อำลา Friends & forest: เมื่อถึงเวลาต้องแยกย้าย
บทลา Friends & forest พูดคุย ถอดบทเรียนคนทำงานเพื่อส่งต่อประสบการณ์และแรงบันดาลใจสำหรับคนอยากทำ community
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกไม้กำลังบานสะพรั่งเต็มสวน ต่างกันกับช่วงเวลาของ Friends & forest ที่กำลังจะต้องยุติลง
การกลับไป Friendsฯ ครั้งนี้สิ่งที่รู้สึกได้เลยคือป่าที่เคยเขียวขจีร่มรื่นถูกเงาของเมฆครึ้มทอดทับจนชวนหม่นหมองแบบแปลก ๆ แม้ดอกไม้จะพากันบานต็มต้นแต่ก็สัมผัสได้ถึงความเหี่ยวเฉาแบบที่ไม่เคยได้รู้สึกมาก่อน
หลังจากที่ Friendsฯ ได้ประกาศยุติบทบาทของโครงการลงเมื่อหลายเดือนก่อน โดยจะจัดกิจกรรม DUP camp เป็นกิจกรรมสุดท้าย ครั้งนี้จึงถือโอกาสกลับมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำ และน่าจะทำมาตั้งนานแล้วนั่นคือการพูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของคนทำงานในพื้นที่ เหมือนกับว่าที่ผ่านมาเราแค่ขนใจพัง ๆ มาเททิ้งไว้ที่สวนแล้วก็กลับเข้าเมืองไปรับเอาความพังกลับมาเทใหม่
พอได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ป๊อบและส้มโอจึงอยากบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้
จุดเริ่มต้นของ Friends & forest
พี่ป๊อบเล่าถึงจุดเริ่มต้นจริง ๆ ของ Friends & forest ที่คับคล้ายคับคลาว่าจะเคยฟังแล้วแต่ตอนนั้นยังไม่ได้เข้าใจมาก คือการที่พอเป็นคนใส่ใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม พี่ป๊อบก็คิดถึงเรื่องโอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งหากใครได้ติดตามข่าวจะทราบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาอย่างต่อเนื่องเนิ่นนาน แต่สิ่งที่เราแทบไม่เห็นความเคลื่อนไหวอย่างเป็นชิ้นเป็นอันคือนโยบายด้านการจัดการและการรับมือต่อภัยที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูงนี้
ถ้ายังเป็นอย่างงี้ต่อไป เมื่อภัยมาเราอาจจะรับมือกันไม่ทัน ทำให้พี่ป๊อบเริ่มมองหาทำเลที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มาก และมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอให้ทำอะไรกับพื้นที่ได้
พี่ป๊อบเล่าว่าตอนที่เห็นพื้นที่ตรงนี้แล้วรู้สึกว่าค่อนข้างตรงกับสิ่งที่กำลังตามหา จึงตัดสินใจซื้อที่ตรงนี้ไว้ พร้อมกับเริ่มก่อร่างสร้างอาคารกิจกรรมและที่พักเพื่อหวังว่าหากวันใดเกิดเหตุไม่คาดฝัน พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็น Oasis ให้คนที่รักทั้งหลายสามารถเข้ามาพึ่งพิงได้
แม้เหตุผลแรกจะฟังดูจริงจัง แต่พี่ป๊อบเล่าว่าอีกเหตุผลหนึ่งนั้นกลับตรงกันข้าม
เหตุผลส่วนที่สองที่เล่าถึง กลับเป็นอะไรที่ดูเข้าใจง่ายกว่า พี่ป๊อบเล่าว่าโดยส่วนตัวเป็นคนค่อนข้างติดเพื่อน ชอบเล่นกับเพื่อน เลยอยากมีพื้นที่เอาไว้รองรับเพื่อน ๆ มาเล่นกันให้ความรู้สึกเหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อน มาเล่นบ้านเพื่อน มานอนบ้านเพื่อน
ตอนที่ทำอาคารกิจกรรม ก็คิดว่าถ้าจะเล่นกัน ก็น่าจะมีพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเล่น ถ้าจะมานอนกันก็ควรมีพื้นที่สำหรับนอน ตอนที่เริ่มทำอาคารดินก็เปิดรับอาสาสมัครมาร่วมกันทำเหมือนชวนเพื่อนมาทำโปรเจ็กต์สนุก ๆ กัน
ซึ่งความสนุกเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นจริง ๆ เพราะทั้งบรรยากาศระหว่างทำอาคารดิน ต่อเนื่องไปจนถึงเมื่ออาคารเสร็จ เหล่าอาสาสมัครที่อยู่เป็น “เพื่อนกัน” ต่างซึมซับกับบรรยากาศและอยากจะชวนกันหาอะไรทำเพื่อให้ได้อยู่ได้เล่นด้วยกันต่อ
บรรยากาศช่วงนั้นจึงเหมือนเป็นการตอกย้ำความเป็นไปได้ของเหตุผลชุดหลัง ทำให้รู้สึกว่าพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อนมันน่าจะเกิดขึ้นและไปได้จริง ๆ
เมื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจตามมาทีหลัง
พี่ป๊อบยอมรับว่าตอนแรกเลยแทบไม่ได้คิดไว้ก่อนว่าจะต้องเป็นธุรกิจ ทำให้ช่วงแรกไม่ได้มีการคิดเรื่อง business model เอาไว้ให้จบ พออยู่กันมาสักพักก็พบว่า fixed cost ต่อเดือนค่อนข้างเยอะ จังหวะเดียวกับที่เพื่อน ๆ ที่เป็นอาสาสมัครก่อนหน้านี้ก็เริ่มต้องแยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตัวเอง คนที่ยังไปต่อจึงระดมความคิดกันว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เรามีอยู่ ก็คิดถึงการเปิดที่พักในสวนป่า ให้ความรู้สึกคล้าย ๆ Farmstay แต่ยึดเอาแนวคิดเรื่อง “เหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อน” เป็นจุดขาย เรียกใหม่ว่า Friendstay รวมถึงเปิดเป็น spaceให้คนที่สนใจมาเช่าใช้สำหรับจัดกิจกรรม และมองถึงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิดและวัตถุประสงค์ของ Friendsฯ เองด้วย
แต่พอมาคิดธุรกิจหลังจากลงทุนบางอย่างไปแล้ว สิ่งที่แน่นอนคือทุกอย่างมันก็เลยไม่ได้ราบรื่นดังที่หวัง
พี่ป๊อบเล่าว่า ในครั้งแรก ๆ ใช้วิธีดูแลจัดการ Friends & forest แบบจ้างประจำ โดยพี่ป๊อบรับบทเป็นท่อน้ำเลี้ยงในการลงทุนแล้วแบ่งฝ่ายในการบริหารจัดการพื้นที่ในส่วนต่าง ๆ ทำให้ fixed cost ก้อนใหญ่ที่สุดของ Friendsฯ คือค่าจ้างทีมงาน ซึ่งพอส่วนธุรกิจทำงานมาชดเชยในส่วนนี้ไม่ได้จึง “เข้าเนื้อ” ไปเรื่อย ๆ จนต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นแบบ Freelance ทำงานช่วยกัน มีงานมีเงินเข้าก็แบ่งเงินกัน ซึ่งแม้จะทำให้ fixed cost ลดฮวบลง แต่ก็แลกมาด้วยสัญญาณของการสิ้นสุดเส้นทางของ Friendsฯ เช่นกัน
คนทำงานมันเหนื่อย
ส้มโอเล่าว่าก่อนหน้านี้พยายามจะผลักดันให้เกิด event ที่ Friendsฯ ให้ได้ทุกเดือน หรือเดือนละหลายครั้ง ทีมงานก็พยายามระดมความคิดกันว่าจะจัดอะไรในลักษณะไหน แต่พอบางครั้งประกาศออกไปก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่คาด บางกิจกรรมต้องยกเลิกเพราะไม่มีคนเข้าร่วม สิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลกับจิตใจอยู่ระดับหนึ่งแล้ว เพราะทุกคนต่างทุ่มเทความคาดหวังลงไปในงาน พองานไม่ถูกตอบรับมันเลยกลายเป็นภาวะที่ย้อนกลับมาทำร้ายจิตใจคนทำงานอยู่บ่อย ๆ
พอเข้าสู่ช่วงที่เปลี่ยนเป็นระบบ Freelance สิ่งที่เห็นภาพชัดเลยคือคนทำงานเหนื่อยกันขึ้นมากทั้งร่างกายและจิตใจ คือเวลาที่มีงาน มีเงินเข้า กระบวนการเตรียมงานต่าง ๆ มันก็เข้มข้นจนทุกคนแทบไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ แต่พอไม่มีงานก็กลับมานั่งกินข้าวมองตากันปริบ ๆ แล้วก็ต้องหางานอย่างอื่นทำเพื่อซัพพอร์ตชีวิตตัวเองต่อไป มันเลยเหมือนเป็นลูปของการทำงานที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนไม่มีจุดพัก และนั่นคงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มมองหาความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่ผ่อนขึ้น และมั่นคงขึ้นกว่าภาวะที่เป็นอยู่
ส้มโอยอมรับว่าส่วนตัวเองก็เหนื่อย แต่พอความผูกพันที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดในลักษณะของลูกจ้างและนายจ้างตั้งแต่ต้น ส้มโอก็มองว่าการจะให้พี่ป๊อบรับภาระแบกค่าใช้จ่ายต่อไปเรื่อย ๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่แฟร์กับพี่ป๊อบเองเช่นกัน
คนบริหารก็เหนื่อย
พี่ป๊อบเล่าว่าสิ่งที่ค้นพบเลยจากการทำ Friendsฯ และหลาย ๆ community ที่ผ่านมา คือรู้สึกว่าตัวเองไม่ชอบงานบริหาร แต่สิ่งที่ตัดออกไปไม่ได้คือเมื่อเป็นคนลงทุนลงเงินแล้ว มันก็จะมีความรู้สึก “รับผิดชอบ” ต่อสิ่งนั้นตามมา
พี่ป๊อบเล่าถึงแนวคิดแรกที่อยากจะกระจายอำนาจให้คนทำงานมีความคล่องตัวในการตัดสินใจ ให้อำนาจในการตัดสินใจเท่าเทียมกันโดยพยายามจะไม่เอาตัวเองไปกดทับในฐานะคนออกเงิน
แต่ก็ห้ามความรู้สึกได้ยาก เพราะพอถึงเวลาจริง ๆ มีหลายครั้งที่สุดท้ายปัญหามันถูกดึงกลับมาที่พี่ป๊อบ ให้พี่ป๊อบเป็นคนรับผิดชอบ เป็นคนตัดสินใจ จนแม้พยายามจะไม่คิดก็ถูกผลักให้ต้องคิดถึงมันในฐานะ “คนนำ” หรือ “คนบริหาร” อยู่ดี
ซึ่งเมื่อมองผ่านสายตาคนบริหาร ก็ยิ่งอดไม่ได้ที่จะเห็นความไม่ลงตัวของการทำงานในหลาย ๆ แบบ พอตั้งใจอยากให้องค์กรเป็นแนวราบ ให้ทุกคนสามารถขึ้นมานำในสิ่งที่ตัวเองถนัดหรือสนใจได้ แต่บางคนก็อาจจะมีความไม่พร้อมในเรื่องขององค์ความรู้ ความรับผิดชอบ และประสบการณ์ในการตัดสินใจ บางคนพึ่งเรียนจบบ้าง ไม่เคยทำกิจการของตัวเองมาก่อนบ้าง ซึ่งแม้ทั้งหมดจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่หากมองในมุมบริหารเราก็จะเห็นความผิดพลาดของคนทำงานอยู่ตลอด
มันเลยเป็นความกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหากจะไปใช้โครงสร้างอำนาจแบบแนวดิ่ง ทำให้เป็นองค์กรแบบทั่ว ๆ ไปก็ขัดแย้งกับความตั้งใจที่อยากให้บรรยากาศการทำงานมัน healthy อยากให้รู้สึกเหมือนทำงานกลุ่ม ทำงานกับเพื่อน เป็นองค์กรสี teal อะไรแบบนั้นมากกว่า
บทเรียนที่พี่ป๊อบได้รับจึงเป็นเรื่องที่ว่า การทำงานในลักษณะประมาณนี้บางครั้งเราไปยึดติดกับอุดมคติเพียงอย่างเดียวไม่ได้ อาจจะไม่ได้เวิร์ก หรืออาจจะทำให้งานมันแย่กว่าเดิมได้ด้วย ในขณะเดียวกันต่อให้ไม่มองแบบอุดมคติพี่ป๊อบก็ค่อนข้างแน่ใจแล้วว่าตัวเองก็ไม่สามารถทำใจเป็นผู้บริหารใช้อำนาจแบบบนลงล่างได้อยู่ดี
เป็นความเหนื่อยล้าในจิตใจที่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจเป็นตัวเสริมแรงเท่านั้น
ทำ community มันยาก
ส้มโอและพี่ป๊อบเห็นตรงกันว่าส่วนที่ยากที่สุดในการทำงาน community คือเรื่องของคน
ส้มโอเล่าว่าแม้ส่วนที่สนุกจะเป็นการได้เจอ ได้อยู่กับเพื่อน แต่การอยู่ร่วมกันก็ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะคนแต่ละคนมีเงื่อนไขในชีวิตต่างกัน และหลายครั้งเราแทบจะไม่รู้เลยว่าเงื่อนไขเหล่านั้นมันขัดกันจนกระทั่งเริ่มมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแล้ว
พี่ป๊อบเสริมว่าสิ่งที่ต่างมาก ๆ ของการมีเพื่อนที่รู้จักกัน พบเจอกัน แล้วพอถึงเวลากลับบ้านใครบ้านมันคือมันไม่ซับซ้อน พอแยกย้ายกันกลับบ้านเราก็จะมีพื้นที่เป็นของตัวเอง มีที่ว่างไว้จัดการตัวเอง
แต่กลับกันกับ Community โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Friendsฯ ที่มีทั้งโครงสร้างความสัมพันธ์แบบเพื่อน แถมยังต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แล้วยังต้องทำงานร่วมกันอีก พอสามโครงสร้างนี้มันเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน มันเลยแทบไม่มีที่ว่างให้คนสามารถจัดการตัวเองได้มากพอถ้าไม่คุ้นเคยกันจริง ๆ
ส้มโอเลยมองว่าหากใครอยากจะทำ Community สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่อง “คน” ที่เข้ามาร่วมกัน รวมถึง “พื้นที่” ที่จะให้คนเหล่านี้เข้ามาใช้ร่วมกัน ว่ามันถูกจัดสรรอย่างลงตัวหรือไม่
ส่วนพี่ป๊อบมองว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการที่ทุกคนต้องมาตอบคำถามร่วมกันให้ชัดว่าเรากำลังจะทำอะไรตั้งแต่แรก บางครั้งจุดเริ่มต้นมันอาจจะมาจากความสนุกสนาน มาจากความสัมพันธ์ จากมิตรภาพ แต่พอถึงเวลาต้องลงมือทำงานจริง ๆ การมีเป้าหมายร่วมกันและ “ตรงกัน” ถือเป็นหัวใจหลักที่จะพา community นั้น ๆ ให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้จริง
ก้าวต่อไปของ Friends & forest?
คุยกันมาพักใหญ่ก็แแทบจะได้ยินปัญหาเรื่อง fixed cost เรื่องคนทำงานวนไปวนมา เลยสงสัยว่าแล้วมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่ Friends & forest จะได้ไปต่อ เป็นไปได้ไหมหากมีนายทุนมาสนับสนุนแล้วอยากให้ Friends & forest ยังคงอยู่ อยากรู้ว่าภาพของทั้งสองคนเป็นอย่างไร
พี่ป๊อบกับส้มโอตอบตรงกันว่า กับ Friends & forest มันเหมือน “ปิดจ็อบ” ไปแล้ว เพราะกว่าจะมาถึงวันที่คุยกันนี้ก็ผ่านบทสนทนามามากมาย หลายช่วงที่ผ่านมาเรียกว่าสู้และยื้อกันมาจนสุดมือแล้ว และคงถึงเวลาต้องปล่อยมือเสียที
ส่วนที่ว่าหากมีคนสนใจจะสนับสนุน พี่ป๊อบบอกว่าพี่ป๊อบยินดีอย่างมาก แต่ต้องไม่ใช่ในบทบาทเดิมที่พี่ป๊อบ suffer กับมันมาตลอด คือการไม่ผลักให้พี่ป๊อบไปรับหน้าที่บริหารแบบที่ไม่ชอบ หากจะมีใครสนใจอยากให้เข้ามาจัดการบริหารพื้นที่ให้มันเคลื่อนไปได้โดยที่พี่ป๊อบไม่ต้องเข้าไปยุ่งในส่วนนั้น หรือหากจะอยากให้มีบรรยากาศแบบเดิม อยากให้พี่ป๊อบเป็นคนซัพพอร์ตคอยนำกระบวนการ หรือแม้แต่อยากจะใช้ชื่อ Friendsฯ เหมือนเดิมพี่ป๊อบก็ไม่ได้มีปัญหา
ทำให้ในขณะนี้ Friends & forest ก็อาจจะเรียกได้ว่าปิดโปรเจ็กต์ลง แต่ส่วนของพื้นที่ก็เปิดให้คนมาเช่าใช้ต่อ และภาวนาว่าขอให้ได้เป็น project ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
พี่ป๊อบเลยแอบขายของว่าสำหรับใครกำลังมองหาพื้นที่สำหรับทำอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะโครงการที่ทำเพื่อสังคม หรือเป็น community ฮีลใจต่าง ๆ ก็อยากเชิญชวนให้ลองมาพูดคุยและดูพื้นที่ตรงนี้กันได้
เส้นทางของแต่ละคน
แม้เนื้อหาจะค่อนข้างหนัก แต่ระหว่างบทสนทนารู้สึกได้ว่าทั้งสองเล่าถึงมันอย่างเบาใจ เล่าเหมือนเป็นเรื่องราวที่ผ่านการคิดทบทวนมาอย่างต่อเนื่องและชัดเจนแล้ว เลยส่งท้ายด้วยการถามไถ่ถึงอนาคตของแต่ละคนว่าหลังจากนี้จะไปในทิศทางไหน
ส้มโอเล่าว่าหลังจากนี้ก็คงจะคิดเรื่องการสร้างบ้าน เรื่องงานในอนาคต แล้วก็อาศัยจังหวะนี้ในการกลับมาคิดถึงงานที่ตัวเองหลงรักมาตลอดนั่นคือการทำงานผ้า
ส้มโอเล่าถึงความฝันสมัยก่อนว่าตัวเองเป็นคนชอบการเย็บผ้าการทำผ้าอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่ได้มีโอกาสไปคลุกคลีในแวดวงผ้าท้องถิ่น ก็เหมือนเป็นแรงผลักดันให้สนใจเรื่องผ้าและงานชุมชนมาตลอด
ยิ่งพอมาอยู่ที่ Friendsฯ ยิ่งได้มีโอกาสเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่าอยากมีแบรนด์ผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นของตัวเอง ตอนนี้กำลังทำเรื่อง ecoprint ผ้ามัดย้อม และกำลังจะขยับไปรับซื้อเศษผ้าจากโรงงานผ้าโหลมาทำชิ้นงาน
ความฝันตอนนี้คือการได้ทำงานที่รักและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ส่วนพี่ป๊อบเล่าว่าหลัก ๆ ตอนนี้ก็คงทำ “เพื่อนพาคลี่คลาย” ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตแบบเพื่อนฟังเพื่อนที่ทำอยู่ แล้วก็พอได้ตกผลึกหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการบริหารองค์กรก็พบว่ากำลังอยากจะทำงาน “เพื่อนคู่คิด” สำหรับคนต้องการเพื่อนช่วยคิดในเรื่องการทำงานเชิงองค์กรแบบต่าง ๆ พี่ป๊อบพบว่าพอมานึกดี ๆ แล้วคนที่ต้อง “นำ” นั้นเสี่ยงต่อภาวะความโดดเดี่ยวและได้รับการดูแลน้อยกว่าที่คิดมาก พอพบว่าตัวเองเป็นคนทำงานให้คำปรึกษาได้ค่อนข้างดี ก็รู้สึกว่านี่น่าจะเป็นงานแบบที่ชอบและอยากทำมันไปเรื่อย ๆ
ส่วนเรื่องงาน community พี่ป๊อบบอกว่ายังไม่มีแผนอะไรชัดเจน เพราะรู้สึกเหมือนวิ่งวนอยู่กับเรื่องนี้มาพักใหญ่ ใกล้ที่สุดคืออยากหยุดพักสักหน่อย โดยตั้งเป้าไว้แล้วว่าหนึ่งเดือนหลังจากนี้ leave จากสวน Friendsฯ เพื่อใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น แต่ทั้งนี้หากใครมีอะไรสนุก ๆ อยากชวนกันทำก็สามารถชวนได้ ยังยินดีจะซัพพอร์ตเสมอ หรือหากใครสนใจจะจ้างไปเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการองค์กรหรือผลักดัน community ก็จะยินดีอย่างยิ่ง
พอคุยกันจบก็ได้มีโอกาสเดินชมสวนแบบที่ต้องยืนยันกับทุกคนอยู่เสมอว่าไม่ได้เป็นคนที่ “อิน” กับธรรมชาติอะไรขนาดนั้น
แต่กับ Friendsฯ มันเหมือนเป็นการเดินสำรวจความทรงจำของตัวเองกับพื้นที่มากกว่า พอได้เดินไปตามที่ต่าง ๆ ที่เคยได้เล่นนั่นเล่นนี่กับเพื่อน เรากลับพบว่าตัวเองไม่ได้เศร้าขนาดนั้น
กลับกัน กลายเป็นรู้สึกโล่งใจที่ได้คุยกัน แม้จะยังรู้สึกเสียดายที่ควรจะคุยกันแบบนี้มาตั้งนานแล้ว แต่พอรู้สึกว่าแม้จะเป็นการร่ำลา แต่ในแง่มุมหนึ่งมันก็เหมือนเป็นการเปลื้องภาระหลาย ๆ อย่างที่คั่งค้างในความรู้สึกของทั้งพี่ป๊อบ ส้มโอ และคนทำงานคนอื่น ๆ ให้พร้อมสำหรับการเดินต่อไปข้างหน้า
ก่อนนี้เราอาจจะรู้สึกทำนองเห็นแก่ตัวว่าพอ Friendsฯ ปิดไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มิตรภาพที่สร้างกันมา พอไม่มีสื่อกลางตรงนี้แล้วมันคงจะหายไป ถ้าเกิดไม่มี Friendsฯ แล้วก็เหมือนจะนึกภาพไม่ออกว่าแล้วเวลาที่ใจเราเพพังจะสามารถเอาชีวิตไปฝากที่ไหนไว้ได้บ้าง
แต่พอมาตั้งใจรู้สึกกับมันจริง ๆ ใจเรากลับเบามากกว่านั้น เหตุผลที่พอนึกออกคงเป็นเพราะทุกครั้งที่เรามา Friendsฯ เราไม่ได้เพียงเอาความเศร้ามาทิ้งไว้แล้วจากไปเท่านั้น แต่สิ่งต่าง ๆ ระหว่างนั้นมันเปลี่ยนแปลงบางอย่างข้างในของเราไปทีละนิด เราไม่ได้กลับมาด้วยความเศร้าเท่าเดิม หรือกลับไปด้วยความรู้สึกแบบเดิม พูดให้ง่ายคือสุดท้าย Friendsฯ ได้เปลี่ยนบางอย่างในตัวเราไปแล้วแบบไม่รู้ตัว
ซึ่งส่วนตัวถือว่าเป็นความสำเร็จที่คนทำงานสามารถเอาไปโม้ได้เลยทีเดียว
ทำให้มุมหนึ่ง การสิ้นสุดลงของ Friendsฯ จึงไม่ใช่แค่การเริ่มต้นใหม่ของคนทำงานที่ฝ่าฟันกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการเริ่มต้นใหม่ของเรา ที่จะได้นำสิ่งที่ Friendsฯ มอบให้มาออกไปเผชิญกับโลกด้วยตัวเองโดยไม่มี Friendsฯ เป็นเบาะรองรับเหมือนเมื่อก่อน
บรรยากาศงานอำลา Friends & forest เต็มไปด้วยมวลความรู้สึกหลากหลาย เรากอดกันเพื่อที่จะเจอกันใหม่ แม้การจากลาจะน่าใจหาย แต่นี่ไม่ใช่การจากลาที่เศร้าสร้อยแบบที่คิดไว้
พอคิดได้ดังนั้นก็ราวกับว่าเมฆทึมได้ถูกพายุลูกใหญ่พัดกระจายออกไปจนต้นไม้ได้รับแสงตะวันสว่างไสวกันถ้วนหน้า พร้อมกับลมหนาวที่ไม่ได้ชวนให้เปล่าเปลี่ยวอย่างที่กังวล
เรื่องที่อยากเล่าเกี่ยวกับ Friendsฯ จึงไม่ใช่บทอำลาที่ชวนหดหู่ แต่อยากส่งต่อทั้งเรื่องราวและประสบการณ์ที่จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังสนใจงาน community กำลังอยากสร้าง community รวมถึงการส่งแรงผลักให้คนที่กำลังทำงานด้านนี้ทั้งหลายว่าคุณไม่ได้เดินเพียงลำพัง
เราอยากบันทึกเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งยังมีพื้นที่ที่ชื่อว่า Friends & forest ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการจะเป็น Oasis ของผู้คนที่บอบช้ำจากสังคมที่ไม่ใจดีกับเราเท่าที่ควร และสิ่งนี้ได้ช่วยเหลือผู้คนเอาไว้จำนวนไม่น้อย
อยากให้เรื่องเหล่านี้ถูกจุดขึ้นในบทสนทนาของผู้คน ส่งต่อพลังที่ทำให้คนรู้สึกอยากให้เกิดพื้นที่ที่เป็นมิตรกับผู้คน ตั้งคำถามว่าเรามีพื้นที่แบบนี้ในประเทศนี้มากพอหรือยัง และชวนกระตุ้นคิดว่าเรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหนถึงผลักคนให้รู้สึกต้องการการพึ่งพิงในลักษณะนี้กันมากขึ้น
เพื่อยืนยันว่าพื้นที่แบบนี้เป็นพื้นที่ที่ควรมีอยู่ในสังคมแบบนี้อย่างที่สุด
พี่ป๊อบเล่าเรื่องกลียุคและความคาดหวังในการที่จะเป็นแสงสว่างในโมงยามที่มืดสนิท สำหรับเราถือว่าแสงสว่างของ Friendsฯ ได้พิสูจน์แล้วว่ามันอบอุ่น และส่องไปถึงหัวใจผู้คนได้จริง
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดอกไม้ในสวนกำลังบานสะพรั่งหลังพายุฝนลูกใหญ่พัดผ่านไป เช่นเดียวกับชีวิตของผู้คนที่ได้มาพบพานกันที่ Friends & forest