[ไม้ขีดไฟ x muse] เรื่องเล่น เราจริงจัง
ชวนมาติดตามเรื่องราวการร่วมมือร่วมฝันกันระหว่าง muse foundation และกลุ่มไม้ขีดไฟ ที่ต้องการให้เด็กเข้าถึงการเล่นที่มีคุณภาพ และคาดหวังว่า opensource culture จะช่วยขยายความสามารถทางโอกาสได้มากยิ่งขึ้น
ตอนที่เราตัดสินใจอยากส่งต่อเครื่อง CNC ให้กับกลุ่มไม้ขีดไฟ โปรเจ็คหนึ่งที่เราเห็นความเป็นไปได้ที่เครื่อง CNC จะมีประโยชน์ในการขับเคลื่อนคือโครงการที่กลุ่มไม้ขีดไฟกำลังผลักดันเรื่อง “ของเล่น” ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
กลุ่มไม้ขีดไฟได้เล่าความฝันที่อยากให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงของเล่นที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการเล่นที่ดีต่อพัฒนาการอย่างสมวัย ตอนที่เราเล่าความฝันเรื่อง opensource culture ของ muse ที่อยากส่งเสริมการแบ่งปันต้นทุนโดยที่ทุกคนสามารถส่งมอบบางอย่างกลับคืนสู่ Community ได้ให้กลุ่มได้ฟัง ก็ยิ่งเห็นความเป็นไปได้ที่งานของพวกเราน่าจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน เราจึงได้รวมฝันในการ sharing resource ที่มากกว่าแค่การแบ่งเครื่อง CNC ให้กันใช้ แต่ยังเป็นการแบ่งปันไอเดียกลับสู่ชุมชน เกิดเป็นโมเดลที่ต้องการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนโดยการสนับสนุนพื้นที่ผลิตงานให้นักสร้างสรรค์เข้าใช้เครื่อง CNC แลกกันกับการแบ่งปันไอเดียนี้ให้กลายเป็น common knowledge ร่วมกันใน community
แล้วใครล่ะจะมีไอเดียสร้างสรรค์ที่สามารถพัฒนาเป็นชิ้นงานจริงได้ ก็ต้องมาจากนักสร้างสรรค์ตัวจริงที่พร้อมจะ Contribute บางอย่างสู่สังคม
จึงเกิดเป็นกิจกรรมที่เชิญชวนนักสร้างสรรค์ให้มารู้จักพื้นที่และการทำงานของกลุ่มไม้ขีดไฟ เพื่อขอพลังของพวกเขามาร่วมผลักดันฝันของเรา รวมถึงหวังว่าการพบเจอกันครั้งนี้จะทำให้มันกลายเป็นฝันของพวกเขาไปด้วย
กลุ่มไม้ขีดไฟได้ประกาศรับสมัครนักสร้างสรรค์ที่มีความสนใจในการออกแบบเพื่อผลักดันเรื่องการเล่นอย่างมีคุณภาพ รวบรวมนักออกแบบที่น่าสนใจมาทำความรู้จักกับการทำงาน อุดมการณ์ และความฝันของกลุ่มไม้ขีดไฟ ก่อนจะพาทุกคนไปลุยพื้นที่การทำงานจริงเพื่อให้เหล่าผู้เข้าร่วมได้ซึมซับและเข้าใจถึงสิ่งที่พวกเราต้องการจะทำมากยิ่งขึ้น
ลงพื้นที่เรียนรู้สถานการณ์ภาวะออทิสซึมในเด็ก
โครงการของเล่นส่งเสริมพัฒนาการ มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่กลุ่มไม้ขีดไฟได้รับรู้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของภาวะออทิสซึมในเด็ก โดยเฉพาะออทิสติกเทียมที่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูไม่ใช่ภาวะตั้งต้นแต่กำเนิด กลุ่มไม้ขีดไฟจึงพานักออกแบบลงพื้นที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ หน่วยบริการปากช่อง เพื่อเรียนรู้และรับฟังปัญหาภาวะออทิสซึมจากคุณครูผู้ทำงานจริงในพื้นที่
ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสพูดคุยและเก็บข้อมูลจากคุณครูที่ทำงานเรื่องเด็กพิเศษอย่างใกล้ชิด ทั้งรายละเอียดและข้อจำกัดของน้อง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความละเอียดรอบครอบ อีกทั้งยังต้องออกแบบของเล่นโดยมองถึงการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของเด็ก ๆ เป็นสำคัญ ถือเป็นความท้าทายที่มากกว่าการออกแบบของเล่นทั่วไปอยู่ระดับหนึ่ง
เดินป่าเขาใหญ่ เรียนรู้ประเด็นด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากประเด็นเรื่องพัฒนาการเด็กแล้ว การส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กลุ่มไม้ขีดไฟสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้จึงได้ขนนักออกแบบทั้งคณะไปเดินป่าเพื่อเรียนรู้ถึงสถานการณ์และประเด็นปัญหาที่เขาใหญ่กำลังเผชิญจากพื้นที่จริง
ฟังนิทานบันดาลใจ
นอกจากการเล่น กลุ่มไม้ขีดไฟยังเชื่อว่าสิ่งที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กประถมวัยอย่างมากอีกส่วนหนึ่งคือการมีโอกาสได้อ่านหรือฟังนิทานที่มีคุณภาพ โดยการผลักดันเรื่องนิทานเสริมพัฒนาการเด็กก็เป็นอีกหนึ่งขาที่กลุ่มไม้ขีดไฟดำเนินงานกันมาอย่างยาวนาน และในครั้งนี้ก็ได้มีการแบ่งปันแนวคิดต่าง ๆ ผ่านนิทานแต่ละเรื่อง โดยหวังว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นวัตถุดิบและแรงบันดาลใจให้เหล่านักสร้างสรรค์ได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนตัวชอบบรรยากาศการพูดคุยแลกเปลี่ยนช่วงนิทานมาก ๆ หลายคนนั่งอ่านนิทานด้วยแววตาที่ราวกับว่าได้ย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง พูดถึงนิทานที่ตัวเองชอบตัวเองสนใจ จนชวนให้รู้สึกว่าการจะออกแบบของเล่นให้ออกมาดีสำหรับเด็กได้ เราจำเป็นต้องใช้เด็กน้อยในตัวเราเป็นคนผลักดันนี่แหละถึงจะถูกต้อง
ระเบิดพลังสร้างสรรค์
หลังจากเรียนรู้กันอย่างอัดแน่นมาตลอดวันแรก ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาออกแบบของเล่นกันจริง ๆ เสียที โดยโจทย์ในการออกแบบคือของเล่นที่จะถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง ให้นักสร้างสรรค์ได้ระเบิดจินตนาการด้านการออกแบบในหัวข้อ และประเด็นที่ตัวเองสนใจ โดยเราจะมีนักผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานออกแบบมาช่วยให้คำแนะนำในการพัฒนางานแต่ละชิ้นให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้จริงในอนาคต
หลังจากทุกคนได้เล่ารายละเอียดผลงานของตัวเอง รับคำติชม คำแนะนำแก้ไขปรับปรุงจนครบ เราก็ได้ไอเดียของเล่นกว่า 20 ไอเดียมาอยู่ในมือ โดยของแต่ละคนก็น่าสนใจกันไปแต่ละแบบ มีทั้งส่วนที่น่าสนใจในแง่กระบวนการเล่น การออกแบบวิธีเล่น การออกแบบเรื่องเล่า รวมไปถึงการออกแบบที่ดูเข้าถึงง่าย มีหลายต่อหลายชิ้นอยู่ในสถานะที่ดูพร้อมจะกลายเป็นของเล่นจริง ๆ แล้วด้วยซ้ำ
หลังจากนั้น เราก็ขยับงานออกแบบให้เป็นกระบวนการกลุ่ม โดยให้แต่ละคนแบ่งกลุ่มแล้วระดมสมองผลิตงานชิ้นใหม่ขึ้นมาจากจุดเด่นของแต่ละคน มีทั้งกลุ่มที่นำงานเดิมมาประยุกต์กับงานของเพื่อน กลุ่มที่นำงานงานเดิมมาพัฒนาจนกลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่ เรียกว่าพอถึงช่วงออกแบบทุกคนใส่กันสุดพลัง จนได้งานน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกหลายชิ้น
แม้ในครั้งนี้เราจะยังไม่ได้มีโอกาสผลิตของเล่นชิ้นทดลองขึ้นมา แต่ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี เราจึงพาทุกคนไปเดินดูอุปกรณ์การผลิตในสวนไฟฝัน
ด้วยความที่ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษาในคณะที่เกี่ยวเนื่องกับการออกแบบ การร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการได้ลองลงมือทำงานจริง เป็นทั้งการฝึกฝนและทบทวนสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดช่วงการศึกษา สิ่งที่กลุ่มไม้ขีดไฟคาดหวังจึงเป็นการจุดประกายให้ผู้เข้าร่วมสนใจเลือกผลิตของเล่นเป็นโปรเจ็คจบของตัวเอง และเชิญชวนให้มาผลิตงานที่สวนไฟฝันโดยใช้เครื่อง CNC ที่มีอยู่ได้ ด้วยข้อแลกเปลี่ยนหนึ่งอย่างคือการแบ่งปันแบบงานไว้ให้เป็น shared resource ที่ community สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้
ช่วงท้ายเราได้แบ่งปันเรื่อง Sharing resource กับผู้เข้าร่วม พูดถึงฝันที่จะผลักดัน opensource culture ให้กลับมาสนับสนุนฝันอื่น ๆ ของผู้คน ซึ่งเราหวังว่าแนวคิดนี้จะช่วยส่งเสริมให้ฝันเรื่องการเข้าถึงของเล่นที่มีคุณภาพของเด็กให้เกิดขึ้นได้จริงเช่นกัน
แม้วันนี้เราจะยังตอบไม่ได้ว่าหลังจบกิจกรรมไปแล้วจะมีใครกลับมาผลิตของเล่น หรือสนใจเรื่อง sharing resource ต่อหรือเปล่า แต่เราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราพยายามกันมาตลอดสองวันหนึ่งคืนน่าจะเป็น muse ให้ทุกคนได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เช่นเดียวกับฝันเรื่อง Opensource culture ที่ยังคงต้องทำงานและผลักดันกันต่อไป เพียงแต่เราเชื่อมั่นว่าอย่างน้อยการที่เราได้ลงมือทำไปแล้ว สิ่งเหล่านี้มันจะไม่สูญหาย และอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนในสักวัน