เป็นไม้ขีดใจ จุดไฟฝัน: แนวคิดการสร้างเป้าหมายให้เด็กผ่านการเล่นอิสระ กลุ่มไม้ขีดไฟ
ชวนทำความรู้จักกลุ่มไม้ขีดไฟ ที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กได้เล่นเต็มคราบ ได้อ่านเต็มที่ เพื่อพัฒนาการที่ดีในอนาคต
การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาอย่างมีประสิทธิภาพ มีปัจจัยสำคัญคืออะไร?
เป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอาจเคยมีบทสนทนา หรือได้มีโอกาสฉุกคิดเรื่องนี้กันขึ้นมาบ้าง แต่จะมีกี่คนที่ตอบได้ชัดเจน เพราะสุดท้ายแล้วตัวชี้วัดก็จะไปตกอยู่กับว่าแต่ละคนมีอุดมการณ์ แนวคิด และมีภาพ “เด็กดี” แตกต่างกันออกไป
ด้วยความที่ส่วนตัวไม่ได้มีโอกาสทำงานกับเด็กมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว ก็เลยไม่ได้มีโอกาสคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังนัก จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าร่วมค่าย Volunteer Start กับกลุ่มไม้ขีดไฟ กลุ่มที่ทำงานเรื่องเด็กอย่างเข้มข้นมายาวนาน
ถ้าจำไม่ผิด เข้าใจว่าตัวเองน่าจะเคยได้ยินชื่อกลุ่มไม้ขีดไฟมาก่อนหน้านี้นานระดับหนึ่ง จนวันที่ได้มีโอกาสเจอกับพี่ปอน แห่งธรรมดาวิถี ในงาน DUP CAMP ที่ Friends & forest. นั่งคุยกันถึงเครือข่าย community คนขับเคลื่อนในปากช่องแล้วก็มีชื่อนี้หลุดออกมา จึงได้มีโอกาสติดตามกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
พี่เอ หนึ่งในทีมก่อตั้งเล่าถึงความเป็นมาของกลุ่ม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้คนที่หลงใหลในกิจกรรมเพื่อสังคม จัดตั้งกลุ่มกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ทำงานสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ผ่านละครและการจัดกระบวนการส่งเสริมการเรียนรู้ โดยจะได้มีโอกาสทำงานกับโรงเรียน เด็ก และเยาวชนเป็นส่วนใหญ่
จนถึงช่วงหนึ่งของการทำงาน ทางกลุ่มก็เหมือนได้กลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ พี่เอเล่าว่าเวลาที่มีโอกาสทำงานประเด็นกับเด็กโต ทำงานกับวัยรุ่น จะรู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมันมาไกลเกินกว่าที่กระบวนการแค่ไม่กี่ครั้งจะสามารถแก้ไขได้ เหมือนว่าปัญหาเหล่านั้นจะปูดโปนอยู่ในใจเด็กมาอย่างยาวนาน และพวกเรามาพบปัญหากันช้าเกินไปมาก
แล้วจะทำอย่างไรให้เราสามารถแก้ปัญหา หรืออย่างน้อยที่สุดคือพบปัญหาเหล่านี้ได้ทันท่วงที ก็ได้คำตอบกันว่าจึงควรทำงานกับเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ หรืออีกความหมายหนึ่งคือการเริ่มลงมาทำงานกับเด็กเล็กมากขึ้น เพื่อไม่ให้ปัญหาถูกลากยาวไปจนยากจะแก้ได้ทัน
ปัญหาเกิดจากเด็ก “เล่นไม่พอ”
เมื่อต้องทำงานกับ “เด็กเล็ก” มันจึงไม่ได้หมายถึงการลงมาสอนเด็กว่าต้องใช้ชีวิตยังไง กลับกันสิ่งนี้เองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
กลุ่มไม้ขีดไฟจึงศึกษาผ่านงานวิจัย และนโยบายของหลาย ๆ ประเทศที่สนใจแก้ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ จนได้ข้อสรุปว่า ทุกปัญหาที่พบเจอ เมื่อทวนขึ้นไปที่ต้นน้ำ เกือบทั้งหมดมาจากการที่เด็กโตมาในลักษณะที่ “ได้เล่นไม่เพียงพอ”
ตอนได้ฟังคำนี้ครั้งแรก ก็รู้สึกประหลาดใจอยู่เล็กน้อย เพราะส่วนตัวตอบไม่ได้เลยว่าตัวเองได้เล่นอย่างเพียงพอหรือไม่ แล้วจริง ๆ มันสร้างปัญหาในการเติบโตมาอย่างไรบ้าง
พี่เออธิบายเสริมว่าคำว่า “ไม่เพียงพอ” ไม่ได้หมายความง่าย ๆ ถึงเรื่องจำนวนครั้งที่ได้เล่น ไม่ได้หมายถึงแค่การที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ลูกเล่น หรือบังคับให้เรียนอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเล่น เช่น หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองได้เล่น แต่เป็นการเล่นในห้องแคบ ๆ มีข้าวของที่จำกัด ซึ่งก็จะไปจำกัดวิธีการเล่นอีกที เมื่อโตขึ้นมาก็จะประสบปัญหาว่าด้วยข้อจำกัดนี้ทำให้มีทักษะหลาย ๆ อย่างไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างเหมาะสม
หรือแม้แต่การได้เล่นเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะไม่ได้หมายถึงการเล่นที่เพียงพอ บางคนอาจจะมีโอกาสได้เล่นด้วย “ของเล่น” ที่หลากหลาย มีพื้นที่ในการเล่นกว้างขวาง แต่ระหว่างที่เล่นก็ถูกจำกัดจากผู้ปกครอง มีเรื่องที่ขีดกั้นว่าเล่นได้เล่นไม่ได้จากแนวคิดและความคาดหวังของพ่อแม่ ลึกขึ้นไปอีกคือในระหว่างที่กำลังสนุกสนานกลับการเล่นก็ถูก “หยุด” ไม่ให้เล่น จนเติมเต็มความรู้สึกอยากเล่นของตัวเองไม่ได้
การ “เล่นไม่พอ” จึงหมายถึงการไม่ได้เล่นอย่างที่อยากเล่น ไม่ได้เล่นเท่าที่อยากเล่น และสิ่งเหล่านี้ก็จะถูกพัฒนาเป็นปัญหาตกค้างในจิตใจเด็กแล้วส่งต่อออกมาเป็นพฤติกรรมต่าง ๆ ในอนาคต
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้กลุ่มไม้ขีดไฟ หันมาสนใจผลักดันให้เด็กได้มีโอกาส “เล่น” เพื่อส่งเสริมการ “เรียนรู้” เป็นหัวใจหลักในการทำงานมาจนถึงปัจจุบัน
เราต่างเติบโตมาแบบ “เล่นไม่พอ”
ทางกลุ่มใช้คำว่า พอเล่นไม่พอ เราก็จะโตมาพร้อมปมที่รู้สึกว่าการเล่นเหล่านั้น “ยังไม่เสร็จ” ลองนั่ง ๆ คิดตามมันคงจะคล้าย ๆ ความรู้สึกที่พอเริ่มมีงานเลี้ยงดูตัวเองได้แล้ว เราทุ่มเงินส่วนใหญ่ให้การซื้อเกม ซื้อเครื่องเล่นเกมที่ไม่เคยมีโอกาสได้เล่น แม้รู้ว่าด้วยเวลาแบบผู้ใหญ่มันจะไม่ได้มีโอกาสเล่นขนาดนั้นก็ตาม
คงจะง่ายไปถ้าคิดแบบนั้น เราได้มาค้นพบด้วยตัวเองเมื่อช่วงหนึ่งของกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เรามีโอกาสได้ลองทำบางสิ่ง ลองเล่นบางอย่าง ทั้งสิ่งที่ไม่ได้เล่นมาเนิ่นนานแล้วอย่างการทำอาหาร เล่นในสิ่งที่ไม่เคยเล่นอย่างงานปั้นดินเผา งานช่างไม้ดัดลวด และงานศิลปะที่พึ่งมาค้นพบว่าตัวเอง “เลิกเล่น” ในลักษณะนี้ไปเนิ่นนานเพราะเราไม่ถูกอนุญาตให้เล่นในแบบที่อยากเล่น
ระหว่างที่เล่น เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องนั้นเรื่องนี้กับเพื่อน ๆ ที่เข้ากิจกรรมด้วยกัน แล้วก็พบว่าทุกคนมีปมเรื่องการ “ยังเล่นไม่เสร็จ” กันทั้งนั้น และหลายต่อหลายครั้งมันก็ส่งปัญหาเชิงลูกโซ่มาถึงการใช้ชีวิต จนชวนให้รู้สึกว่าเรานั้นโชคดีมากที่ได้มีโอกาสฟังและคิดถึงเรื่องนี้ ในขณะที่ยังมี “เด็ก” ที่เล่นไม่เสร็จอีกจำนวนมากกำลังเคว้งคว้างอยู่ในสภาวะดังกล่าว
สังคมเปลี่ยนการเล่นก็เปลี่ยน
คงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราน่าจะเคยได้ยินการพูดถึง “วิธีเล่น” ของ “เด็กสมัยนี้” ที่จะผูกติดอยู่กับมือถือหรือหน้าจอ มีงานวิจัยมากมายแสดงความกังวลต่อพัฒนาการของเด็กที่เติบโตมาพร้อมการเล่นในลักษณะดังกล่าว
แต่นั่นกลับไม่ใช่ประเด็นเดียวที่น่ากังวล พี่กุ๋ย เล่าว่าอีกประเด็นที่ส่งผลต่อเนื่องกันคือต่อให้เด็กอยากเล่น บางครั้งก็ไม่ได้มีพื้นที่ให้เล่น การจะมีพื้นที่กว้าง ๆ มีอุปกรณ์การเล่นให้ลองผิดลองถูกดูจะเป็นเรื่องที่ขาดแคลนอย่างมากสำหรับเด็กไทย เว้นแต่ว่าบ้านไหนจะมีกำลังทรัพย์พาลูกไปเล่นตามสนามเด็กเล่นของเอกชนได้ ซึ่งเมื่อมีราคาที่สูง มุมหนึ่งมันจึงเป็นการกีดกันให้เด็กบางกลุ่มไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงพื้นที่เล่นแบบนั้นไป
กลุ่มไม้ขีดไฟจึงตัดสินใจเปิดพื้นที่ส่งเสริมการเล่น และตัดสินใจอย่างแรงกล้าที่จะไม่เก็บค่าเข้า เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กหลาย ๆ กลุ่มที่ไม่มีกำลังทรัพย์ได้เข้าถึงการเล่นที่ส่งเสริมการเรียนรู้เหล่านี้ได้
เราพูดคุยกันหลังไมค์ ซึ่งหลาย ๆ คนก็กังวลกันว่าการเปิดพื้นที่ในลักษณะนี้ น้อยที่สุดต้องมีค่าดูแลค่าจัดการ การไม่คิดเงินจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วมันจะ healthy กับคนทำงานจริงหรือเปล่า พี่กุ๋ยอธิบายว่า ส่วนนี้เป็นส่วนที่มองว่าน่าจะเกิด Impact กับสังคมได้จริงต่อประเด็นที่กำลังทำงาน การส่งเสริมให้เด็กได้มีพื้นที่เล่นโดยไม่สร้างภาระต่อเด็กและครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ว่ายังไงก็จะต้องทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ หากจะต้องใช้เงิน ก็อยากให้เงินมันเข้ามาจากทางอื่น ที่ไม่ใช่ส่วนโปรเจ็คที่เราหวังผลทำนองนี้
พี่กุ๋ยเล่าว่า และเอาจริง ๆ ต่อให้ทุกวันนี้ธุรกิจสนามเด็กเล่นจะมีอยู่มากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่พบคือบางครั้งเมื่อต้องเสียเงิน ก็จะเป็นปัจจัยให้ผู้ปกครองไม่อยากพาเด็กไปเล่น พอเด็กไม่ได้มีที่เล่น สุดท้ายก็ต้องไปจบที่การเล่นโทรศัพท์ การให้เข้าใช้พื้นที่โดยไม่คิดเงินเลยมีไว้เป็นทางเลือก ให้อย่างน้อยมันจูงใจให้ผู้ปกครองหลาย ๆ คนไม่เกิดกำแพงในการพาเด็กมาเล่นที่นี่
และยิ่งเมื่อเราออกแบบกระบวนการเล่นให้เป็นการเรียนรู้ของเด็กด้วยแล้ว เรายิ่งอยากให้เด็กได้มีโอกาสเล่นกับเรามากขึ้น เพราะสามารถหวังผลได้ว่ากระบวนการเหล่านี้จะเข้าไปทำงานบางอย่างกับตัวเด็กได้จริง พร้อมเสริมอย่างติดตลกว่า นี่ขนาดเปิดให้เข้าฟรียังพบว่าพ่อแม่บางคนก็ยังรู้สึกเสียดาย “เวลา” ที่จะต้องพาเด็กไปเล่นอยู่ดี แล้วพอลูกไม่ได้ออกมาเล่น ปัญหาก็จะไปจบว่าวิธีเล่นของเด็กก็จะถูกบีบให้ไหลไปทางการเล่นโทรศัพท์จนได้
ทำให้เวลาเรามองว่า “เด็กสมัยนี้” มันเล่นแต่มือถือ เราจึงจำเป็นต้องมองให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วมันมีปัจจัยอีกจำนวนมากที่ไปเสริมแรงให้เกิดพฤติกรรมนี้ ไม่ใช่มองแค่ว่าเด็กมันไม่เอาไหนสนใจแต่โทรศัพท์ท่าเดียว
สังคมที่ไม่เอื้อให้เล่นจนเสร็จ
ในช่วงหนึ่งที่เราพูดกันถึงปัญหาในเด็กและเยาวชน ชวนกันตั้งคำถามว่าเด็กต้องโตมาแบบไหนถึงจะ “รอด” จากปัญหายาเสพติด ท้องก่อนวัย และอื่น ๆ สะท้อนกันผ่านประสบการณ์ส่วนตัว มองหาทางออกผ่านการถอดบทเรียนผู้เข้าร่วมที่อาจจะพอประเมินได้ว่าอยู่ในที่ “รอดแล้ว” ระดับหนึ่ง
หลังจากแบ่งปันกันไปในเชิงปัจเจก เราก็พบว่าส่วนใหญ่แล้วปัญหาเรื่องการไม่ได้เล่นต่าง ๆ มันชอบไปพัวพันอยู่กับลักษณะร่วมที่ว่า สังคมและสภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อ เกิดเป็นบทสนทนาต่อเนื่องที่ขยายใหญ่จากภาพประสบการณ์ส่วนบุคคล ไปถึงการมองปัญหาผ่านปัญหาโครงสร้างสังคมอีกชั้นหนึ่ง
กรณีที่เราคุยกัน เป็นเรื่องของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่จำนวนไม่น้อยมองว่าการเล่นของลูกเป็นเรื่องเสียเวลา จนนำมาสู่การห้ามเล่น แล้วผลักดันลูกไปสู่การพัฒนาตัวด้วยมุมมองของ “ผู้ใหญ่” ที่ตัดสินว่าเด็กที่มีประสิทธิภาพควรพูดได้กี่ภาษา ควรทำอะไรได้บ้าง ควรได้เกรดเท่าไร และควรเป็นคนยังไง
ความกังวลจึงเป็นการตั้งคำถามว่า ในกรณีที่เด็กได้เล่นอย่างเต็มที่ แต่เมื่อกลับไปสู่ครอบครัว ตัวเด็กมีคุณภาพการเล่นมากน้อยแค่ไหน สามารถประยุกต์ใช้ได้ไหม สามารถแบ่งปันเรื่องนี้กับครอบครัวได้จริงหรือเปล่า
ซึ่งพอมองไปที่ครอบครัว มองภาวะการจ้างงานของคนบางกลุ่ม ภาวะหนี้สินครัวเรือน ค่าครองชีพ นโยบาย สวัสดิการจากรัฐ มันก็ดูจะส่งผลถึงกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะในหลาย ๆ ครั้งพ่อแม่ที่โตมาอีกแบบก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าใจหรือสนใจประเด็นเหล่านี้ แล้วก็สอนลูกแบบที่ตัวเองเคยถูกสั่งสอนมา เป็นพ่อแม่แบบที่ “เล่นไม่พอ” และอาจจะมีปม “เล่นไม่เสร็จ” อีกแบบหนึ่งแล้วส่งต่อสิ่งนั้นลงมายังตัวเด็กโดยไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องผิดปกติ
ทำให้เมื่อพูดถึงเรื่องเหล่านี้ เราก็เหมือนสาวย้อนไปที่ต้นน้ำซึ่งไกลออกไปอีกหลายเท่าว่า จริง ๆ แล้วสังคมเรามันไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กได้เล่น หรือเอาจริง ๆ อาจจะไม่ได้สนใจว่าเด็กต้องได้เล่นหรือไม่ได้เล่นเสียด้วยซ้ำ
ซึ่งส่วนนี้เป็นสิ่งที่คนธรรมดาตัวเล็ก ๆ ทำให้เกิดขึ้นได้ยากมาก อย่างน้อยที่สุดในพื้นที่โรงเรียนก็ควรจะมีการส่งเสริมในลักษณะนี้ แต่พอมองไปที่ผลสำรวจจำนวนคาบเรียน ระยะเวลาในการเรียนต่อวันของเด็กไทย หลายโรงเรียนมีการสอบเข้าตั้งแต่อนุบาลหนึ่ง ซึ่งก็เป็นการบีบคั้นให้ผู้ปกครองต้องเบียดบังเวลาเล่นของเด็กไปใช้กับการติวเพื่อสอบเข้า เห็นอย่างนี้แล้วเราก็ได้แต่กุมขมับ และชวนให้หมดหวังที่จะเอาประเด็นนี้ไปฝากไว้กับองค์กรรัฐ
แนวคิดหนึ่งที่กลุ่มไม้ขีดไฟเคยผลักดันเข้าสู่โรงเรียน คือการเล่นอิสระ หรือ Free play โดยส่งเสริมการปรับหลักสูตรให้เด็กได้มีโอกาสเล่นอย่างเพียงพอ อย่างน้อยก็เพื่อทดแทนการไม่ได้เล่นจากครอบครัวได้บ้าง แต่หลายครั้งก็ประสบปัญหาว่าต้องยุติโครงการไปเพราะไม่เข้ากับนโยบายหรือผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญ
เราพยายามขมวดปมว่า สุดท้ายแล้วเด็กไทยจะ “รอด” ได้ จำเป็นต้องส่งเสริมให้เขามองเห็นคุณค่าในตัวเอง ให้รู้สึกถึงเป้าหมายในชีวิต แต่พอมองกลับไปที่สังคม ในใจเลยได้แต่ภาวนาว่า ขอให้สิ่งที่กลุ่มกำลังทำ มันเพียงพอต่อการช่วยให้เด็ก “รอด” จากสังคมที่ไม่ส่งเสริมการเติบโตนี้ได้จริง ๆ
ฟังเรื่องราวของพี่ ๆ กลุ่มไม้ขีดไฟ ก็เหมือนได้ทบทวนหลาย ๆ อย่างทั้งส่วนที่เป็นปัจเจก และภาพสะท้อนอุปสรรคการขับเคลื่อนงาน Social Impact ในประเทศนี้ นอกจากเรื่องการเล่น ทางกลุ่มยังมองถึงการส่งเสริมการอ่าน โดยอยากให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงหนังสือหรือนิทานดี ๆ ที่ช่วยส่งเสริมจินตนาการและทักษะความรู้หลาย ๆ ด้าน หวังว่าสิ่งที่กำลังผลักดันจะช่วยจุดไฟฝันให้เด็กพร้อมก้าวเดินออกไปสู่อนาคต
เรื่องเด็กเราคงไม่อินมาก แต่ส่วนตัวพอได้มีโอกาสเล่นบางอย่างที่ไม่เคยเล่น ทำบางอย่างที่ไม่เคยทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เล่นร่วมกับเพื่อนที่ดีโดยไม่ถูกกลั่นแกล้งเหมือนสมัยก่อน ก็ชวนให้รู้สึกว่าหลายการเล่นที่คั่งค้างของเรามันถูกเติมเต็มสมบูรณ์ขึ้น และดูจะเป็นความรู้สึกร่วมกันของผู้เข้าร่วมหลาย ๆ คนอีกเช่นกัน
ทำให้นอกจากเด็กแล้ว สิ่งที่กลุ่มกำลังทำเองก็ได้ “จุดไฟ” บางอย่างให้เหล่า “เด็กแก่” ได้กลับมามีฝันมากขึ้น จากที่เข้าใจว่าจะมาเข้าค่ายเพื่อเตรียมเป็นผู้ให้ กลับรู้สึกว่าตัวเองได้รับไปมากกว่า นี่อาจจะเป็นความหมายที่พี่ ๆ เล่าว่า “ชวนเห็นคุณค่าตัวเอง ผ่านการทำเพื่อคนอื่น” ก็ได้
มันจึงดีมาก ๆ ที่สวนไฟฝันของกลุ่มไม้ขีดไฟสามารถเดินทางจากหมอชิต 2 มาได้ด้วยเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง เป็นพื้นที่ปลุกใจเติมไฟที่คนทุกช่วงวัยสามารถกลับมาเก็บเกี่ยวการเล่นที่ยังไม่เสร็จในวัยเด็กได้อีกครั้ง
เป็นพื้นที่ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ที่เราอยากส่งต่อ muse นี้ออกไปให้ “เด็ก” ที่เล่นไม่มากพอทุกคน