ๆ
ประกอบโครงสร้างบ้าน และหลังคา
การประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ จะถูกออกแบบจุดต่อและจุดเชื่อมเอาไว้ในกระบวนการตัดตามที่มีการออกแบบ โดยได้ดึงแนวคิดการสร้างแบบ WikiHouse มาใช้
ปูพื้น ปิดผิว และเดินระบบไฟฟ้า
ผลลัพท์ที่ได้
ปัจจุบันโครงการ M House ได้เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นผลิตภัณฑ์ตัวทดลองรหัส 001 ตั้งอยู่ที่ muse PAI สำนักงานใหญ่ เป็นโครงการสร้างที่อยู่อาศัยที่สามารถอยู่อาศัยได้จริงด้วยแรงคน 2 คน
ใช้เวลารวมทั้งกระบวนการนับตั้งแต่ออกแบบจนเสร็จสิ้นประมาณ 60 วัน โดยมีการใช้งบตามจริงอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท
ปัญหาที่พบ
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในโครงการผลิต M House เกิดจากการลำดับขั้นตอนการออกแบบ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับแก้เพิ่มเติมระหว่างการผลิต ปัญหาความล่าช้าของระยะเวลาเสร็จสิ้นโครงการที่เนื่องมาจากการประเมินเวลา ความล่าช้าของการจัดส่งวัสดุสู่พื้นที่การผลิต รวมถึงการปรับแก้ที่ส่งผลให้ต้องมีการสั่งวัสดุเพิ่มเติมต่าง ๆ
อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือตัวโครงการใช้งบประมาณตามจริงจนเสร็จสิ้นโครงการอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาท แต่เป็นราคาที่มาจากการใช้ส่วนลดจากจำนวนการสั่งและการรวมสั่งเพื่อลดค่าจัดส่ง หากประเมินราคาต่อหน่วยตามจริงจึงอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 60,000 บาท ในกรณีที่ให้บ้านเสร็จสมบูรณ์จนสามารถอยู่อาศัยได้จริง
แม้เบื้องต้นจะเป็นงบประเมินที่มากกว่างบที่ตั้งไว้อยู่ระดับหนึ่ง แต่เมื่อมองย้อนกลับไปที่กระบวนการ จะพบว่าจำนวนหนึ่งเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากการปรับแก้ระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งสะท้อนความเป็นไปได้ว่าหากระบบถูกพัฒนาจนสามารถออกแบบอย่างครอบคลุมได้ตั้งแต่ต้นหรือมีการปรับแก้น้อยที่สุด การคุมงบประมาณให้อยู่ในระดับใกล้เคียง 50,000 บาท น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง
ศักยภาพ และความเป็นไปได้
จากการทดลองผลิตจริงจะพบความเป็นไปได้ของการสร้างอาคารด้วยโครงสร้างอย่างง่ายในราคา 50,000 บาทนั้นไม่ห่างไกลความเป็นจริง ส่วนที่สำคัญคือต้องต่อยอดให้สามารถนำไปใช้ได้จริง
จากงบประมาณ 50,000 บาท จะเห็นว่าเราไม่สามารถมีห้องน้ำให้ตัวอาคารได้ ทำให้เมื่อต้องใช้งานจริงจำเป็นที่จะต้องสร้างห้องน้ำแยกออกมา ซึ่งนั่นก็ถือเป็นต้นทุนเพิ่มเติม ในฐานะ “บ้าน” หนึ่งหลังจึงยังไม่อาจเป็นทางเลือกได้ในระดับนั้น
แต่ถ้าเป็นที่พักแยกแบบที่มีการใช้พื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกันล่ะ
นั่นจึงเป็นจุดที่เราต้องการต่อยอดจากโครงการ M house โดยการพัฒนาระบบการผลิตแล้วนำไปใช้กับการพัฒนาพื้นที่ muse PAI ที่ต้องการผลักดันให้กลายเป็น retreat ของผู้คนที่ต้องการหลบภัยเมือง โดยจะมีการพัฒนาพื้นที่พักอาศัยพร้อมพื้นที่อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด
อีกทั้งในระบบการออกแบบโครงสร้างของโครงการ M House ก็ยังมีพื้นฐานการออกแบบที่สามารถต่อยอดไปสู่เป้าหมายตั้งต้นในแง่ของการสร้างระบบต่อหน่วย ที่จะพัฒนาขีดจำกัดของการสร้างจากบ้านให้กลายเป็นอาคารขนาดใหญ่ได้
M House เลยเป็นเหมือนอีกก้าวความสำเร็จที่ช่วยพิสูจน์แนวคิดและสมมติฐานเรื่องความเป็นไปได้ในการสร้างโครงสร้างราคาประหยัดด้วยระบบการผลิตแบบ WikiHouse และด้วยความชำนาญที่เพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ ยิ่งทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ในการต่อยอดและประยุกต์แนวคิดแบบ WikiHouse ให้เกิดเป็นโมเดลบ้านราคาประหยัดโดยอ้างอิงอยู่บนบริบทไทยมากขึ้นไปอีกขั้น