ส่งต่อพลังฝัน: Sharing resource community
Keep in touch กับ muse foundation ในหนึ่งหมุดหมายสำคัญคือการส่งเสริม Community ที่ส่งเสริมให้คนร่วมฝัน หันมาแบ่งปันต้นทุนร่วมกัน
เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา muse foundation ได้ส่งต่อเครื่อง CNC หนึ่งเครื่องจากปายไปสู่ปากช่อง เพื่อผลักดันแนวคิด Sharing resource และสนับสนุนการทำงานด้านการส่งเสริมการเล่นของกลุ่มไม้ขีดไฟ ถือเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหมุดหมายสำคัญอีกหนึ่งอย่างในการดำเนินงานด้าน Social Impact ของ muse อีกด้วย
จุดเริ่มฝัน
เกือบ 5 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่ muse ได้รู้จักกับ WikiHouse หลังจากนั้นนวัตกรรมการตัดชิ้นส่วนด้วยระบบอัตโนมัตก็เหมือนเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของสิ่งที่ muse อยากพัฒนาต่อยอดในอนาคต
สิ่งที่ “muse” เราอย่างมาก นอกจากแนวคิดแบบ Opensource ที่ส่งต่อข้อมูลให้ผู้คนนำไปปรับใช้ได้อย่างอิสระแล้ว คือเรื่องของ Sharing resource ที่พูดถึงการ “แบ่งปันต้นทุน” ระหว่างชุมชนเพื่อเป็นการ “ลดต้นทุน” การผลิตในแบบหนึ่ง
เพราะหากมองกันจริง ๆ แล้ว แม้ไม้อัดจะเป็นวัสดุที่ราคาถูกในฐานะโครงสร้าง แต่เครื่องมือผลิตชิ้นส่วนอย่าง CNC ก็ยังคงมีต้นทุนที่สูงอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมองว่าใช้สำหรับสร้างบ้านครั้งเดียว หรือหากคิดเรื่องการใช้งานต่อเนื่อง ก็ยังมีต้นทุนเรื่องของพื้นที่ทำงาน และมีต้นทุนมลภาวะอื่น ๆ ระหว่างการทำงานอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้ตัวโครงการไม่สามารถพูดเรื่อง “ลดต้นทุน” ได้เต็มที่
แต่หากเรามองว่าเครื่อง CNC นี้ไม่ได้เป็นแค่ Private resource แต่เป็น Shared resource ที่คนใน Community สามารถหมุนเวียนกันมาใช้ได้ นอกจากจะเป็นการ “แบ่งปันต้นทุน” ร่วมกันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมด้าน Community building ไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย
จึงพูดได้ว่า Community building ผ่านแนวคิดแบบ Sharing resource เป็นอีกหนึ่งภาพฝันที่เราอยากผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน
ฝันแรก
แนวคิดแรก ๆ ของ muse ในการส่งต่อแนวคิดนี้ คือการสร้าง CNC Workshop เอาไว้ตามที่ต่าง ๆ แล้วเปิดให้ผู้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และใช้งาน อาจจะมีกิจกรรมเพื่อชวนคนมาลองตัดลองเล่น แล้วถือโอกาสในการเผยแพร่แนวคิด Sharing resource ไปพร้อม ๆ กัน
ด้วยว่าเรามีโอกาสได้รับการสนับสนุนพื้นที่สำหรับใช้พัฒนาให้กลาย Community ด้าน Social impact อยู่หลายแห่ง เราเลยคิดจะเริ่มต้น Model ด้วยการสร้าง Workshop ขึ้นบนพื้นที่เหล่านั้น เพื่อเป็น Prototype ก่อนจะขยายศักยภาพให้ Sharing resource community ขยายออกไปทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด
ก่อนหน้านี้เราเกือบได้เริ่มออกสตาร์ทโปรเจ็คนี้กันแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างทำให้โครงการไม่ได้ราบรื่นเท่าที่ควร และจุดนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้เราได้กลับมาทบทวนถึงวิธีคิดและแนวทางกันใหม่
เพราะเมื่อมองในรายละเอียด เราพบว่าฝันนี้ดูจะต้องใช้พลังอย่างมากในการจะทำให้สำเร็จ ทั้งพลังแห่งการสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่ การดูแลพื้นที่ และบริหารจัดการกิจกรรม เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่จะมีศักยภาพที่เหมาะสมกับการส่งฝันเราให้เป็นจริงได้ จึงจะตามมาด้วยต้นทุนอีกจำนวนมากที่เราต้องใช้ ไม่ว่าส่วนที่เป็นเงิน เวลา และจำนวนคนทำงาน
กลายเป็นว่าเพื่อให้ Sharing resource เกิดขึ้นได้ เราจำเป็นต้อง “เพิ่มต้นทุน” เข้าไปในลักษณะเดียวกับการ Scaling ปกติ จนเกิดเป็นคำถามว่าด้วย “กำลัง” ที่เรามีอยู่ตอนนี้ เรามีแรงพอที่จะส่งแนวคิดนี้ไปถึงฝั่งฝันด้วยท่านี้ได้จริงหรือไม่
ความฝันครั้งใหม่
หลังจากที่เราประเมินแล้วว่าเราคงมีแรงไม่พอที่จะสานต่อฝันในตอนนี้ โปรเจ็ค Sharing resource ก็เลยถอยกลับไปอยู่ขั้นตอนตั้งต้น ที่เราทดเอาไว้ในใจเสมอว่าถ้าวันหนึ่งมีกำลังพอเราอยากจะสานต่อมันให้ได้ แต่พอเรายัง crack ภาพที่เรา “ต้องเป็นคนทำเอง” ไม่ได้ แผนเลยเหมือนถูกพับไปอยู่พักหนึ่ง
จนเมื่อเราทำงานโดยยึดโยงกับแนวคิดนี้ขึ้นเรื่อย ๆ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปรับปรุงแนวคิดต่าง ๆ มากขึ้น เราก็เหมือนได้ค้นพบว่า อันที่จริงแล้วการ Scaling the Impact มันไม่ได้มีแค่ท่าที่เรา “ต้องเป็นคนทำเอง” เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรายืนยันว่า muse ไม่ได้ทำงานบนฐานที่ต้อง “ผูกขาดความสำเร็จ” เอาไว้ที่ทีมของเราแต่เพียงผู้เดียว เราจึงค้นพบว่าเราสามารถผลักดัน Sharing resource community ได้ โดยที่เราไม่ต้องไปสร้าง Workshop ตามที่ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
กลายเป็นว่า หากเราฝันจะเห็น Sharing resource community กระดุมเม็ดแรกที่เราควรจะติดคือการ Sharing resource กับ Community ของเราเองต่างหาก ซึ่งตรงไปตรงมากว่าที่เราคิดอย่างมาก
ฝันของเราจึงยังเหมือนเดิม ต่างไปแค่เราต้องสร้าง Community ของคนที่มีฝันร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนสามารถแบ่งปัน “ต้นทุน” ที่เรามีให้คนอื่น ๆ ใช้ร่วมได้
ปันไฟฝัน
หลังจากเราพับโครงการ CNC Workshop ลง resource ที่เราถืออยู่คือ CNC เครื่องหนึ่งที่เคยเตรียมไว้สำหรับติดตั้งใน Workshop ซึ่งหากมองว่าเงินที่เราซื้อสิ่งนี้ เป็นเงินที่มีเป้าหมายในการสร้าง Impact ต่อสังคม การที่มันถูกวางทิ้งไว้เฉย ๆ สามารถตีความว่าเป็น wasted ได้แทบจะทันที เราจึงเริ่มมองหาว่ามีใครบ้างที่เราจะสามารถส่งต่อ resource ไปให้เค้าแล้ว resource จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้
ต้องยอมรับว่าพอเป็น CNC ก็จะมีรายละเอียดและข้อจำกัดอยู่เป็นจำนวนมาก ได้ฟังครั้งแรกหลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกสนใจ แต่พอมองความเป็นไปได้อย่างรอบด้านก็จะเริ่มมีข้อกังวลเกิดขึ้น ในขณะที่ muse เองก็ไม่ได้มองว่าการส่งต่อสิ่งนี้ เป็นแค่การ “ปล่อย” ของออกจากตัว แล้วก็ไปอธิบายคนอื่นว่านี่ไง เราได้ส่งต่อเครื่องไปทำประโยชน์แล้ว แต่พอถึงเวลาจริง ๆ เครื่องที่ส่งไปก็ไม่ได้ถูกใช้งาน เป็นการย้ายที่วางทิ้งไปไว้ที่อื่นเฉย ๆ
จนเราได้แชร์เรื่องนี้กับกลุ่มไม้ขีดไฟ ที่กำลังทำเรื่องการเล่นและของเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ พูดถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ที่เครื่อง CNC จะเข้ามาเป็นตัวสำคัญในการดำเนินโปรเจ็คของไม้ขีดไฟ แลกเปลี่ยนพูดคุยถึงข้อจำกัด ความเสี่ยง และข้อกังวลที่มีร่วมกัน จนมองเห็นความเป็นไปได้ จนเชื่อมั่นว่าหากเราส่งต่อ resource นี้ไป มันจะถูกใช้ประโยชน์เพื่อสร้าง Impact ได้จริง
เพื่อนร่วมฝัน
แม้ muse จะมีโอกาสได้เล่าเรื่องฝันของตัวเองให้หลาย ๆ คนได้ฟัง แต่กับกลุ่มไม้ขีดไฟกลับให้ความรู้สึกที่แตกต่าง เพราะนอกจากจะเชื่อมต่อเข้าใจประเด็นของกันของกันได้รวดเร็ว ยังยืนยันร่วมกันว่านี่คือสิ่งที่ทางกลุ่มไม้ขีดไฟเองก็ฝันถึงเช่นกัน ยิ่งเมื่อดูวิธีการทำงานของกลุ่มยิ่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
ทำให้พื้นฐานการพูดคุยเพื่อส่งต่อ CNC วางอยู่บนพื้นฐานที่เราเห็นมันในฐานะของ “ฝันร่วมกัน” เราพูดคุยเพื่อมองเห็นเป้าหมายที่สอดคล้อง โดยที่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระมากเกินจำเป็น พูดถึงบทบาทหน้าที่ และกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้แนวคิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ปรึกษากันต่อเนื่องไปถึงความกังวล และข้อตกลงหากต้องมีการส่งต่อเครื่องไปยังพื้นที่ที่ต้องการหรือสร้าง Impact ได้มากกว่า
โปรเจ็คนี้จึงเป็นโปรเจ็คที่เรามั่นใจว่า เรากำลังทำงานกับผู้คนที่เชื่อและฝันเหมือนเรา เป็น “เพื่อน” ที่อยากเห็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงเหมือนกัน ไม่ได้คุยกันในฐานะของการ “ขอสนับสนุน” โดยมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้ อีกฝ่ายเป็นผู้รับ แค่วันนี้อาจจะต้องให้กลุ่มไม้ขีดไฟยืนในฐานะ Front man แล้ว muse ทำหน้าที่สนับสนุนเบื้องหลังเท่านั้น
สิ่งนี้เลยเหมือนเป็นเครื่องยืนยันอีกส่วนหนึ่งว่า การจะผลักดัน Sharing resource community ได้ แนวทางการเชื่อมกันของผู้คนเองก็ควรจะเป็นทำนองนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเราไม่เชื่อว่าเราจะสามารถสร้าง Community ที่ healthy ด้วยความสัมพันธ์แบบ Top down ที่มีฝ่ายหนึ่งเป็นคนมอบให้ ฝ่ายหนึ่งเป็นคนขอ แล้วเชื่อมโยงกันบนพื้นฐานนี้ได้จริง อย่างน้อยก็ไม่ใช่แนวทางของ community ที่เราฝันถึง
หลังจากนี้ก็ต้องมาติดตามกันต่อ ว่าความฝันเรื่อง Sharing resource จะสามารถเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ เราได้มายืนอยู่ที่จุดเริ่มต้นอย่างถูกต้องแล้ว ที่เหลือคือการประคองตัวเองให้วิ่งจนถึงเส้นชัย หรืออย่างน้อยได้ส่งไม้ให้คนอื่นวิ่งต่อ
เพราะความฝันถึงสังคมที่ดีขึ้นเอง ก็ถือเป็น resource ที่เราสามารถ share กับทุกคนได้เช่นกัน